ภาวะมีบุตรยาก (Infertility)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ในปัจจุบัน พบว่า คู่สามีและภรรยามีแนวโน้มที่จะแต่งงานช้า อาจเนื่องมาจากความพร้อมของคู่สมรส และแบบแผนทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ภาวะดังกล่าวอาจส่งผลทำให้เกิดภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลง ซึ่งทำให้คู่สมรสต้องมารับคำปรึกษาเกี่ยวกับภาวะมีบุตรยากมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉลี่ยมักจะพบภาวะมีบุตรยากประมาณ 15% ของคู่สมรสทั้งหมด ทั้งนี้ทั้งนั้นภาวะมีบุตรยากไม่ขึ้นกับว่าจะเป็นเชื้อชาติใด ทั้งไทย จีน อินเดีย หรือชาติยุโรป ก็ตาม ดังนั้นจึงไม่มีใครจะรู้ล่วงหน้าว่า เมื่อตัวเองแต่งงานแล้ว จะมีปัญหาการมีบุตรยากหรือไม่

ภาวะมีบุตรยากหมายความว่าอย่างไร?

ภาวะมีบุตรยาก

ภาวะมีบุตรยาก คือ ภาวะที่คู่สมรส ไม่สามารถตั้งครรภ์ภายหลังจากมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉลี่ยควรมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2-3 วันต่อสัปดาห์โดยไม่ได้คุมกำเนิดอย่างน้อย 1 ปี

โดยปกติ การมีเพศสัมพันธ์สัปดาห์ละอย่างน้อย 2-3 วัน โดยไม่ได้คุมกำเนิด จะมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ร้ 50% ภายใน 5 เดือน และการตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นเป็น 80-90% ในเวลา 1 ปี ส่วนที่เหลือจะมีโอกาสตั้งครรภ์ลดลง

การปฏิสนธิระหว่างเชื้ออสุจิซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์ตัวผู้ กับไข่ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์ตัวเมีย จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ ที่สำคัญ คือ เชื้ออสุจิต้องแข็งแรง มีจำนวนมากพอ และเคลื่อนไหวได้ดี ภรรยาต้องมีไข่ซึ่งเกิดจากรังไข่ที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งก่อนและหลังไข่ตก ทั้งนี้การตกไข่ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เชื้ออสุจิจะพบกับไข่ ที่ท่อนำไข่ ซึ่งต้องเป็นท่อนำไข่ที่สมบูรณ์ด้วย

ตัวอ่อนที่ได้จากการผสม จะเดินทางไปตามท่อนำไข่ เข้าไปยังโพรงมดลูก ซึ่งในระหว่างทางจะแบ่งตัวและเติบโต ใช้เวลาเดินทางในท่อนำไข่ประมาณ 5-7 วัน ก็ถึงโพรงมดลูก ต่อจาก นั้นจะมีการฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูก ในราววันที่ 7-9 นับแต่วันที่ปฏิสนธิ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการฝังตัว ได้แก่ มูกปากมดลูก ซึ่งต้องมีคุณภาพดี และปริมาณพอเหมาะ, ปากมดลูก โพรงมด ลูก และท่อนำไข่ ไม่มีพยาธิสภาพที่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการเดินทางของตัวอ่อน, เช่นเดียว กับสภาพภายในมดลูก ต้องไม่มีเนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกต้องสมบูรณ์แข็งแรง และต้องหนาพอที่จะรองรับการฝังตัว และเจริญเติบโตของตัวอ่อนได้

ทั้งนี้ แบ่งภาวะมีบุตรยากออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • ภาวะมีบุตรยาก ชนิดปฐมภูมิ (Primary infertility) หมายถึง คู่สมรสดังกล่าวไม่เคยมีบุตรมาก่อน
  • ภาวะมีบุตรยาก ชนิดทุติยภูมิ (Secondary infertility) หมายถึง คู่สมรสดังกล่าวเคยมีบุตร หรือเคยตั้งครรภ์มาก่อน แต่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก

การมีบุตรยากเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง?

ปัญหาภาวะมีบุตรยากนี้ มักถูกคนไข้ถามอยู่บ่อยๆว่า สาเหตุที่เขาไม่สามารถมีบุตรได้นั้น เป็นเพราะความผิดปกติของใคร ฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชาย ในความจริงแล้วพบว่า

  • คู่สมรสบางคู่ ทางฝ่ายหญิงมีความผิดปกติ เช่น ภาวะไม่ตกไข่ ท่อรังไข่อุดตัน มีเนื้องอกที่ตัวมดลูก เกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกไปฝังตัวในช่อง/อุ้งเชิงกรานที่เรียกว่าภาวะ Endometriosis (ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่) ซึ่ง มักพบบ่อยในหญิงที่มีบุตรยาก มีพังผืดเกิดขึ้นในช่องเชิงกราน หรือที่ปีกมดลูก เป็นต้น
  • ในบางคู่ สาเหตุอาจเกิดจากฝ่ายชายเองมีเชื้ออสุจิผิดปกติ เช่น เชื้ออสุจิปริมาณน้อย เชื้ออสุจิอ่อนแอ หรือเชื้ออสุจิมีรูปร่างผิดปกติ หรือ แม้แต่เป็นหมัน คือตรวจไม่พบตัว/เชื้ออสุจิในน้ำอสุจิเลยก็ได้
  • อย่างไรก็ตาม มีคู่สมรสจำนวนไม่น้อยที่สาเหตุการมีบุตรยากเกิดจากความผิดปกติของทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกัน ไม่ใช่จากคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
  • นอกจากนี้ ยังพบว่า มีคู่สมรสที่มีบุตรยากอีกจำนวนหนึ่งประมาณ 15-20% ที่แม้จะตรวจวินิจ ฉัยแล้วก็ไม่พบความผิดปกติอะไร กลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มที่มีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเป็นปัญหาจากความสามารถในการเจริญพันธุ์ต่ำเอง และมักจำเป็นต้องให้การรักษาเพื่อช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์

ดังนั้น เมื่อไม่แน่ใจว่าตนเองมีภาวะมีบุตรยากหรือไม่ แนะนำให้คู่สมรสเข้ามาพบสูตินรีแพทย์ โดยเบื้องต้น แพทย์จะทำการสอบถามประวัติทางการแพทย์ของทั้งสองฝ่าย (เช่น ประ วัติการมีประจำเดือนในฝ่ายหญิง ประวัติเจ็บป่วยต่างๆ ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ ประวัติครอบ ครัว) การตรวจร่างกายทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย รวมทั้งการตรวจภายใน (ฝ่ายหญิง) ว่ามีความผิดปกติเบื้องต้นหรือไม่ จากนั้นจะทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อค้นหาสาเหตุเพิ่มเติมตามสิ่งที่แพทย์ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์

เมื่อสงสัยว่าตนเองมีภาวะมีบุตรยาก แพทย์มีแนวทางการตรวจวินิจฉัยอย่างไรบ้าง?

เมื่อคู่สมรสมาปรึกษาที่คลินิกมีบุตรยาก แพทย์ผู้ทำการรักษาจะทำการวินิจฉัยทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย โดยสอบถามประวัติทางการแพทย์ การตรวจร่างกาย การตรวจภายในฝ่ายหญิง และจะมีการส่งตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุการเกิดภาวะมีบุตรยาก โดยจำแนกการส่งตรวจได้ดังนี้

1. การตรวจทางห้องปฏิบัติการของฝ่ายชาย

  • ตรวจเชื้ออสุจิ/น้ำเชื้อ โดยคู่สมรสฝ่ายชาย ควรงดการหลั่งน้ำอสุจิก่อนวันทำการตรวจ อย่างน้อย 2 วัน และไม่ควรนานเกิน 7 วัน แนะนำให้ส่งน้ำเชื้อให้กับห้องปฎิบัติการภาย ใน 30 นาที หลังจากการเก็บน้ำเชื้อได้
  • ตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนเพศชาย พิจารณาตรวจเมื่อพบความผิดปกติของน้ำเชื้อ
  • ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

2. การตรวจทางห้องปฏิบัติการของฝ่ายหญิง

  • ตรวจภายใน เพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน
  • ตรวจระดับฮอร์โมนเพศหญิง เพื่อค้นหาความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ และดูการทำ งานของรังไข่
  • ตรวจอัลตราซาวด์อุ้งเชิงกราน เพื่อดูลักษณะของ มดลูก รังไข่ อวัยวะในอุ้งเชิงกราน
  • เอกซ์เรย์โพรงมดลูกด้วยการฉีดสีเข้าในโพรงมดลูก หรือการผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อตรวจในช่องท้อง โดยแพทย์จะพิจารณาตรวจในรายที่ตรวจภายในแล้วพบความผิดปกติ
  • การผ่าตัดผ่านกล้อง เพื่อสำรวจความผิดปกติในอุ้งเชิงกราน และช่วยในการรักษาในกรณีที่ตรวจพบพังผืดภายในอุ้งเชิงกราน
  • การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก เพื่อตรวจหาพยาธิสภาพต่างๆในโพรงมดลูก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก

ควรดูแลตนเองอย่างไรที่จะเพิ่มโอกาสมีบุตรได้?

เมื่อมีบุตรยาก การดูแลสุขภาพตนเองเป็นสิ่งสำคัญในเบื้องต้น ที่คู่สมรสควรต้องทำก่อนการรักษาภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จะสามารถช่วยเพิ่มโอกาสการมีบุตรได้

การดูแลตนเองในเบื้องต้นที่สามารถทำได้ คือ การนอนหลับ พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง, ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง นานครั้งละ 30 นา ที, ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน, รับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน, และต้องลดปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความเครียดทั้งในฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ซึ่งการปฏิบัติตนดังกล่าว จะช่วยให้การสร้างและการหลั่งฮอร์โมนเพศที่ทำหน้าที่ควบคุมการตกไข่ และการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ทำงานเป็นปกติ นอกจากนี้ การงด สูบบุหรี่ และ ดื่มสุรา จะช่วยให้การเคลื่อนไหวของตัวอสุจิดีขึ้น และควรหลีกเลี่ยงสารพิษต่างๆ เช่น สารโลหะหนัก (เช่น ตะกั่ว) และสารเคมีต่างๆ ซึ่งสารดังกล่าวจะส่งผลต่อทั้งการทำงานของรังไข่และอัณฑะ ทำให้เซลล์สืบพันธุ์ทำงานผิดปกติ ในกรณีที่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวแล้วพบว่า คู่สมรสส่วนหนึ่งอาจสามารถตั้งครรภ์ได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา

สามารถแก้ไขภาวะมีบุตรยากได้อย่างไร?

ในเบื้องต้น แพทย์จะทำการรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบและรักษาได้ เช่น การผ่าตัดแก้ ไขความผิดปกติของท่อนำไข่ การผ่าตัดแก้การทำหมันที่เคยได้ทำไว้ การผ่าตัดรักษาโรคถุงน้ำรังไข่ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคพีซีโอเอส) หรือโรคเยื่อบุโพรงมด ลูกเจริญผิดที่ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการรักษาโดยวิธีดังกล่าว พบว่ามีคู่สมรสจำนวนไม่น้อย ไม่อาจมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นภายหลังการรักษา เนื่องจากในขบวนการตั้งครรภ์ ยังจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยทางธรรมชาติอื่นๆอีกมาก รวมทั้งความผิดปกติบางอย่างก็ไม่อาจจะแก้ไขได้ เช่น ภาวะเชื้ออสุจิผิดปกติในฝ่ายชาย ดังนั้น ปัจจุบันจึงได้มีการพัฒนาแนวทางการรักษาที่สอง คือการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว หรือกิ๊ฟท์ มาช่วยให้เกิดการตั้ง ครรภ์ เนื่องจากการรักษาวิธีเหล่านี้ ส่วนหนึ่งไม่ได้พึ่งพากระบวนการของการตั้งครรภ์ตามธรรม ชาติ แต่เป็นการนำเอาเซลล์สืบพันธุ์คือ ไข่ของเพศหญิงและเชื้ออสุจิของเพศชาย มาเลี้ยงภาย นอกร่างกาย ให้ผสมเป็นตัวอ่อน ก่อนที่จะใส่กลับเข้าในโพรงมดลูก เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ จึงไม่จำเป็นต้องแก้ไขความผิดปกติต่างๆที่เป็นสาเหตุ เช่น ท่อรังไข่ตัน หรือเชื้ออสุจิผิดปกติ เป็นต้น

1. การผสมเทียม (Intra-Uterine Insemination: IUI) คือ การนำเชื้ออสุจิที่ได้จากการเตรียมและการคัดเชื้อ มาฉีดเข้าไปภายในโพรงมดลูกของสตรี ในช่วงที่มีการตกไข่ โดยการผสมเทียม เป็นวิธีที่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างน้อย พบว่า อัตราการตั้งครรภ์ภายหลังการผสมเทียมมีประมาณร้อยละ 10-20% โดยมักจะประสบความสำเร็จภายใน 3-6 รอบเดือนของการรักษา

2. การทำกิ๊ฟ (Gamete Intra-Fallopian Transfer: GIFT) คือ การนำไข่และเชื้ออสุจิที่ได้จากคู่สมรส กลับไปใส่ที่ท่อนำไข่ของฝ่ายหญิง เพื่อเพิ่มโอกาสความสามารถในการปฏิ สนธิที่บริเวณท่อนำไข่ และไข่ที่ผสมแล้ว เจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน และเดินทางกลับไปฝังตัวที่โพรงมดลูกต่อไป ดังนั้นฝ่ายหญิงต้องมีท่อนำไข่ที่ปกติอย่างน้อย 1 ข้าง อัตราการตั้งครรภ์จากการทำกิ๊ฟแต่ละครั้งประมาณ 20-30% ขึ้นอยู่กับอายุฝ่ายหญิง (อายุน้อย ผลการรักษาดี กว่าอายุมาก), ความผิดปกติภายในอุ้งเชิงกรานฝ่ายหญิง, และความแข็งแรงของเชื้ออสุจิ

ปัจจุบัน ความนิยมในการทำกิ๊ฟลดลง เนื่องจากการทำค่อนข้างยุ่งยาก เกิดภาวะแทรก ซ้อน (เช่น การติดเชื้อ) ได้มากกว่าการทำเด็กหลอดแก้ว และที่สำคัญโอกาสตั้งครรภ์น้อยกว่าการทำเด็กหลอดแก้ว

3. การทำเด็กหลอดแก้ว (InVitro Fertilization: IVF) คือ การนำไข่และเชื้ออสุจิมาปฏิ สนธิภายนอกร่างกาย จนมีการเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน และนำตัวอ่อนที่ได้กลับเข้าไปฝังในโพรงมดลูก โดยการรักษาด้วยวิธีนี้ จะมีอัตราการตั้งครรภ์ประมาณ 30-50% การเลือกใช้วิธี การปฏิสนธินอกร่างกาย จะพิจารณาทำในรายที่มี เชื้ออสุจิคุณภาพไม่ดี, ล้มเหลวจากการผสมเทียม, มีความผิดปกติของท่อนำไข่ทั้งสองข้าง และมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน (ในฝ่ายหญิง), และกรณีที่ฝ่ายชายมีเชื้ออสุจิต่ำมาก ทั้งนี้ การรักษาจะโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาจะพิจารณาทำการฉีดตัวอสุจิเข้าสู่เซลล์ของฟองไข่โดยตรง (IntraCytoplasmic Sperm Injection: ICSI ) ซึ่งจะช่วยให้เพิ่มโอกาสของการตั้งครรภ์มากขึ้น

การแก้ไขภาวะมีบุตรยากมีผลข้างเคียงอย่างไร?

โดยทั่วไป การแก้ไขภาวะมีบุตรยากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงน้อยกว่าร้1% ทั้งนี้ชนิดผลข้างเคียงขึ้นกับวิธีการรักษา เช่น

ในกรณีที่จำเป็นต้องผ่าตัด เพื่อแก้ไขความผิดปกติของท่อนำไข่ และการผ่าตัดรักษาถุงน้ำรังไข่ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ การเสียเลือดขณะผ่าตัด การบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียง การติดเชื้อที่แผลผ่าตัด ภายหลังการผ่าตัด อาจเกิดการตีบตันของท่อนำไข่ได้ใหม่ และบางรายอาจเกิดการตั้งครรภ์ที่บริเวณท่อนำไข่ ที่ได้รับการผ่าตัดแก้ไข หรืออาจมีถุงน้ำรังไข่เกิดขึ้นใหม่ได้ภายหลังการผ่าตัด ดังนั้นภายหลังการผ่าตัด คู่สมรสจำเป็นต้องติดตามการรักษาเป็นระยะ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะดังกล่าว

การผสมเทียม การทำกิ๊ฟ และการทำเด็กหลอดแก้ว มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่น กัน ภาวะแทรกซ้อนที่พบโดยทั่วไป คือการตั้งครรภ์มากกว่า 1 คน หรือครรภ์แฝด จาก รังไข่ตอบสนองต่อยากระตุ้นการตกไข่มากกว่าปกติ โดยการผสมเทียมจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรก ซ้อนน้อยกว่าวิธีอื่น ทั้งนี้ในกรณีที่ทำ “เด็กหลอดแก้ว” จะมีความเสี่ยงเพิ่มเติมดังนี้

1. ภาวะแทรกซ้อนอันดับแรกคือ ความเสี่ยงที่จะไม่ตั้งครรภ์จากการรักษา โดยทั่วไปเริ่มต้นความเสี่ยงตั้งแต่ ขั้นตอนการกระตุ้นการตกไข่ รังไข่ไม่ตอบสนองต่อยากระตุ้น แพทย์จึงอาจเก็บไข่ไม่ได้ หรืออาจจะผสมแล้วไม่ได้ตัวอ่อน หรืออาจไม่ได้ย้ายตัวอ่อน เนื่องจากคุณภาพตัวอ่อนไม่ดีพอ หรือตัวอ่อนผิดปกติ ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้พบน้อย และมักจะพบในรายที่ฝ่ายหญิงอายุมาก และเคยมีประวัติผ่าตัดที่รังไข่หลายครั้ง นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับการตกเลือดและติดเชื้อในช่องท้องจากขั้นตอนการเก็บไข่ ซึ่งโอกาสในการเกิดนั้นเพียงประมาณน้อยกว่า 0.5%

2. ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากยากระตุ้นไข่ ทำให้ร่างกายผลิตไข่ได้มากกว่าปกติ และเกิดภา วะบวมน้ำทั่วร่างกาย (Ovarian hyperstimulation syndrome, OHSS), และ อาจเสี่ยงต่อรังไข่แตกได้ ถ้าได้รับการกระแทกแรงๆบริเวณท้องน้อย เนื่องจากรังไข่นั้นมีขนาดใหญ่มากกว่าปกติ ทั้งนี้โอกาสในการเกิดภาวะบวมน้ำที่อยู่ในระดับอันตรายนั้น มีโอกาสเกิดต่ำกว่า 1% โดย เฉพาะในกรณีที่การกระตุ้นไข่นั้นได้รับการควบคุมอย่างเหมาะสม ส่วนรายที่บวมน้ำ คลื่นไส้อา เจียน ในระดับที่ไม่รุนแรง พบได้ประมาณ ร้อยละ 10-15% ซึ่งเป็นภาวะที่สามารถหายได้เอง โดยไม่ต้องรักษา หรือการรักษาเพียงแค่ การรักษาประคับประคองตามอาการ ( เช่น ยาแก้คลื่น ไส้อาเจียน เมื่อมีอาการคลื่นไส้อาเจียน) นอกจากนี้ การใช้ยาฉีดกระตุ้นไข่ตก อาจทำให้เกิดรอยแดงคันบริเวณที่ฉีดยา เลือดออกใต้ผิวหนัง ผิวหนังเขียวช้ำได้ และในช่วงฉีดยา บางรายอาจมีคลื่นไส้อาเจียน ท้องมีขนาดโตขึ้น ท้องอืด ปวดหน่วงท้องน้อย มีตกขาวในปริมาณมาก กว่าปกติ

3. การตั้งครรภ์แฝด จัดว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งของการรักษาภาวะมีบุตรยาก โดย เฉพาะการตั้งครรภ์แฝดที่มากกว่าสองคน โอกาสในการคลอดก่อนกำหนดมีสูง ในปัจจุบันเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว แพทย์มักจะทำการใส่ตัวอ่อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูกน้อยลง โดยมักใส่ไม่เกิน 3 ตัวอ่อน ในต่างประเทศมีการใส่เพียง 1- 2 ตัวอ่อนเท่านั้น เพื่อลดโอกาสการตั้งครรภ์แฝด เนื่องจากการตั้งครรภ์แฝด จะมีปัญหาตามมาทั้งต่อมารดา และต่อทารก เช่น การแท้งบุตร, หรือ การคลอดก่อนกำหนด สูงกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้ล้มเหลวในการแก้ไขภาวะมีบุตรยาก?

การผ่าตัดแก้ไขภาวะมีบุตรยาก มักจะมีโอกาสล้มเหลวจากการรักษาค่อนข้างน้อย ซึ่งโอ กาสเกิดการล้มเหลวจากการรักษา มักจะสัมพันธ์กับรอยโรคหรือพยาธิสภาพที่พบในระหว่างการผ่าตัด เช่น กรณีการผ่าแก้การทำหมัน พบว่ามีโอกาสตั้งครรภ์ภายหลังการผ่าตัดแก้หมันประมาณ 70% ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยต่างๆซึ่งส่งผลให้โอกาสการตั้งครรภ์ลดลงจากเดิม โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดการล้มเหลว คือ

  • อายุของฝ่ายหญิงซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญหลัก เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การสร้างฟองไข่ และการเจริญของฟองไข่ผิดปกติ
  • วิธีที่ใช้ในการทำหมันครั้งก่อน
  • ความยาวของท่อนำไข่ที่เหลือภายหลังจากการทำหมัน
  • การติดเชื้อในภายในอุ้งเชิงกรานจากการผ่าตัด
  • และปริมาณความเข้มข้นของเชื้ออสุจิของฝ่ายชาย

ในกรณีที่สตรีเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ปัจจัยที่มีผลต่อความล้มเหลว คือ รอยโรคที่พบในอุ้งเชิงกราน เช่น พังผืด, ขนาดของถุงน้ำรังไข่, และความผิดปกติของท่อนำไข่ที่พบร่วมด้วย โดยพบว่าโรคเยื่อบุโพรงมดลูกที่มีพยาธิสภาพของโรคที่รุนแรง ส่วนใหญ่มีโอกาสเกิดซ้ำ 50-80% ดังนั้นในรายที่มีพยาธิสภาพของโรคที่รุนแรง แพทย์ผู้ทำการรักษามักจะแนะนำให้ทำการรักษาเรื่องมีบุตรยาก ภายหลังจากการฟื้นตัวจากการผ่าตัด และเพื่อลดโอกาสเกิดการเป็นซ้ำ อาจแนะนำรักษาโดยการผสมเทียม หรือการทำเด็กหลอดแก้ว ทั้งนี้ขึ้นกับความผิดปกติที่แพทย์พบ

อะไรเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้ว?

มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อโอกาสตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งเปรียบ เสมือนอัตราความสำเร็จของแต่ละสถาบัน ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ เช่น อายุของคู่สมรส (ยิ่งอายุน้อย โอกาสได้รับความสำเร็จจะสูงกว่า), การทำงานของรังไข่, ระยะเวลาที่เป็นหมัน, การรักษาภาวะมีบุตรยากที่ได้รับมาก่อน (ยิ่งเคยได้รับการรักษา โอกาสสำเร็จจะลดลง), ปัจจัยทางสามี เช่น น้ำเชื้อผิดปกติ และในแต่ละคน อาจมีหลายปัจจัยร่วมกันได้

นอกจากนี้ อัตราความสำเร็จยังขึ้นกับ การตอบสนองของการกระตุ้นการตกไข่, คุณภาพของตัวอ่อน, และจำนวนตัวอ่อนที่ย้ายไปสู่โพรงมดลูก (การย้ายตัวอ่อนสู่โพรงมดลูกหลายตัวจะเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ได้ แต่ก็จะเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์แฝดไปด้วยเช่นกัน)

เมื่อแก้ไขภาวะมีบุตรยากสำเร็จแล้ว ต้องการมีบุตรอีกจะทำอย่างไร?

ในกรณีที่ผ่าตัดแก้ไขสำเร็จ และคู่สมรสสามารถมีบุตรเองตามธรรมชาติ จะสามารถมีบุตรเองตามธรรมชาติได้ตามปกติ โดยไม่ต้องผ่าตัดแก้ไขซ้ำก่อนการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป

ในกรณีที่รักษาด้วยการผสมเทียมแล้วตั้งครรภ์ ในการตั้งครรภ์ครั้งถัดไป แพทย์ผู้ทำการรักษามักจะพิจารณาให้คู่สมรสลองพยายามตั้งครรภ์ตามธรรมชาติก่อน ถ้าไม่ตั้งครรภ์ จะแนะนำการทำผสมเทียม ทั้งนี้จะพิจารณาตามความเหมาะสม

ส่วนคู่สมรสที่ตั้งครรภ์ ภายหลังจากการทำเด็กหลอดแก้ว แพทย์มักจะแนะนำให้ทำเด็กหลอดแก้วเลย หรือใช้ตัวอ่อนของคู่สมรสที่แช่แข็ง ซึ่งเหลือจากการทำเด็กหลอดแก้วครั้งก่อน เนื่องจากคู่สมรสดังกล่าว มักจะไม่สามารถตั้งครรภ์ด้วยวิธีการรักษาอื่น

ถ้าล้มเหลวจากวิธีหนึ่งแล้ว จะใช้วิธีอื่นๆแก้ไขภาวะมีบุตรยากได้อีกไหม?

ภายหลังการแก้ไขสาเหตุการมีบุตรยากแล้ว คู่สมรสยังไม่สามารถตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรม ชาติ โดยทั่วไปการรักษาขั้นตอนต่อไปขึ้นกับอายุของฝ่ายหญิง, พยาธิสภาพต่างๆที่ตรวจพบของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง, และความสมบูรณ์ของเชื้ออสุจิที่ตรวจพบ

ในกรณีที่ไม่ตั้งครรภ์ ภายหลังการผ่าตัดแก้หมันนานประมาณ 6 เดือน โดยทั่วไปแพทย์มักแนะนำทำเด็กหลอดแก้วมากกว่าการผ่าตัดแก้ไขซ้ำ เนื่องจากท่อนำไข่มักจะสั้นมาก และมัก มีความผิดปกติที่ในผิวท่อนำไข่ อีกทั้งอัตราความสำเร็จในการผ่าตัดแก้ไขซ้ำมักจะต่ำมาก

ในรายที่มีสาเหตุมาจากโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มักจะรักษาเรื่องมีบุตรยากตามพยาธิสภาพที่พบ โดยในรายที่มีพยาธิสภาพของโรคเพียงเล็กน้อย อาจเริ่มจากการให้ตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติ หรือการผสมเทียม ถ้าไม่ประสบความสำเร็จภายหลังการรักษา แพทย์มักแนะ นำทำเด็กหลอดแก้ว เพราะการพยายามรักษาด้วยวิธีเดิมมักมีอัตราความสำเร็จต่ำ ดังนั้นแพทย์มักแนะนำวิธีใหม่ มากกว่าใช้วิธีเดิมในการรักษา

กรณีที่คู่สมรสตรวจไม่พบสาเหตุการมีบุตรยาก แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการรับประ ทานยากระตุ้นการตกไข่ ร่วมกับการนับวันมีเพศสัมพันธ์, การผสมเทียม, และการทำเด็กหลอด แก้ว ตามลำดับ

ทารกที่เกิดจากวิธีแก้ไขภาวะมีบุตรยากต่างๆ มีการเจริญเติบโต สติปัญญา โอกาสเป็นโรคต่างๆ เหมือนเด็กทั่วๆไปไหม?

ที่ผ่านมา ทั้งคู่สมรสและแพทย์ผู้ทำการรักษา มีความกังวลเกี่ยวกับความผิดปกติและพิ การ ในทารกที่เกิดจากการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เนื่องจากการตั้งครรภ์ดังกล่าว เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้เกิดตามธรรมชาติ ต้องใช้ยาในการควบคุมการเจริญเติบโตของไข่ อีกทั้งต้องใช้น้ำยาที่ได้จากการสังเคราะห์ขึ้นมา ใช้ในการเลี้ยงตัวอ่อน ก่อนที่จะใส่ตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก นอกจากนั้นตัวอ่อนในบางครั้งต้องถูกแช่แข็ง เพื่อใช้เก็บไว้ในการรักษาในการตั้งครรภ์ครั้งหน้า ซึ่งแต่ละขั้นตอนอาจส่งผลต่อความสมบูรณ์ของทารกที่จะมีชีวิตในอนาคต แต่ในปัจจุ บันทารกที่คลอดจากการรักษาด้วยวิธีนี้มีจำนวนมากขึ้น จึงได้มีการศึกษาวิจัยที่ติดตามทารก ที่เกิดจากเทคโนโลยีการช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งจากการศึกษาหลายๆการศึกษาพบว่า ทารกส่วนใหญ่มีสุขภาพแข็งแรง ในช่วงแรกเกิดทารกอาจมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าทารกปกติทั่วไป และเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด แต่อัตราการเกิดความพิการแต่กำเนิด หรือทารกผิดปกติ ไม่แตกต่างจากทารกที่ปฏิสนธิตามธรรมชาติ เช่น ความผิดปกติของใบหน้า แขนขา ความผิดปกติของอวัยวะภายใน ระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาท อวัยวะเพศ รวมทั้งภาวะความผิดปกติของโครโม โซม (Chromosome) และเมื่อติดตามทารกเหล่านี้จนเข้าโรงเรียน พบว่า ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ พฤติกรรมที่เหมาะสมตามวัย การเข้าสังคม และระดับความจำ ไม่แตกต่างจากทารกที่ปฏิสนธิตามธรรมชาติ

ผลต่อการแก้ไขภาวะมีบุตรยากมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดมะเร็งหรือไม่?

การเกิดโรคมะเร็ง เป็นสิ่งที่ทั้งแพทย์และคู่สมรสมักจะเกิดความกังวลเสมอเมื่อมารับรัก ษาภาวะมีบุตร เนื่องจากในการรักษาภาวะดังกล่าว จำเป็นต้องมีการใช้ยาฮอร์โมนในการกระตุ้นไข่ในปริมาณมากกว่าฮอร์โมนที่สร้างมาจากธรรมชาติ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่า อัตราการเกิดมะเร็งรังไข่ และมะเร็งเต้านมในสตรีที่มารับการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ไม่แตกต่างจากกลุ่มประชากรปกติที่มีภาวะมีบุตรยาก และไม่ได้รับการรักษาด้วยยา แต่ทั้งสองภา วะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่และมะเร็งเต้านมได้มากกว่าสตรีที่เคยมีบุตรมาก่อน เนื่องด้วยภาวะมีบุตรยาก ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่อยู่แล้ว ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า สตรีที่มีบุตรยาก แม้จะได้รับการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ ไม่ได้ทำให้เพิ่มมีความเสี่ยงมากกว่าสตรีที่มีบุตรยากที่ไม่ได้รับการรักษาภาวะนี้

ด้านการเกิดมะเร็งในทารก ที่เกิดจากการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุพบว่า อัตราการเกิดมะเร็งต่างๆไม่แตกต่างจากทารกที่เกิดจากการปฏิสนธิตามธรรมชาติ

สรุป

ภาวะมีบุตรยาก สามารถรักษาได้ การพิจารณาการรักษาวิธีใดขึ้นกับความผิดปกติของคู่สมรสที่แพทย์ตรวจพบ ซึ่งการรักษาภาวะมีบุตรยากจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาและความร่วมมือในการรักษา ดังนั้นคู่สมรสต้องมีความอดทน และเข้าใจเป็นอย่างดีในวิธีการรักษาของแพทย์ เพื่อให้การรักษาภาวะดังกล่าวประสบความสำเร็จ และเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาน้อยที่สุด

บรรณานุกรม

  1. Lawrence M Kessler, Benjamin M Shayne. Infertility Evaluation and Treatment among Women in United States. Fertil-Steril. 2013;100(4):1025-32.
  2. Spheroff L, MA. Infertility. In: Spheroff L Fritz MA. eds. Clinical gynaecologic endocrinology and infertility. 8th ed. Philadelphia; Lipincott Williams & Wilkins, 2011:1137-1382.
  3. Jerome F, Robert L. Female and Male Infertility. In: Yen and Jaffe’s Reproductive endocrinology Physiology Pathophysiology and Clinical Management. 6th Saunders Elsevier, 2009: 517-60.
  4. Richard OB, Daniel JS, Myelene W.M. Infertility. In: Berek & Novak’s Gynacology. 14th Lippincott Williams & Wilkins, 2007:1185-1275.
  5. Timothy N, Rafael A, Laurie M. Evaluation of the Infertility Female In Infertility and Assisted Reproduction. Cambridge University Press, 2008:55-69.
  6. Jarow JP, Sharlip ID, Belker AM, et al. Male infertility best practice policy committee of the American Urological Association Inc. J Uro 167;2002:2138-44.
  7. Wassertheil-Smoller S. Mostly about screening tests In: eds. Biostatistics and epidemiology: a primer for health professionals. 2nd ed. New York, NY: Springer-Verlag, 1995:118-25.
  8. Ashim V Kumar, Alan H Decherney. Evaluation of Female: Tubal Function in Practice Pathways In: Obstetric & Gynecology Infertility. The MaGraw-Hill Companies Inc. 2005:35-45.
  9. Adam H Ballen. Investigating Infertility In: Infertility In Practice. 2008:52-110.
  10. ESHRE Capri Workshop Group Optimal use of Infertility Diagnostic test and Treatment. Hum Reprod. 2000;15:723-32.
  11. Guidelines on the number of embryos transferred. Practice Committee of the Society for Assisted Reproductive Technology and the American Society for Reproductive Medicine. Fertil Steril 2004;82 Suppl 1:S1–2.
  12. Buintendijik S. Children after in vitro fertilization. A overview of the literature, In J Technol Assess Health Care 1999;15:52.
  13. Schieve LA, Ferre C, Peterson HB, Max=caluso M, Reynolds MA, Wright VC. Perinatal outcome among singleton infants conceived through assisted reproductive technology in the United States, Obstet GYnecol 2004;103:114.
  14. Cox GF, Burger J, Lip V, Mau UA, Sperling K, Wu BL, Horsthemke B. Intracytoplasmic spem injection may increase the risk of imprinting defects. Am J Hum Genet 2002;71;162-64.
  15. Alfred A Rimm, Alyce C Katayama, Paul Katayama. A meta-analysis of the impact of IVF and ICSI on major malformations after adjusting for the effect of subfertility. J Assist Reprod Genet. 2011;28(8):699–705.
  16. Bonduelle M, Ponjaert I, Van Steirteghem A, Derde MP, Devroey P, Liebaers I. Developmental outcome at 2 years of age for children born after ICSI compared with children born after IVF. Hum Reprod 2003;18:342–50.
  17. DeBaun MR, Niemitz EL, Feinberg AP. Association of in vitro fertilization with Beckwith–Wiedemann syndrome and epigenetic alterations of L1T1 and H19. Am J Hum Genet 2003;72:156–60.