ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia)
- โดย แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
- 2 กรกฎาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- ครรภ์เป็นพิษคือโรคอะไร?
- สาเหตุของครรภ์เป็นพิษคืออะไร?
- สตรีตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษคือใคร?
- ครรภ์เป็นพิษแบ่งออกเป็นกี่ชนิด? อะไรบ้าง?
- อาการของครรภ์เป็นพิษมีอะไรบ้าง?
- ภาวะแทรกซ้อนของครรภเป็นพิษมีอะไรบ้าง?
- อาการผิดปกติที่สงสัยภาวะครรภ์เป็นพิษที่ต้องรีบมาพบแพทย์มีอะไรบ้าง?
- ครรภ์เป็นพิษรักษาอย่างไร?
- ควรดูแลผู้ป่วยครรภ์เป็นพิษหลังคลอดอย่างไร?
- เมื่อรู้ว่าครรภ์เป็นพิษ มีข้อห้ามอะไรบ้าง? ยังมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม?
- เมื่อมีครรภ์เป็นพิษ เมื่อไหร่ต้องมาโรงพยาบาลฉุกเฉิน?
- มีวิธีป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ (Intrauterine growth restriction)
- ภาวะน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios)
- คลอดก่อนกำหนด (Preterm labor)
- ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental abruption or Abruptio placentae)
- ทารกเสียชีวิตในครรภ์ (Intrauterine fetal demise)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
- ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ (Intracranial hemorrhage)
ครรภ์เป็นพิษคือโรคอะไร?
ภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือ ภาวะพิษแห่งครรภ์ (Pregnancy-induced Hypertension หรือ Pre-eclampsia/Preeclamsia ซึ่งศัพท์ดั้งเดิม คือ Toxemia of pregnancy)คือ ภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ140/90 มิลลิเมตร (มม.)ปรอท ร่วมกับมีภาวะโปรตีน หรือไข่ขาวในปัสสาวะในสตรีตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์มากกว่า20สัปดาห์ ไปจนกระทั่งหลังคลอด 1 สัปดาห์ และภายหลังคลอด ภาวะครรภ์เป็นพิษจะค่อยๆหายไปเอง
สาเหตุของครรภ์เป็นพิษคืออะไร?
สาเหตุของการเกิดครรภ์เป็นพิษ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายหรือฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อบางตัว หรือจากกรรมพันธุ์ ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากความไม่สมดุลกันระหว่างโปรตีนบางตัวที่สร้างขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในสตรีตั้งครรภ์ ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างหลอดเลือดไปเลี้ยงรกได้เพียงพอ บางส่วนของรกจึงขาดเลือด เกิดการตายของเนื้อรกบางส่วน ที่มีการปล่อยสารที่ส่งผลให้หลอดเลือดทั่วร่างกายของสตรีตั้งครรภ์หดตัว
สตรีตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษคือใคร?
สตรีตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ คือ
- สตรีตั้งครรภ์แรกหรือตั้งครรภ์แรกกับคู่สมรสใหม่
- สตรีตั้งครรภ์ที่อายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 35 ปี
- ระยะห่างของการตั้งครรภ์ ห่างจากครรภ์ก่อนมากกว่า 10 ปี
- สตรีตั้งครรภ์ที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษในครรภ์ครั้งก่อน
- สตรีตั้งครรภ์ที่มีญาติพี่น้องสายตรง (มารดา และ/หรือ พี่ น้อง ท้องเดียวกัน) มีภาวะครรภ์เป็นพิษ
- สตรีตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัวก่อนตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคไตเรื้อรัง โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี
- สตรีตั้งครรภ์แฝด
ครรภ์เป็นพิษแบ่งออกเป็นกี่ชนิด? อะไรบ้าง?
ครรภ์เป็นพิษแบ่งตามความรุนแรงเป็น 2 ชนิด คือ
- ชนิดรุนแรงน้อย คือ สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษโดยมีความดันโลหิตสูงไม่เกิน 160/110 มม.ปรอท หรือมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน หรือไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ไตวาย และทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์
- ชนิดรุนแรงมาก คือ ภาวะครรภ์เป็นพิษที่มีความดันโลหิตสูงมากกว่า 160/110 มม.ปรอท หรือมีโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 2 กรัมต่อวัน หรือมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ปวดหัวมาก ตาพร่ามัว มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ไตวาย ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการชักขณะตั้งครรภ์โดยที่ไม่เคยมีอาการชักมาก่อนตั้งครรภ์ (Eclampsia) และอาจเกิดภาวะเลือดออกในสมอง/ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะจนอาจเป็นสาเหตุถึงตายได้
อาการของครรภ์เป็นพิษมีอะไรบ้าง?
อาการพบบ่อยของครรภ์เป็นพิษ คือ
- มีความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มม.ปรอท
- ตรวจพบโปรตีนไข่ขาวในปัสสาวะ
- น้ำหนักเพิ่มมากอย่างรวดเร็ว
- มีอาการบวมตาม ใบหน้า มือ ข้อเท้า และเท้า
- ปวดหัวโดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย หน้าผาก โดยรับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น
- มีตาพร่ามัว อาจตาบอดชั่วขณะได้
- จุก/แน่นหน้าอก หรือที่บริเวณลิ้นปี่
- หากอาการรุนแรง อาจมีอาการชักกระตุกทั้งตัว เกิดเลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะได้
ภาวะแทรกซ้อนของครรภ์เป็นพิษมีอะไรบ้าง?
ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้จากครรภ์เป็นพิษ:
ก. ภาวะแทรกซ้อนต่อมารดา: เช่น
- อาจถึงตายได้: มักเกิดจากมีเลือดออกในสมองจากหลอดเลือดในสมองแตก
- เกิดอาการชัก
- ตาบอด อาจเป็นชั่วคราว หรือถาวร
- มีภาวะน้ำท่วมปอด/ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด
- มีเลือดออกในอวัยวะต่างๆ จากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
ข. ภาวะแทรกซ้อนต่อทารกในครรภ์: เช่น
- มีภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์
- มีภาวะน้ำคร่ำน้อย ส่งผลให้ทารกถูกกดเบียดทับจากน้ำหนักมารดา ส่งผลให้มีการเจริญเติบโตผิดปกติได้
- มีการคลอดก่อนกำหนด
- มีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
- ทารกเสียชีวิตในครรภ์
- หัวใจทารกเต้นช้าจากการขาดออกซิเจน
อาการผิดปกติที่สงสัยภาวะครรภ์เป็นพิษที่ต้องรีบมาพบแพทย์มีอะไรบ้าง?
เมื่อตั้งครรภ์ และมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ หรือรีบพบแพทย์ก่อนวันนัด คือ
- ปวดหัวรุนแรง
- ตาพร่ามัว หรือมองเห็นแสงวูบวาบ
- จุกแน่นใต้ลิ้นปี่
- คลื่นไส้อาเจียนมาก
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- บวมน้ำตาม ใบหน้า มือ ข้อเท้า และเท้า
ครรภ์เป็นพิษรักษาอย่างไร?
ในภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดไม่รุนแรง อาจไม่มีความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาในโรง พยาบาล แต่ต้องมาติดตามการรักษา อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด นอนพักมากๆ ลดอาหารรสจัด สังเกตนับลูกดิ้นทุกวัน วัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ
เฝ้าระวังอาการของโรคที่ต้องรีบมาพบแพทย์ เช่น ปวดหัว ตาพร่ามัว จุกแน่นใต้ลิ้นปี่ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง สามารถรอจนครบกำหนดคลอด แล้วจึงกระตุ้นให้คลอด สามารถคลอดทางช่องคลอดโดยใช้เครื่องดูดสุญญากาศ หรือคีมคีบช่วยคลอดได้
หากเป็นครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง) มีการวัดความดันโลหิตอย่างใกล้ชิด หากความดันโลหิตสูงมากกว่า หรือเท่ากับ 160/110 มม.ปรอท จำเป็นต้องได้รับยาลดความดัน เพื่อป้องกันหลอดเลือดในสมองแตก มีการติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์โดยเครื่องอัลตราซาวด์เป็นระยะๆ จำเป็นต้องได้รับยาป้องกันการชักระหว่างรอคลอดจนถึงหลังคลอด 24 ชั่วโมง ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีความจำเป็นต้องรับยุติการตั้งครรภ์ซึ่งอาจให้ยากระตุ้นชักนำการคลอด ทั้งนี้สามารถคลอดทางช่องคลอดโดยใช้เครื่องดูดสุญญากาศหรือคีมช่วยคลอด แต่จะผ่าตัดคลอดเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น มารดามีภาวะปากมดลูกไม่เปิด เป็นต้น
ควรดูแลผู้ป่วยครรภ์เป็นพิษหลังคลอดอย่างไร?
ในรายที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง มีความจำเป็นต้องได้รับยาป้องกันการชัก/ยากันชักต่อจนครบ 24 ชั่วโมงหลังคลอด หากมีความดันโลหิตสูงเกิน 160/110 มม.ปรอท อาจจำเป็นต้องได้ รับยาลดความดัน และอาจจำเป็นต้องวัดความดันโลหิตเป็นระยะๆทุก 1-2 วัน อย่างน้อยประมาณ 2 สัปดาห์ ต่อจากนั้นอาจวัดความดันโลหิตทุกสัปดาห์ จนอย่างน้อยประมาณ 6-12 สัปดาห์หลังคลอด หรือจนกว่าจะหยุดยาลดความดันโลหิต หรือตามแพทย์ที่รักษาดูแลแนะนำ
สามารถให้นมทารกได้ปกติ โดยยาป้องกันการชัก ไม่มีผลต่อทารกที่ได้รับนมมารดา แต่ทั้งนี้ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษา
โดยทั่วไปอาการต่างๆ จะดีขึ้นหลังคลอด โดยหากเกิน 12 สัปดาห์หลังคลอดแล้วยังคงมีความดันโลหิตสูง อาจเป็นโรคความดันโลหิตสูงชนิดเรื้อรัง ควรพบแพทย์อย่างต่อเนื่องตามแพทย์นัด เพื่อทำการรักษาต่อไป
เฝ้าระวังภาวะครรภ์เป็นพิษในครรภ์ต่อไป โดยควรฝากครรภ์แต่เนิ่นๆตั้งแต่รู่ว่าตั้งครรภ์ และพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
เมื่อรู้ว่าครรภ์เป็นพิษ มีข้อห้ามอะไรบ้าง? ยังมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม?
ข้อห้ามสำหรับสตรีตั้งครรภ์ที่ครรภ์เป็นพิษ เช่น
- งดทำงานหนัก งดเดินชอปปิ้ง ให้พักผ่อนมากๆ
- หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม
- งดมีเพศสัมพันธ์อย่างเด็ดขาด เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์มีผลทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น เลือดสูบฉีดจากหัวใจมากขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
เมื่อมีครรภ์เป็นพิษ เมื่อไหร่ต้องมาโรงพยาบาลฉุกเฉิน?
โดยทั่วไป เมื่อได้รับวินิจฉัยว่ามีภาวะครรภ์เป็นพิษ ในช่วงแรกแพทย์จะให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อสังเกตอาการ และเฝ้าระวังผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อน เมื่อมั่นใจว่าเป็นชนิดไม่รุนแรง ไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ แพทย์จึงอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล โดยให้พักผ่อนอยู่บ้าน ให้วัดความดันโลหิตที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือที่บ้าน (ถ้าสามารถมีเครื่องวัดความดันโลหิตไว้ใช้เอง) ตรวจนับการดิ้นของทารกเองโดยนับเมื่อประมาณ 1 ชั่วโมงหลังอาหาร รวมกันสามครั้ง, ต้องดิ้นมากกว่าวันละ 10 ครั้ง, และแพทย์อาจนัดพบสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค และตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์
*แต่หากพบอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบมาโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันที
- ความดันโลหิตมากกว่า หรือเท่ากับ 160/110 มม.ปรอท
- ทารกดิ้นน้อยกว่าวันละ 10 ครั้ง
- มีอาการน้ำเดิน(มีน้ำ/ของเหลวผิดปกติไหลออกทางช่องคลอด)
- ปวดหัวรุนแรง ตาพร่ามัว จุกแน่นใต้ลิ้นปี่
มีวิธีป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้อย่างไร?
ยังไม่มีวิธีใดที่สามารถป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้ 100% แต่เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ หรือเมื่อเตรียมตั้งครรภ์ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้โดยมีวิธีการ เช่น
- ลดอาหารรสเค็ม
- ดื่มน้ำให้มากกว่า หรือเท่ากับ 8 แก้วต่อวัน เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
- เพิ่มโปรตีน (เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม ตับ) ในอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารไขมัน อาหารผัดน้ำ มัน และอาหารทอด
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล
- พยายามยกขาสูงเมื่อมีโอกาส เช่น ขณะนั่ง นอน
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน(เช่น ชา กาแฟ โคล่า และเครื่องดื่มชูกำลัง)
- ฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มรู้ว่าตั้งครรภ์ หลังจากนั้นปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อลด โอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ และ/หรือลดโอกาสเกิดความรุนแรงของภาวะครรภ์เป็นพิษ