ดีเฟอร็อกซามีน (Deferoxamine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

 ดีเฟอร็อกซามีน (Deferoxamine) ชื่ออื่นๆ เช่น Desferrioxamine B, Desferoxamine B, DFO-B, DFOA, DFB หรือ Desferal  คือสารประกอบที่ผลิตจากแบคทีเรียกลุ่ม Actino bacteria ที่ชื่อว่า Streptomyces pilosus  ทางคลินิกได้นำยาดีเฟอร็อกซามีนมาใช้กำจัดธาตุเหล็กที่มีมากเกินไปของร่างกาย พบว่ามีการใช้ยานี้มากกับผู้ป่วยเด็กที่ได้รับพิษจากธาตุเหล็กหรือภาวะเหล็กเกิน(Hemochromatosis)

 กลไกการออกฤทธิ์ของยาดีเฟอร็อกซามีนนี้อยู่ในกระแสเลือด โดยยาดีเฟอร็อกซามีนจะเข้าจับกับธาตุเหล็กจนเป็นสารประกอบเชิงซ้อนแล้วถูกนำไปทิ้งออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะ ภาวะที่ร่างกายมีธาตุเหล็กเกินสามารถทำให้อวัยวะและเนื้อเยื่อในบริเวณต่างๆของร่างกายถูกทำลายอย่างเช่น ตับ รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาฉีดโดยสามารถฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ฉีดใต้ผิวหนัง หรือจะฉีดเข้าเส้นเลือด/หลอดเลือดก็ได้ ซึ่งสามารถใช้รักษาภาวะธาตุเหล็กเกินทั้งแบบเฉียบพลันหรือมีธาตุเหล็กเกินแบบเรื้อรัง

ทั้งนี้เงื่อนไขสำหรับผู้ป่วยที่สามารถใช้ยาดีเฟอร็อกซามีนได้ คือ 

  • ผู้ป่วยต้องไม่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้
  • ผู้ป่วยต้องมีการทำงานของไตหรือการทำงานของระบบขับถ่ายปัสสาวะที่เป็นปกติ

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลสำคัญๆที่ผู้ป่วยควรต้องแจ้งแพทย์เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบก่อนการใช้ ยาดีเฟอร็อกซามีนในการบำบัดอาการธาตุเหล็กเกิน ดังนี้    

  • กรณีผู้ป่วยเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรหรือไม่
  • แพ้อาหารหรือแพ้ยาชนิดใดอยู่บ้าง
  • มีอาการป่วยด้วยโรคอื่นอยู่ก่อนหรือไม่เช่น โรคสมอง, โรคธาลัสซีเมีย, โรคหัวใจ, มีปัญหาด้านการได้ยินหรือการมองเห็นภาพ, หรือมีภาวะสาร Ferritin (สารโปรตีนในเซลล์ที่เป็นตัวเก็บธาตุเหล็ก)ในร่างกายต่ำหรือไม่
  • เป็นผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต(การล้างไต)หรือไม่
  • ปัจจุบันผู้ป่วยมีการใช้ Vitamin C อยู่หรือไม่ด้วยการใช้ยาดีเฟอร็อกซามีนร่วมกับVitamin C อาจเป็นเหตุให้หัวใจทำงานผิดปกติหรือกระตุ้นให้เกิดภาวะต้อกระจก

 ปัจจุบันคณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาดีเฟอร็อกซามีนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยปฏิบัติตามนโยบายขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดให้ยาดีเฟอร็อกซามีนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีคงคลังสำรองใช้กับผู้ป่วย และพระราชบัญญัติยาของไทยได้กำหนดให้ยาดีเฟอร็อกซามีนเป็นยาควบคุมพิเศษที่จะต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น เราจะพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

ดีเฟอร็อกซามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

ดีเฟอร็อกซามีน

ยาดีเฟอร็อกซามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ:

  • บำบัดการได้รับพิษจากธาตุเหล็กทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง

ดีเฟอร็อกซามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาดีเฟอร็อกซามีนคือ ตัวยาเป็นสารที่มีคุณสมบัติเข้ารวมตัวกับเกลือ      ของโลหะเช่น เหล็กที่มีประจุบวกรวมถึงเหล็กที่รวมตัวกับสารโปรตีนที่เรียกว่า Ferritin และสารประ กอบของเหล็กที่มีชื่อว่า Hemosiderin จากนั้นจะเกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนที่สามารถละลายน้ำได้ ร่างกายจะลำเลียงสารประกอบเชิงซ้อนของเหล็กดังกล่าวมาที่ไตเพื่อขับทิ้งไปกับปัสสาวะ

ดีเฟอร็อกซามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาดีเฟอร็อกซามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาฉีดขนาด 500 มิลลิกรัม/7.5 มิลลิลิตร

ดีเฟอร็อกซามีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาดีเฟอร็อกซามีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับบำบัดการได้รับพิษจากธาตุเหล็กแบบเฉียบพลัน: เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุ3 ปีขึ้นไป: ขนาดเริ่มต้นฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าหลอดเลือดดำขนาด 1,000 มิลลิกรัม ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 500 มิลลิกรัมฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าหลอดเลือดทุกๆ 4 ชั่วโมง 2 ครั้ง แพทย์อาจเพิ่มขนาดยาอีก 500 มิลลิกรัมทุกๆ 4 - 12 ชั่วโมง โดยขึ้นกับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 6,000 มิลลิกรัม/24 ชั่ว โมง การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อเหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่ได้อยู่ใน  

ภาวะช็อก   การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำควรฉีดอย่างช้าๆควรใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะ Cardiovascular collapse (สมองและร่างกายขนาดเลือดเฉียบพลัน) หรือภาวะล้มเหลวทางระบบไหลเวียนเลือด

  • เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี: ทางคลินิกยังไม่มีข้อมูลขนาดการใช้ยานี้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีไป

 ข. สำหรับบำบัดการได้รับพิษจากธาตุเหล็กแบบเรื้อรัง: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาใต้ผิวหนังหรือทางกล้ามเนื้อขนาด 1,000 - 2,000 มิลลิกรัมในช่วง 8 - 24 ชั่วโมง/วัน หรือฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 40 - 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันทุกๆ 8 - 12 ชั่วโมง โดยให้ยา 5 - 7 วัน/สัปดาห์ ขนาดการใช้ยาสูงสุดทางหลอดเลือดดำคือ 60 มิลลิกรัม/น้ำ หนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน หรือขนาดการใช้ยาสูงสุดทางกล้ามเนื้ออยู่ที่ 1,000 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป: ฉีดยาใต้ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อขนาด 1,000 - 2,000 มิลลิกรัมใน ช่วง 8 - 24 ชั่วโมง/วัน หรือฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 20 - 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันทุกๆ 8 - 12 ชั่วโมง โดยให้ยา 5 - 7 วัน/สัปดาห์ ขนาดการใช้ยาสูงสุดทางหลอดเลือดดำคือ 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน หรือขนาดการใช้ยาสูงสุดทางกล้ามเนื้ออยู่ที่ 500 - 1,000 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี: ทางคลินิกยังไม่มีข้อมูลขนาดการใช้ยาในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี การ ใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีไป

*****หมายเหตุ:  ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาดีเฟอร็อกซามีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ                           เภสัชกร เช่น    

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาดีเฟอร็อกซามีนอาจส่ง ผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ดีเฟอร็อกซามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาดีเฟอร็อกซามีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการช้างเคียง)   เช่น

  • ทำให้เล็บ-ริมฝีปาก-ผิวหนังมีสีคล้ำ
  • ตาพร่า  
  • อาการชัก
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย การรับฟังเสียงผิดปกติ
  • ปวดหัว
  • เกิดลมพิษ
  • คลื่นไส้
  • มีไข้
  • อาเจียน
  • ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • การใช้ยานี้กับเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) อาจส่งผลทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตช้า
  • *อาการข้างเคียงที่พบได้น้อยแต่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น ท้องเสีย, ไตทำงานผิดปกติ, และมีภาวะความดันโลหิตต่ำ

มีข้อควรระวังการใช้ดีเฟอร็อกซามีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาดีเฟอร็อกซามีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยาดีเฟอร็อกซามีน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะไตทำงานผิดปกติหรือผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะปัสสาวะไม่ออก
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • การให้ยานี้ทางหลอดเลือดดำอย่างรวดเร็วจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำติดตามมา
  • การใช้ยาดีเฟอร็อกซามีนเป็นเวลานานๆเกินจากคำสั่งแพทย์อาจทำให้เกิดภาวะได้ยินเสียง และการมองเห็นภาพผิดปกติไปจากเดิม
  • การได้รับยาดีเฟอร็อกซามีนในขนาดหรือปริมาณสูงในผู้ป่วยเด็กที่มีสาร Ferritin ในร่างกาย ต่ำสามารถทำให้การเจริญเติบโตของเด็กช้าลง    
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาดีเฟอร็อกซามีนด้วย) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ดีเฟอร็อกซามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาดีเฟอร็อกซามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาดีเฟอร็อกซามีน ร่วมกับยา Prochlorperazine อาจทำให้ระดับการรับรู้หรือ ระดับการรู้สึกตัวของผู้ป่วยแย่ลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาดีเฟอร็อกซามีน ร่วมกับยา Vigabatrin อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ป่วยสูญ เสียการมองเห็น เพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้งสองร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาดีเฟอร็อกซามีนร่วมกับVitamin C ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะหัวใจทำงานผิดปกติรวมถึงอาจเกิดต้อกระจกขึ้นได้

ควรเก็บรักษาดีเฟอร็อกซามีนอย่างไร?

ควรเก็บยาดีเฟอร็อกซามีน:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ดีเฟอร็อกซามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาดีเฟอร็อกซามีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Desferal (เดสเฟอรอล) Novartis

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Deferoxamine   [2022,Jan1]
  2. https://www.drugs.com/pro/deferoxamine.html  [2022,Jan1]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=Deferoxamine%20  [2022,Jan1]
  4. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_info/index?name=Deferoxamine&brand=&rctype=&drugno=  [2022,Jan1]
  5. https://www.drugs.com/mtm/deferoxamine.html   [2022,Jan1]