ไดไฮโดรเออร์โกตามีน (Dihydroergotamine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 23 กรกฎาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ไดไฮโดรเออร์โกตามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ไดไฮโดรเออร์โกตามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไดไฮโดรเออร์โกตามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไดไฮโดรเออร์โกตามีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมพ่นหรือฉีดยาควรทำอย่างไร?
- ไดไฮโดรเออร์โกตามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไดไฮโดรเออร์โกตามีนอย่างไร?
- ไดไฮโดรเออร์โกตามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไดไฮโดรเออร์โกตามีนอย่างไร?
- ไดไฮโดรเออร์โกตามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ปวดหัว ปวดศีรษะ (Headache)
- ไมเกรน (Migraine)
- ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน (Antiemetics)
- ยาไมเกรน ยาต้านไมเกรน (Antimigraine drugs)
- ยาแก้ปวดศีรษะ (Headache medications)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
บทนำ: คือยาอะไร?
ไดไฮโดรเออร์โกตามีน (Dihydroergotamine) คือ ยาไมเกรน โดยเป็นยา/สารที่อยู่ในกลุ่ม ‘เออร์กอต อัลคาลอยด์ (Ergot alkaloids)’ และ เป็นอนุพันธุ์ของยาเออร์โกตามีน (Ergotamine)ชนิดสังเคราะห์, ยานี้มีประสิทธิภาพในการรักษาใกล้เคียงกับยาSumatriptan, โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ตัวรับ (Receptor)ในสมองที่มีชื่อว่า Serotonin /5-HT1D receptors [5-hydroxytryptamine (Serotonin) receptor 1D] ทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดในสมองที่ส่งผลระงับการปวดไมเกรน
อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยาไดไฮโดรเออร์โกตามีนที่พบบ่อยคือ อาการคลื่นไส้ ซึ่งแพทย์อาจต้องให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนกับผู้ป่วยก่อนที่จะให้ใช้ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน
รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยาไดไฮโดรเออร์โกตามีนที่พบได้บ่อย ได้แก่ ยาฉีดและยาพ่นสเปรย์ผ่านทางจมูก กรณียาฉีดสามารถฉีดเข้าผิวหนัง เข้ากล้าม หรือฉีดเข้าหลอดเลือดก็ได้, การดูดซึมและการกระจายตัวเข้าสู่ร่างกายของยาชนิดสเปรย์ฯจะเป็นประมาณ 32% ของยาฉีด, ถ้าจะเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียระหว่างยาทั้ง 2 รูปแบบ อาจกล่าวได้ว่า ยาฉีดเข้าใต้ผิวหนังและฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะให้ประสิทธิภาพเร็วกว่ายาชนิดสเปรย์ฯ, แต่การฉีดเข้าเส้นเลือด/หลอดเลือดจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา, ขณะที่ยาพ่นสเปรย์ฯจะมีความสะดวกต่อผู้ป่วยในการพกพาติดตัว การใช้ก็ง่ายกว่าการฉีดถึงแม้ประสิทธิภาพจะน้อยกว่ายาประเภทฉีดก็ตาม
ยังมีเหตุผลบางประการที่ต้องนำมาพิจารณาก่อนที่แพทย์จะเลือกใช้ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีนในการรักษาไมเกรนกับผู้ป่วย เช่น
- ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยานี้หรือแพ้อนุพันธุ์ของยาเออร์กอตหรือไม่
- หากเป็นสตรีต้องไม่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา
- ผู้ป่วยมียารักษาไมเกรนชนิดอื่นใช้อยู่ก่อนหน้านี้หรือไม่
- ต้องไม่ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือมีอาการเจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก หรือเพิ่งได้รับการผ่าตัดหัวใจ
- ต้องไม่เป็นผู้ป่วยด้วย โรคตับ โรคไตในระยะรุนแรง หรือป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้
- ต้องไม่ป่วยด้วยภาวะหลอดเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ (อัมพาต:โรคหลอดเลือดสมอง) หรือหลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ (โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ) หรือมีอาการตีบของหลอดเลือดของอวัยวะต่างๆ
- ต้องไม่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) หรือติดเชื้อในบริเวณเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย
- หากเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติดื่มสุราจัดแพทย์จะต้องกำชับมิให้ผู้ป่วยกลับไปดื่มสุราหลังจากได้รับยาชนิดนี้ด้วยจะก่อให้เกิดอาการวิงเวียนและง่วงนอนอย่างมาก
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) หรือการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุต้องใช้ความระวังเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน ไม่ได้ถูกแนะนำให้ใช้เป็นประจำหรือใช้พร่ำเพรื่อ ด้วยมีงานวิจัยหลังการใช้ยานี้พบว่า ยานี้อาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับความจำและกับการไหล เวียนเลือด อีกทั้งอาจก่อให้เกิดภาวะเป็นพิษจากยานี้และเกิดพังผืดในบริเวณลิ้นหัวใจ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของการใช้ยานี้ ผู้ป่วยจะต้องได้รับยานี้โดยเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
ไดไฮโดรเออร์โกตามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ป้องกันและบำบัดรักษาอาการปวดหัวจากไมเกรน
ไดไฮโดรเออร์โกตามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยเข้าจับกับตัวรับ (Receptor) ในสมองที่มีชื่อว่า 5-HT1D receptors ทำให้หลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงบริเวณกะโหลกศีรษะและสมองเกิดการหดตัว ทางคลินิกเชื่อว่าเมื่อหลอดเลือดอยู่ในสภาพหดตัวสามารถลดอาการและบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนได้
ไดไฮโดรเออร์โกตามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาฉีด ขนาด 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาสเปรย์พ่นจมูก ขนาด 4 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ไดไฮโดรเออร์โกตามีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก.ชนิดฉีด: เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น
- ฉีดยาขนาด 1 มิลลิกรัมเข้ากล้ามเนื้อ หรือ ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เมื่อเริ่มมีอาการปวดศีรษะไมเกรน, หากอาการยังไม่ดีขึ้นอาจฉีดยา 1 มิลลิกรัมทุกชั่วโมง, หยุดการฉีดยาเมื่อผู้ป่วยได้รับยารวม 3 มิลลิกรัม, หรือ
- ฉีดเข้าหลอดเลือดดำขนาด 1 มิลลิกรัมเมื่อเริ่มมีอาการไมเกรน, หากอาการไม่ดีขึ้นอาจฉีดยาได้อีก 1 มิลลิกรัมในชั่วโมงถัดมา, หยุดการให้ยาเมื่อผู้ป่วยได้รับยารวม 2 มิลลิกรัม, และห้ามฉีดยาเกิน 6 มิลลิกรัม/สัปดาห์
ข.ชนิดพ่นจมูก: เช่น
- ผู้ใหญ่: กดสเปรย์พ่นยาขนาด 1 มิลลิกรัมเข้าจมูก, หากจำเป็นสามารถพ่นสเปรย์อีก 1 มิลลิกรัมเข้าจมูกหลังจากการพ่นครั้งแรกไปแล้ว 15 นาที, ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/วัน, และไม่เกิน 4 มิลลิกรัม/สัปดาห์
*อนึ่งในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยที่แน่ชัดของการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไดไฮโดรเออร์โกตามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมพ่นหรือฉีดยาควรทำอย่างไร?
หากลืมพ่นหรือฉีดยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน สามารถพ่นหรือฉีดยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาการใช้ยาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ไดไฮโดรเออร์โกตามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้าง เคียง) เช่น
ก. ยาฉีด: อาจเกิดภาวะหัวใจทำงานผิดปกติ มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ข. ยาพ่นสเปรย์จมูก: อาจมีอาการแสบร้อนในโพรงจมูก มีอาการจมูกแห้งและเจ็บในจมูก การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป ท้องเสีย วิงเวียน ปากคอแห้ง อ่อนเพลีย ปวดหัว เหงื่อออกมาก เจ็บคอ/ คออักเสบ ง่วงนอน มีเลือดออกในจมูก และยังอาจพบอาการข้างเคียงอื่นๆอีกแต่พบได้น้อย เช่น ปวดหู ปวดตา มีไข้ อาการแสบร้อนกลางอก ตาแฉะ กระสับกระส่าย ตาแดง มีผด/ผื่นขึ้นตามผิวหนัง เป็นลม เป็นต้น
มีข้อควรระวังการใช้ไดไฮโดรเออร์โกตามีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน: เช่น
- ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้หรือแพ้ยาในกลุ่มยา Ergot และ/หรือยา Ergotamine
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และในเด็ก
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรค ความดันโลหิตสูง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่ม Protease inhibitors, ยากลุ่ม Macrolide
- การใช้ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีนก็ต่อเมื่อแพทย์ลงความเห็นว่าป่วยด้วยอาการไมเกรนเท่านั้น ห้ามใช้รักษาอาการปวดในรูปแบบอื่นเช่น ปวดจากอาการไข้ ปวดหัวจากความดันโลหิตสูง
- ห้ามใช้ยานี้ชนิดพ่นสเปรย์นานเกินคำสั่งของแพทย์
- การใช้ยานี้บ่อยมากเกินไปต้องระวังการเกิดพังผืดในบริเวณลิ้นหัวใจ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดต่างๆ
- กรณีที่จะใช้ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีนต้องงดการใช้ยารักษาไมเกรนชนิดอื่นก่อน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไดไฮโดรเออร์โกตามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- ห้ามใช้ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน ร่วมกับยา Amprenavir ด้วยจะก่อให้เกิดอาการข้าง เคียงจากยาไดไฮโดรเออร์โกตามีนมากยิ่งขึ้น
- การใช้ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน ร่วมกับยา Fenfluramine (ยาลดความอ้วน) อาจก่อให้ เกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามใช้ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน ร่วมกับยา Ergotamine ด้วยจะทำให้หลอดเลือดของร่างกายตีบและแคบลงจนก่อให้เกิดความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว และอวัยวะต่างๆมีการตายของเนื้อเยื่อจากขาดเลือด
- การใช้ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน ร่วมกับยา Phenylephrine อาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และทำให้ปริมาณการไหลเวียนของเลือดทั่วร่างกายน้อยลง กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาไดไฮโดรเออร์โกตามีนอย่างไร?
ควรเก็บยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน: เช่น
- เก็บยาในอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไดไฮโดรเออร์โกตามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต Dihydroergotamine Mesylate, USP (ไดไฮโดรเออร์โกตามีน เมไซเลท, ยูเอสพี) Mipharm D.H.E. 45 (ดี.เฮช.อี. 45) Novartis Migranal (ไมแกรนอล) Pharmacy -
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Dihydroergotamine [2022,July23]
- https://www.drugs.com/monograph/dihydroergotamine.html [2022,July23]
- https://www.mims.com/philippines/drug/info/dihydroergotamine?mtype=generic [2022,July23]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2002/20148s7s8lbl.pdf [2022,July23]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/dihydroergotamine-index.html?filter=3&generic_only=#W [2022,July23]