การดูแลการให้อาหารทางสายให้อาหาร (Nasogastric tube feeding and care)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: เรื่องทั่วไปของการให้อาหารทางสายให้อาหาร

ตามปกติ คนเราสามารถรับประทานอาหารได้เองทางปาก ไม่ต้องมีญาติหรือผู้อื่นมาช่วยเหลือ ในการรับประทานอาหาร แต่ทว่าในบางราย บุคคลที่ไม่สามารถรับประทานอาหารทางปากหรือได้รับอาหารทางปากไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายด้วยสาเหตุจากมีปัญหาจากการกลืนอาหาร หรือจากความเจ็บป่วยใดๆก็ตาม เช่น เจ็บในช่องปากและช่องคอมากจากช่องปากและช่องคออักเสบ จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับอาหารและน้ำอย่างเพียงพอโดยผ่านทางสาย/ท่อให้อาหารที่ผ่านจากช่องจมูกข้างใดข้างหนึ่ง (ซ้ายหรือขวาก็ได้) เข้าสู่ช่องคอจนเข้าสู่กระเพาะอาหารที่เรียกว่า “สายให้อาหาร (Nasogastric feeding tube; NG tube)” ซึ่งเรียกการให้อาหารผ่านสายให้อาหารนี้ว่า “Nasogastric tube feeding หรือ NG tube feeding” ทั้งนี้เพื่อทดแทนการได้รับอาหารจากทางปาก ซึ่งการให้อาหารผ่านสายให้อาหารจะช่วยให้ร่างกายได้รับอาหารและน้ำอย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวันจึงช่วยคงสมดุลของการทำงานของร่างกายของเรา

อนึ่ง: มักเรียก สายให้อาหารง่ายๆ ว่า ‘สายยาง’ เพราะในระยะแรกสายฯจะทำด้วยยาง ต่อมาจะมีทั้ง สายยาง และสายที่เป็นพลาสติก/ Polyurethane

การให้อาหารผ่านทางสายให้อาหารต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่นในการดูแลขณะผู้ป่วยได้รับอาหารในแต่ละครั้ง ในบทความนี้จึงขอนำเสนอการดูแลการให้อาหารทางสายให้อาหารซึ่งญาติหรือผู้ดูแลสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดูแลบุคคลที่ต้องให้อาหารทางสายให้อาหารได้อย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากการให้อาหารด้วยวิธีการนี้  อันจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการได้รับอาหารทางสายให้อาหาร

การให้อาหารทางสายให้อาหารคืออะไร?

 

การให้อาหารทางสายให้อาหาร  คือ การใส่สายยาง/ท่อยางผ่านทางรูจมูก(ซ้ายหรือขวาก็ได้) ใส่ลึกจนถึงกระเพาะอาหารและผ่านเข้าไปในกระเพาะอาหาร, โดยเป็นอาหารปั่นผสม (Blenderized diet)ที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ, ที่รวมไปถึงปริมาณของอาหารที่พอเหมาะในแต่ละมื้ออาหาร, โดยผู้ป่วยไม่ต้องเคี้ยวหรือกลืนอาหารนั้นๆ

ทั้งนี้ ระบบการย่อยและการดูดซึมอาหารของกระเพาะอาหารผู้ป่วยจะต้องยังคงทำงานปกติเหมือนในการกิน/การเคี้ยวอาหาร จึงจะสามารถให้อาหารผู้ป่วยทางสายให้อาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อนึ่ง:

  • สายให้อาหารจะเป็นท่อกลวงกลมยาวทำด้วยยางหรือพลาสติก มีได้หลายขนาดโดยแพทย์/พยาบาลจะเลือกใช้ตามขนาดที่เหมาะสมกับรูจมูกและขนาดความยาวลำตัวช่วงบนของผู้ป่วย
  • ทั้งนี้หน่วยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของสายฯนี้เรียกว่า French (Fr), 1 Fr = 0.33 มิลลิเมตร, ซึ่งขนาดทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่ไทยจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ14-16 Fr, และมีความยาวประมาณ 42 - 50 นิ้วหรือ 105 - 125 เซนติเมตร

ทำไมจึงต้องให้อาหารทางสายให้อาหาร?

ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับอาหารทางสายให้อาหาร คือ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคี้ยวและ/หรือกลืนอาหารทางปากและ/หรือทางลำคอได้ตามปกติ เช่น มีการอักเสบ/เจ็บในช่องปาก/ช่องคอมาก (เช่น ผู้ป่วยได้รับรังสีรักษาบริเวณช่องปาก/ช่องคอ), หรือในผู้ป่วย อัมพฤกษ์ อัมพาต

ดังนั้นเพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยได้รับสารน้ำและสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย, รวมถึงการได้รับยาต่างๆตามแผนการรักษาเพื่อบำบัดรักษาโรคให้ได้ผลดี, ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องได้รับ อาหาร น้ำดื่ม ยาต่างๆ อย่างพอเพียงผ่านทางสายให้อาหาร

ใครบ้างที่ควรได้รับอาหารทางสายให้อาหาร?

ผู้ป่วยที่ควรได้รับอาหารทางสายให้อาหาร ทั่วไปคือ  

  • บุคคล/ผู้ป่วยที่มีปัญหาในช่องปากช่องคอจนเกิดปัญหา การกลืนอาหาร การดื่มน้ำ จนไม่สามารถรับประทานอาหารฯได้เองทางปาก เช่น ในรายที่เป็นมะเร็งในช่องปาก มะเร็งหลอดอาหาร อัมพฤกษ์ อัมพาต
  • ผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางทันตกรรมจนก่อให้เกิดปัญหาในการเคี้ยวอาหาร ส่งผลให้ได้รับอาหารน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

อาหารอย่างไรที่เหมาะสมกับการให้ทางสายให้อาหาร?

อาหารที่เหมาะสมจะให้ทางสายให้อาหาร ควรเป็นอาหารปั่น เรียกว่า ‘อาหารปั่นผสม (Blenderized diet)’ ที่เป็นเหมือนอาหารเหลว สามารถไหลผ่านสาย/ท่อให้อาหารที่มีขนาดเล็กได้สะดวก, ไม่มีอาหารติดค้างตามสายให้อาหาร, อาหารที่ให้ทางสายให้อาหารนี้ควรเป็นอาหารที่สะอาดและมีคุณค่าอาหารตามหลักโภชนาการครบถ้วน

อาหารปั่นผสมที่จะให้ทางสายให้อาหารนี้ ควรเป็นอาหารที่ให้พลังงาน 1 กิโลแคลอรี (Kilocalories) ต่อปริมาณอาหาร 1 มิลลิลิตร โดยทั่วไปมีสัดส่วนของประเภทอาหาร เช่น

  • โปรตีน: เช่น เนื้อสัตว์ หมู ไก่ ปลา ไข่, 15 - 20%
  • ไขมันที่เป็น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด, 30 - 45%
  • คาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว น้ำตาล, ปริมาณตามแพทย์/พยาบาล/โภชนากรแนะนำ
  • ผัก ผลไม้ควรเป็นผลไม้สุกงอม เช่น มะละกอสุก กล้วยน้ำว้าสุก, 50 - 60%

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่อาหารปั่นผสมมักเป็นอาหารที่ทำให้สุกโดยผ่านกระบวนการ ต้ม ตุ๋น แล้วนำมาปั่นละเอียด ให้เข้ากันจนเป็นเนื้อเดียวกัน อาจใส่ขวดไว้แบ่งเป็นมื้อ มื้อละ 200 - 250 มิลลิลิตร,   ในหนึ่งวันอาจให้ 3 - 4 ครั้ง/มื้อโดยขึ้นอยู่กับดัชนีมวลกายของผู้ป่วย (BMI: Body Mass Index) หรือตามความต้องการของผู้ป่วยแต่ละราย, ทั้งนี้ แพทย์ พยาบาล และ/หรือโภชนากรสามารถให้คำแนะนำในเรื่องปริมาณ อาหารที่ผู้ป่วยควรได้รับ และที่สำคัญเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้จากการให้อาหารทางสายให้อาหาร

สูตรของอาหารปั่นผสม

สูตรอาหารปั่นผสมที่นิยมใช้ในการให้อาหารทางสายให้อาหารแบ่งเป็น 3 ประเภทได้แก่

ก. สูตรน้ำนมผสม (Milk based formula): เป็นอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบสำคัญและอาจมีอาหารชนิดอื่นมาเพิ่มเพื่อให้ได้พลังงานและสารอาหารที่เพียงพอ เช่น น้ำตาล น้ำมันพืช น้ำผลไม้ เป็นต้น สัดส่วนที่ใช้ในการทำอาหารชนิดนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการอาหารของผู้ป่วยแต่ละวัน ส่วนใหญ่แพทย์หรือพยาบาลหรือนักกำหนดอาหาร/โภชนากรจะเป็นผู้กำหนดให้

  • ตัวอย่างอาหารสูตรน้ำนม: ส่วนประกอบ นมสด 30 กรัม นมผงลดไขมัน 40 กรัม ไข่ไก่ 200 กรัม น้ำตาลทราย 100 กรัม น้ำมันพืช 5 กรัม เติมน้ำต้มสุกจนครบ 1,000 มิลลิลิตร

ข. อาหารปั่นผสม (Blenderized formula): อาหารที่ใช้นี้เป็นอาหารที่เตรียมมาจากอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ตามหลักโภชนาการแล้วนำมาทำให้สุกและปั่นผสมเข้ากัน ปริมาณอาหารมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความต้องการพลังงานและสารอาหารของผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์หรือพยาบาลหรือนักกำหนดอาหารจะเป็นผู้กำหนดปริมาณที่ผู้ป่วยต้องการต่อวัน

  • ตัวอย่างสูตรอาหารปั่นผสม (สูตรรามาธิบดี): ตับหมูหรือตับไก่ 100 กรัม ฟักทองหรือผักชนิด อื่น 100 กรัม กล้วยสุกหรือมะละกอสุก 100 กรัม ไข่ไก่ 200 กรัม น้ำตาล 100 กรัม และเติมน้ำต้มสุกให้ได้ 1,000 มิลลิลิตร
  • ตัวอย่างอาหารปั่นผสมสูตรมังสวิรัติ: ในผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถได้รับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ได้ จำเป็นต้องได้รับอาหารมังสวิรัติที่ได้รับคุณค่าทางอาหารไม่แตกต่างกันกับเนื้อสัตว์มาทดแทน ผู้เขียนจึงขอนำเสนออาหารปั่นสูตรมังสวิรัติเป็นทางเลือกเพื่อนำไปใช้ดังนี้เช่น โปรตีนเกษตร 60 กรัม นมถั่วเหลือง 200 กรัม ข้าวกล้อง 20 กรัม นำตาลทราย 60 กรัม ฟักทอง น้ำมันถัวเหลือง 30 กรัม และเติมน้ำสุกเป็น 1,000 มิลลิลิตร
  • วัตถุดิบที่ใช้ในการเตรียมอาหารปั่นผสม: สามารถดัดแปลงได้ตามความความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม และราคา, อย่างไรก็ตามควรคำนึงถึงความสะอาดและคุณค่าของอาหารทางโภชนา การเป็นสำคัญ

ค. อาหารปั่นผสมสำเร็จรูป: นอกเหนือจากอาหารปั่นผสมที่ญาติหรือผู้ดูแลสามารถเตรียมได้เองแล้ว ยังมีอาหารปั่นผสมสำเร็จรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์มีให้เลือกมากมายหลายสูตร, ได้คุณค่าของอาหารตามความต้องการของร่างกายและความสะดวกในการเลือกใช้,   อาหารสำเร็จรูปนี้มีทั้งชนิดเป็นผงและชนิดน้ำ เช่น Isocal Pan-enteral Prosobee, Sustagen เป็นต้น, แต่อาหารปั่นผสมสำเร็จรูปอาจมีราคาสูงกว่าอาหารปั่นผสมที่เตรียมใช้เอง ดังนั้นการเลือกอาหารปั่นผสมจึงต้องพิจารณาจากปัจจัยหลายด้านของผู้ใช้เป็นสำคัญ

เตรียมอุปกรณ์อะไรบ้างที่ใช้ในการให้อาหารทางสายให้อาหาร?

อุปกรณ์จำเป็นที่ใช้ในการให้อาหารทางสายให้อาหาร ที่สำคัญ คือ 

  • อาหารปั่นผสมที่อุ่นแล้วปริมาณ 200 - 250 มิลลิลิตร
  • กระบอกฉีดยาขนาดใหญ่ที่สุด/กระบอกให้อาหาร/Syringe feeding (ขนาด 50 มิลลิลิตร), สำลีสะอาด, และแอลกอฮอล์ 70%
  • น้ำสะอาดประมาณ 50 - 100 มิลลิลิตร

ให้อาหารทางสายให้อาหารอย่างไรจึงจะปลอดภัย?

การใส่สายให้อาหารจะใส่โดยพยาบาลผู้ชำนาญการ หรือญาติ หรือผู้ดูแลที่ได้รับการสอนหรือการแนะนำอย่างดีจากพยาบาลจนมีความรู้มีความพร้อมและมั่นใจว่าจะใส่สายฯได้เองอย่างถูก ต้องและปลอดภัย

วิธีให้อาหารทางสายให้อาหารที่ปลอดภัย ลดโอกาสติดเชื้อจากอาหาร และลดโอกาสสำลักอาหาร ทั่วไปได้แก่

  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนการเตรียมอุปกรณ์การให้อาหารทางสายให้อาหาร,และในการให้อาหารเพื่อช่วยลดจำนวนเชื้อโรค
  • เตรียมอาหารและอุปกรณ์การให้อาหารมาที่เตียงผู้ป่วยหรือที่ผู้ป่วยนั่งอยู่เพื่อสะดวกในการให้อาหารแก่ผู้ป่วย
  • แจ้งผู้ป่วยให้ทราบว่าจะให้อาหารเพื่อให้ทราบและพร้อมในการให้อาหาร, ในบางครั้ง ถ้าพบว่าผู้ป่วยมีเสมหะ ต้องดูดเสมหะออกก่อนการให้อาหารเพื่อป้องกันการสำลักอาหารขณะให้อาหาร
  • ดูท่าของผู้ป่วยเพื่อให้อาหารไหลสู่กระเพาะอาหารได้ดี ลดโอกาสเกิดการสำลัก, โดยจัดให้ผู้ป่วยนอนศีรษะสูง 30 - 60 องศา (กรณีผู้ป่วยลุกนั่งไม่ได้), หรือจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิงหลัง
  • ใส่สายให้อาหารผ่านรูจมูกด้านใดด้านหนึ่ง ผ่านลำคอ ผ่านหลอดอาหารเข้าสู่                กระเพาะอาหาร
  • เปิดจุกปลายสายให้อาหาร และเช็ดรอบรูเปิดด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำต้มสุก เพื่อทำความสะอาดอุปกรณ์และลดจำนวนเชื้อโรค
  • ต่อหัวกระบอกให้อาหาร (Syringe feeding) เข้ากับรูเปิดของสายให้อาหารโดยสำรวจให้กระชับและแน่น, แล้วค่อยๆดูดน้ำย่อยอาหาร หรืออาหารที่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารออก
    • ให้สังเกต ปริมาณ และลักษณะสิ่งที่ดูดออกมา เพื่อเป็นการทดสอบตำแหน่งของสายให้อาหารว่าอยู่ถูกต้องในกระเพาะอาหารหรือไม่ ป้องกันการเลื่อนหลุด,และป้องกันการสำลักอาหารเนื่องจากการไหลย้อนกลับจากกระเพาะอาหารเข้าสู่หลอดลม
    • ถ้าดูดออกมาได้มากเกิน 50 มิลลิลิตร ให้ใส่น้ำย่อยหรืออาหารที่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารที่ดูดได้กลับเข้าไป, และเลื่อนมื้ออาหารนั้นออกไป 1 ชั่วโมงเพื่อให้เวลากับการย่อยอาหารที่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร
    • หลังจากนั้นอีกประมาณ 1 ชั่วโมงต่อมา หากตรวจสอบพบว่ายังมีน้ำย่อยหรืออาหารค้างในกระเพาะอาหารเกิน 50 มิลลิลิตร, ให้งดให้อาหารมื้อนั้น แต่ให้อาหารในมื้อต่อไปได้
    • ซึ่งตามปกติจะให้อาหารวันละ 3 - 4 มื้อ เช่น 7.00, 12.00, 17.00 และ 20.00 น.
  • หลังตรวจสอบตามข้อต่างๆดังกล่าวทั้งหมด (รวม 7 ข้อ) แล้ว:
    • เมื่อจะเริ่มให้อาหาร ให้พับสายให้อาหารที่ใกล้กับรูเปิดของสายให้อาหาร, สำรวจกระบอกให้อาหารที่ต่อกับสายให้อาหารให้เรียบร้อยแล้วให้กระชับแน่น
    • นำอาหารเทลงไปในกระบอกให้อาหารประมาณ 50 มิลลิลิตร แล้วจึงค่อยๆปล่อยสายให้อาหารที่พับไว้
    • ยกกระบอกให้อาหารขึ้นสูงพอประมาณเพื่อช่วยให้อาหารค่อยๆไหลลงไปตามสาย
    • เมื่ออาหารใกล้หมด(เหลืออีกประมาณ 10 มิลลิลิตร) จึงเทอาหารลงไปอีก
    • ทำเช่นนี้จนอาหารที่เตรียมมาหมด
    • และควรให้น้ำสะอาดตามลงไปอีกประมาณ 50 มิลลิลิตรหลังจากให้อาหารหมดแล้ว เพื่อช่วยล้างสายให้อาหารเพื่อลดการบูดเน่าของเศษอาหารที่ค้างอยู่ตามสายให้อาหาร
  • กรณีที่ให้ยา:
    • ถ้าเป็นยาเม็ด ควรบดยาให้ละเอียดก่อนการให้ยาผ่านลงไปในสายให้ อาหาร   
    • ถ้าเป็นยาที่เป็นแคปซูลควรแกะแคปซูลออกก่อน
    • แต่ถ้าเป็นยาน้าสามารถนำมาให้ผ่านสายฯได้เลย
    • โดยการให้ยาทางสายให้อาหาร ทั่วไปควรปฏิบัติดังนี้:
      • กรณีให้ยาก่อนอาหาร: ควรให้ยาก่อนอาหารอย่างน้อยประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง, ผสมยากับน้ำเปล่าสะอาดประมาณ 5 - 10 มิลลิลิตร, คนให้เข้ากันแล้วเทลงในกระบอกให้อาหาร แล้วจึงตามด้วยน้ำเปล่าสะอาดอีก 20 - 30 มิลลิลิตร
      • กรณีให้ยาพร้อมอาหาร: ควรให้ยาผสมน้ำเปล่าสะอาด 5 - 10 มิลลิลิตร, คนให้เข้ากัน, เทลงในกระบอกให้อาหารทันทีหลังจากให้อาหารเสร็จ, หลังจากนั้นจึงตามด้วยน้ำฯอีก 20 - 30 มิลลิลิตร
      • กรณีให้ยาหลังอาหาร: ควรให้ยาหลังอาหารอย่างน้อยประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง, โดยให้ยาผสมกับน้ำฯประมาณ 5 - 10 มิลลิลิตร, คนให้เข้ากัน, แล้วเทลงในกระบอกให้อาหาร, แล้วตามด้วยน้ำฯอีก 20 - 30 มิลลิลิตร
  • เมื่อเสร็จสิ้นการให้อาหาร และ/หรือยา:
    • เช็ดปลายสายให้อาหารด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือ ด้วยน้ำต้มสุกที่ทิ้งไว้จนเย็น แล้วปิดฝาครอบรูเปิดสายฯเพื่อลดสิ่งสกปรกหลุดเข้าไปในสายฯ
    • ควรเก็บสายฯให้เรียบร้อย โดยใช้พลาสเตอร์ติดสายฯที่พ้นออกมานอกช่อง/รูจมูก
    • เก็บสายให้อยู่สูงกว่าตำแหน่งช่องจมูกเพื่อลดการไหลย้อนกลับออกมาของอาหาร, เช่น บริเวณแก้มข้างใดข้างหนึ่งของผู้ป่วย หรือบริเวณเหนือหูของผู้ป่วย
    • แต่สิ่งที่ควรระมัดระวัง คือ การเกิดแผลกดทับตรงตำแหน่งที่เก็บพักสายฯจากการกดทับของสายฯ (เช่น ที่บริเวณเหนือใบหู), *ดังนั้นควรเปลี่ยนตำแหน่งดังกล่าวบ่อยๆ ควรเปลี่ยนทุกครั้งที่ให้อาหารแต่ละมื้อ
  • ที่สำคัญอีกประการ หลังให้อาหารเสร็จ: เพื่อป้องกันอาการอึดอัดแน่นท้อง และอาหารไหลย้อนกลับเข้าหลอดอาหารและเข้าหลอดลม/การสำลักอาหาร, ควรต้อง                   ให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในเดิม/ท่าศีรษะสูง 30 - 60 องศา, หรือท่านั่ง, อย่างน้อย 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง
  • ขั้นตอนสุดท้าย เก็บอุปกรณ์ที่ใช้ในการให้อาหารไปทำความสะอาด และจัดเก็บเพื่อสะดวกในการใช้ครั้งต่อไป

ดูแลสายให้อาหารอย่างไร?

การดูแลสายให้อาหารที่สำคัญ คือ

  • การดูแลสายให้อาหาร: หากพบว่า พลาสเตอร์ที่ปิดตรึงสายฯบริเวณสันจมูก (ตำแหน่งที่สอด ใส่สายฯเข้าในช่องจมูกเพื่อให้สายฯอยู่กับที่เพื่อป้องกันการเลื่อนหลุด) สกปรก, ควรใช้สำลีสะอาดชุบแอลกอฮอล์ 70% เช็ดทำความสะอาด และจะช่วยให้ พลาสเตอร์ลอกออกได้ง่าย,  แล้วจึงเปลี่ยนพลาสเตอร์อันใหม่
    • ส่วนสายฯในส่วนที่อยู่นอกช่องจมูก ควรทำความสะอาดด้วยผ้านุ่มๆชุบน้ำเปล่าสะอาด, หลังจากนั้นจึงเช็ดสายฯให้แห้ง
  • การเปลี่ยนสายให้อาหาร: ทั่วไป สายให้อาหารที่ใช้กับผู้ป่วยมักจะใช้ได้นานประมาณ 1 เดือนหรือน้อยกว่านั้น, แต่เมื่อเห็นว่าสายฯขุ่นสกปรก, หรือมีอาหารอุดตันทำให้อาหารไม่สามารถไหลลงไปได้, หรือสายให้อาหารรั่ว (สังเกตจากมีน้ำหรือเศษอาหารซึมออกมาในช่วงให้อาหาร/ให้ยา), จำเป็นต้องเปลี่ยนสายให้อาหารใหม่เสมอไม่ต้องรอจนถึง 1 เดือน
    • กรณีผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล พยาบาลจะเป็นผู้เปลี่ยนสายฯใหม่ให้ผู้ป่วย, แต่หากผู้ป่วยอยู่ที่บ้าน ญาติหรือผู้ดูแลที่ได้รับการสอนหรือการแนะนำอย่างดีจากพยาบาลจนมีความรู้มีความพร้อม และมั่นใจว่าจะใส่สายฯได้เองอย่างถูกต้องและปลอดภัยต่อผู้ป่วย ก็สามารถเปลี่ยนถอดและใส่สายฯใหม่ให้ผู้ป่วยได้, ทั้งนี้ญาติ/ผู้ดูแลต้องรู้จักการวัดตำแหน่งความลึกของสายฯที่จะใส่, การทดสอบสายฯให้อยู่ในตำแหน่งกระเพาะอาหารด้วยการดูดน้ำย่อย หรือใช้ลมดันเข้าไปในสายฯประมาณ 10 - 15 มิลลิลิตร, และใช้หูฟังบริเวณกระเพาะอาหารทางด้านซ้ายของช่องท้องที่จะได้ยินเสียงลมผ่านสายฯ, จึงมั่นใจได้ว่าสายให้อาหารอยู่ในกระเพาะอาหาร, และใช้พลาสเตอร์ปิดสายให้อาหารยึดตรึงกับสันจมูกเพื่อป้องกันสายฯเลื่อนหลุด
    • อย่างไรก็ตาม ถ้าญาติหรือผู้ดูแลไม่มั่นใจในการจะเปลี่ยนสายให้อาหารให้แก่ผู้ป่วย สามารถนำผู้ป่วยมาโรงพยาบาลหรือมาสถานีอนามัยใกล้บ้านเพื่อให้พยาบาลช่วยเปลี่ยนสายฯให้ใหม่

ดูแลผู้ป่วยขณะให้อาหารทางสายให้อาหารอย่างไร?

การดูแลผู้ป่วยขณะให้อาหารทางสายให้อาหาร:  

  • การดูแลผู้ป่วยระหว่างให้อาหารทางสายให้อาหาร ที่สำคัญคือ ญาติหรือผู้ดูแลควรสังเกตอาการไอ และ/หรือ อาการสำลักขณะให้อาหารทางสายให้อาหาร
    • ถ้ามีอาการไอควรหยุดการให้อาหารไว้สักครู่ รอจนอาการไอหายไปจึงให้อาหารต่อ
    • แต่ถ้าผู้ป่วยมีการสำลักควรหยุดให้อาหารทันที, จับผู้ป่วยตะแคงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง
    • *สังเกตการหายใจของผู้ป่วย ถ้ามีอาการหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ต้องรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • *ถ้าผู้ป่วยมีอาการไอทุกครั้งขณะให้อาหารทางสายให้อาหาร, หรือ มีอาการไออย่างต่อเนื่องโดยไม่สัมพันธ์กับการให้อาหารทางสายฯ, *ก็ควรรีบนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจเพื่อหาสาเหตุและได้รับการรักษาที่เหมาะสม
  • *อาการไอหรืออาการสำลักระหว่างการให้อาหารจะเป็นสาเหตุให้อาหารไหลเข้าสู่หลอดลม/สู่ปอดที่เป็นสาเหตุให้เกิดการอุดตันทันทีของหลอดลมและ/หรือเป็นสาเหตุของปอดบวมซึ่งทั้ง 2 กรณีอาจเป็นอันตรายถึงตายได้
  • ควรใช้ไม้พันสำลีหรือ Cotton bud ชุบน้ำสะอาดเช็ดภายในรูจมูกทั้ง 2 ข้างเพื่อขจัดสิ่งสกปรก ควรทำทุกครั้งหลังการเช็ดตัวให้ผู้ป่วยหรือทุกครั้งที่พบมีสิ่งสกปรกในรูจมูก
  • ควรดูแลความสะอาดในช่องปากของผู้ป่วยร่วมด้วยเสมอเพื่อลดจำนวนเชื้อโรค และเมื่อช่องปากสะอาดจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบายและยังกระตุ้นความอยากอาหาร และช่วยให้ผู้ป่วยพร้อมที่จะรับประทานอาหารทางปากได้ต่อไปหากผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีขึ้น

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

การพบแพทย์:

  • ควรพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดเสมอ
  • *แต่หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ ควรรีบพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลก่อนนัด เช่น ผู้ป่วยมีอาการท้องผูกมาก, ท้องเสียมาก, หรืออาการสำลักอาหารบ่อย, น้ำหนักตัวลดลง, ทั้งนี้เพื่อแพทย์ตรวจพิจารณาหาสาเหตุและปรับการให้อาหารทางสายให้อาหาร, หรือใช้วิธีการรักษาอื่นตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย

มีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้างที่อาจเกิดจากให้อาหารทางสายให้อาหาร?

ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ที่อาจเกิดจากให้อาหารทางสายให้อาหาร  เช่น

  • สายฯเลื่อนหลุดจากกระเพาะอาหารทำให้ของเหลว/น้ำย่อย/อาหารในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปอยู่ในหลอดอาหาร, เมื่อผู้ป่วยนอนลงอาจทำให้อาหารไหลเข้าไปในหลอดลมจนอาจก่อให้เกิดภาวะปอดอักเสบ/ปอดบวมได้
  • การให้อาหารเร็วเกินไปจะกระตุ้นทำให้เกิดอาการท้องอืด/แน่นอึดอัดในท้อง
  • อุณหภูมิของอาหารที่ร้อนหรือเย็นเกินไปอาจทำให้ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารทำให้เกิดอาการปวดท้อง จุก/เสียดท้อง
  • ท้องผูก: ผู้ที่ได้รับอาหารทางสายฯมักได้รับอาหารที่มีใยอาหารไม่เพียงพอจึงมีโอกาสเกิดท้องผูกได้ง่าย
  • ท้องเสีย: ที่อาจเกิดจากอาหารที่ได้รับเข้าไปทางสายฯอาจไม่สามารถถูกย่อยและ/หรือถูกดูดซึมได้, หรืออาจเกิดจากอาหารบูดเน่า
    • ทั่วไปอาหารที่ให้ทางสายให้อาหารจะเป็นอาหารปั่น, ควรใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง, อาหารที่เตรียมเสร็จแล้วแต่ยังไม่ถึงมื้ออาหารที่จะให้ครั้งต่อไป ต้องเก็บไว้ในตู้เย็น และนำมาอุ่นก่อนที่จะให้อาหารในมื้อนั้นๆ

การป้องกันภาวะแทรกซ้อน:

การป้องกันภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว ทั่วไปสามารถทำได้ง่ายๆ โดย

  • ตรวจสอบสายให้อาหารว่า อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องทุกครั้งก่อนให้อาหาร
  • ขณะให้อาหาร ควรให้อาหารไหลไปอย่างช้าๆ, หลีกเลี่ยงการใช้แรงดันกระบอกให้อาหาร, และควรอุ่นอาหารก่อนการให้อาหารจะช่วยลดอาการแน่นอึดอัดท้อง
  • การให้อาหารที่มีใยอาหารสูง พร้อมกับการให้น้ำระหว่างมื้ออาหารอย่างเพียงพอ เช่น หลังให้อาหารไปแล้ว 3 ชั่วโมง ควรให้น้ำครั้งละ 50 - 100 มิลลิลิตรเมื่อผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามการจำกัดน้ำดื่มจะช่วยลดอาการท้องผูกลงได้

*****อย่างไรก็ตาม หากพบผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนจากการให้อาหารทางสายให้อาหารจนมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เช่น ท้องผูกหรือท้องเสียที่รุนแรง, หรือที่มีอาการผิดปกติต่างๆตลอดเวลา, ควรรีบปรึกษาแพทย์ และ/หรือ พยาบาล หรือ พามาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อขอคำแนะนำให้การช่วยเหลือบำบัดรักษาอาการผู้ป่วย

สรุป

การให้อาหารทางสายให้อาหารเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้เพื่อให้บุคคล/ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้เองทางปากแต่ระบบย่อยและดูดซึมอาหารยังทำงานได้ตามปกติให้ได้รับ 'อาหาร และน้ำ รวมถึงยา' อย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

การเตรียมอาหารปั่นผสมที่จะให้ทางสายให้อาหาร สามารถเตรียมได้เองอย่างง่ายๆ สิ่งสำคัญ คือ ต้องคำนึงถึงคุณค่าของอาหารทางโภชนาการและความสะอาด

ต้องตรวจสอบสายให้อาหารให้อยู่ในตำแหน่งในกระเพาะอาหารและตรวจสอบปริมาณอา หารที่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารก่อนการให้อาหารทางสายฯทุกครั้ง รวมทั้งการดูแลสายฯให้สะ อาด ระมัดระวังภาวะแทรกซ้อนจากการให้อาหารทางสายให้อาหาร สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยและได้รับอาหารทางสายให้อาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บรรณานุกรม

  1. มนสภรณ์ วิทูรเมธา น้ำอ้อย ภักดีวงศ์ และมนพร ชาติชำนิ (บรรณาธิการ) .(2552). การพยาบาลพื้นฐาน. ปทุมธานี. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิต.
  2. สุปราณี เสนาดิสัย และวรรณภา ประไพพานิช.(บรรณาธิการ).(2554). การพยาบาลพื้นฐาน: แนวคิดและการปฏิบัติ. (พิมพ์ครั้งที่ 13).กรุงเทพฯ: จุดทอง.
  3. Perry,A.g & Potter,P.A. (2015). Mosby’s Pocket Guide to Nursing skills & Procedures. 8th edition.St.Louis: Elsevier Mosby.
  4. Lynn,P.(2011). Taylor’s Handbook of Clinical Nursing Skills. Philadelphia: Wolters Kluwer/Lippincott Williams & Wilkins.
  5. https://patient.uwhealth.org/healthfacts/279   [2023,April15]
  6. https://oley.org/page/HomeTF_BlenderFoods/Home-Tube-Feeding-with-Blenderized-Foods-)new   [2023,April15]