ซาร์โคมา มะเร็งซาร์โคมา (Sarcoma)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 26 กุมภาพันธ์ 2560
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- มะเร็งซาร์โคมาเกิดได้อย่างไร? อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง?
- มะเร็งซาร์โคมามีกี่ชนิด? ที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง?
- มะเร็งซาร์โคมามีอาการอย่างไร?
- มะเร็งซาร์โคมามีกี่ระยะ?
- มะเร็งซาร์โคมารุนแรงไหม?
- แพทย์วินิจฉัยมะเร็งซาร์โคมาอย่างไร?
- รักษามะเร็งซาร์โคมาอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากการรักษาอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งซาร์โคมาไหม?
- ป้องกันมะเร็งซาร์โคมาอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- มะเร็ง (Cancer)
- เนื้องอก (Tumor)
- คาร์ซิโนมา มะเร็งคาร์ซิโนมา (Carcinoma)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด (Coping with chemotherapy)
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer patient self-care and Cancer care)
บทนำ
มะเร็งซาร์โคมา หรือโรคมะเร็งซาร์โคมา (Sarcoma) คือ โรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ชนิดที่เรียกว่า Mesenchymal cell ซึ่งเป็นเซลล์ตัวอ่อนที่จะเจริญเติบโตเป็นเนื้อเยื่อหลายชนิด โดย เฉพาะเนื้อเยื่อเกี่ยวพันและเนื้อเยื่อในระบบโลหิตวิทยาเช่น กล้ามเนื้อ ไขมัน กระดูก เส้นประ สาท ระบบน้ำเหลือง หลอดเลือดต่างๆ ไขกระดูก และพังผืด
มะเร็งซาร์โคมาทั้งหมดยกเว้น มะเร็งกระดูก มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งอื่นๆในระบบโลหิตวิทยา มักเรียกรวมกันว่า มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน (Soft tissue sarco ma) หรือ มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue sarcoma)
มะเร็งซาร์โคมาเป็นโรคพบได้เรื่อยๆ ไม่บ่อยนัก ประมาณ 1-5% ของโรคมะเร็งทั้งหมดทั่วร่างกาย แต่เกิดได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้ชายพบบ่อยกว่าผู้หญิงเล็กน้อย ประมาณ 1.1-1.2:1 ทั้งนี้ พบมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนในอายุน้อยกว่า 40 ปี ได้ประมาณ 20 % ของมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนทั้งหมด ประมาณ 30% ในช่วงอายุ 40-60 ปี และประมาณ 50% ในอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และในมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนมีการศึกษาในสหรัฐอเมริกา พบโรคได้สูงในคนผิวขาวประมาณ 85% ของผู้ป่วย คนผิวดำประมาณ 10% คนเอเชียประมาณ 1% และคนเชื้อชาติอื่นๆประมาณ 3-5%
ในประเทศไทย รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ปีพ.ศ. 2556 ศึกษาผู้ป่วยมะเร็งช่วง พ.ศ. 2550-2552 พบมะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในผู้หญิง 1.2 รายต่อประชากรหญิง 1 แสนคน และพบในผู้ชาย1.0รายต่อประชากรชาย 1 แสนคนเช่นกัน
มะเร็งซาร์โคมาเกิดได้อย่างไร? อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง?
ปัจจุบัน สาเหตุแท้จริงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งซาร์โคมา ยังไม่ทราบ แต่พบมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
- พันธุกรรมทั้งชนิดถ่ายทอดได้ (พบโรคได้สูงขึ้นในครอบครัวที่มีคนป่วยด้วยโรค มะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งซาร์โคมา) และพันธุกรรมชนิดไม่ถ่ายทอด ซึ่งเกิดเฉพาะ ตัวบุคคล ทั้งนี้ในโรคมะเร็งในเด็ก ประมาณ 90% พบเป็นมะเร็งซาร์โคมา เพราะในเด็กโรคมะเร็งทุกชนิดมักเกิดจากมีพันธุกรรมที่ผิดปกติ เพราะเด็กยังมีอายุไม่นานพอ ที่ปัจจัยเสี่ยงจะเกิดจาก อาหาร มลภาวะ สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ รวมทั้งการติดเชื้อต่างๆด้วย
- การได้รับสารเคมีทางอุตสาหกรรมบางชนิดต่อเนื่อง เช่น สาร Phenoxy acetic acids สาร Chlorophenols สารหนู และสาร Vinyl chloride
- รังสีต่างๆ เช่น รังสีที่ใช้ตรวจและรักษาโรค
- ยาเคมีบำบัดบางชนิดที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง
- การบวมเรื้อรังจากการคั่งของน้ำเหลือง (ระบบน้ำเหลือง) เช่น แขน ขาบวมจากโรคเท้าช้าง เป็นต้น
- มีการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ เช่น จากการมีสิ่งแปลกปลอมในร่าง กาย เช่น กระสุนปืน เป็นต้น
- การติดเชื้อเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมาในโรคเอดส์
มะเร็งซาร์โคมามีกี่ชนิด? ที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง?
มะเร็งซาร์โคมา เกิดขึ้นได้กับเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆทุกชนิดทั่วร่างกาย และมีได้หลาก หลายชนิด ชนิดที่พบได้บ่อย คือ
- มะเร็งซาร์โคมาของกล้ามเนื้อ แขน ขา และลำตัว เช่น Rhabdomyosarcoma
- มะเร็งซาร์โคมาของกล้ามเนื้อของอวัยวะภายในร่างกาย เช่น ของมดลูก – ของกระเพาะอาหาร และของลำไส้ เช่น Leiomyosarcoma, หรือ Gastrointestnal stromal tumor เรียกย่อว่า GIST (จีส)
- มะเร็งซาร์โคมาของเนื้อเยื่อพังผืด เช่น Fibrosarcoma
- มะเร็งซาร์โคมาของเส้นประสาท เช่น Malignant schwannoma หรือ Neurofi brosacoma
- มะเร็งซาร์โคมาของเต้านม เช่น Cystosarcoma phyllodes
- มะเร็งของเนื้อเยื่อบุภายในข้อ คือ Synovial sarcoma
- มะเร็งของหลอดน้ำเหลือง เช่น Lymphangiosarcoma
- มะเร็งซาร์โคมาของผิวหนัง เช่น Dermatofibrosarcoma protuberans
- มะเร็งซาร์โคมาของหลอดเลือด เช่น Hemangiosarcoma Hemangiopericyto ma มะเร็งคาโปซิซาร์โคมาที่เกิดจากไวรัสเอชไอวี/โรคเอดส์
- มะเร็งซาร์โคมาของเนื้อเยื่อไขมัน (Liposarcoma)
- มะเร็งกระดูกอ่อน (Chondrosacoma)
- มะเร็งซาร์โคมาของเซลล์ผนังหลอดเลือดแดง (Angiosarcoma)
- อื่นๆ ที่ไม่สามารถแยกได้ชัดเจนว่ามีต้นกำเนิดจากเซลล์อะไร เช่น Pleomorphic undifferentiated sarcoma (ชื่อเดิม คือ Malignant fibrous histiocytoma) เป็นต้น
อนึ่ง มะเร็งของไขกระดูก เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือ มะเร็งกระดูก ก็จัดอยู่ในกลุ่มมะเร็งซาร์โคมาด้วยเช่นกัน
มะเร็งซาร์โคมามีอาการอย่างไร?
อาการของซาร์โคมา จะเหมือนกับมะเร็งทุกชนิด คือ การมีก้อนเนื้อ หรือ มีแผลเรื้อรัง โดยก้อนเนื้อหรือแผล เป็นก้อนเนื้อที่โตขึ้นเรื่อยๆ และสามารถลุกลามแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำ เหลือง และเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักกระจายเข้าสู่ ปอด (พบได้บ่อยที่สุด) นอกจากนั้น คือ กระดูก ตับ และสมอง
อาการอื่นๆที่อาจพบได้ คือ
- อาการเจ็บ/ปวดเมื่อโรคลุกลามมากขึ้น อาจเจ็บ/ปวดในตำแหน่งอวัยวะต้นกำเนิดของโรค หรือในตำแหน่งที่โรคแพร่กระจาย เช่น ปวดหลังเมื่อโรคแพร่กระจายเข้าสู่กระดูกสันหลัง หรือปวดศีรษะเมื่อโรคแพร่กระจายเข้าสู่สมอง
- มีเลือดออกจากก้อนเนื้อ หรือแผลมะเร็งส่งผลให้เกิดภาวะซีด เช่น อาเจียนเป็นเลือดเมื่อโรคเกิดในกระเพาะอาหาร หรือไอเป็นเลือดเมื่อโรคเกิดในปอด
- เมื่อโรคลุกลามแพร่กระจาย มักมีอาการ เบื่ออาหาร และน้ำหนักลด
- อาการตามอวัยวะที่เป็นต้นกำเนิดของโรค เช่น หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ไอ ไอเป็นเลือด เมื่อโรคเกิดในปอด แน่นอึดอัดท้อง ท้องผูก ปวดท้อง และ/หรืออุจจาระเป็นเลือดเมื่อโรคเกิดในกระเพาะอาหาร หรือในลำไส้ หรือ มีก้อนเนื้อโตเร็วเกิดที่ผิวหนังเมื่อเป็นมะเร็งซาร์โคมาของผิวหนัง เป็นต้น
มะเร็งซาร์โคมามีกี่ระยะ?
มะเร็งซาร์โคมาซึ่งส่วนใหญ่เป็นมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งแบ่งเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรค มะเร็งอื่นๆ แต่ที่แตกต่างคือ มีการนำลักษณะและการแบ่งตัวของเซลล์ (Grade หรือ ย่อว่า G) มาอยู่ในระยะโรคด้วย เนื่องจาก มีผลต่อความรุนแรงของโรค คือ
- G1 เซลล์มะเร็งมีลักษณะคล้ายเซลล์ปกติ และไม่ค่อยมีการแบ่งตัว เซลล์มะเร็งชนิดนี้ไม่ค่อยรุนแรง
- G2 เซลล์มะเร็งแตกต่างจากเซลล์ปกติปานกลาง และแบ่งตัวปานกลาง เซลล์มะเร็งชนิดนี้มีความรุนแรงปานกลาง
- และ G3 เซลล์มีลักษณะต่างจากเซลล์ปกติมากและมีการแบ่งตัวสูง เป็นเซลล์มะเร็งที่มีความรุนแรงโรคสูง
ระยะของโรคมะเร็งซาร์โคมา ได้แก่
ระยะ 1 ก้อนหรือแผลมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตร เซลล์มะเร็งเป็นชนิด G1 และโรคยังไม่มีการลุกลามแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และ/หรือ อวัยวะอื่นๆ
ระยะ 2 ก้อนมะเร็งโตไม่เกิน 5 เซนติเมตร แต่เซลล์มะเร็งเป็นชนิด G2 หรือ G3 หรือก้อน มะเร็งโตเกิน 5 เซนติเมตร และเซลล์มะเร็งเป็นชนิด G1 หรือ G2
ระยะ 3 ก้อนมะเร็งโตเกิน 5 เซนติเมตรและเซลล์มะเร็งเป็นชนิด G3 และ/หรือมีโรคลุก ลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้ก้อนมะเร็ง
ระยะ 4 โรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ อาจทางกระแสโลหิต หรือทางระบบน้ำเหลือง ที่พบบ่อยที่สุดเมื่อแพร่กระจาย คือ แพร่กระจายสู่ปอด นอกนั้นอาจสู่ ตับ กระดูก สมอง และต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลจากอวัยวะที่เกิดโรคมะเร็ง เช่น เป็นมะเร็งของขา แต่พบโรคแพร่กระ จายไปยังต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง หรือเหนือกระดูกไหปลาร้า เป็นต้น
มะเร็งซาร์โคมารุนแรงไหม?
ความรุนแรงของโรคมะเร็งซาร์โคมา นอกจากขึ้นกับระยะโรคแล้ว ยังขึ้นกับตำแหน่งที่เกิดโรค เช่น เมื่อเกิดโรคในช่องท้อง และกระดูก โรคจะรุนแรงกว่าเมื่อเกิดโรคกับกล้ามเนื้อ ขา แขน เป็นต้น นอกจากนั้นยังขึ้นกับ การผ่าตัด ถ้าสามารถผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งได้หมด ความรุน แรงโรคจะน้อยกว่าเมื่อผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งออกได้ไม่หมด หรือไม่สามารถผ่าตัดได้
ในภาพรวม อัตรารอดที่ 5 ปีของโรคมะเร็งซาร์โคมาเนื้อเยื่ออ่อน/โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน ในโรคระยะที่ 1 ประมาณ 80-90% ระยะที่ 2 ประมาณ 60-70% ระยะที่ 3 ประมาณ 20-50% และระยะที่ 4 ประมาณ 0-15%
แพทย์วินิจฉัยมะเร็งซาร์โคมาอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งซาร์โคมาได้ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับการวินิจฉัยโรคมะเร็งอื่นๆทั่ว ๆไป คือจาก ประวัติอาการมีก้อนเนื้อ การตรวจร่างกาย การตรวจภาพอวัยวะที่เกิดโรคด้วยเอกซ เรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ และที่ให้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
เมื่อทราบว่าเป็นมะเร็งซาร์โคมาแล้ว จะมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อการจัดระยะของโรคมะเร็งและประเมินสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย เช่น การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) การตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือดดูค่าน้ำตาลในเลือด (ดูโรคเบาหวาน) ดูการทำงานของ ตับ ไต และเกลือแร่ต่างๆ การตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูโรคของปอด หัวใจ และดูว่ามีมะเร็งแพร่กระจายสู่ปอดหรือไม่ การตรวจภาพตับดูการแพร่กระจายของโรคสู่ตับด้วย อัล ตราซาวด์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และอาจมีการตรวจภาพกระดูกด้วยการสะแกนกระดูกเมื่อสงสัยมีการแพร่กระจายของโรคมะเร็งสู่กระดูก เป็นต้น
รักษามะเร็งซาร์โคมาอย่างไร?
วิธีรักษามะเร็งซาร์โคมา จะขึ้นกับปัจจัยต่างๆ คือ ระยะของโรคมะเร็ง ตำแหน่งหรืออวัยวะที่เกิดโรคว่า ผ่าตัดได้หรือไม่ ชนิดของเซลล์มะเร็งว่า เป็นชนิดตอบสนองต่อยาเคมีบำ บัด รังสีรักษา และ/หรือยารักษาตรงเป้าหรือไม่ อายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยเพื่อประเมินว่า ผู้ป่วยจะแข็งแรงพอที่จะรับการรักษาด้วยวิธีต่างๆหรือไม่
โดยทั่วไป โรคมะเร็งซาร์โคมาจะใช้การผ่าตัดเป็นหลัก หลังผ่าตัดแล้วจึงประเมินจากปัจ จัยต่างๆดังกล่าวแล้วว่า ผู้ป่วยควรต้องได้รับยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษาเพิ่มเติมหรือไม่
ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีโรคมะเร็งซาร์โคมาชนิดหนึ่ง คือ GIST (โรคมะเร็งซาร์โคมาชนิดหนึ่งของกล้ามเนื้อของอวัยวะภายใน) ซึ่งมีการตอบสนองที่ดีต่อยารักษาตรงเป้า ซึ่งเป็นยารักษามะ เร็งที่ยังมีราคาแพงมาก แต่จากการศึกษาต่างๆพบว่า ในภาพรวมทั้งหมด ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้จะคุ้มค่าต่อการใช้ยารักษาตรงเป้า ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงมีกองทุนสนับ สนุนเพื่อการรักษาโรคมะเร็งชนิดนี้โดยเฉพาะ
มีผลข้างเคียงจากการรักษาอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งซาร์โคมา ขึ้นกับวิธีรักษา ได้แก่
- การผ่าตัด ผลข้างเคียง เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ/อวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และการเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
- รังสีรักษา ซึ่งผลข้างเคียงจะแตกต่างกันไปขึ้นกับว่าเป็นการให้รังสีรักษากับอวัยวะใดที่เป็นต้นกำเนิดของโรคมะเร็ง เช่น ผิวหนัง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่องการดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา) , ศีรษะและลำคอ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ), หรือช่องท้อง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ผลข้างเคียงและวิธีดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง และ/หรืออุ้งเชิงกราน) เป็นต้น
- ยาเคมีบำบัด ผลข้างเคียง คือ อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา:การดู แลตนเอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- ยารักษาตรงเป้า ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากยารักษาตรงเป้า คือ การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาด แผล และอาจเป็นสาเหตุให้ผนังลำไส้ทะลุได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า)
อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิดรวมทั้งโรคมะเร็งซาร์โคมา นอกจากจะขึ้นกับวิธีรักษาแล้ว ผลข้างเคียงจะสูง ขึ้นเมื่อ
- ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
- เมื่อมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
- ในผู้สูบบุหรี่
- ในผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- และในผู้สูงอายุ
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองที่สำคัญคือ เมื่อคลำพบก้อนเนื้อผิดปกติ ไม่ว่าจะเกิดตำแหน่งใด ควรรีบพบแพทย์เสมอ เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุแต่เนิ่นๆ ส่วนเมื่อทราบแล้วว่า เป็นโรคมะเร็งซาร์โคมา การดูแลตนเอง การพบแพทย์ ได้แก่
- ปฏิบัติตามแพทย์ และพยาบาลผู้ให้การรักษาโรคมะเร็งแนะนำ
- รักษาสุขภาพกาย สุขภาพจิตให้แข็งแรงเสมอ โดยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อช่วยให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะการรัก ษาโรคมะเร็งเป็นการรักษาที่ซับซ้อน มีผลข้างเคียง และมีค่าใช้จ่ายจากการรักษาสูงกว่าการรักษาโรคอื่นๆ รวมทั้งผลการรักษาเองก็พยากรณ์ได้ยาก
- หยุดกิน ไม่กิน ยาสมุนไพร อาหารเสริม วิตามิน เกลือแร่ และ/หรือใช้การแพทย์ทางเลือก การแพทย์สนับสนุนต่างๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์โรคมะเร็งก่อน เนื่อง จากอาจส่งผลกระทบต่อยาเคมีบำบัด ยาฮอร์โมนต่างๆ และรังสีรักษาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งได้
- กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว จะช่วยลดผลข้างเคียงต่างๆจากการรักษาลงได้มาก
- ปรึกษาแพทย์ พยาบาลผู้ให้การรักษาเสมอ เมื่อมีความสงสัย ปัญหา ความกลัว ความกังวล
- อย่าหยุดการรักษาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ พยาบาลผู้ให้การรักษาก่อนเสมอ
- พบแพทย์ผู้รักษาตามนัดเสมอ
- พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการต่างๆผิดปกติไปจากเดิม หรือมีอาการต่างๆเลวลง หรือเมื่อกังวลในอาการ
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งซาร์โคมาไหม?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่มีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งซาร์โคมาให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ อาการ โดย เฉพาะเมื่อคลำได้ก้อนเนื้อผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุแต่เนิ่นๆเสมอ
ป้องกันมะเร็งซาร์โคมาอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่พบวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งซาร์โคมา ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยง ที่หลีก เลี่ยงได้ เช่น การหลีกเลี่ยงสารเคมีต่างๆ รวมทั้งการไม่สำส่อนทางเพศ เพื่อหลีกเลี่ยงโรคติด ต่อทางเพศสัมพันธ์อันตรายที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา คือ โรคติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์
บรรณานุกรม
- Khuhaprema, T. et al. (2013). Cancer in Thailand. Volume. VII, 2007-2009. Thai National Cancer Institute
- http://seer.cancer.gov/archive/publications/childhood/childhood-monograph.pdf [2017,Feb4]
- http://www.canceradvice.co.uk/soft-tissue-sarcomas/incidence/ [2017,Feb4]
- http://www.cancernetwork.com/cancer-management/soft-tissue-sarcomas [2017,Feb4]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Sarcoma [2017,Feb4]
- http://www.cancer.net/cancer-types/sarcoma/view-all [2017,Feb4]
- http://www.cancer.org/cancer/soft-tissue-sarcoma/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2017,Feb4]
Updated 2017,Feb4