โบรโมคริปทีน (Bromocriptine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

 โบรโมคริปทีน (Bromocriptine) คือ ยาที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนโดพามีน (Dopamine) ในร่างกายโดยเข้าจับกับตัวรับ (Receptor) ของโดพามีน ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวจึงมีการนำยานี้มาใช้ในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับสมดุลของฮอร์โมนโดพามีนเช่น นำมาใช้ในการลดระดับของฮอร์โมนโพรแลกติน/โปรแลกติน (Prolactin, ฮอร์โมนเกี่ยวข้องกับการหลั่งน้ำนม) ในผู้ป่วย ที่มีระดับฮอร์โมนโพรแลกตินสูงเนื่องจากโดพามีนจะทำหน้าที่ในการยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนโพรแลกติน รวมถึงการนำมาใช้ในการรักษาโรคพาร์กินสันเนื่องจากพบผู้ป่วยกลุ่มนี้มีระดับโดพามีนต่ำกว่าคนทั่วไป

ปัจจุบันยาโบรโมคริปทีนจัดเป็นยาอันตรายตามกฎหมายของไทย อย่างไรก็ดีการใช้ยานี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด   

อนึ่ง ยานี้มียาชื่อการค้าที่จำหน่ายในต่างประเทศเช่น Parlodel, Cycloset, Brotin

ยาโบรโมคริปทีนมีสรรพคุณอย่างไร?

โบรโมคริปทีน

ยาโบรโมคริปทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ในการรักษา:

         ก. ภาวะมีระดับฮอร์โมนโพรแลกตินสูง/โปรแลคตินสูงในเลือด(Hyperprolactinemia)
         ข. ภาวะมีบุตรยาก (Infertility)
         ค. สภาพโตเกินไม่สมส่วน หรือ อะโครเมกาลี (Acromegaly, โรคจากผิดปกติของการหลั่ง ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองบางชนิด)
         ง. Neuroleptic malignant syndrome (NMS) ซึ่งเป็นภาวะอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษาโรคจิตบางชนิดที่มีผลในการลดระดับฮอร์โมนโดพามีนในร่างกาย ผู้ป่วยจะมีอาการซึม มีไข้สูง ตัวแข็ง เหงื่ออกมาก ชีพจรและความดันโลหิตไม่คงที่

         จ. โรคพาร์กินสัน (Parkinsonism)
         ฉ. โรคเบาหวานชนิดที่สอง (Type 2 Diabetes) หรือเบาหวานที่เกิดจากร่างกายสร้างอินซูลินได้น้อยลงหรือประสิทธิภาพในการใช้อินซูลินของเซลล์ในร่างกายลดลง

ยาโบรโมคริปทีนออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโบรโมคริปทีนออกฤทธิ์โดยตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับโดพามีน-2 (Dopamine -2 Receptor) ทำให้เกิดการกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนโดพามีน ระดับฮอร์โมนโดพามีนที่สูงขึ้นจะยับยั้งการหลั่งของฮอร์โมนโพรแลกติน และยังช่วยในการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสันอีกด้วย    

 สำหรับการใช้รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่สอง พบว่ายาโบรโมคริปทีนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้โดยยังไม่ทราบกลไกการออกฤทธิ์ที่แน่ชัด

ยาโบรโมคริปทีนมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

  ยาโบรโมคริปทีนมีรูปแบบจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ด ขนาดความแรง 2.5 มิลลิกรัมต่อเม็ด

ยาโบรโมคริปทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโบรโมคริปทีนมีขนาดยาเริ่มต้นโดยทั่วไป 1.25 - 2.5 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งนี้ขึ้นกับโรคและอาการของผู้ป่วย แพทย์ผู้ทำการรักษาอาจพิจารณาปรับขนาดยาผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้ตามผล ลัพธ์ทางคลินิกจากการใช้ยากล่าวคือ อาการของโรคที่ดีขึ้นของผู้ป่วยเทียบกับอาการจากผลข้างเคียงของยา (อ่านเพิ่มเติมในบทความนี้หัวข้อ ยาโบรโมคริปทีนมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?)

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาโบรโมคริปทีนควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร  เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่ซื้อทานเองและยาที่แพทย์สั่งจ่าย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน และสมุนไพร ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยจะไม่ได้รับยาที่อาจมีปฏิกิริยาระหว่างยาต่อกัน (อ่านเพิ่มเติมในบทความนี้ในหัวข้อ ยาโบรโมคริปทีนมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?)
  • ประวัติโรคประจำตัวทั้งโรคที่เป็นอยู่และโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะหากมีประวัติโรคความดันโลหิตสูง หรือมีอาการปวดศีรษะไมเกรน ประวัติการเป็นลม หมดสติ โรคหัวใจรวมถึง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีภาวะทางจิต(เช่น โรคจิตเภท)  มีแผลในกระเพาะอาหารหรือในระบบทางเดินอาหาร  โรคเรเนาด์ (Raynaud's syndrome, ภาวะที่ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหรือชาบริเวณมือและเท้าเมื่อสัมผัสอากาศเย็นจัด) โรคไต และโรคตับ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณเพิ่งมีการคลอดบุตร กำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างการให้นมบุตร

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโบรโมคริปทีน ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับมื้อยาถัดไปแล้วให้ข้ามมื้อยานั้นไป และรับประทานยาในมือถัดไปตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา

ยาโบรโมคริปทีนมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?

ยาโบรโมครปทีนอาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น วิงเวียน  คลื่นไส้-อาเจียน  อาการไม่พึงประสงค์ในระบบทางเดินอาหารซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการท้องเสียหรือท้องผูก ปวดเกร็ง/ปวดบีบช่องท้อง มีอาการแสบร้อนกลางอก ความอยากอาหารและการรับรสทำงานแย่ลง เหนื่อยล้า  อ่อนเพลีย

 โดยทั่วไปอาการไม่พึงประสงค์ฯเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้และควรมีอาการดีขึ้นหรือทุเลาลงเมื่อใช้ยาไปแล้วระยะหนึ่ง แต่ถ้าหากพบว่าอาการเหล่านี้ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่องหรือมีแนวโน้มว่าจะแย่ลง ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

         *ยาโบรโมคริปทีนยังอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯที่รุนแรง เช่น เป็นลม หมดสติ มีของเหลว/สารคัดหลั่งไหลจากจมูก มีอาการปวดแสบหรือชาบริเวณนิ้วมือหากสัมผัสกับอากาศเย็น อุจจาระมีสีดำและเหนียว อาเจียนเป็นเลือด มีอาการบวมของเท้า ข้อเท้า และน่องขา ปวดหัวรุนแรง การมองเห็นพร่ามัว/ตาพร่า สับสน  มองเห็นภาพหลอนหรือได้ยินเสียงแว่ว( ประสาทหลอน) มีอาการปวดบริเวณขา หลัง คอ หรือขากรรไกร ซึ่งเมื่อมีอาการเหล่านี้ให้รีบพบแพทย์ /ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

หากรับประทานยาโบรโมคริปทีนแล้วมีอาการแพ้ยา เช่น มีอาการบวมที่บริเวณริมฝีปาก เปลือกตา/หนังตาหรือใบหน้า มีผื่นคันขึ้นตามบริเวณผิวหนัง หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดการหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉินเช่นกัน

         *อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่าการที่แพทย์สั่งใช้ยานี้เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ส่วน มากพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงได้ ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น และรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินหากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

ยาโบรโมคริปทีนมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?

ยาโบรโมคริปทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นๆได้ แพทย์อาจต้องปรับระดับยาเหล่า นี้หรือตัวยาโบรโมคริปทีนเอง รวมถึงการเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยาเหล่านี้หากมีการใช้ร่วมกันกับยาโบรโมคริปทีน ผู้ป่วยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบถึงยาที่ผู้ ป่วยใช้อยู่เพื่อป้องกันปฏิกิริยาระหว่างยา ตัวอย่างยาที่มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาโบรโมคริปทีน เช่น

  • ยาต้านเศร้า,  ยาคลายเครียด หรือวิตกกังวล เช่น ยาอิมิทริปทีลีน (Amytriptyline), ยาอิมิพรามีน (Imipramine), ยาฮาโลเพอริดอล (Haloperidol), ยานีฟาโซโดน (Nefazodone)
  • ยาต้านเชื้อรา เช่น ยาอิทราโคนาโซล (Itraconazole) และยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
  • ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาคลอแรมฟีนิคอล (Chloramphenicol), ยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin), ยาอิริโธรมัยซิน (Erythromycin), ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin)
  • ยากระตุ้นการหลั่งโดพามีนหรือยาที่มีส่วนประกอบของโดพามีน เช่น ยาคาเบอร์โกลีน (Cabergoline), ยาเลโวโดพา (Levodopa), ยารักษาโรคพาร์กินสัน, ยาเพอร์โกไลด์ (Per golide), และยาโรพินิโรล (Ropinirole)
  • ยาที่มีส่วนผสมของสารเออร์ก็อต (Ergot drug) เช่น ยาคาร์เฟอร์ก็อต (Cafergot®) ที่ใช้ในการรักษาโรคไมเกรน และยารักษาโรคไมเกรนชนิดอื่น เช่น ยาซูมาทริปแทน (Sumatriptan)
  • ยาต้านไวรัสเอดส์หรือเอชไอวี /ยาต้านเอชไอวี (AIDS/ HIV)
  • ยาโรคเกาต์ เช่น ยาโพรเบนิซิด (Probenecid)
  • ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน เช่น ยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide), ยาดอมเพอริโดน (Domperidone)

มีข้อควรระวังในการใช้ยาโบรโมคริปทีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้ยาโบรโมคริปทีน เช่น

  • ไม่ใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณกำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในระหว่างการให้นมบุตร
  • สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ในข้อบ่งใช้การรักษาภาวะมีบุตรยากหรือประจำเดือนขาดจากภาวะฮอร์โมนโพรแลกตินสูง ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หาวิธีการคุมกำเนิดอื่นๆร่วมด้วยอีกหนึ่งวิธีนอกเหนือไปจากการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดอย่างเดียว (เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย) และควรตรวจการตั้งครรภ์ทุกๆ 4 สัปดาห์ตราบเท่าที่ประจำเดือนยังขาด เมื่อประจำเดือนกลับมาเป็นปกติแล้วควรตรวจการตั้งครรภ์หากประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ 3 วันหรือตามการแนะนำของแพทย์
  • หลีกเลี่ยงการให้นมบุตรขณะใช้ยานี้
  • แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่าคุณกำลังใช้ยานี้หากจำเป็นต้องมีการผ่าตัด
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึมผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานเครื่องจักรหรืองานใดๆที่มีความเสี่ยงกับอุบัติเหตุระหว่างการใช้ยานี้ หรือจนกว่าจะรู้ว่ายานี้ก่อให้เกิดผลข้างเคียงนี้ต่อผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้
  • ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการ มึนงง วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน หรือเป็นลมได้หากผู้ป่วยเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็วเช่น จากนอนเป็นยืน เป็นต้น ผู้ป่วยควรลุกขึ้นหรือเปลี่ยนท่าทางช้าๆ ระหว่างการเริ่มต้นการใช้ยาและทุกครั้งที่มีการปรับขนาดยาโบรโมคริปทีน
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณมีไข้ ได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการเหมือนมีการติดเชื้อ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโบรโมคริปทีน) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ควรเก็บรักษายาโบรโมคริปทีนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาโบรโมคริปทีน:  

  • เก็บรักษายาในภาชนะบรรจุดั้งเดิมของบริษัทผู้ผลิต
  • ไม่ควรนำยาออกจากแผงยาก่อนการรับประทาน
  • เก็บยาในอุณหภูมิห้อง เลือกบริเวณที่แห้ง หลีกเลี่ยงบริเวณที่สัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาโบรโมคริปทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโบรโมคริปทีน มียาชื่อการค้าอื่นๆและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
พาร์โลเดล (Parlodel) บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด
โบรคาเดน (Brocaden) บริษัท ฟาร์มาสันต์แล็บบอราตอรี่ส์ จำกัด
โบรโมคริปทีนชนิดเม็ด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภิญโญฟาร์มาซี

 

บรรณานุกรม

  1. American Pharmacists Association. Bromocriptine, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;2014:286.
  2. Pijl H, Ohashi S, Matsuda M; et al. Bromocriptine: a novel approach to the treatment of type 2 diabetes. Diabetes Care 2000;23(8):1154–61.
  3. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/28129 [2022,Jan29]
  4. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_national_detail/index/6756 [2022,Jan29]