การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในสตรี (Urinary incontinence in women)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในสตรีคืออะไร?

การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในสตรี (Urinary incontinence in women) คือ การที่สตรีผู้นั้นไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้ตามที่ต้องการ ไม่สามารถกลั้นหรือหยุดยั้งการไหลของปัสสาวะในเวลาหรือในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม, น้ำปัสสาวะไหลออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ

การขับถ่ายปัสสาวะเกิดได้อย่างไร?

การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในสตรี

 

โดยทั่วไป  คนเราสามารถควบคุมการถ่ายปัสสาวะหรือรอโอกาสที่จะปลดปล่อยปัสสาวะในสถานที่และในเวลาที่เหมาะสมได้,  เมื่อมีความรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะ จะมีการส่งกระแสประสาทไปที่สมอง สมองจะประมวลผลและส่งกระแสประสาทกลับมาที่กระเพาะปัสสาวะ ให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัว,พร้อมๆกับสั่งให้หูรูดท่อปัสสาวะเปิดออก, เราก็จะถ่ายเป็นปัสสาวะออกมา, จากนั้นหูรูดท่อปัสสาวะก็จะปิดดังเดิมเป็นประตูคอยกลั้นไม่ให้ปัสสาวะเล็ดออกมา, ในขณะที่ไตจะผลิตน้ำปัสสาวะลงไปในกระเพาะปัสสาวะตลอดเวลาเพื่อรอการปล่อยออกของปัสสาวะในรอบต่อไป, หากมีสิ่งใดไปทำให้ระบบนี้เสียไป เช่น ระบบประสาทการสั่งการบีบตัวกระเพาะปัสสาวะ, การปิดเปิดของหูรูดท่อปัสสาวะ ผิดปกติ, ก็จะมีผลต่อการควบคุมการถ่ายปัสสาวะ

การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่มีผลกระทบต่อสตรีอย่างไร?

การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือ กลั้นปัสสาวะไม่ได้ พบบ่อยในสตรีสูงอายุ  อุบัติการณ์ที่แท้จริงยังไม่ทราบ เพราะส่วนใหญ่มักไม่มาพบแพทย์  ทั่วไปพบอย่างน้อยประมาณ 25%  โดยพบมากขึ้นเรื่อยๆเมื่ออายุมากขึ้น แต่สตรีส่วนมากคิดว่าเป็นภาวะปกติของสตรีในวัยนี้ จึงยอมรับว่าเป็นธรรมชาติ ทั้งๆที่เป็นปัญหา, อุบัติการณ์ที่รายงานจึงมักต่ำกว่าปกติมาก  

การปัสสาวะบ่อยผิดปกติและไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ จะมีผลกระทบชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในตนเองเพราะมีปัสสาวะราด ทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์, ทำให้ไม่อยากออกงานสังคม เพราะเกรงจะเกิดความอับอาย

การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่มีกี่ประเภทและสาเหตุมีอะไรบ้าง?

การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีหลายประเภท  เช่น

  • Stress incontinence (ปัสสาวะเล็ด เมื่อ ไอ จาม): มีลักษณะ คือ เวลาไอ จาม หรือเมื่อมีการเพิ่มของความดันในช่องท้อง (เช่น ยกของหนักเป็นประจำ หรือท้องผูกเรื้อรัง) จะทำให้มีน้ำปัสสาวะเล็ดออกมาโดยไม่ตั้งใจ สาเหตุมักเกิดจากการปิดของหูรูดของท่อปัสสาวะไม่ดี  เนื่องจากมีการหย่อนยานของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน/ท้องน้อยที่ช่วยพยุงบริเวณคอกระพาะปัสสาวะตามอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
  • Urge incontinence (ปัสสาวะรด เมื่อปวดปัสสาวะ): มีลักษณะ คือ เวลารู้สึกปวดปัสสาวะ จะราดทันที  มักไม่สามารถกลั้นจนไปเข้าห้องน้ำได้ทัน  สาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะทำงานไม่ปกติ
  • Overflow incontinence (ปัสสาวะรดโดยไม่ปวดปัสสาวะ): มีลักษณะ คือ เมื่อกระเพาะปัสสาวะโป่งมากจากปริมาณน้ำปัสสาวะที่มากขึ้น, แต่เนื่องจากการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการบีบรัดตัวของกระเพาะปัสสาวะเสียไป, ปัสสาวะก็จะท้นออกมา จะพบในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานนานๆ หรือผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุบริเวณไขสันหลัง  ทำให้เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกระเพาะปัสสาวะเสียไป 
  • True incontinence (กระเพาะปัสสาวะมีรูรั่ว): มีลักษณะ คือ จะมีน้ำปัสสาวะไหลออกมาตลอดเวลา ไม่สามารถกลั้นได้  สาเหตุหากไม่ใช่เป็นมาแต่กำเนิดที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะแล้ว, มักเป็นภาวะจากการผ่าตัดมดลูกแล้วมีการบาดเจ็บต่อกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดช่องเชื่อมต่อกันระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับช่องคลอด (Vesico-vaginal fistula), หรืออาจเกิดจากการลุกลามของมะเร็งปากมดลูกไปที่กระเพาะปัสสาวะทำให้เกิดรูรั่วขึ้น
  • Mixed incontinence (กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลายรูปแบบร่วมกัน):  เป็นความผิดปกติหลายๆอย่างที่กล่าวแล้วร่วมกัน เช่นทั้ง Stress incontinence และ Urge incontinence

ปัจจัยสี่ยงที่ทำให้เกิดการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในสตรีมีอะไรบ้าง?

ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในสตรี มีหลายอย่าง  เช่น

  • การคลอดบุตร: เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ   การคลอดจะทำให้เกิดการฉีกขาดของเส้นประสาทของกล้ามเนื้อหูรูด,และของกล้ามเนื้อกะบังลมในอุ้งเชิงกราน (กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อต่างๆในอุ้งเชิงกราน), ทำให้เกิดอุ้งเชิงกรานหย่อน(กะบังลมหย่อน)
  • ผู้สูงอายุ, วัยใกล้หมดประจำเดือน, วัยหมดประจำเดือน : โดยฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) จากรังไข่จะลดลง  ทำให้ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อต่างๆเสียไป
  • การไอเรื้อรัง หรือ ท้องผูกเรื้อรัง  จะเพิ่มความดันในช่องท้อง
  • โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน:  ที่จะส่งผลเพิ่มน้ำหนัก/ความดันในช่องท้อง, กระเพาะปัสสาวะ,รวมถึงต่อท่อปัสสาวะจึงส่งผลถึงการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

วิธีการค้นหาสาเหตุของการการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในสตรี มีอะไรบ้าง?

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้จาก

  • การตรวจปัสสาวะ (Urine analysis หรือเรียกย่อว่า ยูเอ/ UA): เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ) หรือไม่ เพราะหากมีการติดเชื้อจะทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อยได้ ซึ่งเป็นการตรวจเบื้องต้นที่จำเป็น และทำได้ง่าย ราคาไม่แพง, หากพบว่ามีการติดเชื้อต้องให้ยาปฏิชีวนะรักษาตามสาเหตุ
  • การถ่ายภาพรังสี/เอกซเรย์ของระบบทางเดินปัสสาวะ (Film KUB) เพื่อดูว่ามีนิ่วในไต  นิ่วในท่อไต  หรือ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือไม่
  • การจดบันทึกการปัสสาวะประจำวัน (Voiding diary) หากการสืบค้นขั้นพื้นฐานไม่พบความผิดปกติ ขั้นต่อไปแพทย์จะให้ผู้ป่วยกลับไปบันทึกเกี่ยวกับประวัติการดื่มน้ำ, การรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม,  การขับถ่ายปัสสาวะประมาณ  2-3 วัน, เพื่อนำมาประกอบการวิเคราะห์,และวินิจฉัยโรค
  • การตรวจพลศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ (Urodynamic study) เป็นการตรวจการทำงานของกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของการทำงาน โดยจะมีการใส่น้ำเข้าไปในกระปัสสาวะ แล้ววัดการเปลี่ยนแปลงของความดันในกระเพาะปัสสาวะ, และอัตราการไหลของปัสสาวะในระยะต่างๆ เช่น ตอนรู้สึกเริ่มปวดปัสสาวะ และตอนอยากปัสสาวะมากที่สุด, เพื่อนำมาช่วยในการวินิจฉัยโรค

ควรดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเอง:

ก. กรณีที่มีอาการปัสสาวะเล็ดเมื่อ ไอ จาม (Stress incontinence) ไม่มาก: การดูแลตนเองเบื้องต้นเป็นสิ่งจำเป็น เช่น

  • การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม: เช่น
    • ดื่มน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่เกิน 2 ลิตรต่อวัน
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มมีคาเฟอีน เช่น ชา  กาแฟ  น้ำอัดลม  เครื่องดื่มชูกำลัง
    • ลดหรือควบคุมน้ำหนักตัว
    • เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีกากมากๆ เพื่อลดอาการท้องผูก
    • งดสูบบุหรี่เพราะจะช่วยลดอาการไอเรื้อรัง
    • หลีกเลี่ยงการออกแรงที่จะทำให้มีการเพิ่มแรงดันในช่องท้องเป็นประจำ
  • การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยการฝึกทำ Kegel exercise หรือ 'การขมิบช่องคลอด' นั่นเอง  การทำไปนานๆ จะทำให้กล้ามเนื้อที่พยุงอวัยวะในอุ้งเชิงกรานแข็งแรง ช่วยพยุงบริเวณหูรูดปัสสาวะให้แข็งแรงขึ้น วิธีการทำมีดังนี้
    • ครั้งแรก ให้ฝึกขมิบช่องคลอดเพื่อหยุดปัสสาวะขณะที่กำลังถ่ายปัสสาวะ แล้วจำความรู้สึกนั้นไว้ (มีข้อห้ามที่ไม่ควรฝึกขมิบหลังตื่นนอนทันที เพราะมีน้ำปัสสาวะคั่งมาตลอดคืน)
    • ต่อไปฝึกขมิบช่องคลอด โดยขมิบแล้วกลั้นไว้ นับ 1 ถึง 10 ต่อจากนั้นให้คลายการขมิบ นับเป็น 1 ครั้ง ทำเป็นชุดๆละ 30 ครั้ง เวลาใดก็ได้ที่สะดวก ทำ 3 เวลาต่อวัน นาน 3-6 เดือน

*ทั้งนี้ หากดูแลปฏิบัติด้วยตนเองไป  3-6 เดือนแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น สมควรที่จะไปพบแพทย์/สูตินรีแพทย์

ข. กรณีที่มีอาการปัสสาวะรดเมื่อปวดปัสสาวะ (Urge incontinence) แต่อาการยังไม่มาก: นอกจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และการขมิบช่องคลอดแล้ว ควรทำการฝึกการทำงานกระเพาะปัสสาวะ หรือยืดเวลาในการขับถ่าย (Bladder training) ให้เกิดความเคยชินในการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ  โดยให้บีบตัวหรือขับถ่ายให้เป็นเวลาตามที่เรากำหนด คือเมื่อรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะให้ลองกลั้นไว้สัก 5 นาทีก่อน  แล้วจึงไปปัสสาวะ ฝึกทุกครั้งให้กระเพาะปัสสาวะเริ่มชิน แล้วค่อยๆเพิ่มเวลาทีละ 5 นาทีไปเรื่อยๆ จนเกือบเท่าคนปกติ  หากไม่สำเร็จ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับประทานยาร่วมด้วย

ค. กรณีปัสสาวะรดโดยไม่ปวดปัสสาวะ (Overflow incontinence) และ/หรือ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในหลายรูปแบบร่วมกัน (Mixed incontinence): ควรต้องพบแพทย์แต่แรก ซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำรักษาดูแลผู้ป่วยเป็นรายๆไป ตามความรุนแรงของอาการ, สาเหตุ, และดุลพินิจของแพทย์

ง. กรณีที่เป็นการปัสสาวะไหลตลอดเวลาจากกระเพาะปัสสาวะมีรูรั่ว (True incontinence): ต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดรักษา, ไม่มีการการรักษาด้วยตนเอง

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

หากผู้ป่วยมีการฝึกพฤติกรรมเต็มที่แล้ว (ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น) แต่อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ยังไม่บรรเทา ควรที่จะไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อได้รับการวินิจฉัย และการรักษาที่เหมาะสม

การรักษาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในสตรีมีอะไรบ้าง?

วิธีการรักษาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่  มีหลายวิธี  เช่น

  • รักษาด้วยการทำพฤติกรรมบำบัด:   ตามที่กล่าวมาแล้ว  เบื้องต้นต้องทำควบคู่กับการรักษาแบบอื่นๆร่วมไปด้วยเสมอ และทำไประยะยาว ตลอดชีวิต
  • รักษาด้วยยา:  มียาหลายชนิดที่นำมาใช้  จะใช้รักษาผู้ป่วยในกลุ่มที่เป็นปัสสาวะรดเมื่อปวดปัสสาวะ (Urge incontinence) เป็นหลัก แต่บางชนิดก็ใช้รักษาปัสสาวะเล็ดเมื่อ ไอ จาม (Stress incontinence) ได้   โดยยาแต่ละชนิดจะมีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกันไป, ยาที่ใช้ เช่น
    • ยาในกลุ่ม Anticholinergic/Antimuscarinic/แอนตี้มัสคารินิก: โดยยาจะไปยับยั้งการบีบรัดตัวของกระเพาะปัสสาวะ เช่นยา  Oxybutynin chloride, Tolteridine, Flavoxate, และ Trospium chloride
    • ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่ม Tricyclic antidepressants (TCA): โดยยาจะไปออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง ลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
    • ยาในกลุ่ม แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker): โดยยาจะทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะไม่หดรัดตัว
    • ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน: เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ
  • การใส่วงแหวนพยุงในช่องคลอด (Vaginal pessary):  เคยมีการใช้ในสมัยก่อนและหยุดใช้ไป,   ปัจจุบันได้มีการนำมาใช้ใหม่ จะเป็นวงยางนิ่มๆ มีหลายขนาด ที่ใส่เข้าไปในช่องคลอด ค้างไว้และนำออกมาล้างและใส่เข้าไปใหม่ทุกวัน  ส่วนมากจะได้ผลในกรณีที่มีการหย่อนของมดลูก หรือของช่องคลอดร่วมด้วย  สามารถใช้ได้ในผู้ป่วยที่ไม่อยากหรือมีข้อห้ามในการผ่าตัด
  • การผ่าตัด: เป็นการรักษาหลักในผู้ป่วยที่เป็น Stress incontinence มีหลากหลายวิธี เช่น
    • การเย็บช่องคลอด (Anterior colporrhaphy with Kelly plication)
    • การเย็บบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะ (Retropublic colposuspension)
    • การคล้องบริเวณท่อปัสสาวะด้วยเส้นเทป (Tension free vaginal tape)
  • การกระตุ้นประสาทกระเพาะปัสสาวะด้วยไฟฟ้า
  • การฝังเข็ม

ป้องกันการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้อย่างไร?

ไม่มีสตรีคนใดอยากมีปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะราด เพราะจะทำให้อับอาย  หรือไม่สะดวกในการเข้าสังคม, วิธีการป้องกันการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่  เช่น

  • ดื่มน้ำในปริมาณที่พอเหมาะด้วยการสังเกตอาการปัสสาวะของตนเองต่อปริมาณน้ำดื่ม/วันเพราะจะต่างกันในแต่ละผู้ป่วย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน เพราะจะทำให้มีปริมาณปัสสาวะมาก เช่น ชา กาแฟ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ป้องกันการไอเรื้อรัง
  • รับประทานผัก ผลไม้ มากๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการท้องผูก ที่จะไปเสริมแรงดันช่องท้องขณะเบ่งถ่าย
  • ควรลดน้ำหนัก หากมีโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Kegel exercise)/ขมิบช่องคลอด โดยการฝึกขมิบช่องคลอดตามที่กล่าวมาแล้ว ต้องทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องตลอดไป และ
    • ควรบริหารตั้งแต่อายุยังน้อย  และสามารถบริหารได้ตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ (*ปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อน) ไปจนถึงระยะหลังคลอด  จะให้ผลดีกว่าการไปรอบริหารเมื่อหลังคลอด หรือตอนเป็นผู้สูงอายุแล้ว

บรรณานุกรม

  1. Culligan PJ, Heit M. Urinary incontinence in women: evaluation and management. Am Fam Physician 2000; 62 :2433-44.
  2. Nygaard I, Menefee SA, Wall LL. Lower urinary tract disorder. In: Berek JS, ed. Berek& Novak’s Gynecology. Philadelphia : Lippincott Williams & Wilkins, 2007: 849-96.
  3. O’Neil B, Gilmour D. Approach to urinary incontinence in women. Can Fam Phy 2003; 49: 611-8.
  4. https://emedicine.medscape.com/article/452289-overview#showall   [2023,Jan14]