ไทอะมีน/ไทอะมิน/วิตามินบี 1 (Thiamine/Thiamin/Vitamin B1)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ไทอะมีน (Thiamine) หรือ ไทอะมิน (Thiamin) หรือ วิตามินบี 1 (Vitamin B1) คือ สารอินทรีย์ที่มีส่วนประกอบของกำมะถัน สามารถละลายน้ำได้ดี  ไทอะมีนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจะถูกสังเคราะห์ได้จาก แบคทีเรีย  เชื้อรา โปรโตซัว/สัตว์เซลล์เดียว (Protozoa) บางชนิดและพืชบางชนิด จากข้อมูลด้านโภชนาการระบุว่าเราควรได้รับสารไทอะมีน 1.5 มิลลิกรัม/วัน และควรต้องได้รับสาร/วิตามินชนิดนี้ทุกวัน ด้วยไทอะมีนไม่สามารถสะสมกักเก็บในร่างกายได้นานนัก ขณะที่ร่างกายได้รับไทอะมีนไม่ว่าจะทางอาหารหรือฉีดเข้าเส้นเลือด/หลอดเลือดในรูปแบบ ยาแผนปัจจุบัน สาร/ยาไทอะมีนจะถูกนำไปใช้กับกระบวนการทางชีวภาพต่างๆของร่างกายและไทอะมีนส่วนเกินจะถูกขับออกจากร่างกายอย่างต่อเนื่อง

 หน้าที่สำคัญของไทอะมีน/วิตามินบี 1 ต่อร่างกายมนุษย์:มีดังนี้

  • ร่างกายใช้ไทอะมีนในกระบวนการเผาผลาญอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเพื่อให้ได้น้ำตาลกลูโคสซึ่งร่างกายต้องนำไปใช้กับกระบวนการชีวภาพเช่น  การเจริญเติบโตและการเหนี่ยวนำของกระแสประสาท เป็นต้น
  • ป้องกันโรคเหน็บชาซึ่งจะมีอาการบวมและชาตามมือ-เท้า รู้สึกสับสน หายใจไม่ออก/หายใจลำบากด้วยมีของเหลวเพิ่มมากขึ้นในปอด และอาจมีหนังตากระตุกผิดปกติ
  • ช่วยเรื่องความจำป้องกันอาการหลงลืมหรือความจำเสื่อม ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุด้วยมีระบบการดูดซึมของสารอาหารของร่างกายเสื่อมลง จึงอาจเป็นเหตุให้ร่างกายของผู้สูงอายุขาดวิตามิน ชนิดนี้ได้ง่าย
  • ป้องกันมิให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้า เคยมีการศึกษาว่าการขาดไทอะมีนหรือวิตามินบี 1 มีความเกี่ยวพันกับอาการของโรคซึมเศร้า

ทั้งนี้ปกติยาไทอะมีนสามารถดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดยาไทอะมีนสามารถกระจายไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆทั่วร่างกาย รวมถึงผ่านเข้าน้ำนมของมารดาได้ และสามารถ  ถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านมากับปัสสาวะ

อนึ่งยังมีข้อจำกัดบางประการที่ต้องพึงระวังก่อนใช้ยาไทอะมีน อาทิ

  • ผู้ป่วยต้องไม่มีประวัติแพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยาไทอะมีน
  • มีอาการของโรคไตหรือป่วยเป็นโรคไตอยู่หรือไม่
  • รับประทานยาอื่นใดอยู่หรือไม่

ดังนั้นก่อนการใช้ยาไทอะมีนผู้ป่วยควรต้องปรึกษาแพทย์และรับคำแนะนำการใช้ยานี้ที่ถูกต้องก่อนเสมอ

ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยาไทอะมีนเป็นหนึ่งรายการที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติทั้งในรูปแบบยารับประทานและยาฉีด และเราจะพบเห็นการใช้ยานี้ได้ทั้งในสถาน พยาบาลของรัฐและเอกชน อีกทั้งหาซื้อได้จากร้านขายยาโดยทั่วไป

ไทอะมีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

ไทอะมีน

ยาไทอะมีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • บำบัดอาการขาดไทอะมีน (ภาวะขาดวิตามินบี1)
  • รักษาอาการโรคเหน็บชาชนิดที่เกิดจากขาดไทอะมีน
  • รักษากลุ่มโรค Wernicke's encephalopathy (โรคทางระบบประสาทที่เกิดจากการขาด ไทอะมีน) 
  • ใช้เป็นส่วนประกอบในยาเสริมวิตามินต่างๆ

ไทอะมีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไทอะมีนคือ เมื่อตัวยาเข้าสู่ร่างกายจะร่วมกับสารที่เป็นแหล่งพลัง งานของร่างกายหรือที่เรียกว่า ATP (Adenosine triphosphate) เพื่อให้เปลี่ยนโครงสร้างไปเป็น Thiamine pyrophosphate (สารที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานของร่างกายจากคาร์โบไฮเดรต) อีก ทั้งยังเป็นส่วนประกอบในกระบวนการเผาผลาญสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ทำให้กระบวนการชีวเคมีของร่างกายเป็นไปอย่างปกติเช่น ด้านการเจริญเติบโต การนำกระแสประสาท และทำให้การดำรงชีวิตของร่างกายเป็นไปอย่างปกติ

ไทอะมีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไทอะมีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของไทอะมีน ขนาด 50, 100, 250 และ 500 มิลลิ กรัม/เม็ด
  • ยาน้ำเชื่อมชนิดรับประทาน ขนาด 1 และ 5 มิลลิกรัม/ช้อนชา (5 มิลลิลิตร)
  • ยาฉีดขนาด 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ไทอะมีนมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการใช้ยาไทอะมีนทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีดจะขึ้นกับอาการและความรุนแรงของอาการในแต่ละโรค ดังนั้นขนาดยาจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดยานี้ที่ใช้โดยทั่วไปเฉพาะบางอาการ เช่น

ก.สำหรับบำบัดอาการเหน็บชา: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 10 - 20 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หรือรับประทานในรูปวิตามินรวมที่มียาไทอะมีนในขนาด 5 - 10 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าเส้นเลือดดำ/หลอดเลือดดำขนาด 10 - 25 มิลลิกรัม/วัน หรือรับประทานขนาด 10 - 50 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นแพทย์อาจปรับเป็นการรับประทานโดยลดขนาดลงมาเป็น 5 - 10 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน

ข.สำหรับบำบัดอาการขาดไทอะมีน(ภาวะขาดวิตามินบี1): เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็ก: ใช้ไทอะมีนชนิดฉีด 100 มิลลิกรัมผสมกับ 5% Dextrose 50 - 100 มิลลิ ลิตรหยดเข้าทางหลอดเลือดดำโดยใช้เวลาประมาณ 15 - 30 นาที ความถี่หรือระยะเวลาของการให้ยาจะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์และการตอบสนองของผู้ป่วย

 * อนึ่ง ยานี้สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้                

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ      

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไทอะมีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์  พยาบาล และเภสัชกร เช่น  

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไทอะมีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไทอะมีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาไทอะมีนให้ตรงเวลา

ไทอะมีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไทอะมีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น  

 ก. ยาไทอะมีน ในรูปของยาฉีด: เช่น

  • ไอ
  • รู้สึกตัวร้อน
  • กลืนลำบาก
  • มีผื่นคันตามผิวหนัง
  • หายใจลำบาก
  • ใบหน้าและเปลือก/หนังตาบวม

ข. ยาไทอะมีนที่เป็นยารับประทาน: ไม่ค่อยพบเห็นอาการข้างเคียงแต่อย่างใด อาจเป็นไปได้ว่าเพราะยานี้ถูกขับออกจากร่างกายได้รวดเร็วจึงทำให้ไม่เกิดการสะสมของยานี้ในร่างกาย

มีข้อควรระวังการใช้ไทอะมีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไทอะมีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยาไทอะมีน
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต รวมถึงเด็กทารกซึ่งมีระบบการทำงานของไตไม่สมบูรณ์เท่า กับผู้ใหญ่
  • การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • หลีกเลี่ยงมิให้ยานี้สัมผัสกับแสงแดดและ/หรือแสงสว่างโดยตรงเป็นเวลานาน ด้วยวิตามินหลายชนิดรวมถึงยานี้สามารถเสื่อมสลายเมื่อมีการสัมผัสกับแสงแดด/แสงสว่างเป็นเวลานาน
  • ควรบริโภคอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ (อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่) เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดภาวะขาดวิตามินบี1 อีก
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • กรณียารับประทานห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไทอะมีนด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไทอะมีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ในทางคลินิก ยังไม่พบปฏิกิริยาระหว่างยาไทอะมีนกับยาชนิดรับประทาน/ยาฉีดชนิดใดๆ อย่างไรก็ตาม หากพบว่าการใช้ยาไทอะมีนร่วมกับยาอื่นแล้วพบอาการผิดปกติที่เป็นอาการแพ้ยา   เช่น วิงเวียนศีรษะมาก  มีไข้  หายใจไม่ออก/อึดอัด/หายใจลำบาก ใบหน้า-คอ-ลิ้น-มือ-เท้าบวม  มีผื่นคัน หรือลมพิษขึ้นเต็มตัว ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ควรเก็บรักษาไทอะมีนอย่างไร?

ควรเก็บยาไทอะมีนทั้งชนิดฉีดและชนิดรับประทาน:

  • เก็บในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด แสงสว่าง ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไทอะมีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไทอะมีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Awsom (อาซัม) Life Vision Medicare Pvt Ltd
Benalgis (บีนัลจิส) Franco Indian Remedies
Berin (เบริน) GlaxoSmithKline
Biwon (ไบวอน) Aurochem Labs
Fide 75 (ไฟด์ 75) Psycogen Captab
Hykophos (ไฮโคฟอส) Leben Laboratories
RB 1 (อาร์บี 1) Regardia Pharmaceuticals
Therabine (เทอราบีน) Parex Pharmaceuticals
Thiamin Inj (ไทอะมิน อินเจ็คชั่น) Ordain Health

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Thiamine#Chemical_properties   [2022,April23]
  2. https://www.drugs.com/pro/thiamine-hydrochloride-injection.html  [2022,April23]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=THIAMINE  [2022,April23]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/thiamine?mtype=generic  [2022,April23]
  5. http://pertento.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_DRUG/SEARCH_DRUG/pop-up_drug.aspx?Newcode_U=U1DR2A1022620001311C&pvncd=10&drgtpcd=2&rgttpcd=2A&rgtno=6200013  [2022,April23]
  6. https://www.medicalnewstoday.com/articles/219545  [2022,April23]
  7. https://www.medindia.net/drug-price/thiamine-vitamin-b1.htm  [2022,April23]