ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian cyst)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ถุงน้ำรังไข่คืออะไร?

โดยทั่วไป รังไข่สตรีแต่ละข้างมีขนาดประมาณ 3 x 2 x 1 ซม. (เซนติเมตร) เมื่อรังไข่มีการสร้างของเหลวมากผิดปกติและของเหลวนั้นคั่งอยู่ที่รังไข่จะทำให้เกิดลักษณะเป็นถุงน้ำ (Cyst) ขึ้นมาเรียกว่า “ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian cyst)” ขนาดถุงน้ำรังไข่สามารถมีได้หลายขนาดตั้งแต่ขนาด เล็กๆประมาณ 1 ซม. จนถึงขนาดใหญ่มากมากกว่า 20 ซม. และมีน้ำหนักเป็นกิโลกรัมได้

ถุงน้ำรังไข่เป็นภาวะที่พบได้บ่อย พบได้ในทุกอายุตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ไปจนถึงในผู้สูงอายุ แต่สถิติการเกิดถุงน้ำรังไข่ไม่มีรายงานที่ชัดเจนเพราะขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น อายุ, ผู้ป่วย, เชื้อชาติ, ชนิดของถุงน้ำ, รวมถึงโอกาสการเข้าถึงการตรวจช่องท้องด้วยอัลตราซาวด์ที่เป็นวิธีสำคัญในการวินิจฉัยโรคนี้

ถุงน้ำรังไข่มีสาเหตุเกิดจากอะไร?

ถุงน้ำรังไข่

ถุงน้ำรังไข่มีสาเหตุเกิดได้จากหลายอย่างแล้วแต่ชนิดของถุงน้ำ เช่น

  1. ถุงน้ำชนิด Follicular cyst/ถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์: เกิดจากการที่ไข่เจริญเติบโตในรังไข่ไปเรื่อยๆแต่ไม่มีการตกไข่ออกจากรังไข่เข้าไปในช่องท้อง ทำให้มีของเหลงคั่งที่ฟองไข่เกิดเป็นลักษณะถุงน้ำได้
  2. ถุงน้ำ Dermoid cyst/เดอร์มอยด์ซีสต์รังไข่: เกิดจากมีเซลล์ในรังไข่ที่สามารถเจริญเปลี่ยนไปเป็นถุงน้ำที่ภาย ในเป็นขน เป็นผม เป็นไขมัน ทำให้เกิดเป็นถุงน้ำอยู่ที่บริเวณรังไข่
  3. ถุงน้ำช็อกโกแล็ต/ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate cyst): เกิดจากมีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดออกมาจากมดลูกและมาเจริญที่รังไข่ และจะมีการเปลี่ยนแปลงตามอิทธิพลของฮอร์โมนเพศหญิงตามรอบประจำเดือนทำให้มีเลือดออกที่รังไข่นั้นทุกรอบเดือนและสะสมไปเรื่อยๆจนเป็นถุงน้ำ
  4. ถุงน้ำ Serous cystadenoma หรือถุงน้ำ Mucinous cystadenoma: ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เนื้อเยื่อบุผิวของรังไข่
  5. บางครั้งแพทย์ไม่ทราบสาเหตุการเกิดถุงน้ำรังไข่นั้นๆ

ถุงน้ำรังไข่มีกี่ชนิด?

แบ่งถุงน้ำรังไข่ได้เป็น 2 กลุ่มชนิดใหญ่ๆ คือ 

  1. Functional cyst: เป็นถุงน้ำรังไข่ที่เกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศหญิงตามรอบประจำเดือน (จึงเป็นถุงน้ำที่พบได้บ่อยที่สุดในสตรีวัยมีประจำเดือน) มักไม่เป็นอันตราย (หากไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงเช่น ถุงน้ำแตก) สามารถเป็นๆหายๆได้ตามอิทธิพลของฮอร์โมนเพศหญิงตามรอบประจำเดือน ถุงน้ำรังไข่ในกลุ่มนี้ได้แก่ Follicular cyst และ Corpus luteum cyst/ถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม (ถุงน้ำที่เกิดจากฟองไข่ที่ตกไข่ไปแล้วไม่ยุบแฟบตัวลงแต่กลับมีของเหลวสะสมอยู่เพิ่มขึ้นจนเกิดเป็นถุงน้ำ)
  2. Pathological cyst หรือ Neoplastic cyst: เป็นถุงน้ำรังไข่ที่เป็นเนื้องอกหรือมีพยาธิสภาพ ก้อนเนื้องอกนี้จะเจริญเติบโตโดยไม่ขึ้นกับอิทธิพลของฮอร์โมนเพศ ก้อนจะยังคงอยู่หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม สามารถแบ่งเป็นกลุ่มเนื้องอกนี้ออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ เนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง (Benign ovarian cyst) และกลุ่มที่เป็นมะเร็ง (Malignant ovarian cyst ) ซึ่งจัด เป็นมะเร็งรังไข่

ก. ตัวอย่างถุงน้ำที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น   

  • Endometriotic cyst (ถุงน้ำช็อคโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์) ที่ส่วนประกอบข้างในเป็นของเหลวจะมีสีน้ำตาล มีลักษณะข้นคล้ายช็อคโกแลต  
  • Dermoid cyst/เดอร์มอยด์ซีสต์รังไข่ หรือ Mature teratoma ส่วนประกอบข้างในจะเป็นไขมัน เส้นผม กระดูกอ่อน
  • เนื้องอกรังไข่ ชนิด Serous cystadenoma ลักษณะเป็นถุงๆเดียวมีส่วนประกอบข้างในมีสีเหลือง ใส ไม่เหนียว
  • เนื้องอกรังไข่ชนิด Mucinous cystadenoma ส่วนประกอบภายในจะเป็นถุงน้ำหลายๆถุง ของเหลวมีสีเหลืองข้นและเหนียวหนืด เป็นต้น

ข. ตัวอย่างถุงน้ำเป็นมะเร็ง: เช่น มะเร็งรังไข่ชนิด Serous cystadenocarcinoma ที่ ส่วนประกอบภายในจะมีเนื้อยุ่ยๆ มีเลือดออกภายในก้อน เป็นต้น

ใครที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นถุงน้ำรังไข่?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นถุงน้ำรังไข่ ได้แก่   

  1. สตรีทุกคนมีโอกาสเป็นถุงน้ำรังไข่
  2. สตรีที่ไม่เคยตั้งครรภ์มีโอกาสเป็นถุงน้ำชนิดเป็นมะเร็งรังไข่สูงขึ้น
  3. สตรีที่มีอายุมากๆมีโอกาสเป็นถุงน้ำชนิดเป็นมะเร็งรังไข่สูงขึ้น

ถุงน้ำรังไข่ทำให้มีอาการอย่างไร?

ถุงน้ำรังไข่ อาจทำให้มีอาการ (ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ) เช่น

  1. ไม่มีอาการแต่ตรวจพบโดยบังเอิญตอนไปตรวจสุขภาพประจำปีจากการที่แพทย์ตรวจร่างกายโดยการคลำช่องท้อง/ท้องน้อย
  2. ผู้ป่วยคลำพบก้อนที่ท้องน้อยในกรณีที่ก้อนมีขนาดใหญ่มาก
  3. ปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลันกรณีเกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ของถุงน้ำรังไข่ เช่น ถุงน้ำบิดขั้วหรือถุงน้ำแตก
  4. ปวดท้องน้อยแบบเรื้อรัง
  5. ปวดประจำเดือนเรื้อรัง
  6. ปวดท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์
  7. ท้องอืดมีความรู้สึกไม่สบายในท้อง
  8. ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ
  9. มีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอเนื่องจากถุงน้ำรังไข่จะมีผลต่อการสร้างฮอร์โมนเพศหญิง

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีถุงน้ำรังไข่?

การมีถุงน้ำรังไข่เป็นได้ทั้งภาวะปกติและภาวะผิดปกติ ผู้ป่วยคงไม่สามารถตัดสินได้เองว่าเป็นเนื้อร้าย (มะเร็งรังไข่) หรือไม่ ควรต้องพบแพทย์ถ้ามีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ อา การ

เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นถุงน้ำรังไข่กลุ่ม Functional cyst ซึ่งส่วนมากมักมีขนาดน้อยกว่า 5 ซม. แพทย์มักให้รอสังเกตอาการและนัดไปตรวจอัลตราซาวด์ท้องน้อยซ้ำในอีก 3 - 6 เดือน ซึ่งถุงน้ำเหล่านี้มักจะหายไป แต่ถ้าถุงน้ำนั้นยังคงอยู่ก็น่าจะเป็นถุงน้ำรังไข่จริงที่ต้องรักษาต่อ ไป

ประการสำคัญคือผู้ป่วยต้องคอยสังเกตตัวเองว่าถุงน้ำรังไข่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งหรือไม่ โดยสังเกตว่าก้อนโตเร็ว มีอาการปวดท้องผิดปกติ มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง ซึ่งต้องไปพบแพทย์ก่อนนัด

ภาวะแทรกซ้อนของถุงน้ำรังไข่มีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ของถุงน้ำรังไข่ที่อาจพบได้ เช่น

  1. ถุงน้ำรังไข่บิดขั้ว: ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยอย่างอย่างเฉียบพลันมักต้องรักษาโดยการผ่าตัด
  2. ถุงน้ำรังไข่แตก: ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยอย่างเฉียบพลันมักต้องรักษาโดยการผ่า ตัด
  3. มีเลือดออกในถุงน้ำรังไข่: หากมีอาการปวดท้องน้อยไม่มาก เลือดออกไม่มากมักรอสัง เกตอาการได้ แต่ถ้าเลือดออกมากหรือปวดท้องน้อยมากมักต้องรักษาโดยการผ่าตัด

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อ

  1. เมื่อมีอาการปวดท้องน้อยมากผิดปกติ อาจปวดท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่งหรือปวดทั้ง 2 ข้าง ซึ่งหากถุงน้ำรังไข่ขนาดเล็กจะคลำด้วยตัวเองไม่พบ
  2. มีอาการปวดประจำเดือนมากผิดปกติ มักปวดประจำเดือนเรื้อรัง
  3. คลำได้ก้อนที่ท้องน้อย
  4. มีประจำเดือนผิดปกติเช่น มาน้อย มาบ้างไม่มาบ้าง
  5. มีอาการท้องอืด แน่นท้อง เรื้อรัง
  6. เบื่ออาหาร น้ำหนักลดผิดปกติ

แพทย์วินิจฉัยถุงน้ำรังไข่อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยถุงน้ำรังไข่ได้จาก

ก. ประวัติทางการแพทย์: ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการแต่ตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจช่องท้องทางรังสีวิทยาด้วยโรคอื่น (เช่น โรคตับ โรคไต) เช่น อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) หรือมีประวัติอาการปวดท้องน้อยเป็นๆหายๆ หรือปวดประจำเดือนมากผิดปกติ ประวัติคลำได้ก้อนที่ท้องน้อย ประวัติท้องอืด แน่นท้อง เบื่ออาหาร เรื้อรัง น้ำหนักลดผิดปกติ

ข. การตรวจร่างกาย:

  • ก้อนถุงน้ำรังไข่ที่มีขนาดใหญ่ สามารถคลำได้จากทางหน้าท้อง ลักษณะก้อนอาจเป็นก้อนนิ่มหรือเป็นก้อนแข็ง
  • หากถุงน้ำมีขนาดเล็กจะคลำไม่ได้ทางหน้าท้อง ต้องตรวจภายใน
  • หรือบางครั้งตรวจไม่พบจากการตรวจภายในต้องมีการตรวจช่องท้อง/ท้องน้อย ด้วยอัลตราชาวด์เพิ่มเติมจึงจะตรวจพบ

ค. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: การตรวจที่สำคัญและช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้อย่างมากคือ การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องน้อยที่สามารถตรวจผ่านทางหน้าท้องหรือตรวจผ่านทางช่องคลอดก็ได้

ง. นอกจากนี้ ยังอาจมีการตรวจเลือดเพื่อหาสารมะเร็ง(Tumor marker) ที่จะมีความจำเพาะต่อถุงน้ำรังไข่ชนิดต่างๆ เช่น CA 125, CA 19-9, CEA เป็นต้น

  • CA ย่อมาจาก Cancer antigen หรือ Carcinoma antigen
  • CEA ย่อมาจาก Carcinoembryonic antigen

การรักษาถุงน้ำรังไข่มีอย่างไรบ้าง?

แนวทางการรักษาถุงน้ำรังไข่ ได้แก่

ก. กรณีที่เป็นถุงน้ำรังไข่ชนิดที่ไม่เป็นมะเร็ง: การรักษามีหลายอย่างขึ้นอยู่กับ อายุผู้ป่วย, ชนิดของถุงน้ำ, และความต้องการมีบุตรของผู้ป่วย, การรักษา เช่น

  1. การรักษาด้วยยาฮอร์โมนเพศ เช่น ถุงน้ำรังไข่ชนิดถุงน้ำรังไข่ช็อกโกแลตซีสต์ ที่มีขนาดเล็กๆ
  2. ผ่าตัดโดยการเลาะ/เจาะถุงน้ำรังไข่เพื่อนำของเหลวในถุงน้ำออก เหลือเนื้อรังไข่ไว้ผลิตฮอร์โมนเพศต่อไป
  3. ผ่าตัดถุงน้ำรังไข่พร้อมปีกมดลูก (Salpingo-oophorectomy)
  4. ผ่าตัดมดลูกและผ่าตัดถุงน้ำรังไข่พร้อมปีกมดลูก (Hysterectomy with salpingo-oophorectomy)

ข. กรณีเป็นถุงน้ำรังไข่ที่เป็นมะเร็ง: การรักษาขึ้นกับชนิดเซลล์มะเร็ง, ระยะโรคมะเร็ง, และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา: การรักษาเช่น

  1. ผ่าตัดถุงน้ำรังไข่พร้อมปีกมดลูก (Salpingo-oophorectomy)
  2. ผ่าตัดมดลูกและผ่าตัดถุงน้ำรังไข่พร้อมปีกมดลูก (Hysterectomy with salpingo-oophorectomy)
  3. ผ่าตัดมดลูกร่วมกับผ่าตัดถุงน้ำรังไข่พร้อมปีกมดลูกร่วมกับการตัดแผ่นไขมันในช่องท้อง ที่เรียกว่า โอเมนตัม (Omentum, แผ่นไขมันที่เซลล์มะเร็งรังไข่อาจลุกลามแพร่กระจายมาได้) และตัดต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน(ท้องน้อย)และ/หรือต่อมน้ำเหลืองรอบๆท่อเลือดแดงในช่องท้อง (Periaortic node)
  4. การให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วยอาจเป็นการให้ยาขณะผ่าตัด และ/หรือก่อนการผ่าตัด และ/หรือหลังการผ่าตัด

มีวิธีป้องกันถุงน้ำรังไข่หรือไม่?

สามารถป้องกันเกิดถุงน้ำรังไข่ได้ในกลุ่มที่เป็น Functional cyst โดยการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดจะทำให้ไม่มีการเจริญของฟองไข่ไปจนถึงไม่มีการตกไข่และไม่มีการเปลี่ยนของฟองไข่ไปเป็น Corpus luteum

 อย่างไรก็ตามในทางทฤษฎี การไม่ตกไข่อาจจะลดการกระทบกระเทือนต่อผนังรังไข่และ ลดโอกาสเป็นก้อนทูม/ก้อนเนื้องอกต่างๆได้ หรือในโรคถุงน้ำรังไข่ช็อกโกแลตซีสต์ สามารถใช้ฮอร์โมนจากยาเม็ดคุมกำเนิดหรือยาฮอร์โมนฉีดคุมกำเนิด/ยาฉีดคุมกำเนิดรับประทานหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพื่อป้องกันการเกิดเป็นซ้ำได้

หากเคยเป็นถุงน้ำรังไข่แล้วเป็นซ้ำได้อีกหรือไม่?

หากเคยรักษาถุงน้ำรังไข่หายแล้วโรคสามารถกลับเป็นซ้ำได้ ที่พบบ่อยได้แก่ ถุงน้ำรังไข่ช็อกโกแลตซีสต์ ซึ่งหลังหยุดรักษาด้วยยาฮอร์โมนเพศหรือหลังผ่าตัดเลาะถุงน้ำออกแล้ว ถุงน้ำสามารถกลับเป็นซ้ำได้อีกเนื่องจากสาเหตุเกิดของถุงน้ำชนิดนี้มีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายของผู้ป่วย

มีถุงน้ำรังไข่สามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่

หากเป็นถุงน้ำรังไข่ที่ไม่เป็นมะเร็ง ผู้ป่วยที่มีถุงน้ำรังไข่สามารถตั้งครรภ์ได้ แต่ทางที่ดีควรรักษาเรื่องถุงน้ำรังไข่ให้หายเสียก่อน หากมาทราบหลังตั้งครรภ์แล้วว่ามีถุงน้ำรังไข่ แพทย์มักพิจารณาผ่าตัดถ้าถุงน้ำที่มีขนาดใหญ่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ แต่ถ้ารูปลักษณะของถุงน้ำรังไข่เป็นมะเร็งแพทย์ต้องรีบผ่าตัดรักษาถุงน้ำโดยไม่คำนึงถึงอายุครรภ์ของผู้ป่วย

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/255865-overview#showall [2022,Feb26]
  2. https://www.medicinenet.com/ovarian_cysts/article.htm [2022,Feb26]