การฉายรังสีรักษา เทคนิคการฉายรังสี (External irradiation)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

การฉายรังสี หรือ การฉายรังสีรักษา หรือที่คนทั่วไปเรียก ฉายแสง, การฉายแสง, ฉายรังสี หรือ รังสีรักษา คือ การฉายรังสีภายนอกเพื่อรักษาโรคต่างๆ โดย เฉพาะโรคมะเร็ง ซึ่งต้นกำเนิดรังสีที่นำมาใช้รักษาโรค/นำมาฉายรังสีนี้ อยู่นอกร่างกายผู้ป่วย การฉายรังสี มีชื่อภาษาอังกฤษได้หลายชื่อ คือ External radiation หรือ External irradiation ย่อว่า XRT, หรือExternal beam radiation, Teletherapy, Radiotherapy หรือ Radiation therapy ย่อว่า RT ทั้งนี้ รังสีที่นำมาใช้ จะอยู่ในกลุ่ม “รังสีไอออนไนซ์ (Ionising radiation หรือ Ionizing radiation)” ที่มีได้หลายชนิดย่อย เช่น รังสีแกมมา(Gamma ray) รังสีอีเล็กตรอน (Electron beam) รังสีโปรตอน(Proton) รังสีโฟตอนพลังงานสูง(High energy photon) รังสีเอกซ์(X-Ray)พลังงานขนาดต่างๆ เป็นต้น รังสีกลุ่มนี้ ทางการแพทย์ นำมารักษาโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง ซึ่งรังสีรักษาจะใช้รักษาโรคมะเร็งเป็นส่วนใหญ่ ส่วนโรคอื่นที่ไม่ใช่มะเร็ง( Radiotherapy in benign disease) มีการใช้น้อยกว่ามาก เช่น เนื้องอก โรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็ม การฉายรังสีเพื่อลดการทำงานของรังไข่ในโรคมะเร็งเต้านม โรคตาโปนในต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ต้อลม แผลเป็นนูน ภาวะผู้ชายมีเต้านม เป็นต้น

เทคนิคการฉายรังสี:

การฉายรังสีรักษา_เทคนิคการฉายรังสี

เทคนิคการฉายรังสี แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ การฉายรังสีเทคนิคทั่วไป/เทคนิคธรรมดา และเทคนิคฉายรังสีแบบก้าวหน้า

การฉายรังสีเทคนิคธรรมดา หรือการฉายรังสีเทคนิค 2มิติ (2 Dimensional radiation therapy หรือ 2DT radiation หรือ 2D irradiation หรือ Conventional radiation หรือ Conventional technique):

เทคนิคการฉายรังสีตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั่วไปจะเป็นการฉายรังสีวันละ 1 ครั้ง(แต่ละครั้งเรียกว่า Fraction ย่อว่า F) ฉายฯติดต่อกัน 5 วันใน 1 สัปดาห์ หยุดพัก 2 วัน แล้วจึงตั้งต้นฉายรอบใหม่

ปริมาณรังสีในแต่ละวัน(Tumor dose ย่อว่า T.D. หรือ Dose/Fraction ย่อว่า D/F)จะประมาณ ไม่เกิน 300 เซนติเกรย์(Centigray ย่อว่า cGy, หน่วยขนาดความแรง/Dose ทางรังสี) หรือคือ 3 เกรย์(Gray ย่อว่า Gy, 1Gy=100cGy)

ซึ่งการฉายฯเทคนิคนี้ จะใช้เทคนิค 2 มิติ(2-D หรือ 2 dimension) หรือเทคนิครังสีก้าวหน้าก็ได้ ซึ่งจะทะยอยฉายให้ได้รังสีสะสมไปเรื่อยๆ จนได้ปริมาณรังสีทั้งหมด/รังสีสะสมที่จะใช้รักษาควบคุมโรค/ควบคุมอาการผู้ป่วยได้ ซึ่งทั่วไป ถ้าเป็นการรักษาเพื่อการหายขาด รังสีสะสม หรือปริมาณรังสีรวมทั้งหมด(Total tumor dose ย่อว่า T.T.D) จะประมาณ 5,000-7,000 cGY แต่ถ้าเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ จะประมาณ 2,000-3,000 cGy

ซึ่งเรียกเทคนิคการฉายรังสีแบบนี้ที่กล่าวมาทั้งหมด เรียกว่า “Conventional technique” และเรียกปริมาณรังสีในกรณีนี้ว่า “Conventional dose”

Fractionation:

การฉายรังสีจะโดยทยอยฉายหลายๆครั้งจนครบปริมาณรังสีที่แพทย์ต้องการ แพทย์จะเรียกแต่ละครั้งของการฉายรังสีว่า Fraction หรือ Fractionation ย่อว่า F โดย

  • ถ้าแต่ละครั้ง(F) ไม่เกิน 300 cGy และฉาย 5 วัน/5F ติดต่อกัน พักฉาย 2 วัน จะเรียกว่า “Conventional fractionation”
  • ถ้าฉายรังสีสัปดาห์ละมากกว่า 5 ครั้ง หรือวันละมากกว่า 1 ครั้ง เรียกว่า “Superfractionation หรือ Superfraction หรือ Hyper fractionation หรือ Hyperfraction”
  • แต่ถ้าฉายสัปดาห์ละน้อยกว่า 5 วัน จะเรียกว่า Hypofractionation หรือ Hypofraction

Conventional radiation:

Conventional radiation หรือ Conventional technique หรือเทคนิค 2D จะมีข้อเสียที่อวัยวะข้างเคียงที่ติดกับรอยโรคจะได้รับปริมาณรังสีค่อนข้างใกล้เคียงกับรอยโรคซึ่งส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากรังสีได้สูง ส่วน Conventional dose ก็จะทำให้เสียเวลาในการรักษายาวนาน เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การเรียน เป็นต้น

Conventional radiation/2D radiation แบ่งย่อยเป็นหลายแบบ ได้แก่

  • Conventional radiation ที่ใช้รังสี Ionizing radiationชนิดรังสีเอกซ์(X-ray) ที่มีพลังงานต่ำกว่า 200 KV(Kilovolt) เรียกว่า “Superficial radiation หรือ Superficial irradiation ย่อว่า SXT” ซึ่งจะใช้รักษารอยโรคที่ผิวหนัง เช่น แผลเป็นนูน
  • Conventional radiation ที่ใช้รังสีเอกซ์พลังงานสูงปานกลาง ประมาณ 200-500 KV เรียกว่า “Deep x-ray ย่อว่า DXT หรือ Orthovotage radiation หรือ Orthovoltage irradiation” ใช้รักษารอยโรคที่อยู่ตื่นๆ เช่น รอยโรคในเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนังกำพร้า เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน ของ แขน หรือของขา
  • Conventional radiation ที่ใช้รังสี Ionizing radiation ชนิดรังสีอีเล็กตรอน เรียกว่า “Electron radiation หรือ Electron irradiation หรือ Electron therapy หรือ Electron beam therapy(ย่อว่า EBT) หรือ Electron beam radiation” ใช้รักษาโรคที่เกิดบริเวณผิวหนังส่วนตื้นๆ เช่น ในการป้องกันโรคมะเร็งเต้านมย้อนกลับเป็นซ้ำที่ผิวหนัง
  • Conventional radiation ที่ฉายรังสีจากเครื่องฉายรังสีชนิดแร่รังสีโคบอลท์(รังสีแกมมา) เรียกว่า “Cobalt teletherapy หรือ Cobalt 60 teletherapy ย่อว่า Co-60 teletherapy” ใช้รักษาโรคได้เกือบทุกชนิดโรค
  • Conventional radiation ที่ฉายรังสีจากเครื่องฉายรังสีเอกซ์พลังงานสูง/รังสีโฟตอนพลังงานสูง(High energy photonที่มีพลังงานสูงมากกว่า 1 MeV/Million electron volt)ขึ้นไป เรียกว่า “Linear accelerator หรือ Linac 2D therapy หรือ Linear 2D therapy” ใช้รักษาโรคได้เกือบทุกชนิดโรคเช่นเดียวกับ Co-60 teletherapy
  • Conventional radiation ที่ใช้รังสีไออนไนซ์ชนิดโปรตอน(Proton) เรียกว่า “Conventional proton therapy หรือ Conventional proton beam therapy” มักใช้รักษาโรคที่เกิดในอวัยวะที่อยู่ลึกมากๆ เช่น รอยโรคเกิดที่กลางสมองส่วนลึก หรือในลูกตา โดยเฉพาะโรคที่เกิดในเด็ก ซึ่งปัจจุบัน รังสีชนิดนี้ยังไม่มีในประเทศไทย

การฉายรังสีเทคนิคก้าวหน้า(Advanced radiotherapy):

ปัจจุบัน ในโรคต่างๆที่ต้องใช้ปริมาณรังสีสูงเพื่อให้การควบคุมโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงเพื่อลดปริมาณรังสีต่ออวัยวะใกล้เคียงรอยโรคเพื่อลดผลข้างเคียงจากรังสีต่ออวัยวะเหล่านั้น โดยเฉพาะอวัยวะเหล่านั้นล้อมรอบด้วยอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง ตับอ่อน จึงมีการฉายรังสีด้วยเทคนิคที่เรียกว่า “เทคนิคก้าวหน้า(Advanced radiotherapy)”ที่วางแผนรักษาโดยใช้หลักฟิสิกส์การแพทย์ที่ก้าวหน้าด้วยคอมพิวเตอร์เทคนิคซับซ้อน รวมถึงเครื่องฉายรังสีที่เป็นเครื่องที่ก้าวหน้าเพื่อควบคุมการฉายด้วยคอมพิวเตอร์เทคนิคซับซ้อน ที่จะช่วยทำให้รังสี/ลำรังสี จำกัดอยู่เฉพาะรอยโรคและทำให้อวัยวะข้างเคียงได้รับรังสีน้อยลงมาก จนลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากรังสีลงได้เป็นอย่างมาก

นอกจากนั้น เทคนิคการฉายฯก้าวหน้า บางกรณีก็สามารถให้รังสีได้ในปริมาณสูงต่อครั้ง(ต่อ 1F) อาจสูง ได้ถึง 600-800cGy/ครั้ง หรือบางโรคอาจฉายปริมาณรังสีสูงมาก 800-2,500cGyเพียงครั้งเดียว ทั้งนี้ขึ้นกับ ชนิดโรค ขนาดรอยโรค อวัยวะ/ตำแหน่งที่เกิดโรค และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา การฉายรังสีเทคนิคก้าวหน้านี้ มีชื่อเรียกหลากหลาย โดยอาจเรียกตามปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับในแต่ละครั้ง(Dose/Fraction), ชนิดของเครื่องฉายรังสีรุ่นใหม่ๆ, ลักษณะของการหมุนของหัวเครื่องฉายรังสีหรือทางเข้าของลำรังสีจากหัวเครื่องฉายฯเข้าสู่ ก้อนมะเร็ง/รอยโรค/ตัวผู้ป่วย, การเคลื่อนไหวของการหายใจของผู้ป่วยขณะกำลังได้รับรังสี, เทคนิคการวางแผนการรักษาทางด้านฟิสิกส์การแพทย์ เป็นต้น ซึ่งเทคนิคเหล่านี้ มีใช้ในประเทศไทยเกือบทุกเทคนิค

การฉายรังสีเทคนิคก้าวหน้าเหล่านี้ เป็นเทคนิคที่ยุ่งยากซับซ้อน ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจรอยโรคด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ ที่เป็น เทนิคการตรวจเฉพาะทางรังสีรักษาเพื่อการวางแผนรักษาด้วยรังสีก้าวหน้า ไม่ใช่ใช้เพื่อการวินิจฉัยโรคทางรังสีวินิจฉัย และอาจต้องทำการตรวจซ้ำหลายครั้งในระหว่างการรักษา หรือในขณะที่กำลังฉายรังสีอยู่ การวางแผนหาทางเข้าของลำรังสีเข้าสู่รอยโรคที่ซับซ้อนนี้ ใช้คอมพิวเตอร์เทคนิคสูงซับซ้อนในการวางแผน ซึ่งการวางแผนการรักษามักใช้เวลาหลายวัน

นอกจากนั้น ขณะได้รับการฉายรังสีเทคนิคก้าวหน้า ผู้ป่วยจะต้องอยู่ในท่าทางที่กำหนด เคลื่อนไหวได้น้อย หรือไม่ได้เลย จึงต้องมีเครื่องมือช่วยยึดจับตัวผู้ป่วย หรือบางเทคนิคต้องมีการฝึกการหายใจให้สอดคล้องกับช่วงเวลาฉายรังสีฯ

เทคนิคก้าวหน้าต่างๆที่ใช้ในปัจจุบัน แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 2 กลุ่มคือ “การฉายรังสีเทคนิค 3 มิติ หรือ 3 dimensional irradiation หรือ 3D irradiation” และ”การฉายรังสีเทคนิค 4 มิติ หรือ 4 dimensional irradiation หรือ 4D irradiation”

ก. การฉายรังสี3มิติ คือ การวางแผนการรักษา และลำรังสีที่ฉายเข้าสู่รอยโรคจะ เข้าในทุกทิศทางรอบตัวผู้ป่วย(Rotational technique) เช่น ลำรังสีมากกว่า 3 ทิศทางขึ้นไป, ลำรังสีเคลื่อนที่ วนครบรอบตัวผู้ป่วย, หรือ ลำรังสีเคลื่อนที่เป็นมุมโค้งรอบรอยโรค(Arc therapy) เป็นต้น

ข. การฉายรังสี4มิติ คือ เทคนิคการฉายรังสีที่ การฉายรังสีจะเป็นไปตามการเคลื่อนไหวของรอยโรคตามธรรมชาติของอวัยวะที่เกิดรอยโรคนั้นๆเพื่อให้การฉายรังสีมีความแม่นยำมากที่สุด ทั้งนี้เพราะอวัยวะต่างๆในร่างกายมักเคลื่อนที่อยู่เสมอ เช่น ตามการหายใจ ดังนั้น การฉายรังสีเทคนิคนี้ ในขณะฉายรังสีจึงต้องมีการตรวจจับภาพการเคลื่อนไหวของรอยโรค หรือต้องมีการกำหนดลมหายใจเข้า ออก หรือกลั้นหายใจ ของผู้ป่วยร่วมด้วย

เทคนิคย่อยของการฉายรังสีแบบเก้าหน้า:

1. Conformal radiation therapy ย่อว่า C-RT: เป็นการฉายรังสีจากเครื่อง Linac แต่เป็นเครื่องที่มีเทคนิคการฉายที่จะทำให้ปริมาณรังสีครอบคลุ่มตามรูปลักษณะของรอยโรค โดย

  • กรณีถ้าปริมาณรังสีกระจายครอบคลุมในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในทุกจุดของรอยโรคจะเรียกว่า “3D-Conformal RT หรือ 3D-CRT”
  • แต่ถ้าเป็นเทคนิคที่ทำให้การกระจายรังสีในแต่ละจุดของรอยโรคไม่เท่ากันรวมถึงที่จะทำให้ลดปริมาณรังสีที่อวัยวะข้างเคียงลงได้มากกว่าเทคนิค 3D-CRT โดยให้เป็นไปตามการวางแผนการรักษา/ความต้องการของแพทย์ จะเรียกว่า “Intensity-modulated radiation therapy ย่อว่า IMRT”

2. Stereotactic radiosurgery หรือ Radiosurgery ย่อว่า SR: คือ การฉายรังสีจากเครื่องLinac ที่ลำรังสี/ทางเข้าของลำรังสีสู่รอยโรค จะกระจายรอบรอยโรคทุกทิศทางในลักษณะที่เรียกว่า Stereo ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณรังสีกระจายจำกัดอยู่เฉพาะตัวรอยโรคเท่านั้น ดังนั้น

  • กรณีฉายรังสีได้ปริมาณรังสีสูงมากตั้ง 500-2,000 Cgy/F หรือมากกว่า ขึ้นกับคุณสมบัติของเครื่องฉายรังสี การฉายรังสีเทคนิคนี้ มักฉายเพียงครั้งเดียวก็ควบคุมโรคได้เหมือนทำการผ่าตัด จึงได้ชื่อว่า เป็น “รังสีศัลยกรรม หรือ SR” จะใช้ในการรักษาโรคของอวัยวะที่ไม่มีการเคลื่อนที่ คือสมอง และรอยโรคต้องมีขนาดเล็ก ทั่วไปขนาดจะน้อยกว่า 5 เซนติเมตร(ซม.)ลงมา ส่วนใหญ่รอยโรคที่รักษาด้วยเทคนิคนี้มักมีขนาดประมาณ 3 ซม.
  • แต่ก็สามารถปรับใช้กับอวัยวะที่เคลื่อนที่ได้เองตามธรรมชาติ หรือ ที่มีรอยโรคที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยการลดปริมาณรังสีต่อครั้ง(D/F)ลง เช่น 400-800cGy เป็นต้น แต่เพิ่มเป็นการฉายหลายครั้ง เช่น 3-5 ครั้ง เรียกเทคนิคการฉายรังสีแบบนี้ว่า “Stereotactic radiotherapy ย่อว่า SRT หรืออีกชื่อคือ Fractionated radiotherapy ย่อว่า FSRT”
  • ซึ่งเมื่อเป็นการฉายฯที่อวัยวะของลำตัว(Body) เช่น ปอด ต่อมลูกหมาก ตับอ่อน จะเรียกว่า “Stereotactic body irradiation ย่อว่า SBRT”

อนึ่ง ถ้าการฉายรังสี SR ที่ใช้รังสีจากเครื่องฉายโคบอลท์ จะเรียกว่า “Gamma knife” ซึ่งเดิมมีใช้ในประเทศไทย แต่ปัจจุบันยกเลิกการใช้ไปแล้ว

3. Image guided radiation therapy(IGRT) หรือ Conformal 4 D radiation therapy (4D-CRT): คือการฉายรังสีที่ใช้เทคนิคในขณะฉายรังสีจะมีการถ่ายภาพรอยโรคร่วมไปด้วย หรือวางแผนการรักษาทางฟิสิกการแพทย์โดยการถ่ายภาพรอยโรคเป็นระยะๆตลอดเวลาของการได้รับการฉายรังสี ซึ่งรอยโรคที่จะได้ประโยชน์จากการรักษาด้วยวิธีนี้คือ รอยโรคที่เกิดในอวัยวะที่เคลื่อนที่ได้ เช่น ปอดที่เคลื่อนที่ได้จากการหายใจ เป็นต้น

ซึ่งถ้าใช้เทคนิคการถ่ายภาพรอยโรคด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ให้ลำรังสีแบบรูปกรวย(Cone)ที่จะช่วยให้กำหนดภาพรอยโรคชัดเจนขึ้น จะเรียกว่า “Cone beam-CT guided radiation therapy”

4. Tomotherapy หรือ Helical tomotherapy ย่อว่า HT: จัดเป็นเทคนิคฉายรังสี 4D ที่อยู่ในกลุ่มของ IGRT โดยพัฒนามาจากการฉายเทคนิค IMRT แต่ขณะฉายรังสีจะใช้เทคนิคการถ่ายภาพรอยโรคด้วยเทคนิคเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(Computed tomography /CT)เข้ามาใช้ร่วมด้วย เพื่อให้ได้รังสีครอบคลุมเฉพาะรอยโรคมากที่สุดและอวัยวะปกติข้างเคียงรอยโรคได้รับรังสีน้อยที่สุด

5. Respiration Gated Radiation Therapy: คือเทคนิคการฉายรังสี 4D ที่ลำรังสีที่ฉายผ่านรอยโรคจะเป็นไปตามการเคลื่อนไหวของการหายใจ ซึ่งจะช่วยให้รอยโรคได้รับรังสีมากที่สุดขณะที่เนื้อเยื่อปอดปกติรอบๆรอยโรคจะได้รับรังสีน้อยที่สุด วิธีนี้จึงลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงของรังสีต่อปอดลงได้มากจนทำให้สามารถใช้ปริมาณรังสีที่สูงที่จะควบคุมมะเร็งปอดได้ดีมากใกล้เคียงกับการผ่าตัด

6. Rapid arc radiation therapy: เป็นการฉายรังสีที่เป็นการพัฒนามาจาก IMRT เป็นได้ทั้ง 3D และ4D RT ซึ่งลำรังสีจะเข้าสู่รอยโรคโดยเครื่องฉายรังสีจะหมุนรอบรอยโรค/รอบผู้ป่วยเป็นรูปโค้ง(Arc)ที่มีการหมุนของตัวเครื่องที่รวดเร็วที่ช่วยให้ใช้เวลาการฉายรังสีน้อยลงกว่า IMRT มาก รวมถึงความแม่นยำในการได้รับรังสีเฉพาะรอยโรคก็สูงขึ้น เทคนิคนี้เรียกได้อีกชื่อว่า “Volumetric Arc Therapy ย่อว่า VMAT”

การฉายรังสีก้าวหน้าเทคนิคอื่นๆ

นอกจากดังได้กล่าวแล้ว ยังมีเทคนิคที่จัดว่ายุ่งยากซับซ้อนที่ต้องใช้นักฟิสิกส์การแพทย์ที่ชำนาญการ และมักให้การรักษาได้เฉพาะในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ที่มีแผนกรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา เทคนิคเหล่านี้ใช้รักษาโรคเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น เช่น

1. Total body irradiation ย่อว่า TBI อีกชื่อคือ Whole body irradiation ย่อว่า WBI: คือการฉายรังสีที่ครอบคลุมทุกเนื้อเยื่อ/อวัยวะทั่วทั้งตัวผู้ป่วย(เส้นผมจนจรดปลายเท้า) อาจจะฉายวันละ 1-3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 6-8 ชั่วโมง แต่มักฉายประมาณ 3-4 วัน ซึ่งจะเป็นการฉายโดยใช้กลุ่มรังสีเอกซ์จากเครื่องฉายรังสีที่เป็น 2D ได้แก่ Linac หรือ CO-60 teletherapy การรักษานี้ใช้ในการปลูกถ่ายไขกระดูก ทั่วไปมักเป็นในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

2. Total skin electron irradiation หรือ Total skin electron beam therapy ย่อว่า TSEBT หรือ Total body electron beam therapy: เป็นการฉายรังสีชนิดไอออนไนซ์ชนิด Electron ครอบคลุมเฉพาะผิวหนังทั่วทั้งตัว ซึ่งใช้รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองของผิวหนังที่มีธรรมชาติของโรคลุกลามแพร่กระจายเฉพาะผิวหนังทั่วทั้งตัวผู้ป่วย

3. การฉายรังสีขณะผ่าตัด(Intraopreative radiation therapy ย่อว่า IORT)” คือการฉายรังสีชนิด Deep x-ray หรือชนิด High energy photon หรือชนิด Electron: โดยจะเป็นการฉายรังสีในขณะทำการผ่าตัด ทั้งนี้เพื่อฉายรอยโรคที่จะเห็นได้ชัดเจนในขณะผ่าตัด และแพทย์สามารถป้องกันอวัยวะปกติข้างเคียงออกไปจากรังสีได้ในขณะผ่าตัด มักใช้รักษาอวัยวะในช่องท้องที่ล้อมรอบด้วยลำไส้เล็ก เช่น ตับอ่อน หรือลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ปัจจุบันมีใช้น้อย และเลิกใช้แล้วในประเทศไทย ด้วยแพทย์หันมาใช้แทนด้วยการฉายรังสีเทคนิค 3D หรือ 4Dที่ง่ายและสะดวกกว่า

4. การฉายรังสีโปรตอน(Proton therapy หรือ Proton beam therapy): เป็นรังสีกลุ่ม Ionizing radiation ที่มีคุณสมบัติพิเศษที่ลำรังสีจะครอบคลุมเฉพาะรอยโรคในขณะที่อวัยวะใกล้เคียงจะได้รับปริมาณรังสีน้อยมาก รังสีชนิดนี้สามารถนำมาใช้ได้ทั้งการฉายในลักษณะ 2มิติ, 3มิติ, หรือ 4 มิติ ขึ้นกับคุณสมบัติของเครื่องฉาย/เครื่องให้กำเนิดรังสี และใช้รักษารอยโรคได้ในทุกตำแหน่งของทุกอวัยวะ รังสีชนิดนี้ ขณะนี้(พ.ศ. 2560) ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย

สรุป

จะเห็นได้ว่า เทคนิคการฉายรังสีรักษามีได้มากมาย รังสีรักษาแพทย์จะเป็นผู้แนะนำว่า ผู้ป่วยคนใดเหมาะสมกับการรักษาเทคนิคใด โดยพิจารณาจาก ชนิดมะเร็ง ระยะโรคมะเร็ง ตำแหน่งอวัยวะที่เป็นมะเร็ง ขนาดของก้อนมะเร็ง และค่าใช้จ่ายในการรักษาของแต่ละเทคนิค แต่อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ ทุกเทคนิคการฉายที่แพทย์เลือกใช้ตามข้อบ่งชี้ทางหลักวิชาการ ในประเทศไทย จะครอบคลุมอยู่ในทุกสิทธิทางการรักษา เช่น บัตรทอง ประกันสังคม หรือ ราชการ

บรรณานุกรม

  1. https://www.texasoncology.com/cancer-treatment/radiation-therapy/techniques-for-delivering-radiation-therapy [2018,Sept8]
  2. https://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/types/radiation-therapy/radiation-fact-sheet [2018,Sept8]
  3. http://cancer.dartmouth.edu/radiation-oncology/radonc-teletherapy.html [2018,Sept8]
  4. http://www.radiationoncology.com.au/resourcing-the-radiation-oncology-sector/essential-radiotherapy-techniques-superficial-and-orthovoltage/ [2018,Sept8]
  5. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15446794 [2018,Sept8]