ภาวะขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 18 กุมภาพันธ์ 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- ธาตุเหล็กมีในอาหารอะไรบ้าง?
- ร่างกายต้องการธาตุเหล็กวันละเท่าไร?
- ธาตุเหล็กมีประโยชน์และโทษอย่างไร?
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้ขาดธาตุเหล็ก?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก?
- ขาดธาตุเหล็กแล้วจะมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดธาตุเหล็กได้อย่างไร?
- รักษาภาวะขาดธาตุเหล็กอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อขาดธาตุเหล็ก? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันภาวะขาดธาตุเหล็กอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia)
- ซีด (Paleness)
- เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด (Irregular bleeding per vagina)
- แผลเปบติค (Peptic ulcer) / แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
- ลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคไอบีดี (Inflammatory bowel disease: IBD)
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer)
- ยาถ่ายพยาธิ (Anthelmintic Drugs)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ภาวะขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency) คือ ภาวะผิดปกติที่เกิดจากร่างกายมีธาตุเหล็ก/เกลือแร่เหล็กน้อยกว่าที่ควร ทั่วไปมักเกิดจากขาดธาตุเหล็กในอาหารที่บริโภค, หรือจากมีภาวะเลือดออกเรื้อรังจากอวัยวะต่างๆ เช่น มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือในลำไส้ (มีเลือดออกในทางเดินอาหารจากแผลในทางเดินอาหาร) เป็นต้น
ภาวะขาดธาตุเหล็ก เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคซีดหรือโลหิตจางทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและในประเทศด้อยพัฒนา
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มักเกิดในผู้หญิงวัยยังมีประจำเดือน (พบประมาณ 4-8% ของหญิงวัยนี้) สาเหตุจากเสียเลือดจากความผิดปกติของประจำเดือน, หรือขาดธาตุเหล็กในภาวะตั้งครรภ์, หรือจากให้นมบุตรเพราะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายต้องการธาตุเหล็กสูงขึ้นเพราะต้องใช้เลี้ยงทารกด้วย, ทั้งนี้ ภาวะขาดธาตุเหล็กพบเกิดในผู้ชายและในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนได้น้อยกว่าในผู้หญิงวัยมีประจำเดือน
ในประเทศด้อยพัฒนา การขาดธาตุเหล็กเกิดได้ ทุกอายุ ทุกเพศ จากภาวะขาดอาหารเนื้อสัตว์ จากปัญหาทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพราะธาตุเหล็กมีมากในเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นธาตุเหล็กที่มีคุณภาพและเป็นชนิดที่ร่างกายดูดซึมได้ดี (Heme iron), ส่วนธาตุเหล็กที่มีในพืชซึ่งราคาถูกกว่า เป็นธาตุเหล็กชนิดที่ดูดซึมได้ไม่ดี (Nonheme iron), การขาดอาหารเนื้อสัตว์จึงเป็นสาเหตุของการขาดธาตุเหล็กจนก่อให้เกิดภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กได้
ภาวะขาดธาตุเหล็ก มักพบในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชาย เนื่องจาก ร่างกายผู้ชายเก็บสะสมธาตุเหล็กได้สูงกว่า, ผู้ชายไม่ต้องเสียเลือดจากประจำเดือน, ผู้ชายไม่มีการตั้งครรภ์, และผู้ชายไม่ได้ให้นมบุตร ซึ่งทั้งสองภาวะหลัง เป็นภาวะที่ทำให้ร่างกายต้องการธาตุเหล็กสูงกว่าปกติ จึงก่อให้เกิดการขาดธาตุเหล็กได้ง่าย
ภาวะขาดธาตุเหล็กที่ก่อให้เกิดภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก มีรายงานพบได้ประมาณ 8.8% ของประชากรทั่วโลก พบในเพศหญิง (9.9%) สูงกว่าเพศชาย (7.8%) เล็กน้อย โดยพบในเด็กช่วงอายุ 1-3 ปีสูงถึง 15% และพบในหญิงตั้งครรภ์ได้ประมาณ 52%
ธาตุเหล็กมีในอาหารอะไรบ้าง?
ธาตุเหล็ก (Iron) เป็นธาตุอาหารสำคัญที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับอย่างเพียงพอจากอาหาร
อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ปลา เป็ด ไก่ ตับ ม้าม ไข่แดง อาหารเช้าซีเรียล (Cereal) หรือนมที่เสริมอาหารด้วยธาตุเหล็ก ในพืช เช่น ผักที่มีใบเขียวเข้มทุกชนิด เช่น ใบตำลึง ผักโขม ถั่วแดง ถั่วดำ ข้าวโอต
ธาตุเหล็กจะถูกดูดซึมในส่วนของลำไส้เล็ก ซึ่งธาตุเหล็กจากแหล่งอาหารที่มาจากสัตว์ จะถูกดูดซึมได้ดีกว่าจากแหล่งอาหารที่มาจากพืช นอกจากนี้ ธาตุเหล็กยังดูดซึมได้ดีในภาวะที่น้ำย่อยอาหารมีความเป็นกรด, (ดังนั้น ยาเคลือบกระเพาะอาหาร และยาลดกรด จึงลดการดูดซึมของธาตุเหล็ก), และวิตามินซี และอาหารที่มีวิตามินซีสูงจะช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กด้วย
ส่วนสารที่ลดการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น ยาบางชนิดดังกล่าวแล้ว, สารTanninในชาและกาแฟเมื่อบริโภคในปริมาณสูง, อาหารที่มีใยอาหารสูง, และอาหารที่มีแคลเซียมสูง
ธาตุเหล็ก เมื่อดูดซึมแล้ว ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้งาน บางส่วนร่างกายจะสะสมไว้ใน ตับ ม้าม และไขกระดูก, โดยในภาวะปกติ ร่างกายจะกำจัดธาตุเหล็กส่วนเกินออกทางตับ (ทางน้ำดี) และทางไต (กำจัดออกทางปัสสาวะ แต่ในปริมาณน้อยมาก)
ร่างกายต้องการธาตุเหล็กวันละเท่าไร?
ตามคำแนะนำสำหรับการบริโภคสารอาหารในคนทั่วไปจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Institutes of Health, เมื่อ 5 เม.ย. ค.ศ. 2022) ในเรื่องธาตุเหล็ก ซึ่งได้แนะนำปริมาณควรบริโภคในแต่ละวันที่เพียงพอสำหรับคนปกติทั่วไปและที่จะไม่ก่อโทษ (Recommended Dietary Allowances ย่อว่า อาร์ดีเอ/RDA)
อายุ |
เพศชาย |
เพศหญิง |
สตรีตั้งครรภ์ |
สตรีให้นมบุตร |
แรกเกิด - 6 เดือน |
0.27* |
0.27* |
- |
- |
7-12 เดือน |
11 |
11 |
- |
- |
1-3 ปี |
7 |
7 |
- |
- |
4-8 ปี |
10 |
10 |
- |
- |
9-13 ปี |
8 |
8 |
- |
- |
14-18 ปี |
11 |
15 |
27 |
10 |
19-50 ปี |
8 |
18 |
27 |
9 |
51+ ปี |
8 |
8 |
- |
- |
ธาตุเหล็กมีประโยชน์และโทษอย่างไร?
ประโยชน์ หรือ หน้าที่ของธาตุเหล็ก ที่สำคัญที่สุด คือ เป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดงซึ่งเป็นตัวนำออกซิเจนจากปอดไปสู่เซลล์ต่างๆทั่วร่างกายเพื่อการทำงาน/ การใช้พลังงานของเซลล์ทุกๆเซลล์ของร่างกาย, ธาตุเหล็กมีความสำคัญต่อไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือดแดงเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อขาดธาตุเหล็ก จะเป็นสาเหตุหลักให้เกิดโรคซีด หรือภาวะโลหิตจาง (โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก)
ประโยชน์/หน้าที่อื่นๆของธาตุเหล็ก เช่น ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านโรค ,ช่วยการเจริญเติบโตของเซลล์สมองส่วนที่เกี่ยวกับความเข้าใจและความจำ (Cognitive development), ช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อต่างๆ, และเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ต่างๆในการสันดาปพลังงาน/นำพลังงานต่างๆไปใช้
โทษ หรือ ผลข้างเคียงจากการมีธาตุเหล็กในร่างกายมากเกินไป หรือจากการเสริมธาตุเหล็กในปริมาณสูงต่อเนื่อง มีอันตรายสูงถึงตายได้ โดยผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น ก่อการระคายเคืองต่อเยื่อบุต่างๆ โดยเฉพาะเนื้อเยื่อเมือกบุทางเดินอาหาร เป็นสาเหตุให้มีเลือดออกในทางเดินอาหารได้ทั้งจากกระเพาะอาหารและจากลำไส้, คลื่นไส้อาเจียน, ท้องเสีย, ปวดท้อง, ปวดหัว, หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย, อ่อนเพลีย, วิงเวียน, น้ำหนักลด/ผอมลง,ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเทา, มีผลกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (ติดเชื้อได้ง่าย), และอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง หรือโรคมะเร็งได้
ซึ่งถ้ามีธาตุเหล็กสะสมในร่างกายมากผิดปกติ จะส่งผลต่อการทำงานของไขกระดูก ตับ ไต หัวใจ ปอด และสมอง ก่อให้เกิด อาการอ่อนเพลียมากขึ้นหัวใจเต้นผิดปกติ ตัวเขียวคล้ำ ชัก ตับวาย ไตวาย โคม่า และถึงตายได้ในที่สุด
ดังนั้น จึงไม่ควรกินธาตุเหล็กเสริมอาหารเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะในเด็ก
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้ขาดธาตุเหล็ก?
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของ ภาวะขาดธาตุเหล็ก ทั่วไปได้แก่ ร่างกายได้รับธาตุเหล็กจากอาหารไม่เพียงพอ, และ/หรือ ภาวะที่ร่างกายมีความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น
- ได้รับอาหารที่ขาดธาตุเหล็ก เช่น กินอาหารมังสวิรัติ มีปัญหาทางเศรษฐกิจจึงขาดการบริโภคอาหารที่ได้จากสัตว์ซึ่งจะมีราคาสูงกว่า
- จากโรคเรื้อรังที่ส่งผลให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้น้อย เช่น โรคอักเสบเรื้อรังของกระเพาะอาหาร และ/หรือของลำไส้, ภาวะกระเพาะอาหารขาดกรด/ภาวะไร้กรดเกลือ (Achlorhydria), และจากโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ลดการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น กินแคลเซียมเสริมอาหารหลังกินอาหารทันที, ยาลดกรด, หรือยาเคลือบกระเพาะอาหาร,เป็นต้น
- กิน/ดื่มเครื่องดื่มที่มีสารต้านการดูดซึมธาตุเหล็กในปริมาณสูงต่อเนื่อง เช่น ชา กาแฟ
ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก เช่น
- หญิงตั้งครรภ์, หญิงให้นมบุตร
- ทารกในครรภ์, วัยเด็ก
- หญิงที่มีประจำเดือนมากทุกเดือน
- มีเลือดออกเรื้อรัง เช่น โรคริดสีดวงทวาร
- มีโรคเรื้อรังของทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
ขาดธาตุเหล็กแล้วจะมีอาการอย่างไร?
อาการสำคัญที่สุดจากขาดธาตุเหล็ก คือ โรคซีด (โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก) ส่วนอาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย วิงเวียน สับสน
- สติปัญญาด้อยลง
- ติดเชื้อต่างๆได้ง่าย
- ลิ้นอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อ
- ผมร่วง
- อยากอาหารรสชาติแปลกๆ
แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดธาตุเหล็กได้อย่างไร?
ทั่วไปแพทย์วินิจฉัยภาวะขาดธาตุเหล็กได้จาก
- ประวัติทางการแพทย์ เช่น อาการของผู้ป่วย การมีปัจจัยเสี่ยง การกินอาหารที่ขาดธาตุเหล็ก
- การตรวจร่างกาย
- ตรวจเลือดซีบีซี (CBC) (ดูค่าเม็ดเลือดแดง )
- ตรวจเลือดดูค่าของธาตุเหล็กและสารต่างๆที่เกี่ยวกับธาตุเหล็ก
- นอกจากนั้นอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุโดยขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจอุจจาระ หาไข่หรือตัวพยาธิ
- ตรวจไขกระดูกเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา และ/หรือเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ดูการทำงานผลิตเซลล์เม็ดเลือด
รักษาภาวะขาดธาตุเหล็กอย่างไร?
แนวทางการรักษาภาวะขาดธาตุเหล็ก คือ การให้ธาตุเหล็กเสริมอาหาร อาจโดยการกิน หรือการฉีด ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการและสาเหตุของโรค, และการให้อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง, นอกจากนั้น คือการรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ
การรักษาสาเหตุ: เช่น กินยาถ่ายพยาธิเมื่อการขาดธาตุเหล็กเกิดจากพยาธิ, หรือรักษาภาวะประจำเดือนผิดปกติเมื่อมีเลือดประจำเดือนออกมากผิดปกติ, หรือให้ยาเสริมธาตุเหล็กกรณีได้รับธาตุเหล็กจากอาหารไม่เพียงพอ หรือมีการเสียเลือด เช่น ยาเฟอรัสซัลเฟต (Ferrous sulfate), เฟอโรบีคัล (Ferro B Cal)
การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น ให้เลือดกรณีเลือดออกมากหรือซีดมากจนเป็นเหตุให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว, ให้ยาธาตุเหล็กเสริมอาหารป้องกันโรคซีดกรณีมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อขาดธาตุเหล็ก? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองที่สำคัญที่สุด คือ การป้องกันตนเองไม่ให้เกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก โดยการกินอาหารที่มีธาตุเหล็กอย่างพอเพียง, และควรพบแพทย์เมื่อตนเองอยู่ในกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก เพื่อรักษาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้น
เมื่อมีอาการต่างๆดังกล่าวแล้วใน 'หัวข้ออาการฯ' ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆ, หลังจากนั้นควรปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ ซึ่งทั่วไป คือ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆ ที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง
- รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
- ไม่ซื้อธาตุเหล็กเสริมอาหารกินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์/เภสัชกร เพื่อป้องกันโทษ/ผลข้างเคียงจากธาตุเหล็ก
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
- รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่ออาการต่างๆไม่ดีขึ้น, แย่ลง, หรือผิดปกติไปจากเดิม
ป้องกันภาวะขาดธาตุเหล็กอย่างไร?
สามารถป้องกันภาวะขาดธาตุเหล็กได้ เช่น
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง
- หลีกเลี่ยง สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง (ที่หลีกเลี่ยงได้) ที่ได้กล่าวแล้วใน”หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’
- ป้องกัน รักษา ควบคุม สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
- เมื่ออยู่ในกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อได้รับคำแนะนำในการดูแลตนเอง
- ควรนำเด็กพบแพทย์ พยาบาล ตั้งแต่แรกเกิดตามแพทย์นัดเสมอเพื่อการดูแลสุขภาพเด็ก และการคัดกรองภาวะซีด
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ป้องกันโรคพยาธิต่างๆ
บรรณานุกรม
- Baker, R. et al. (2010). Diagnosis and prevention of iron deficiency and iron deficiency anemia in infants and young children Z0-3 years of age). Pediatrics. 126, 1040-1050.
- https://en.wikipedia.org/wiki/Iron-deficiency_anemia [2023,Feb18]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Human_iron_metabolism [2023,Feb18]
- https://ods.od.nih.gov/factsheets/Iron-HealthProfessional/ [2023,Feb18]
- https://www.ndhealthfacts.org/wiki/Iron [2023,Feb18]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Iron_deficiency [2023,Feb18]
- https://emedicine.medscape.com/article/202333-overview#showall [2023,Feb18]