ไดไซโคลมีน (Dicyclomine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 ธันวาคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- ไดไซโคลมีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ไดไซโคลมีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไดไซโคลมีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไดไซโคลมีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไดไซโคลมีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไดไซโคลมีนอย่างไร?
- ไดไซโคลมีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไดไซโคลมีนอย่างไร?
- ไดไซโคลมีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- ลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
บทนำ
ยาไดไซโคลมีน (Dicyclomine) หรือบางครั้งเราจะได้ยินชื่อ ยาไดไซโคลเวอรีน (Dicyclo verine) ซึ่งเป็นยาตัวเดียวกัน จัดเป็นยาที่อยู่ในกลุ่ม Anticholinergic หรือ Muscarinic blockers หรือ Antimuscarinic drugs ถูกสังเคราะห์ขึ้นในปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นำมาใช้รักษาอาการลำไส้เคลื่อนตัว/บีบตัวมากเกินไป (Intestinal hypermotility) บางประเทศได้นำยานี้ไปผสมร่วมกับยาลดกรด ยาแก้ท้องอืด ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น
มีการศึกษาเรื่องการกระจายตัวของไดไซโคลมีนเมื่อยาเข้าสู่ร่างกายพบว่า ยานี้ดูดซึมได้อย่างรวดเร็วจากระบบทางเดินอาหาร เมื่อยาผ่านเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับพลาสมาโปรตีนมากกว่า 99% ร่างกายต้องใช้เวลาถึงประมาณ 5 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะ และมีบางส่วนของยาขับออกทางอุจจาระ
กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติและจัดอยู่ในหมวดยาลดอาการเกร็งตัวและลดการเคลื่อนตัวของลำไส้ สามารถพบเห็นการใช้ยากลุ่มนี้ตามสถานพยาบาลทั่ว ไป และมีจำหน่ายตามร้านขายยาแผนปัจจุบัน
ไดไซโคลมีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไดไซโคลมีนมีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดเกร็งของกระเพาะอาหารและลำไส้เช่น ในการรักษาโรคลำไส้แปรปรวน
ไดไซโคลมีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไดไซโคลมีนคือ ตัวยาจะลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเรียบในบริเวณผนังช่องทางเดินอาหาร/ผนังลำไส้ ส่งผลให้บรรเทาอาการปวด/อาการบีบตัวของลำไส้ได้ตามสรรพคุณ
ไดไซโคลมีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไดไซโคลมีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้
ก. ยาเม็ด ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด
ข. ยาเม็ดที่ผสมยาแก้ปวด: เช่น
- Mefenamic acid 250 มิลลิกรัม + Dicyclomine HCl 15 มิลลิกรัม/เม็ด
- Dicyclomine HCl 10 มิลลิกรัม + Mefenamic acid 250 มิลลิกรัม/เม็ด
ค.ยาเม็ดที่ผสมยาลดแก๊สในระบบทางเดินอาหาร: เช่น
- Dicyclomine HCl 10 มิลลิกรัม + Simethicone 100 มิลลิกรัม/เม็ด
ง. ยาเม็ดที่ผสมยาฆ่าเชื้อโรค+ ยาดูดซับพิษของเชื้อโรค: เช่น
- Sulfaguanidine 250 มิลลิกรัม + Activated charcoal 130 มิลลิกรัม + Bismuth subcarbonate 40 มิลลิกรัม + Pectin 40 มิลลิกรัม+ dicyclomine HCl 2.5 มิลลิกรัม/เม็ด
จ. ยาเม็ดที่ผสมยาลดกรด: เช่น
- Aluminium hydroxide + Magnesium carbonate co-dried gel 325 มิลลิกรัม + Simethicone 10 มิลลิกรัม + Dicyclomine HCl 25 มิลลิกรัม/เม็ด
- Aluminium hydroxide + Magnesium carbonate co-precipitate 325 มิลลิกรัม + Dimethylpolysiloxane 10 มิลลิกรัม + Dicyclomine HCl 2.5 มิลลิกรัม/เม็ด
ฉ. ยาน้ำที่ผสมยาลดแก๊ส: เช่น
- Dicyclomine HCl 5 มิลลิกรัม + Simethicone 50 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
ช. สำหรับต่างประเทศ อาจพบเห็นยาไดไซโคลมีนในรูปแบบของยาฉีดได้ด้วย
ไดไซโคลมีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไดไซโคลมีนมีขนาดรับประทานดังนี้
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 10 - 20 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง
- เด็กอายุ 2 - 12 ปี: รับประทาน 10 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง
- เด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี: รับประทาน 5 - 10 มิลลิกรัมวันละ 3 - 4 ครั้ง
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน: ห้ามใช้ยากับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน
*****หมายเหตุ:
- สามารถรับประทานยาไดไซโคลมีนก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไดไซโคลมีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไดไซโคลมีนอาจส่งผลให้อา การของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไดไซโคลมีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ไดไซโคลมีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไดไซโคลมีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดต้อหิน หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หยุดหายใจซึ่งมักเกิดกับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 10 สัปดาห์
ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดสามารถสังเกตุอาการได้ดังนี้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ วิงเวียน ปากแห้ง กลืนลำบาก ม่านตาขยาย ผิวแห้ง หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปโรงพยาบาล ซึ่งการรักษาคือ การล้างท้อง (Gastric lavage) หรือทำให้อาเจียน เพื่อลดการดูดซึมตัวยาเข้าสู่ร่างกายเพื่อลดผลข้าง เคียงดังกล่าว
มีข้อควรระวังการใช้ไดไซโคลมีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไดไซโคลมีนดังนี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะลำไส้อุดตัน ผู้ที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ที่ป่วยเป็นต้อหิน ผู้ป่วยที่มีภาวะกรดไหลย้อน
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือนและหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยที่มีภาวะปัสสาวะขัด ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ฮอร์ โมนสูง (ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ เด็ก และสตรีตั้งครรภ์ การใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไดไซโคลมีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไดไซโคลมีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไดไซโคลมีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น
- การรับประทานยาไดไซโคลมีนร่วมกับยาโพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassiun chloride, ยารัก ษาภาวะร่างกายมีเกลือแร่โพแทสเซียมต่ำ) สามารถทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น จนทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและมีเลือดออกได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร) สังเกตได้จากอุจจาระจะมีสีคล้ำคล้ายมีเลือดปนหรือลักษณะเหมือนยางมะตอย รวมถึงมีอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน หรือแพทย์ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การรับประทานยาไดไซโคลมีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์สามารถเพิ่มผลข้างเคียงจากยาไดไซโคลมีนให้กับผู้ป่วยเช่น วิงเวียนและง่วงนอนมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพจึงห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม
- การรับประทานยาไดไซโคลมีนร่วมกับยาแก้แพ้เช่น Brompheniramine สามารถเพิ่มผลข้าง เคียง (โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ) ดังนี้เช่น ง่วงนอน ตาพร่า ปากแห้ง หน้าแดง ปัสสาวะขัด รู้สึกร้อนอึดอัด เหงื่อออกน้อย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
ควรเก็บรักษาไดไซโคลมีนอย่างไร?
ควรเก็บยาไดไซโคลมีนภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ไดไซโคลมีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไดไซโคลมีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Anpuzz (แอนพัซ) | Thai Nakorn Patana |
Berclomine (เบอร์โคลมีน) | Polipharm |
Biodan (ไบโอดาน) | Biomedis |
Cymine (ซีมีน) | Central Poly Trading |
Diclomine (ไดโคลมีน) | Kenyaku |
Dicymine (ไดซีมีน) | Central Poly Trading |
Difemic (ไดฟีมิก) | Central Poly Trading |
Kremil (เครมิล) | Great Eastern |
Mainnox (เมนน็อกซ์) | Charoen Bhaesaj Lab |
Simcomine (ซิมโคมีน) | T.O. Chemicals |
Tocid (โทซิด) | T.O. Chemicals |
Veragel-DMS (เวอราเจล-ดีเอ็มเอส) | Great Eastern |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Dicycloverine#Medical_uses [2014,Dec6]
2 http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/search?keyword=dicyclomine [2014,Dec6]
3 http://www.mims.com/USA/drug/info/Dicyclomine%20Hydrochloride/Dicyclomine%20Hydrochloride%20Capsule?type=full [2014,Dec6]
4 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=dicyclomine&page=0 [2014,Dec6]
5 http://www.mims.com/USA/Drug/info/dicycloverine%20hydrochloride/?type=full&mtype=generic#Dosage [2014,Dec6]
6 http://www.drugs.com/drug-interactions/dicyclomine.html [2014,Dec6]