ไซตาโลแพรม (Citalopram)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 มีนาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ:คือยาอะไร?
- ไซตาโลแพรมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- ไซตาโลแพรมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไซตาโลแพรมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไซตาโลแพรมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไซตาโลแพรมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไซตาโลแพรมอย่างไร?
- ไซตาโลแพรมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไซตาโลแพรมอย่างไร?
- ไซตาโลแพรมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- เอมเอโอไอ (Monoamine oxidase inhibitor: MAOI)
- เอสเอสอาร์ไอ (Selective serotonin reuptake inhibitors: SSRIs)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- ยาต้านเศร้า (Antidepressants)
บทนำ:คือยาอะไร?
ไซตาโลแพรม (Citalopram)คือ ยาบำบัดอาการโรคซึมเศร้า(ยาต้านเศร้า)ที่อยู่ในกลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) ในต่างประเทศยาชื่อการค้าของยานี้ที่เป็นที่รู้จักเช่น ยา Celexa, Cipramil โดยตัวยานี้มีกลไกเพิ่มปริมาณสารเซโรโทนิน (Serotonin) ในสมอง รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน โดยตัวยาสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร และกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 80% การทำลายโครงสร้างของยาจะเกิดที่อวัยวะตับ ร่างกายต้องใช้เวลาถึงประมาณ 35 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
มีข้อจำกัดการใช้ยาไซตาโลแพรมบางประการที่แพทย์มักจะนำมาประกอบการตัดสินใจใช้ยานี้กับผู้ป่วย เช่น
- ผู้ป่วยเคยแพ้ยานี้มาก่อนหรือไม่
- ผู้ป่วยได้ใช้ยากลุ่ม MAOI ภายใน 14 วัน หรืออยู่ระหว่างการใช้ยากลุ่ม MAOI หรือไม่
- หากเป็นผู้ป่วยเด็กวัยรุ่น เคยมีประวัติทำร้ายร่างกายตนเองในระหว่างการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าหรือไม่ ทั้งนี้ประกอบกับมีข้อห้ามของใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- มีโรคประจำตัวอะไรบ้างเช่น เป็นโรคเลือดออกง่ายหรือหลอดเลือดอุดตันจากลิ่มเลือด มีภาวะโรคตับ โรคไต เป็นต้อหิน โรคลมชัก โรคหัวใจชนิดต่างๆ หรือมีอาการของโรคไบโพลาร์/อารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) หรือไม่
- เป็นผู้ติดสุราหรือไม่ด้วยแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดฤทธิ์ข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยาไซตา โลแพรมเพิ่มมากขึ้นเมื่อรับประทานร่วมกับยาไซตาโลแพรม
ทั้งนี้หลังจากการจ่ายยาให้ผู้ป่วยนำกลับมารับประทาน แพทย์จะเน้นย้ำให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้ให้ตรงเวลา ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
อนึ่ง ยังมีเรื่องอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จากยานี้ที่สามารถเกิดขึ้นได้ หรือผู้ป่วยบางรายอาจไม่ได้รับอาการข้างเคียงใดๆเลยก็เป็นได้ ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยแต่ละบุคคลที่ไม่เหมือนกัน
หลังการรับประทานยาไซตาโลแพรม อาจต้องใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ขึ้นไปจึงจะเห็นประ สิทธิผลของการรักษา หากอาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้นตามระยะเวลาที่เหมาะสม ควรนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
ยาไซตาโลแพรมมีข้อห้ามและผลข้างเคียงของการใช้ยาอยู่หลายประการ เพื่อความปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วยเองควรต้องใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด
ไซตาโลแพรมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาไซตาโลแพรมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการของโรคซึมเศร้า
ไซตาโลแพรมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไซตาโลแพรมคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับของสาร เซโรโทนิน (Serotonin) ของเซลล์สมองทำให้ระดับซีโรโทนินมีความเข้มข้นที่เหมาะสม จนส่งผลให้เกิดฤทธิ์บรรเทาอาการซึมเศร้าตามสรรพคุณ
ไซตาโลแพรมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไซตาโลแพรมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10, 20 และ 40 มิลลิกรัม/เม็ด
ไซตาโลแพรมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไซตาโลแพรมมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานเริ่มต้น 20 มิลลิกรัมวันละครั้ง หลังจากใช้ยานี้ไป 1 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มเป็น 40 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดรับประทานเพื่อคงระดับการรักษาอยู่ที่ 20 - 40 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้สูงอายุ: รับประทานยานี้ได้สูงสุดไม่ควรเกิน 20 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: การใช้ยานี้ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*อนึ่ง สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไซตาโลแพรม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไซตาโลแพรมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไซตาโลแพรม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ถึงแม้ยาในกลุ่มนี้ไม่มีฤทธิ์ของการเสพติดก็จริง แต่ถ้าหยุดการใช้ยาเองหรือลืมรับประทานยาบ่อยๆหลายครั้งก็สามารถก่อให้เกิดอาการถอนยา/ลงแดงได้ (Withdrawal-like symtoms) ซึ่งมักจะพบอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนก่อนเกิดอาการถอนยาเช่น มีอาการคลื่นไส้ ปวดหัว วิงเวียน หรือมีอาการคล้ายมีเข็มทิ่ม เป็นต้น
ไซตาโลแพรมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไซตาโลแพรมสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ง่วงนอน หรือ นอนไม่หลับ
- คลื่นไส้
- น้ำหนักตัวเพิ่ม
- หิวอาหารบ่อย
- ปัสสาวะบ่อย
- ความต้อง การทางเพศลดลง
- ปากคอแห้ง
- เหงื่อออกมาก
- ท้องเสีย
- อ่อนแรง
ทั้งนี้ยังมีอาการข้างเคียงที่พบได้อีกแต่พบได้น้อย เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง รูม่านตาขยาย วิตกกังวล ปวดหัว วิงเวียน มีอาการลมชัก ประสาทหลอน ผิวหนังแพ้แสงแดด บางกรณีอาจเกิดภาวะฮอร์โมนโปรแลคตินสูงในเลือด (Prolactin, ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองที่เกี่ยวกับการหลั่งน้ำนม) ทำให้มีอาการน้ำนมไหลได้
*อนึ่ง อาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด เช่น อาเจียน หัวใจเต้นผิดจังหวะ วิงเวียน เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ มีอาการตัวสั่น รู้สึกสับสน เกิดลมชัก และอาจมีภาวะโคม่า หากพบอาการดังกล่าวควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ไซตาโลแพรมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไซตาโลแพรม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOI ด้วยอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ญาติควรเฝ้าระวังพฤติกรรมของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเพื่อคอยดูแลอาการข้างเคียงต่างๆหรือ เฝ้าระวังอาการที่อยากทำร้ายตัวเองซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการใช้ยากลุ่มต้านโรคซึมเศร้าที่รวมถึงยาไซตาโลแพรมนี้
- การหยุดใช้ยานี้เองโดยทันทีอาจทำให้เกิดภาวะถอนยา/ ลงแดง ขึ้นได้
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไซตาโลแพรมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไซตาโลแพรมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไซตาโลแพรมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาไซตาโลแพรม ร่วมกับยา Aspirin, ยากลุ่ม NSAIDs, Warfarin อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเลือดออกง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาไซตาโลแพรม ร่วมกับยา Omeprazole อาจทำให้ระดับยาไซตาโลแพรมในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นจนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาไซตาโลแพรม หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาไซตาโลแพรม ร่วมกับยา Phenylpropanolamine อาจทำให้ได้รับผลข้างเคียงของ Phenylpropanolamine ติดตามมาได้มาก เช่น กระสับกระส่าย วิตกกังวล บางกรณีการใช้ยาทั้งคู่ร่วม กันอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการเซโรโทนินเพื่อเป็นการป้องกันอาการข้างเคียงดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาไซตาโลแพรม ร่วมกับยา Codeine อาจลดฤทธิ์การรักษาของ Codeine หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาไซตาโลแพรมอย่างไร?
ควรเก็บยาไซตาโลแพรม:
- เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไซตาโลแพรมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไซตาโลแพรม มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
CITARA (ซิทารา) | Intas |
CITOLA (ซิโทลา) | La Pharma |
CITOPAM (ไซโตแพม) | Sun (Synergy) |
C-PRAM (ซี-แพรม) | Unichem |
CITALOP TAB (ไซทาลอพ แท็บ) | East West |
CITALOMINE (ไซทาโลมีน) | Psycorem |
CITADEP (ซิทาเดพ) | Cipla |
CELICA (เซลิกา) | Ranbaxy (Solus) |
CELEPRA (เซเลพรา) | Micro Synapse |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Selective_serotonin_reuptake_inhibitor#List_of_agents [2022,March19]
- https://www.drugs.com/citalopram.html [2022,March19]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Citalopram [2022,March19]
- https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/citalopram-oral-route/before-using/drg-20062980 [2022,March19]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/citalopram?mtype=generic [2022,March19]
- https://www.medicines.org.uk/emc/product/5161/xpil/printLargeText#gref [2022,March19]
- https://www.medicines.org.uk/emc/product/3722/smpc#gref [2022,March19]