ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 28 พฤศจิกายน 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- อะไรเป็นสาเหตุและกลไกให้เกิดโรคความดันโลหิตต่ำ?
- ใครบ้างมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตต่ำ?
- โรคความดันโลหิตต่ำมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคความดันโลหิตต่ำได้อย่างไร?
- รักษาโรคความดันโลหิตต่ำได้อย่างไร?
- โรคความดันโลหิตต่ำรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคความดันโลหิตต่ำอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน (Orthostatic hypotension)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
- ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia)
- แอแนฟิแล็กซิส: ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis)
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
- สมองขาดเลือด (Cerebral ischemia)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ความดันโลหิตต่ำ(Hypotension) คือ โรค/ภาวะที่ความดันโลหิตช่วงบน ‘ซีสโตลิค’(Systolic blood pressure) ต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท, และ/หรือ ความดันโลหิตช่วงล่าง‘ไดแอสโตลิค’ (Diastolic blood pressure) ต่ำกว่า 60 มิลลิเมตรปรอท, ซึ่งความดันโลหิตต่ำ อาจต่ำเพียงความดันซีสโตลิค หรือ ไดแอสโตลิกตัวใดตัวหนึ่ง หรือต่ำทั้งสองตัวก็ได้ โดยทั่วไป แพทย์ไม่จัดความดันโลหิตต่ำเป็นโรค แต่จัดเป็นภาวะ
ความดันโลหิตต่ำ ยังไม่มีรายงานสถิติเกิดที่แน่ชัด เพราะเมื่อความดันโลหิตต่ำไม่มาก มักไม่ก่ออาการ และเมื่อมีอาการ ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการ เช่น วิงเวียน เป็นลม ไม่ได้มาด้วยเรื่องความดันโลหิตต่ำ ดังนั้น การจดบันทึกของโรงพยาบาล จึงมักไม่ได้ระบุว่า เป็นอาการจากความดันโลหิตต่ำ อย่างไรก็ตาม ความดันโลหิตต่ำเกิดได้ทั้งสองเพศใกล้เคียงกัน และพบทุกอายุตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ
อะไรเป็นสาเหตุและกลไกให้เกิดความดันโลหิตต่ำ?
โรค/ภาวะความดันโลหิตต่ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งมีกลไกการเกิด/สาเหตุ เช่น
- ปริมาณ น้ำ, ของเหลว, และ/หรือ เลือดในการไหลเวียนเลือดลดลง จึงมีเลือดกลับเข้าหัวใจน้อยลงหัวใจจึงเต้นบีบตัวลดลง ส่งผลให้ความดันโลหิต/ความดันเลือดลดลง เช่น ภาวะขาดน้ำ, ภาวะเลือดออกรุนแรง, ร่างกายเสียน้ำจากท้องเสียรุนแรง หรือจากมีแผลไหม้รุนแรง, การลุกขึ้นทันทีจากท่านอนโดยเฉพาะเมื่อนอนนานๆ เมื่อไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกายหรือเมื่อนั่งนานๆ (ปริมาณเลือดจะคั่งที่ขา เมื่อลุกขึ้นทันที เลือดจึงไหลกลับหัวใจได้น้อย ความดันโลหิตจึงต่ำลงทันที/ความดันต่ำเมื่อลุกขึ้นยืน) ซึ่งกลไกนี้ พบเป็นสาเหตุความดันโลหิตต่ำบ่อยที่สุด โดยเฉพาะในผู้สูงอายุจากไม่ค่อยดื่มน้ำ เรียกภาวะความดันโลหิตต่ำจากกลไกนี้ว่า ‘ภาวะความดันโลหิตต่ำหรือตกจากการเปลี่ยนท่า/ความดันต่ำเมื่อลุกขึ้นยืน’
- โรคซีด: เพราะส่งผลให้ความเข้มข้นของเลือดลดลงจากปริมาณเม็ดเลือดแดงลดลง ส่งผลให้ปริมาตรในภาพรวมของเลือดลดลง จึงส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลง
- ในบางคนภายหลังกินอาหารมื้อหลักปริมาณอิ่มมากๆ จะส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำเรียกภาวะความดันโลหิตต่ำจากกลไกนี้ว่า Postprandial hypotension ซึ่งกลไกการเกิดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกิดจากการทำงานผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมระบบทางเดินอาหาร
- จากโรคระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการบีบตัวของหลอดเลือดและการบีบตัวของหัวใจ จึงทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดขยาย เลือดจึงคั่งอยู่ในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆเพิ่มขึ้น การไหลเวียนเลือดจึงลดลง เลือดจึงกลับเข้าหัวใจลดลง ส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำ เช่นใน โรคพาร์กินสัน และโรคความจำเสื่อมบางชนิด ซึ่งเรียกความดันโลหิตต่ำจากกลไกนี้ว่า Neurogenic orthostatic hypotension
- จากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดที่รุนแรง ส่งผลให้เกิดหลอดเลือดขยายตัวมากขึ้นพร้อมๆกัน รวมทั้งเกิดการล้มเหลวในการทำงานของหัวใจและปอด จึงส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
- จากการแพ้ยาหรือแพ้อาหาร หรือแพ้สารต่างๆอย่างรุนแรง ส่งผลให้หลอดเลือดทั่วตัวขยายตัวทันที และร่วมกับมีของเหลว/น้ำในเลือดซึมออกนอกหลอดเลือด จึงเกิดการขาดเลือดไหลเวียนในกระแสโลหิต ความดันโลหิตจึงต่ำลง เรียกภาวะความดันโลหิตต่ำจากกลไกนี้ว่า แอแนฟิแล็กซิส (Anaphylaxis)
- จากโรคหัวใจ หัวใจจึงบีบตัวเต้นผิดปกติ จึงลดแรงดันในหลอดเลือดส่งผลให้ความดันเลือดต่ำ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ
- จากการตั้งครรภ์มักเกิดในระยะ 6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ จากการที่ต้องเพิ่มเลือดหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ การไหลเวียนเลือดหรือปริมาตรเลือดในมารดาจึงลดลง ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำได้ แต่ร่างกายมารดามักปรับตัวได้เองเสมอเมื่อมารดามีสุขภาพแข็งแรง
- จากโรคต่อมไร้ท่อซึ่งสร้างฮอร์โมนควบคุมการทำงานของหัวใจ, ของหลอดเลือด, และของเกลือแร่ต่างๆที่เป็นตัวอุ้มน้ำในหลอดเลือดจึงส่งผลถึงการไหลเวียนเลือด จึงเกิดความดันโลหิตต่ำได้ เช่น โรคต่อมไทรอยด์, โรคของต่อมหมวกไต, หรือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในโรคเบาหวาน
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดัน ยาไวอะกรา (Viagra) หรือ ยาจิตเวชบางชนิด
- จากมีการกระตุ้นวงจรระบบประสาทอัตโนมัติและสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเมื่อเกิดการกระตุ้นวงจรนี้ จะส่งผลให้หลอดเลือดและหัวใจทำงานผิดปกติ ความดันโลหิตจึงต่ำลงได้ เรียกภาวะความดันโลหิตต่ำจากกลไกนี้ว่า Neurally mediated hypotension เช่น จากอารมณ์/จิตใจ (กลัวมาก ตกใจ เห็นภาพสยดสยอง หรือ เจ็บ/ปวดมาก) จากการยืน หรือ นั่งไขว่ห้างนานๆ การอยู่ในที่แออัด และ/หรืออบอ้าว การอาบ น้ำอุณหภูมิอุ่นจัด หรือการหยุดพักทันทีขณะออกกำลังกายอย่างหนัก
ใครบ้างมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตต่ำ?
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตต่ำ ได้แก่
- ผู้สูงอายุจาก มีโรคเรื้อรัง ดื่มน้ำน้อย และจากไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย
- ผู้มีโรคเรื้อรังเช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคต่อมไทรอยด์ โรคซีด
- กินยาบางชนิดโดยเฉพาะ ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดัน ยาเบาหวาน
- มีภาวะขาดน้ำจากสาเหตุต่างๆ เช่น ท้องเสียรุนแรง อาเจียนรุนแรง หรือ โรคลมแดด
โรคความดันโลหิตต่ำมีอาการอย่างไร?
อาการพบบ่อยของโรค/ภาวะความดันโลหิตต่ำ คือ
- วิงเวียน หน้ามืด เป็นลม
- ตาลาย/ตาพร่า
- คลื่นไส้อาจอาเจียน
- มือ เท้าเย็น
- เหงื่อออกมาก
- ชีพจรเบา เต้นเร็ว
- หายใจเร็ว เหนื่อย
- กระหายน้ำ ตัวแห้ง
- ปัสสาวะน้อยเมื่อมีภาวะขาดน้ำ
- บางคนอาจมีอาการ เจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอกเมื่อเกิดจากโรคหัวใจ
- อาจมีผื่นแดงขึ้นตามตัว หน้า ตัวบวมเมื่อเกิดจากการแพ้สิ่งต่างๆ
- อาจชัก
- หมดสติ ภาวะช็อก เมื่อความดันโลหิตต่ำมาก
แพทย์วินิจฉัยโรคความดันโลหิตต่ำได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรค/ภาวะความดันโลหิตต่ำได้จาก การวัดความดันโลหิต(วัดสัญาณชีพ) และ วินิจฉัยหาสาเหตุได้จาก
- ประวัติอาการผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติกินยาต่างๆ หรือ กินอาหาร หรือถูกสัตว์/แมลงต่อย
- การตรวจร่างกาย
- การสืบค้นเพิ่มเติมต่างๆ ทั้งนี้ขึ้น กับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจีเมื่อสงสัยโรคหัวใจ
- ตรวจเลือดดู
- ค่าน้ำตาลเมื่อสงสัยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากโรคเบาหวาน
- ค่าซีบีซี/CBC เมื่อสงสัยภาวะ/โรคซีด
รักษาโรคความดันโลหิตต่ำได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรค/ภาวะความดันโลหิตต่ำ คือ การเพิ่มความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตามสาเหตุ เช่น
- ให้น้ำและเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำเมื่อเกิดจากภาวะขาดน้ำ
- ให้เลือดเมื่อเสียเลือดมาก
- ให้ยาเพิ่มความดันโลหิตตามสาเหตุ
นอกจากนั้น คือ การรักษาสาเหตุ เช่น
- ขยายหลอดเลือดหัวใจเมื่อเกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ
- ปรับยาเบาหวานเมื่ออาการเกิดจากโรคเบาหวาน
โรคความดันโลหิตต่ำรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
โดยทั่วไป โรค/ภาวะความดันโลหิตต่ำมักไม่รุนแรง คนส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ และไม่ทราบว่าตนเองมีความดันโลหิตต่ำ และเมื่อมีอาการ ภายหลังการพักผ่อนอย่างพอเพียง ผู้ป่วยมักกลับมามีความดันโลหิตปกติได้
อย่างไรก็ตาม ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของโรค/ภาวะความดันโลหิตต่ำจะ ขึ้นกับสาเหตุ เช่น
- เมื่อเกิดจากดื่มน้ำน้อย ความรุนแรงโรคต่ำ
- เมื่อเกิดจากการเสียน้ำเสียเลือดมาก ความรุนแรงสูงขึ้น
- เมื่อเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจความรุนแรงจะสูงขึ้น
ในส่วนผลข้างเคียง: ที่มีรายงาน เช่น
- ภาวะสมองขาดเลือด
- อุบัติเหตุจากเป็นลม คือ การล้ม ที่อาจเป็นสาเหตุกระดูกหัก หรือ อุบัติเหตุที่สมอง
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเอง การพบแพทย์เมื่อมีโรคความดันโลหิตต่ำ ได้แก่
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
- เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ
- เมื่อจะเปลี่ยนท่าทาง เช่น จากนอนเป็นยืน โดยเฉพาะผู้สูงอายุต้องค่อยๆเปลี่ยนท่าทาง จากนอนอาจต้องลุกนั่งพักสักครู่ก่อนแล้วจึงยืน จากนั่งอาจต้องยืนยึดจับสิ่งยึดเหนี่ยวให้มั่นคงก่อน จึงก้าวเดิน
- หลีกเลี่ยงการยืนนานๆ
- แต่ถ้าเป็นอาชีพ อาจต้องใส่ถุงน่องช่วยพยุงหลอดเลือดไม่ให้เกิดการแช่ค้างของเลือด
- ไม่นั่งไขว่ห้างนานๆ เพื่อลดการเบียดทับหลอดเลือดจึงเพิ่มการไหลเวียนเลือด
- กินยาต่างๆอย่างถูกต้อง และรู้จักผลข้างเคียงของยาที่กินอยู่
- กินอาหารแต่ละมื้ออย่าให้ปริมาณมากเกินไป
- ต้องจำให้ได้ว่าแพ้อะไร เพื่อการหลีกเลี่ยง
- ดูแล รักษา ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุให้ได้อย่างดี
- ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อ
- มีอาการของโรค/ภาวะความดันโลหิตต่ำบ่อยๆ ควรต้องหาสาเหตุ เพื่อการรักษาควบคุมโรคแต่เนิ่นๆ
- อาการต่างๆเลวลง หรือ ไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเอง
- อาการต่างๆรุนแรง โดยเฉพาะอาการทางการหายใจ และการแน่นเจ็บหน้า อก เพราะอาจเป็นอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ
- กังวลในอาการ
ป้องกันโรคความดันโลหิตต่ำอย่างไร?
การป้องกันโรคความดันโลหิตต่ำ เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อการดูแลตนเองที่สำคัญ คือ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม
- ระมัดระวังในการเปลี่ยนท่าทางโดยเฉพาะเมื่อต้องลุกขึ้นยืน เปลี่ยนท่าทางให้ช้าลง ทำทีละขั้นตอนเสมอ เช่น จากนอน เป็นนั่งพัก แล้วจึงค่อยลุกขึ้นยืน
- รักษาและควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้ได้อย่างดี
- ระมัดระวังการใช้ยาต่างๆ ไม่ซื้อยากินเองโดยไม่ปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อน และกินยาแต่ละชนิดควรต้องรู้ผลข้างเคียงจากยา