โคลิก (Baby colic) : เด็กร้องร้อยวัน

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โคลิกหรือ โคลิค (Colic หรือ Baby colic) คือ อาการที่เกิดในเด็กแรกเกิดอายุตั้งแต่ 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน ที่เด็กจะร้องมาก ร้องนาน และมักชอบร้องตอนกลางคืน, โดยจะร้องจนตัวงอ, คนรุ่นก่อนจึงมักเรียกว่า “เด็กร้องร้อยวัน”, อาการที่ทำให้เกิดเป็นเรื่องของการปวดท้อง ไม่สบายท้องของเด็ก, ทั้งนี้โคลิกเป็นอาการที่พบบ่อย และเป็นอาการที่ทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลกับพ่อแม่และครอบครัวมาก

โคลิกพบได้ประมาณ 8-40% ของเด็กเล็ก และที่น่าสังเกตคือ พบบ่อยในครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมสูง, เป็นบุตรของพ่อแม่ที่มีอายุมาก, เกิดในครอบครัวที่มีลูกน้อยคน, และพ่อแม่มีการศึกษาสูง

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดโคลิกในเด็ก?

 

สาเหตุและพยาธิสรีรวิทยา (Pathophysiology/ความผิดปกติด้านการทำงานของอวัยวะต่างๆ) ของการเกิดโคลิกยังไม่ทราบแน่นอน แต่คิดว่าน่าเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน เช่น

  • พื้นฐานอารมณ์ของเด็ก ซึ่งมักเป็นกลุ่มเด็กเลี้ยงยาก
  • เด็กกลืนอากาศขณะดูดนมเข้าไปมากส่งผลให้ไม่สบายท้อง
  • ผู้ดูแลไม่สามารถทำให้เด็กเรอได้เพียงพอ อากาศในท้องจึงก่อให้เด็กเกิดอาการแน่นอึดอัดท้อง
  • เด็กอยู่ในท่านอนที่ไม่เหมาะสม
  • เด็กกินมากเกินไป หรือกินน้อยเกินไป
  • ครอบครัวมีความเครียดหรือความวิตกกังวลมาก (ซึ่งอาจตรงกับที่พบอุบัติการณ์โคลิกสูงในครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมสูง, เป็นบุตรของพ่อแม่ที่มีอายุมาก, ครอบครัวที่มีลูกน้อย, และในพ่อแม่ที่มีการศึกษาสูง), ซึ่งพบว่าความเครียดของแม่ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์มีผลให้เกิดโคลิกในเด็กได้
  • เด็กที่มีภาวะ/โรคกรดไหลย้อน
  • เด็กที่มีการเคลื่อนตัวของลำไส้ผิดปกติ คือ มีการเคลื่อนตัวของลำไส้มากเกินไป
  • เด็กกินอาหารพวกแป้งมากเกินไป ทำให้ลำไส้ย่อยแป้งไม่หมด จึงเหลือแป้งให้แบคทีเรีย (ในลำไส้) ย่อยแป้งที่เหลือ ทำให้เกิดแก๊สในลำไส้มาก เด็กจึงแน่นอึดอัดท้อง
  • เด็กที่มีการแพ้อาหารหรือเด็กที่ได้รับน้ำผลไม้บางอย่าง เช่น น้ำแอปเปิล ซึ่งทำให้เด็กไม่สุขสบายในท้อง/ลำไส้
  • เด็กที่บิดา มารดา มีปัญหาทางอารมณ์
  • มีการเปลี่ยนแปลงของเชื้อแบคทีเรียในลำไส้เด็ก โดยเฉพาะมีแบคทีเรียบางกลุ่มสัมพันธ์กับการเกิดอาการโคลิกซึ่งเมื่อลดแบคทีเรียกลุ่มดังกล่าว อาการโคลิกก็ลดลงได้

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการโคลิก?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการโคลิก เช่น

  • ระบบประสาทอัตโนมัติของเด็กเล็กยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ (Immature autonomic nervous system) จึงส่งผลให้การเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ยังไม่สมบูรณ์
  • บิดา และ/หรือมารดา สูบบุหรี่

แพทย์วินิจฉัยภาวะโคลิกได้อย่างไร?

การวินิจฉัยโคลิก ทั่วไปแพทย์วินิจฉัยจาก ประวัติอาการของเด็ก, การตรวจร่างกาย, และการแยกอาการจากสาเหตุอื่นๆออกไป, ซึ่งได้แก่

  • พบในเด็กอายุ 3 เดือนแรกของชีวิต
  • อาการเกิดแบบเฉียบพลัน และมักเกิดในเวลาเดิมๆของวัน คือ มักเกิดช่วงหัวค่ำเด็กจะร้องนานเป็นชั่วโมง (ส่วนใหญ่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง), อาจารย์อาวุโสของผู้เขียนบอกว่าร้องตั้งแต่บาร์ (ไนท์คลับ) เปิดถึงบาร์ปิด
  • มีอาการแสดงของการปวดท้อง, ท้องอืด, ปวดเป็นพักๆ (Colicky pain)
  • แพทย์ตรวจไม่พบความผิดปกติอย่างอื่น
  • พ่อแม่มักจะมีบุคลิกเครียดและวิตกกังวล

ลักษณะอาการร้องของเด็กเป็นอย่างไร?

ลักษณะอาการร้องของเด็กในภาวะโคลิก คือ เวลาร้อง เด็กจะงอขา งอตัว กำมือ

แพทย์วินิจฉัยแยกโคลิกจากโรคอื่นๆอะไรบ้าง?

เนื่องจากอาการของโคลิกเป็นอาการที่มักจะทำให้พ่อแม่ตกใจ, และยิ่งเครียดมากขึ้น แพทย์เองเมื่อพบเด็กที่เป็นโคลิกครั้งแรก ต้องหาสาเหตุของโรคหรือภาวะที่จะทำให้เด็กร้องมากๆก่อน  

เพราะการวินิจฉัยโคลิก คือ จะบอกว่าเป็นโคลิกได้ ต้องตัดสาเหตุอื่นที่อาจทำให้พบอาการเหมือนโคลิกออกไปเสียก่อน เช่น การเจ็บป่วยไม่สบาย มีไข้ตัวร้อน มีการอักเสบของหู (เช่น มด แมลงเข้าหู) มีปัญหาในทางเดินหายใจ มีการสำลักสิ่งแปลกปลอมในลำคอ มีภาวะท้องผูก ท้องเสีย มีแผลบริเวณก้น มีอาการคันเนื้อตัวมาก มีอัณฑะบิดตัว (Testicular torsion) หรือมีลำไส้กลืนกัน (อาการลำไส้กลืนกัน, มักไม่ค่อยพบในเด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน, เด็กอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือดปนมูกสีแดงคล้ำคล้ายแยมที่ทำจากผลเคอร์แร้นต์/Currant jelly stool) เป็นต้น

เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นโคลิกโดยตัดปัญหาอื่นๆออกไปแล้ว พ่อแม่ควรสบายใจว่าอาการนี้จะหายแน่นอนไม่อันตราย แต่ต้องใช้เวลาและพยายามลดความเครียดลง

รักษาโคลิกอย่างไร?

ไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับภาวะโคลิก เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอน แต่มีความพยายามลดสาเหตุที่อาจทำให้เกิดโคลิกซึ่งทำให้เด็กหลายรายมีอาการดีขึ้น เช่น

  • ในลูกที่ดื่มนมแม่: แม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารบางอย่างที่ทำให้เกิดการแพ้อาหารในเด็กเช่น นมวัว
  • ลดความเครียดในครอบครัว: ให้พ่อแม่เข้าใจว่าโคลิกเป็นอาการที่เกิดชั่วคราวและจะหายได้เอง
  • ในเด็กที่ต้องดื่มนมอื่นที่ไม่ใช่นมแม่: ควรเลือกนมที่แพ้ได้น้อย (Low-allergen milk)
  • เมื่อให้เด็กดื่มนม หรือน้ำจากขวด ระวังอย่าให้มีอากาศแทรกเข้าไปตรงบริเวณที่เด็กดูดนม ต้องยกขวดฯให้สูงจนนมหรือน้ำเต็มบริเวณจุกขวดไม่มีอากาศแทรก
  • หลังป้อนนมเด็กเสร็จแล้ว ควรจับให้เด็กนั่ง หรืออุ้มพาดบ่าให้เรอ
  • ยาบางชนิดอาจช่วยได้ เช่น Simethicone (ยาลดแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้ ลดอาการท้องอืด) เป็นยาที่ใช้กันเป็นสามัญทั่วไป ยังใช้กับเด็กบางส่วนได้ดีอยู่, ผู้เขียนมีประสบการณ์เลี้ยงลูกที่มีอาการโคลิก ได้ให้ยาแก๊สแท็บ (Gastab เป็นชื่อการค้าของยา Sodium bicarbonate ใช้ลดอาการท้องอืด) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มลดอาการท้องอืดเช่นกัน เป็นเม็ดเล็กๆ บดใส่น้ำป้อนให้ได้ผลดี และผู้เขียนให้ผู้ป่วยหลายรายใช้ก็ได้ผล แต่ตามเอกสารงานวิจัยอาจไม่ได้ผล คงเป็นแบบสุภาษิตที่ว่าลางเนื้อชอบลางยา บางคนได้ผล บางคนไม่ได้ผล
  • ยาชื่อ Dicyclomine (ยาต้านการทำงานของประสาทควบคุมการบีบตัวของลำไส้) มีการศึกษาว่าใช้ได้ผล แต่ปัญหาคือทำให้เกิดอาการข้างเคียง (เช่น คลื่นไส้อาเจียน) ทำให้ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งก็เป็นอายุที่เกิดอาการโคลิก

โดยสรุป: การรักษาโคลิกค่อนข้างยาก เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนและอาจเกิดจากหลายปัจจัย, แต่ข้อสำคัญ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องทำใจ และต้องใช้เวลา และอดทนในการดูแลเด็ก

*****อนึ่ง: การใช้ยาในเด็ก ควรปรึกษาแพทย์, ให้แพทย์ที่ดูแลเด็ก เป็นผู้สั่งทั้ง ชนิด, ปริมาณ/ขนาด, วิธีใช้, และระยะเวลาในการใช้ยา, จะปลอดภัยกว่าซื้อยาใช้เองมาก

ขณะเด็กร้อง ควรทำอย่างไร? ดูแลเด็กอย่างไร?

การให้เด็กหยุดร้องในเด็กที่มีอาการโคลิกนั้นค่อนข้างยาก เด็กอาจหยุดร้องเป็นพักๆ หากเด็กระบายลมออกมาได้ หรือมีการขยับของลำไส้ อาการจะดีขึ้น อย่างไรก็ตามขณะเด็กร้องให้ทำดังนี้ เช่น

  • ดูว่าเด็กร้องเพราะหิวนมหรือไม่ เพราะเด็กที่หิวนมก็จะร้องกวน พอได้กินนมจะหยุดร้อง
  • อย่าให้เด็กอยู่ในที่ที่มีสิ่งกระตุ้น เช่น เสียงดัง, แสงรบกวน
  • จับเด็กอุ้มพาดบ่าเด็กจะรู้สึกสบายขึ้น และช่วยดันลมในท้องออกมาด้วย
  • นวดตัวเด็ก หรือเขย่าเบาๆไปมา ลูบหลังให้
  • เปิดเพลงเบาๆให้ฟัง
  • อย่าปล่อยให้เด็กร้องนานโดยไม่เข้าไปดูแล
  • หาคนช่วยดูเด็ก เพื่อแม่จะได้พักบ้าง เช่น คุณพ่อช่วย หรือพี่เลี้ยงมาสลับ ไม่เช่นนั้นคุณแม่จะเครียดมาก

เมื่อไรจะไปพบแพทย์?

ทั่วไป ควรนำเด็กพบแพทย์/กุมารแพทย์/หมอเด็ก เมื่อ

  • เด็กมีอาการร้องมาก ร้องนานในครั้งแรกซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาอาการหรือความเจ็บป่วยอื่นๆที่อาจทำให้เกิดอาการคล้ายโคลิก ซึ่งแพทย์จะซักประวัติอาการ ตรวจร่างกาย หรือหาวิธีการวินิจฉัยโรคอื่นๆ เพื่อตัดโรคที่ทำให้เกิดอาการคล้ายโคลิกออกไป เพื่อให้เด็กได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
  • เด็กมีการร้องมาก ร้องเป็นพักๆ หรือมีอาการผิดปกติอื่น เช่น มีไข้ ตัวร้อนอาเจียน อุจจาระผิดปกติ เช่น อุจจาระมีสีแดงเหมือนแยม (Currant jelly stool) ซึ่งอาจเป็นอาการของลำไส้กลืนกัน, การรีบไปพบแพทย์โดยเฉพาะเมื่อเริ่มต้นมีอาการ จะทำให้การรักษาง่ายขึ้น อาจไม่ต้องผ่าตัด
  • เด็กมีอาการร้องเสียงแหบ, มีอาการหายใจผิดปกติ, อาจต้องระวังเรื่องการสำลักสิ่งแปลกปลอม ต้องรีบพาไปพบแพทย์/โรงพยาบาล ทันที/ฉุกเฉิน

บรรณานุกรม

  1. https://www.uptodate.com/contents/colic-excessive-crying-in-infants-beyond-the-basics [2023,March11]
  2. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/first-year-of-life/colic/   [2023,March11]