วินคริสทีน (Vincristine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาวินคริสทีน(Vincristine)หรือจะเรียกว่า ลิวโรคริสทีน(Leurocristine) จัดอยู่ในประเภทยาเคมีบำบัด(Cytotoxic chemotherapy) ทางการแพทย์นำมาใช้รักษาโรคมะเร็งหลายชนิด อย่างเช่น มะเร็งนิวโรบลาสโตมา(Neuroblastoma) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน(Hodgkin's lymphoma) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน(Non-Hodgkin lymphoma) มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล(Acute Myelogenous Leukemia) มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล(Acute Lymphoblastic Leukemia) และโรคเนื้องอกวิมส์ (Wilms’ tumor) ในอดีตมีการนำเอายาวินคริสทีนมาใช้ในลักษณะยาพื้นบ้านแต่ได้เริ่มศึกษากันอย่างจริงจังเมื่อปี ค.ศ.1950(พ.ศ.2493) ยาวินคริสทีนเป็นยาประเภทอัลคาลอยด์(Alkaloid)ที่พบในพืชตระกูลแพงพวยฝรั่ง(Catharanthus roseus) ในยุคเริ่มต้น ได้ใช้สารสกัดจากแพงพวยฝรั่งมารักษาโรคเบาหวานซึ่งได้ผลลัพธ์ไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าใดนัก แต่กลับพบว่ามีฤทธิ์กดไขกระดูก ทางการแพทย์จึงหันมาใช้สารอัลคาลอยด์ดังกล่าวในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว(Leukemia) และปี ค.ศ.1961(พ.ศ.2504) องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ยาวินคริสทีนเป็นยาที่ถูกแยกตัวออกมาจากสารสกัดของพืชแพงพวยฝรั่งและถูกระบุให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ใช้กับผู้ป่วย

เภสัชภัณฑ์ของยาวินคริสทีนเป็นยาฉีดเท่านั้น ไม่มีลักษณะของยารับประทาน ด้วยมีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารต่ำมาก เมื่อยาวินคริสทีนเข้าสู่กระแสเลือดตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ยานี้บางส่วนจะโดนลำเลียงไปที่ตับและถูกทำลายโครงสร้าง ยาวินคริสทีนสามารถอยู่ในร่างกายได้ยาวนานประมาณ 19–155 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

การให้ยาวินคริสทีนกับผู้ป่วยมะเร็งสามารถทำได้ 2 ลักษณะ คือ ฉีดเข้าหลอดเลือดดำโดยตรง หรือค่อยๆหยดเข้าหลอดเลือดดำ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นสำคัญ

ยาวินคริสทีนสามารถทำอันตรายกับเซลล์ปกติของร่างกายได้เช่นกัน และขณะฉีดยานี้ให้กับผู้ป่วย จะต้องระวังมิให้เข็มฉีดยาแทงทะลุหลอดเลือดจนทำให้ตัวยาสัมผัสกับเนื้อเยื่อต่างๆที่อยู่นอกเส้นเลือดด้วยจะทำให้เนื่อเยื่อเหล่านั้นเกิดการอักเสบรุนแรง และระหว่างที่ให้ยานี้ หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการปวดพร้อมกับเกิดอาการบวมแดงในบริเวณที่ฉีดยา ต้องหยุดการให้ยานี้ทันที แล้วรีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล ให้เข้ามาดูแลรักษาทันที

สำหรับปริมาณการให้ยาวินคริสทีนกับผู้ป่วยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น น้ำหนักตัว มีโรคประจำตัวอื่นนอกจากมะเร็งร่วมด้วยหรือไม่ รวมถึงชนิดของมะเร็งที่ตอบสนองต่อการใช้ยานี้ แพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจให้ยานี้ในขนาดที่เหมาะสมตลอดจนการกำหนดระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องมารับการให้ยานี้ได้ดีที่สุด

ยาวินคริสทีนมีผลข้างเคียงที่โดดเด่น และมักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้ประมาณ 20–70% ของผู้ป่วย คือ ทำให้ผมร่วง ที่อาจร่วงเป็นหย่อมๆหรือร่วงทั้งศีรษะก็ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งและไม่มีการใช้ยานี้/ยาเคมีบำบัดอีก เส้นผมก็จะกลับงอกขึ้นมาใหม่ได้ อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)อื่นๆที่เกิดได้ในระดับรองลงมา (10–29%) จะเป็นเรื่องท้องผูก และทำให้จำนวน เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวรวมถึงเกล็ดเลือด ต่ำลง ซึ่งทำส่งผลให้เกิดโลหิตจาง และมีโอกาสเกิดการติดเชื้อต่างๆของร่างกายได้มากขึ้น ตลอดจนมีภาวะเลือดออกง่าย อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่พบอาการผิดปกติของร่างกายเกิดขึ้นระหว่างที่ใช้ยาวินคริสทีน และอาการเหล่านั้นส่งผลรบกวนต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยต้องรีบมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เช่น เกิดไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส(Celsius)ขึ้นไป มีอาการหนาวสั่น ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด อุจจาระมีสีคล้ำ ท้องผูกหรือท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง เกิดแผลในช่องปากและที่ริมฝีปาก ปวดขณะปัสสาวะ หรือปวดกระดูก เป็นต้น

สำหรับข้อควรปฏิบัติเพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยและลดอาการข้างเคียงต่างๆของยาวินคริสทีน มีดังนี้ เช่น

  • ห้ามผู้ป่วยรับประทาน ยา Aspirin หรือยาต้านเกล็ดเลือดขณะที่ได้รับยาวินคริสทีน เพราะจะทำให้มีภาวะเลือดออกง่ายมากยิ่งขึ้น
  • กรณีผู้ป่วยสตรี ต้องป้องกันการตั้งครรภ์ ด้วยตัวยาชนิดนี้สามารถก่อให้เกิด อันตรายกับทารกในครรภ์ได้อย่างรุนแรง
  • ดื่มน้ำ 2–3 ลิตรต่อวัน เพื่อลดอาการท้องผูกที่เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา วินคริสทีน นอกจากจะมีคำสั่งจากแพทย์ให้จำกัดการบริโภคน้ำในผู้ป่วยบางราย
  • ระวังขณะแปรงฟันที่ก่อให้เกิดการกระแทกกับเหงือก และทำให้เลือดออก ด้วยผู้ป่วยที่ได้รับยาวินคริสทีนจะมีระดับเกล็ดเลือดต่ำลงกว่าปกติ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่มีผู้คนแออัด เช่น ศูนย์การค้า ด้วยผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาประเภทยาเคมีบำบัดที่รวมถึงยาวินคริสทีน จะมีระดับภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ภูมิต้านทาน ต่ำกว่าคนปกติ และมีโอกาสการติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เพราะแอลกอฮอล์ ทำให้หลอดเลือดขยายตัว จึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกภายในร่างกายมากขึ้น
  • พิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)จากยาวินคริสทีนประการหนึ่ง คือ ทำให้เกิดอาการชาปลายนิ้วมือ-นิ้วเท้า ทั้งนี้ตัวยานี้สามารถทำให้ปลายเส้นประสาทเกิดความเสียหายจน ส่งผลต่อการรับรู้ถึงความรู้สึกต่างๆ หากพบเหตุการณ์นี้ ต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อแพทย์พิจารณาปรับการใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจนับ ความสมบูณณ์ของเม็ดเลือด(CBC) ตรวจเลือดดูการทำงานของตับ-ไต เพื่อเป็นการประเมินผลการรักษา ตลอดถึงอาการข้างเคียงที่อาจส่งผลต่อร่างกายในระยะยาว ตามแพทย์สั่งเสมอ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาวินคริสทีนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจัดอยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษที่ต้องใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น ซึ่งเราสามารถพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้ได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน และหากมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับยาวินคริสทีนเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการตรวจรักษา หรือจากเภสัชกรในสถานพยาบาลได้ตลอดเวลา

วินคริสทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

วินคริสทีน

ยาวินคริสทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ โดยใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น

  • มะเร็งนิวโรบลาสโตมา(Neuroblastoma)
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน(Hodgkin's lymphoma)
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน(Non-Hodgkin lymphoma)
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล(Acute Myelogenous Leukemia)
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล(Acute Lymphoblastic Leukemia)
  • โรคเนื้องอกวิมส์(Wilms’ tumor)

วินคริสทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาวินคริสทีน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะทำลายสารพันธุกรรมในเซลล์มะเร็งอย่างเช่น RNA และ DNA ส่งผลให้เซลล์มะเร็งหมดความสามารถในการแบ่งเซลล์หรือผลิตเซลล์รุ่นใหม่ออกมา กลไกเหล่านี้เองที่ทำให้เกิดสรรพคุณของการรักษาโรคมะเร็ง แต่ข้อเสียประการหนึ่งของยาเคมีบำบัดที่รวมถึงยาวินคริสทีน คือ ไม่สามารถแยกแยะและทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งเท่านั้น แต่ยังเข้าเล่นงานเซลล์ปกติของร่างกายด้วย (แต่อย่างไรก็ตาม เซลล์ปกติจะได้รับการทำลายน้อยกว่าเซลล์มะเร็งมาก) ซึ่งเซลล์ปกติที่ได้รับผลกระทบจากยาวินคริสทีนมีหลายประเภท เช่น เซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ เซลล์เนื้อเยื่อในช่องปาก เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ เซลล์ของรากผม เป็นต้น อย่างไรก็ตามเซลล์หรืออวัยวะต่างๆของร่างกายสามารถฟื้นสภาพกลับมาเป็นปกติได้เมื่อหมดฤทธิ์ยาวินคริสทีน แต่ต้องใช้เวลายาวนานพอสมควร

วินคริสทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาวินคริสทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดที่ส่วนประกอบของตัวยา Vincristine ขนาด 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และ 2 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร

วินคริสทีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาวินคริสทีนมีขนาดการบริหารยาสำหรับบำบัดรักษาโรคมะเร็งทุกประเภทที่ถูกระบุในสรรพคุณ เช่น

  • โรคมะเร็งในผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำโดยต้องใช้เวลาการเดินยานาน 1 นาทีขึ้นไป ขนาดการให้ยาอยู่ที่ 1.4 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร ผู้ป่วยต้องมารับการฉีดยาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ซึ่งขนาดการใช้ยาปกติอยู่ที่ 0.4-1.4 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร โดยขนาดการใช้ยาสูงสุดต้องไม่เกิน 2 มิลลิกรัม
  • เด็ก: เช่น สำหรับโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมา(Neuroblastoma)ในเด็ก: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 1 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตามรางเมตร/วัน ต้องให้ยาต่อเนื่องเป็นเวลา 72 ชั่วโมง โดยใช้ร่วมกับยาDoxorubicin(ยาเคมีบำบัดอีกชนิด)

อนึ่ง:

  • ระวังมิให้ยานี้ถูกฉีดผ่านทะลุหลอดเลือด ด้วยยานี้จะก่อให้เกิดพิษ(การอักเสบรุนแรง)ต่อเซลล์เนื้อเยื่อรอบหลอดเลือดดังกล่าว
  • ทำความเข้าใจกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากยานี้ และปฏิบัติตัวตาม คำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
  • มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามหยุดทำการรักษาโรคมะเร็งโดยมิได้ปรึกษาแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาวินคริสทีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาวินคริสทีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

กรณีไม่สามารถมารับการฉีดยาวินคริสทีน ให้ผู้ป่วยรีบติดต่อ แพทย์/ พยาบาล ผู้ที่ทำการดูแลรักษา เพื่อนัดหมายมารับการฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว

วินคริสทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาวินคริสทีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อตา เช่น อาจมีภาวะมองไม่เห็นชั่วคราว เห็นภาพซ้อน หนังตาตก
  • ต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น ปวดหลัง ปวดกระดูก ปวดกราม
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ เช่น การทำงานของฮอร์โมนบางตัวผิดปกติ (เช่น ฮอร์โมนเพศ) ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูกหรือท้องเสีย เป็นตะคริวที่ท้อง เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด คลื่นไส้อาเจียน เกิดแผลในช่องปาก ลำไส้ไม่บีบตัว(ท้องอืด ท้องผูก ปวดท้อง) ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท เช่น ปลายเส้นประสาทถูกทำลาย ชาปลายนิ้ว ปวดปลายเส้นประสาท ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน มีไข้ ปวดศีรษะ
  • ผลต่อผิวหนัง เช่น เกิดผมร่วง แต่เส้นผมสามารถคืนสภาพและงอกใหม่ได้หลังหยุใช้ยานี้/ยาเคมีบำบัด มีผื่นคัน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ หัวใจล้มเหลว
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อระบบเลือด เช่น เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ผลต่อตับ เช่น ตับอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก หลอดลมหดเกร็งตัวอย่างรุนแรง
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ภูมิต้านทานโรคต่ำ
  • อื่นๆ เช่น สารที่เป็นของเสียในเลือดอย่าง เช่น ยูเรีย เพิ่มขึ้น ประจำเดือนขาด(ในสตรี)

มีข้อควรระวังการใช้วินคริสทีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาวินคริสทีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • ขณะฉีดยานี้ต้องระวังการแทงเข็มทะลุออกนอกหลอดเลือด ด้วยตัวยาสามารถก่อให้เกิดอันตรายกับเนื้อเยื่อที่มีการสัมผัสกับตัวยานี้ได้
  • ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจประเมินร่างกาย เช่น ชนิดของมะเร็งก่อนได้รับยาวินคริสทีน
  • กรณีมีอาการวิงเวียนหลังจากรับการฉีดยาวินคริสทีน ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะทุกชนิด รวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรต่างๆ ด้วยจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมาโรงพยาบาล/มารับการให้ยานี้ตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาวินคริสทีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

วินคริสทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาวินคริสทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาวินคริสทีนร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ(Smallpox vaccine) วัคซีนป้องกันวัณโรค(BCG) เพราะจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อฝีดาษหรือเชื้อวัณโรคดังกล่าว ด้วยระบบภูมิต้านทานโรคของผู้ป่วยขณะที่ได้รับยาวินคริสทีน จะอยู่ในภาวะอ่อนแอ
  • ห้ามใช้ยาวินคริสทีนร่วมกับยาAdalimumab(ยาMonoclonal antibody) เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆได้อย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ยาวินคริสทีนร่วมกับยา Clozapine เพราะจะทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาวินคริสทีนร่วมกับยา Cobicistat ด้วยจะทำให้ระดับยาวินคริสทีนในเลือดเพิ่มมากขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงต่างๆของยาวินคริสทีน ตามมา

ควรเก็บรักษาวินคริสทีนอย่างไร?

ควรเก็บยาวินคริสทีนในช่วงอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

วินคริสทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาวินคริสทีน มียาชื่อการค้าที่จำหน่ายในประเทศไทย และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Oncovin (ออนโควิน) Cellpharm
VCS (วีซีเอส)Boryung Oharm

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Vincristine sulphate, Biocristine, Vincristine sulfate, Oncocristin-AQ ,Cytocristin, Alcrist, Vinstin, Vincrist

บรรณานุกรม

  1. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/Vincristine.aspx [2017,Nov4]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/vcs/?type=brief [2017,Nov4]
  3. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/086/11.PDF [2017,Nov4]
  4. https://www.drugs.com/cdi/vincristine.html [2017,Nov4]
  5. https://www.drugs.com/dosage/vincristine.html#Usual_Adult_Dose_for_Neuroblastoma [2017,Nov4]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/cobicistat-with-vincristine-3565-0-2301-0.html [2017,Nov4]