ไรโบฟลาวิน หรือวิตามิน บี2 (Riboflavin or Vitamin B2)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 กุมภาพันธ์ 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ไรโบฟลาวินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ไรโบฟลาวินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไรโบฟลาวินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไรโบฟลาวินมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไรโบฟลาวินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไรโบฟลาวินอย่างไร?
- ไรโบฟลาวินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไรโบฟลาวินอย่างไร?
- ไรโบฟลาวินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- วิตามินรวม มัลติวิตามิน เอ็มทีวี (Multivitamin: MTV)
- วิตามินบีรวม (B-complex vitamins)
- วิตามินบี (Vitamin B)
- ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก (Neonatal hyperbilirubinemia / Neonatal jaundice)
- ไมเกรน (Migraine)
- ปากนกกระจอก (Angular cheilitis) หรือ โรคขาดวิตามิน บี-2 (Vitamin B-2 deficiency)
- ภาวะขาดโฟเลท (Folate deficiency) หรือ ภาวะขาดกรดโฟลิก (Folic acid deficiency)
บทนำ: คือยาอะไร?
ไรโบฟลาวิน (Riboflavin) หรือ วิตามินบี 2 (Vitamin B2) คือ วิตามิน/ยาที่ใช้รักษา และ/หรือป้องกันภาวะขาดวิตามินบี 2 /โรคปากนกกระจอก, วิตามินนี้ มีลักษณะเป็นของแข็งสีเหลืองส้ม ละลายน้ำได้ ทนความร้อนได้ในระดับหนึ่ง, ผู้ที่รับประทานวิตามินชนิดนี้จะทำให้ปัสสาวะออกมาเป็นสีเหลือง, ทั่วไป รูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาชนิดรับประทาน
ทั่วไป อาจจำแนกหน้าที่สำคัญๆของยาไรโบฟลาวินในร่างกายได้ดังนี้ เช่น
- เป็นสารตั้งต้นที่คอยทำหน้าที่ช่วยเหลือเอนไซม์บางชนิดของร่างกายในกระบวนการขนส่งประจุไฟฟ้าลบหรืออิเล็กตรอน (Electron) หรือที่เราเรียกกันว่าปฏิกิริยาออกซิเดชัน-รีดักชั่น (Oxidation reduction reaction) นั่นเอง, ปฏิกิริยาดังกล่าวจะช่วยให้ร่างกายมีการผลิตพลังงานของการดำรงชีวิตและกระบวนการเผาผลาญสารอาหารในร่างกายมนุษย์
- ไรโบฟลาวินจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งในกระบวนการเผาผลาญทางชีวเคมีของวิตามินบี6, โฟเลต (กรดโฟลิก), ไนอะซิน และธาตุเหล็ก
- ช่วยป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษในหญิงตั้งครรภ์
- ช่วยป้องกันการเสื่อมของเลนส์ตา(แก้วตา) ซึ่งเป็นที่มาของต้อกระจก
- ทางคลินิก มีงานวิจัยและสรุปผลได้ว่าไรโบฟลาวินช่วยป้องกันการกำเริบของการปวดศีรษะ ไมเกรนทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
เมื่อทราบประโยชน์อย่างคร่าวๆของไรโบฟลาวินแล้ว การจะหาไรโบฟลาวินมารับประทานไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด เพราะวิตามินชนิดนี้พบได้ใน นม ผักใบเขียว ถั่ว เนื้อ เครื่องในสัตว์(เช่น ตับ ไต) ในเห็ด อัลมอนด์ และสารสกัดจากยีสต์ (Yeast, เชื้อราชนิดหนึ่งที่เป็นเชื้อรากลุ่มมีเซลล์เดียว)
ประชาชนโดยทั่วไปทั้งหญิงและชายควรได้รับไรโบฟลาวินขนาดเฉลี่ย 1.2 มิลลิกรัม/วัน, แต่สำหรับสตรีที่ตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรควรได้รับไรโบฟลาวิน 1.4 และ 1.6 มิลลิกรัม/วันตามลำดับ
อาการที่ร่างกายขาดวิตามินบี 2 อาจแสดงออกมาในลักษณะมีกระเพาะอาหารอักเสบ, ลิ้นเป็นสีแดง(ลิ้นอักเสบ), เจ็บคอ/คออักเสบ, มีแผลอักเสบที่มุมปากหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “โรคปากนกกระจอก,” นอกจากนี้อาจพบอาการ คันตา ผื่นแพ้แสง, และยังส่งผลให้เกิดอาการโรคซีด, เกิดภาวะขาดวิตามินบี 9 (ภาวะขาดโฟเลท)ติดตามมาได้ด้วย, ปัจจุบันยังมีงานวิจัยที่ระบุว่า ภาวะขาดวิตามินบี2 (ภาวะขาดไรโบฟลาวิน/โรคปากนกกระจอก)อาจมีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคมะเร็ง
ได้มีการศึกษาถึงการบริโภคไรโบฟลาวินเป็นปริมาณมากจะก่อพิษ(ผลข้างเคียง)กับร่างกายได้มากน้อยเพียงใด โดยได้ติดตามผู้ที่บริโภคไรโบฟลาวินเพื่อป้องกันอาการไมเกรนในขนาด 400 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 3 เดือน พบว่าไรโบฟลาวินไม่ได้ก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) แต่อย่างใดจะมีก็แต่เรื่องปัสสาวะมีสีเหลืองเท่านั้น
ทั้งนี้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากไรโบฟลาวินมาเป็นเวลานานมากกว่า 30 ปีแล้ว เช่น
- บำบัดอาการตัวเหลืองของทารกแรกเกิด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก)
- ป้องกันการปวดศีรษะไมเกรน
- บำบัดรักษาอาการ Brown’s syndrome (การกลอกตาผิดปกติจากโรคของเอ็นกล้ามเนื้อตา)
- บำบัดอาการขาดวิตามินบี (ปากนกกระจอก) ของร่างกาย
อนึ่ง: รูปแบบจำหน่ายของยาไรโบฟลาวินที่พบบ่อยจะเป็นประเภทยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมยานี้จากลำไส้เล็ก ยาไรโบฟลาวินจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนในกระแสเลือดได้ประมาณ 60%, ตัวยาจะกระจายเข้าสู่เนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกายรวมถึงน้ำนมของมารดา, ยาไรโบฟลาวินบางส่วนจะถูกสะสมอยู่ใน ตับ ม้าม ไต และหัวใจ, ยาไรโบฟลาวินอีกจำนวนหนึ่งจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่ตับไปเป็นสารผลิตภัณฑ์ที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ, ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 66 - 84 นาทีที่จะกำจัดยาไรโบฟลาวินจำนวน 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและมีบางส่วนที่ถูกขับออกไปกับอุจจาระ
ปัจจุบันในอุตสาหกรรมการผลิตไรโบฟลาวิน นักวิทยาศาสตร์จะใช้จุลินชีพ/จุลชีพหลายชนิด ทั้งเชื้อราและแบคทีเรียในการสังเคราะห์ยาไรโบฟลาวินขึ้นมา
เราสามารถพบเห็นการใช้วิตามินบี 2 หรือไรโบฟลาวินได้จากสถานพยาบาลของรัฐ และเอกชน อีกทั้งมีจำหน่ายตามร้านขายยาโดยทั่วไป
ไรโบฟลาวินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาไรโบฟลาวินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- บำบัดป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน
- ใช้บำบัดรักษาอาการขาดไรโบฟลาวิน (วิตามินบี 2/ โรคปากนกกระจอก)
ไรโบฟลาวินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไรโบฟลาวิน คือ เมื่อตัวยาเข้าสู่ร่างกาย จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีไปเป็นสารที่ออกฤทธิ์ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อร่างกายที่มีชื่อว่า Flavin mononucleotide และ Flavin adenine dinucleotide (FMN และ FAD), จากนั้นจะส่งผลให้มีการผลิตวิตามินชนิดอื่นขึ้นในร่างกายเช่น วิตามินบี 6, โฟเลต (กรดโฟลิก/วิตามินบี 9), วิตามินบี 3, วิตามินเอ, กลุ่มวิตามินดังกล่าว รวมถึงตัวไรโบฟลาวินเอง จะส่งผลต่อกระบวนการทางชีวภาพของร่างกายอย่างมีสมดุลและทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆเป็นไปอย่างปกติ
ไรโบฟลาวินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไรโบฟลาวินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 100 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5, 25, 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
ไรโบฟลาวินมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
ไรโบฟลาวินมีขนาดรับประทาน
ก. สำหรับการขาดวิตามินบี 2 (โรคปากนกกระจอก):
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 5 - 30 มิลลิกรัมโดยแบ่งรับประทาน
ข. สำหรับป้องกันการปวดศีรษะไมเกรน:
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 400 มิลลิกรัม/วันติดต่อกัน 3 เดือนเป็นอย่างต่ำ
*อนึ่ง:
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยานี้กับเด็ก ต้องให้กุมารแพทย์เป็นผู้แนะนำและสั่งจ่ายขนาดการใช้ยาที่ปลอดภัยและเหมาะสม
- ควรรับประทานยานี้พร้อมหรือหลังอาหาร
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไรโบฟลาวิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไรโบฟลาวินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไรโบฟลาวิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาไรโบฟลาวินให้ตรงเวลา
ไรโบฟลาวินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ทางคลินิกพบว่า ไม่ค่อยมีผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่างๆจากการใช้ยาไรโบฟลาวิน นอกจากจะทำให้มีอาการปัสสาวะเป็นสีเหลืองเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากพบอาการผิดปกติของร่างกายหลังการรับประทานยาไรโบฟลาวิน ไม่ว่าจะมาจากยาสูตรตำรับใดก็ตาม หรือเกิดอาการแพ้ยานี้ ควรต้องรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ไรโบฟลาวินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไรโบฟลาวิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้องค์ประกอบต่างๆในสูตรตำรับยานี้
- การใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ควรต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยานี้นอกเหนือจากคำสั่งแพทย์และไม่ควรปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- หลังรับประทานยานี้จะพบว่าปัสสาวะมีสีเหลืองซึ่งเป็นลักษณะของยาที่ถูกขับออกจากร่าง กายมาพร้อมกับปัสสาวะ
- ควรบริโภคอาหารต่างๆที่ถูกหลักโภชนาการ (อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่) เพื่อให้ร่างกายได้สารอาหารรวมถึงไรโบฟลาวินอย่างเพียงพอโดยไม่ต้องพึ่งยาชนิดรับประทาน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไรโบฟลาวินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไรโบฟลาวินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไรโบฟลาวินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาไรโบฟลาวิน ร่วมกับยา Tetracycline จะก่อให้เกิดการรบกวนการดูดซึมของยา Tetracycline จนส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับ ขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาไรโบฟลาวิน ร่วมกับ ยารักษาอาการทางจิตประสาท (ยาจิตเวช) เช่น ยา Chlorpromazine อาจทำให้ระดับยาไรโบฟลาวินในร่างกายต่ำลง หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- ยาไรโบฟลาวินสามารถลดฤทธิ์การรักษาของยาบางตัวที่นำมาใช้รักษาโรคมะเร็งได้ เช่นยา Doxorubicin และ Methotrexate หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาไรโบฟลาวิน ร่วมกับยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide สามารถเพิ่มการขับตัวยาไรโบฟลาวินออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะได้มากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาไรโบฟลาวินอย่างไร?
สามารถเก็บยาไรโบฟลาวิน: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไรโบฟลาวินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไรโบฟลาวิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Biovit B2 (ไบโอวิต บี2) | Union Drug |
G-VITAMIN-B2 (จี-วิตามิน-บี2 ) | Gonoshasthaya Pharmaceuticals Limited (GPL) |
RIBOSEEM (ไรโบซีม) | Ibn Sina Pharmaceutical Ind. Ltd. |
RIBOSINA (ไรโบซินา) | Ibn Sina Pharmaceutical Ind. Ltd |
RIBOSON (ไรโบซอน) | Jayson Pharmaceuticals Ltd. |
RIBOTAB (ไรโบแท็บ) | Ziska Pharmaceuticals Ltd. |
RIBOVIT(ไรโบวิต) | Aexim Pharmaceutical Ltd |
RIVIN (ริวิน) | Supreme Pharmaceuticals Ltd |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Riboflavin [2023,Feb11]
- https://lpi.oregonstate.edu/mic/vitamins/riboflavin [2023,Feb11]
- https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-957/riboflavin [2023,Feb11]
- https://www.drugs.com/monograph/riboflavin.html [2023,Feb11]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Biovit%20B2/ [2023,Feb11]
- https://go.drugbank.com/drugs/DB00140 [2023,Feb11]
- https://www.stlukes-stl.com/health-content/medicine/33/000989.htm [2023,Feb11]
- https://www.rxlist.com/riboflavin/supplements.htm [2023,Feb11]