ไทโมมา(Thymoma) และ มะเร็งต่อมไทมัส(Thymic cancer)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 30 พฤษภาคม 2563
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- ไทโมมา มะเร็งต่อมไทมัส เกิดได้อย่างไร?มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- ไทโมมา มะเร็งต่อมไทมัสมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยไทโมมา มะเร็งต่อมไทมัสได้อย่างไร?
- ไทโมมาแบ่งเป็นกี่ชนิด และมะเร็งต่อมไทมัสมีกี่ระยะโรค?
- ไทโมมาเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้ไหม?
- รักษาไทโมมา มะเร็งต่อมไทมัสอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้างจากการรักษา?
- ไทโมมา มะเร็งต่อมไทมัสรุนแรงไหม? รักษาหายไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นไทโมมา มะเร็งต่อมไทมัส? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- มีวิธีตรวจคัดกรอง หรือ ป้องกันไทโมมา มะเร็งต่อมไทมัสอย่างไร ?
- บรรณานุกรม
- มะเร็ง (Cancer)
- เนื้องอก (Tumor)
- ซาร์โคมา มะเร็งซาร์โคมา (Sarcoma)
- คาร์ซิโนมา มะเร็งคาร์ซิโนมา (Carcinoma)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
- การฉายรังสีรักษา เทคนิคการฉายรังสี (External irradiation)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ก. ไทโมมา(Thymoma):
ไทโมมา หรือ เนื้องอกไทโมมา หรือ เนื้องอกต่อมไทมัส เป็นเนื้องอกของเซลล์ เยื่อบุผิวของต่อมไทมัสที่เกิดขึ้นที่จุดใดของต่อมไทมัสก็ได้ โดยเซลล์โรคนี้ถึงแม้ลักษณะเซลล์จะไม่ใช่เซลล์มะเร็ง แต่เซลล์เหล่านี้จะมีธรรมชาติของโรคเหมือนเซลล์มะเร็ง(Potential invasion)คือมักค่อยๆรุกราน/ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อต่อมไทมัส และเข้าลุกลามทำลายเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่อยู่ติดกับต่อมไทมัส และอาจแพร่กระจายทางกระแสเลือดได้ ซึ่งถ้าแพร่กระจายมักไปสู่ปอด และเยื่อหุ้มปอด ดังนั้นแพทย์ด้านโรคมะเร็งส่วนใหญ่จึงจัดให้’เนื้องอกไทโทมา’ อยู่ในกลุ่ม ‘เนื้องอกมะเร็ง’ จึงส่งผลให้แนวทางการรักษาจะคล้ายกับการรักษาโรคมะเร็ง คือ มีการผ่าตัดเป็นหลัก และอาจร่วมกับรังสีรักษาและ/หรือยาเคมีบำบัดตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
ซึ่งเมื่อเซลล์เนื้องอกไทโมมารุกราน/ลุกลามออกนอกต่อมไทมัส หรือรุกรานเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง กล่าวคือมีธรรมชาติเป็นมะเร็ง จะเรียกว่า ‘ไทโมมาชนิดรุกราน(Invasive thymoma)’ หรือ ‘มะเร็งไทโมมา(Malignant thymoma)’
ไทโมมา (Thymoma) เป็นเนื้องอกชนิดพบบ่อยที่สุดของต่อมไทมัส แต่อย่างไรก็ตามเป็นโรคพบน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเนื้องอกของอวัยวะอื่นๆคือพบได้ประมาณ 0.15 รายต่อประชากร 1แสนคน แต่พบสูงขึ้นในคนเชื้อชาติเอเชียแปซิฟิก คือ ประมาณ 0.49 รายต่อประชากร 1แสนคน ทั้งนี้ ประมาณ 90% ของไทโมมา เกิดที่ต่อมไทมัส แต่บางครั้งอาจเกิดผิดที่ โดยอาจพบเกิดในบริเวณลำคอ หรือในกลางช่องทรวงอก หรือในด้านหลังของช่องทรวงอกได้
ไทโมมา พบได้ทุกอายุ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบบ่อยในช่วงอายุ 40-60 ปี หญิงและชายมีโอกาสพบใกล้เคียงกัน
ข. มะเร็งต่อมไทมัส (Thymic cancer หรือ Thymus cancer):
ส่วนมะเร็งต่อมไทมัส หมายถึง มะเร็งของเซลล์/เนื้อเยื่อชนิดต่างๆของต่อมไทมัสที่มีลักษณะเป็นเซลล์มะเร็งอย่างแท้จริง(Invasive cell) คือเจริญแบ่งตัวรวดเร็ว ร่างกายควบคุมการแบ่งตัวนี้ไม่ได้, เซลล์นี้รุกรานทำลายต่อมไทมัส, เนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง, ลุกลามเข้าระบบน้ำเหลือง, และแพร่กระจายทางกระแสเลือด
มะเร็งต่อมไทมัส พบทั่วโลก แต่พบน้อยมากๆๆ พบน้อยกว่าเนื้องอกไทโมมามาก ในสหรัฐอเมริกามีรายงานพบ1.5รายต่อประชากร 1 ล้านคน พบในทุกวัย แต่มักพบในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ และพบในทุกเพศใกล้เคียงกัน
มะเร็งต่อมไทมัส มีได้ทั้งกลุ่มมะเร็งคาร์ซิโนมา และกลุ่มมะเร็งซาร์โคมา เช่นเดียวกับมะเร็งทุกๆอวัยวะ มะเร็งชนิดต่างๆที่พบบ่อยของต่อมไทมัส ได้แก่
- Thymic carcinoma
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดที่เกิดจากเซลล์ต่อมน้ำเหลืองในต่อมไทมัสเอง ไม่ใช่แพร่กระจายมาจากต่อมน้ำเหลืองต่างๆ(เช่น จากที่ลำคอ)
- เนื้องอกเจิมเซลล์/มะเร็งเจิมเซลล์ที่เกิดจากเซลล์ต่อมไทมัส
- มะเร็งซาร์โคมาต่อมไทมัส
- มะเร็งซาร์โคมาเนื้อเยื่อไขมัน/มะเร็งเซลล์ไขมัน (Liposarcoma) ฯลฯ
ซึ่งมะเร็งต่างๆดังกล่าวเหล่านี้มีธรรมชาติของโรค อาการ การรักษา การพยากรณ์โรค เช่นเดียวกับมะเร็งนั้นๆที่เกิดในอวัยวะอื่นๆ ไม่มีลักษณะเฉพาะของต่อมไทมัส ยกเว้น ‘Thymic carcinoma’ที่มีธรรมชาติของโรคคล้ายกับเนื้องอกไทโมมาแต่รุนแรงกว่า คือมีลักษณะเป็นมะเร็งที่รุนแรง และเป็นมะเร็งต่อมไทมัสชนิดพบบ่อยกว่าชนิดอื่นๆถึงแม้จะพบได้น้อยมาก
ดังนั้น:
- ทั่วไปเมื่อกล่าวถึง ‘มะเร็งต่อมไทมัส’ จะหมายถึง ‘Thymic carcinoma’ ซึ่งรวมถึงในบทความนี้ด้วย ส่วนมะเร็งชนิดอื่นๆ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในแต่ละโรคได้ในบทความโรคนั้นๆในเว็บ haamor.com เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, เนื้องอกเจิมเซลล์
- ปัจจุบัน มักจัด ‘ไทโมมาและThymic carcinoma’ เป็นโรคกลุ่มเดียวกัน เรียกรวมว่า ‘Thymic epithelial tumor’
อนึ่ง: ต่อมไทมัส เป็นอวัยวะในระบบน้ำเหลืองและรวมถึงระบบต่อมไร้ท่อ อยู่ในช่องอกตอนบนโดยอยู่ติดด้านหน้าของหัวใจ ทำงานเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรครวมถึงการสร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
ไทโมมา มะเร็งต่อมไทมัส เกิดได้อย่างไร?มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเนื้องอกไทโมมา หรือ มะเร็งต่อมไทมัส
ไทโมมา มะเร็งต่อมไทมัสมีอาการอย่างไร?
โดยทั่วไปอาการของไทโมมาหรือมะเร็งต่อมไทมัสจะคล้ายกันซึ่งจะวินิจฉัยแยกโรคด้วยอาการไม่ได้ ทั้งนี้ประมาณ 1ใน3 ถึง 1ใน 2 ของผู้ป่วย จะไม่มีอาการ แต่เป็นการตรวจพบโรคโดยบังเอิญจากการตรวจเอกซเรย์ปอดจากการตรวจสุขภาพประจำปี
แต่เมื่อมีอาการ:
- ประมาณ 40% มีอาการจากก้อนเนื้อโตจนกดเบียดทับเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง
- ประมาณ 30% เกิดอาการทั่วไปที่เป็นอาการจากผลข้างเคียงของเนื้องอกนี้ที่ส่งผลให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติที่ต้านเซลล์ปกติของร่างกาย(โรคภูมิต้านตนเอง/ โรคออโตอิมมูน) และ
- ประมาณ 30% เป็นอาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis, ย่อว่า โรคMG)
ทั้งนี้ อาการต่างๆได้แก่
ก. อาการจากก้อนเนื้อโตจนกดเบียดทับเนื้อเยื่อข้างเคียง ซึ่งได้แก่ ปอด หลอดลม หลอดเลือด และหัวใจ โดยอาการอาจเป็น
- ไอเรื้อรังโดยไม่มีการอักเสบ/ไม่มีโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
- แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก
- เสียงแหบโดยไม่มีกล่องเสียงอักเสบ
- เหนื่อยง่าย
- หายใจลำบาก
- อาจมีเหนื่อยหอบร่วมกับ ใบหน้า และแขนโดยเฉพาะแขนขวาบวม จากก้อนเนื้อกดเบียดทับหลอดเลือดดำใหญ่ในช่องทรวงอก (Superior vena cava obstruction, SVC obstruction)
ข. อาการทั่วไป (Systemic disease)จากการมี โรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง ที่เกิดจากเนื้องอก/มะเร็งนี้ กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติที่กลับมาต่อต้านเซลล์ของร่างกายเอง ที่เรียกว่า ‘กลุ่มอาการพารานีโอพลาสติค (Paraneoplastic syndrome)’ เช่น
- โรคซีด
- อาการจากโรคไตบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับโรคออโตอิมมูน หรือ
- อาการจากโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี (Lupus/SLE)
ทั้งนี้ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง ‘โรคออโตอิมมูน’ ในเว็บ haamor.com
ค. อาการจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี ซึ่งเป็นโรคออโตอิมมูนชนิดหนึ่งเช่นกัน อาการเช่น หนังตาตก หรือ กล้ามเนื้อแขน/ขา อ่อนแรงเมื่อใช้งานกล้ามเนื้อเหล่านั้นซ้ำๆ แต่อาการจะะดีขึ้นภายหลังพักการใช้งานกล้ามเนื้อนั้นๆ ซึ่งมีรายงานพบโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจีเกิดร่วมกับไทโมมาได้ประมาณ30-65%ของผู้ป่วยไทโมมา (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง ‘โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี’ ในเว็บ haamor.com)
แพทย์วินิจฉัยไทโมมา มะเร็งต่อมไทมัสได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคไทโมมา มะเร็งต่อมไทมัสได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญคือ ประวัติอาการ
- การตรวจร่างกาย
- เอกซเรย์ปอดและภาพปอดและช่องอก(รวมต่อมไทมัส)
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ ภาพปอด
- การตรวจที่ให้ผลที่แน่นอน คือ ส่องกล้องตรวจในช่องทรวงอกร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ หรือ ผ่าตัดก้อนเนื้อทั้งเพื่อเป็นการรักษาและเพื่อได้ผลชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
ไทโมมาแบ่งเป็นกี่ชนิด และมะเร็งต่อมไทมัสมีกี่ระยะโรค?
ก. ชนิดของไทโมมา: ได้แก่
เนื้องอกไทโมมามีเซลล์ได้หลายชนิด(Type)ตามการจัดชนิดขององค์การอนามัยโลกที่ขึ้นกับชนิดของเซลล์เนื้องอกและการพยากรณ์โรค คือ
- ชนิด เอ (A): ชื่ออื่นได้แก่ Spindle cell thymoma หรือ Medullary thymoma เป็นเนื้องอกที่ประกอบด้วยเซลล์รูปร่างยาว/รูปกระสวย มีการพยากรณ์โรคดีที่สุดในทุกชนิดของไทโมมา อัตรารอดที่15ปีนับจากวินิจฉัยโรคได้ สูง100%
- ชนิดเอบี (AB): ชื่ออื่นคือ Mixed thymoma เป็นชนิดที่เซลล์เนื้องอกจะเหมือนกับชนิด A แต่มีเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดLymphocyteร่วมด้วย เป็นชนิดมีการพยากรณ์โรคที่ดีเช่นกัน อัตรารอดที่ 15 ปีประมาณ90%
- ชนิดบี1(B1): ชื่ออื่น คือ Lymphocyte-rich thymoma หรือ Lymphocytic thymoma, หรือ Predominantly cortical thymoma, หรือ Organoid thymoma เป็นชนิดประกอบด้วยเซลล์Lymphocyte มากขึ้น มากกว่าชนิดAB แต่เซลล์ชนิดอื่นๆของต่อมไทมัสปกติ เป็นชนิดมีการพยากรณ์โรคที่ดีเช่นกัน อัตราอยู่รอดที่ 20 ปีประมาณ90%
- ชนิดบี2 (B2): ชื่ออื่นคือ Cortical thymoma and polygonal cell thymoma เป็นชนิดที่เนื้องอกมีเซลล์Lymphocyteมากเช่นเดียวกับชนิดB1แต่เซลล์อื่นๆทั่วไปของต่อมไทมัสเริ่มมีการเจริญที่ผิดปกติ เป็นชนิดมีการพยากรณ์โรคแย่กว่าชนิดB1 อัตราอยู่รอดที่ 20 ปีประมาณ60%
- ชนิดบี3 (B3): ชื่ออื่นคือ Epithelial thymoma หรือ Atypical thymoma หรือ Squamoid thymoma, หรือ Well-differentiated thymic carcinoma เป็นชนิดที่เนื้องอกมีเซลล์Lymphocyte ลดลงมาก และเซลล์อื่นๆทั่วไปมีการเจริญที่ผิดปกติชัดเจนเหมือนกับเซลล์มะเร็งชนิดที่เซลล์แบ่งตัวน้อย เป็นชนิดมีการพยากรณ์โรคแย่กว่าชนิดB2 อัตราอยู่รอดที่ 20 ปีประมาณ40%
- ชนิด ซี (C): ชื่ออื่นคือ มะเร็งต่อมไทมัส(Thymic carcinoma) ได้แก่ชนิดที่เซลล์ต่อมไทมัสเป็นลักษณะเซลล์มะเร็งอย่างแท้จริง ดังได้กล่าวใน’บทนำ’ อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 0-35%, ที่10ปีประมาณ 0-20%ขึ้นกับการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง โดย
- ถ้าเซลล์มะเร็งยังมีการแบ่งตัวน้อย เรียกว่า Low grade thymic carcinoma ชื่ออื่นคือ Basaloid thymic carcinoma หรือ Mucoepidermoid thymic carcinoma, หรือ Well-differentiated squamous cell carinoma การพยากรณ์โรคเลว แต่ก็ดีกว่ากลุ่มเซลล์มะเร็งแบ่งตัวสูง
- ถ้าเซลล์มะเร็งแบ่งตัวสูง เรียกว่า High grade thymic carcinoma หรือ Anaplastic thymic carcinoma, หรือ Undtfferentiated carcinoma, หรือ Clear cell carcinoma, หรือ Poorly differentiated squamous cell carcinoma, หรือ Sarcomatoid type, หรือ Small cell carcinoma, หรือ Neuroendocrine type ซึ่งเป็นกลุ่มที่การพยากรณ์โรคเลวที่สุด
ข.ระยะโรคของไทโมมา และของมะเร็งต่อมไทมัส: ได้แก่
ไทโมมา มะเร็งต่อมไทมัส แบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ (แต่ละระยะยังแบ่งย่อยได้อีก) ตามความรุนแรงของโรคจากน้อยไปหามาก ซึ่งแบ่งตามการจัดระยะโรคขององค์กรโรคมะเร็งจากสหรัฐอเมริกา(American Joint Committee on Cancer ย่อว่า AJCC) ได้แก่
- ระยะที่1: โรคจำกัดอยู่ที่ต่อมไทมัส ยังไม่ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงต่อมไทมัส ยกเว้นรุกรานเข้าเนื้อเยื่อไขมันที่ล้อมรอบต่อมไทมัส
- ระยะที่2: โรคลุกลามเข้าเยื่อหุ้มหัวใจชั้นนอก ซึ่งโรคระยะนี้ เป็นระยะที่ยังมักผ่าตัดก้อนเนื้อ/ก้อนมะเร็งออกได้หมด
- ระยะที่3: โรคลุกลามมากแล้ว ลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง แบ่งเป็น2ระยะย่อย คือ
- ระยะ3A: โรคลุกลามเนื้อเยื่อปอดและหัวใจที่ติดกับก้อนเนื้อ, หลอดเลือดและ/หรือเส้นประสาทกะบังลม
- ระยะ3B: โรคลุกลามเข้า กล้ามเนื้อหัวใจ หลอดอาหาร ท่อลม หลอดเลือดขนาดใหญ่ในช่องอก
อนึ่ง: โรคระยะที่3ทั้ง2กลุ่ม เป็นระยะที่มัก ‘ผ่าตัดก้อนเนื้อ/ก้อนมะเร็งออกได้ ไม่หมด’ หรือ ‘ผ่าตัดไม่ได้’
- ระยะที่4: ถือเป็นระยะแพร่กระจาย โรคระยะที่4นี้ มักเป็น ‘ระยะผ่าตัดไม่ได้’
แบ่งเป็น2ระยะย่อย คือ
- ระยะ4A: คือ ระยะที่โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ต่อมไทมัส และ/หรือ ลุกลามเข้าเยื่อหุ้มปอดและ/หรือเยื่อหุ้มหัวใจเห็นเป็นก้อนเนื้อขนาดเล็ก
- ระยะ4B: คือ โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองในลำคอ หรือต่อมน้ำเหลืองในช่องอกที่ไกลจากต่อมไทมัส, และ/หรือ แพร่กระจายทางกระแสเลือดไปยังอวัยวะอื่น ที่พบบ่อยคือ เยื่อหุ้มปอด และ เนื้อเยื่อปอด
ไทโมมาเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้ไหม?
โดยตัวเซลล์เนื้องอกไทโมมาเอง ถ้าดูจากกล้องจุลทรรศน์ เซลล์จะไม่ใช่เซลล์มะเร็ง และยังไม่มีรายงานว่าสามารถกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ แต่เซลล์เนื้องอกไทโมมามีธรรมชาติที่ สามารถรุกราน/ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง และแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆได้เช่นเดียวกับเซลล์มะเร็ง เพียงแต่การแพร่กระจายพบได้น้อยกว่า
ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว เนื้องอกไทโมมาจึงมีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำได้ค่อนข้างบ่อยหลังการผ่าตัด และ/หรือ มีการแพร่กระจายทางกระแสเลือดได้ถึงแม้จะพบน้อยก็ตาม แพทย์โรคมะเร็งจึงเชื่อว่า ไทโมมา เป็นมะเร็งตั้งแต่เริ่มเกิดโรคแล้ว
ดังนั้นวิธีรักษาไทโมมาจะเช่นเดียวกับการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งการรักษาต่อเนื่องด้วยการฉายรังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัดจะช่วยลดโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำของโรคให้ต่ำลงได้รวมถึงช่วยเพิ่มอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วย
รักษาไทโมมา มะเร็งต่อมไทมัสอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคไทโมมา มะเร็งต่อมไทมัส คือ
- การผ่าตัดก้อนเนื้อ และ
- อาจฉายรังสีรักษาต่อเนื่องหลังผ่าตัดในโรคตั้งแต่ระยะที่ 2 ขึ้นไป
- ยาเคมีบำบัด: แพทย์มักพิจารณารักษาผู้ป่วยเป็นรายๆไป และโดยเฉพาะในกรณีเนื้องอกนี้มีการรุกรานออกนอกต่อมไทมัสอย่างชัดเจน กล่าวคือ แน่ชัดว่าเป็นมะเร็งต่อมไทมัส หรือ ไทโมมาชนิดเป็นมะเร็ง เพราะเซลล์เนื้องอกไทโมมา ค่อนข้างดื้อต่อยาเคมีบำบัด
- ส่วนการใช้ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา
มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้างจากการรักษา?
ผลข้างเคียงจากการรักษาไทโมมา มะเร็งต่อมไทมัส ขึ้นกับวิธีรักษา และผลข้างเคียงจะมีโอกาสเกิดสูงขึ้นเมื่อ
- ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
- ผู้ป่วยสูบบุหรี่
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- มีโรคเรื้อรังประจำตัว โดยเฉพาะ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคที่ก่อการอักเสบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคภูมิต้านตนเอง และ
- ในผู้สูงอายุ
อนึ่ง ตัวอย่างผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากวิธีรักษาต่างๆ ได้แก่
ก. การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียอวัยวะ ต้องตัดเนื้อเยื่อปอดออก บางครั้งอาจต้องตัดปอดทั้งข้าง แผลผ่าตัดเลือดออก แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการใช้ยาสลบ
ข. รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อ ผิวหนังตรงที่ฉายรังสีรักษาและต่อเนื้อเยื่อเฉพาะส่วนที่ได้รับรังสี ซึ่งคือในบริเวณปอด/ต่อมไทมัส (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง ผลข้างเคียงและการดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีบริเวณปอด)
ค. ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการ คลื่นไส้-อาเจียน ผมร่วง โรคซีด การมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด-รังสีรักษา: การดูแลตนเอง)
ง.ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: เช่น เกิดสิวทั่วตัว, เมื่อเกิดแผล แผลต่างๆจะติดได้ยาก, หรือเมื่อมีโรคระบบทางเดินอาหาร การใช้ยานี้บางชนิดอาจทำให้เกิดลำไส้ทะลุจากแผลที่ลำไส้ติดยาก
ไทโมมา มะเร็งต่อมไทมัสรุนแรงไหม? รักษาหายไหม?
ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของ ไทโมมา มะเร็งต่อมไทมัส ขึ้นกับ ชนิดของเซลล์, ระยะของโรค, การตอบสนองต่อรังสีรักษา และยาเคมีบำบัด, อายุ, และสุขภาพประจำตัวของผู้ป่วย, โดยอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วย เช่น
ก. ในผู้ป่วยไทโมมา: อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ
- ระยะที่1: ประมาณ 75-80%
- ระยะที่2: ประมาณ 70-75%
- ระยะที่3: ประมาณ 40-60%
- ระยะที่4: ประมาณ 0-20% และมักอยู่ไม่ถึง 10 ปี
ข. ผู้ป่วยกลุ่มมะเร็งต่อมไทมัส: อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ
- ระยะที่1,2: ประมาณ 60-75 %
- ระยะที่3: ประมาณ 25-30%
- ระยะที่4: ประมาณ 0-20%
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นไทโมมา มะเร็งต่อมไทมัส? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็น ไทโมมา มะเร็งต่อมไทมัส คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด
- รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- มีอาการผิดไปจากเดิม เช่น บวมตามแขนขา โดยเฉพาะใบหน้า
- อาการต่างเลวลง เช่น เหนื่อยหอบมากขึ้น เสียงแหบมากขึ้น
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง นอนไม่หลับต่อเนื่อง วิงเวียนศีรษะมาก
- กังวลในอาการ
นอกจากนี้ การดูแลตนเอง หรือการดูแลผู้ป่วยไทโมมา หรือมะเร็งต่อมไทนมัสจะคล้ายกับการดูแลในผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด ปรับใช้ด้วยกันได้ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม จาก2บทความในเว็บhaamor.com ได้แก่ บทความเรื่อง
- เรื่องการดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และ
- เรื่อง การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
มีวิธีตรวจคัดกรอง หรือ ป้องกันไทโมมา มะเร็งต่อมไทมัสอย่างไร ?
เนื่องจากทั้ง ไทโมมา และ มะเร็งต่อมไทมัส เป็นโรคยังไม่ทราบสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง จึงยังไม่มีทั้งวิธีตรวจคัดกรองและวิธีป้องกัน
แต่ดังกล่าวแล้วว่า การตรวจสุขภาพประจำปีร่วมกับการเอกซเรย์ปอด อาจช่วยให้พบโรคนี้ได้อย่างน้อยหนึ่งในสามของผู้ป่วยในขณะยังไม่มีอาการ ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปีโดยมีการเอกซเรย์ปอดร่วมด้วย จึงอาจช่วยให้พบโรคได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การรักษาได้ผลดีกว่าเมื่อพบโรคเมื่อมีอาการ
บรรณานุกรม
- AJCC cancer staging manual, 8th edition
- DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
- Engels, E. (2010). Epidemiology of thymoma and associated malignancies. Journal of Thoracic Oncology.5,s260-s265.
- Froudarakis, M. et al.(2001). Invasive thymoma: a clinical study of 23cases. Respiration. 68, 376-381.
- Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia.
- https://emedicine.medscape.com/article/193809-overview#showall [2020,May23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Thymus [2020,May23]
- https://www.cancer.org/cancer/thymus-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2020,May23]
- https://www.cancer.org/cancer/thymus-cancer/about/what-is-thymus-cancer.html [2020,May23]
- https://www.cancer.net/cancer-types/thymoma-and-thymic-carcinoma/stages-and-classification [2020,May23]