โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus disease)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? เกิดจากไวรัสอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus disease ย่อว่า MVD หรือ Marburg virus infection) คือ โรคติดต่อเฉียบพลันรุนแรงที่เกิดจากร่างกายติดเชื้อไวรัสที่ชื่อ ‘มาร์บวร์กไวรัส (Marburg virus)’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรคที่สาธารณสุขไทยกำหนดเป็น ‘*โรคติดต่ออันตราย,’   อาการสำคัญ เช่น  มีไข้สูงเฉียบพลัน  ปวดหัวมาก  ปวดเนื้อตัวมาก อ่อนเพลียมาก และตามด้วยเลือดออกรุนแรงทุกอวัยวะจนเป็นสาเหตุการตาย โดยอาการอยู่ในกลุ่ม ‘โรคคล้ายไข้หวัดใหญ่’ หรือในกลุ่มของโรค ‘ไข้เลือดออก’ ชนิดรุนแรงอันตราย และยังจัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonosis)

อนึ่ง:

  • โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus disease) เป็นชื่อที่ใช้เรียกโรคนี้ใน ‘พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558’
  • ในบทความนี้ขอเรียก โรคติดเชื้อไวรัสมาบวร์ก สั้นๆว่า ‘โรคมาร์บวร์ก’
  • *โรคติดต่ออันตราย: ความหมายจาก พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 หมายความว่า ‘โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูง และ สามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว’
  • “มาร์บวก” เป็นชื่อเมืองในประเทศเยอรมันที่มีรายงานการระบาดของโรคนี้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2510 (ค.ศ.1967) ซึ่งการระบาดครั้งแรกนั้น เป็นการระบาดใน หมู่เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่ศึกษาเรื่องของไวรัสนี้ และได้สัมผัสกับอวัยวะของลิงชนิดหนึ่ง (African green monkey) จากประเทศยูกันดาในแอฟริกา  โรคนี้จึงมี ชื่อเรียกครั้งแรกๆว่า “Green monkey disease”
  • โรคมาร์บวร์ก หรือ ออกเสียงในภาษาอังกฤษว่า ‘โรคมาร์เบิร์ก’ มีชื่อเดิม คือ “ไข้เลือดออกมาร์บวร์ก (Marburg hemorrhagic fever ย่อว่า MHF หรือ Marburg HF)”, ชื่ออื่น เช่น โรคไข้เลือดออกแอฟริกัน (African hemorrhagic fever), โรคมาร์บวกไวรัส, โรคไวรัสมาร์บวร์ก, Green monkey disease    

ไวรัสก่อโรค:

สาเหตุโรคมาร์บวร์ก เกิดได้จากไวรัส 2 ชนิด คือ ไวรัสมาร์บวร์ก หรือมาร์บวร์กไวรัส (Marburg virus ย่อว่า MASV) และราเวินไวรัส (Ravn virus  ย่อว่า RAVV) ทั้ง 2 ไวรัสอยุ่ใน Family/วงศ์เดียวกัน คือ Filoviridae, โดยเป็นไวรัสที่เป็น ‘แฝดกัน’ ก่อโรคได้เหมือนๆกัน, และอยู่ในกลุ่มเดียวกับอีโบลาไวรัส จึงมีอาการเหมือนกับโรคอีโบลา แต่โรคอีโบลารุนแรงกว่า, ซึ่งอัตราตายของผู้ติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กอยู่ในช่วงประมาณ 24%-88%

น้ำยาฆ่าเชื้อมาร์บวร์ก:

ไวรัสมาร์บวร์ก/มาเบิร์ก  สามารถถูกทำลายได้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ Sodium hypochlorite, 3% acetic acid, กลุ่มน้ำยา Phenolic disinfectant, Formaldehyde, Formalin และผงซักฟอก, หรือฆ่าตายด้วยความร้อนโดยการอบที่ 60 องศาเซียลเซียส (Celsius) นาน 30-60 นาที, หรือต้มเดือดนาน 5 นาที, รังสีแกมมา (Gamma ray), และรังสียูวี (UV ray), และไวรัสนี้มีชีวิตอยู่ได้นานนอกร่างกายมนุษย์ทั้งในที่เปียกชื้น หรือที่แห้งได้นานหลายวัน

สัตว์รังโรคของมาร์บอร์กไวรัส:

โรคมาร์บวร์ก เป็นโรครุนแรง เป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกา โดยเฉพาะในยูกันดา คองโก แอฟริกาใต้ และเคนยา เชื่อว่ามีค้างคาวกินผลไม้ในอัฟริกาซึ่งอาศัยในถ้ำ หรือในเหมืองร้างเป็น รังโรคตามธรรมชาติ, และสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสนี้จนก่ออาการได้ คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในกลุ่ม ลิง และคน

โรคมาร์บวร์ก/โรคมาเบิร์ก พบน้อย พบทั้งเพศหญิงและเพศชายใกล้เคียงกัน และทุกวัย ตั้งแต่เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)จนถึงผู้สูงอายุ, แต่พบน้อยมากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี (มีรายงานพบได้ประมาณ 8%)

โรคมาร์บวร์กเกิดจากอะไร?

โรคมาร์บวร์ก เกิดจากคนติดเชื้อมาร์บวร์กไวรัส หรือราเวินไวรัส ดังได้กล่าวแล้วใน ‘บทนำฯ’

โรคมาร์บวร์กติดต่ออย่างไร? ติดต่อจากคนสู่คนได้ช่วงไหนของการติดเชื้อ?

วิธีติดต่อแพร่กระจายที่แน่ชัดของมาร์บวร์กไวรัสจากค้างคาวฯสู่ลิงและสู่คนยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีหลักฐานการศึกษาเชื่อได้ว่า คนหรือลิงติดเชื้อจากค้างคาวกินผลไม้ที่อาศัยในถ้ำ หรือในเหมืองร้าง โดยสัมผัสทางผิวหนังกับ ปัสสาวะ และ/หรือ มูลค้างคาว  หรือสูดดมละอองไวรัสฯจากมูลค้างคาวที่ฟุ้งกระจายในอากาศเมื่อเข้าไปในถ้ำ/เหมืองฯ

เมื่อคนหรือลิงติดเชื้อแล้ว จะสามารถแพร่เชื้อโดย คนสู่คน, ลิงสู่ลิง, ลิงสู่คน, คนสู่ลิง, ได้ด้วยวิธีเดียวกัน ที่มีได้หลายเส้นทาง คือ

  • ใกล้ชิด คลุกคลี สัมผัสสารคัดหลั่ง/สารน้ำ ของคน/ลิง(ที่มีไวรัสฯ) เช่น น้ำลาย น้ำมูก ละอองน้ำลาย/ตัวน้ำลาย น้ำมูก และเสมหะและละออง ปัสสาวะ อุจจาระ เหงื่อ น้ำเมือกต่างๆ ตกขาว   น้ำนม น้ำตา น้ำอสุจิ และเลือด และ/หรือ บาดแผล เนื้อเยื่อ/อวัยวะ   
  • กินเนื้อสัตว์ป่วยโรคนี้สดๆ หรือ สุกๆดิบ
  • จากการทำความสะอาด/สัมผัสศพผู้ป่วย/สัตว์ป่วยจากโรคนี้ แล้วสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เลือด ฯลฯ ดังกล่าวของคนป่วย หรือ ลิงป่วย
  • ติดต่อจากอุปกรณ์ทางการแพทย์จากการดูแลผู้ป่วย และ/หรือทางห้องปฏิบัติการในการตรวจวินิจฉัยโรคนี้ หรือในการศึกษาวิจัย เช่น เข็มฉีดยา, ซึ่งการติดต่อจากอุบัติเหตุถูกเข็มที่มีเชื้อแทงจะได้รับเชื้อปริมาณสูงสุดและเชื้อจะเจริญแบ่งตัวได้รวดเร็ว  
  • การได้รับเชื้อฯเข้ากระแสเลือดโดยตรง เชื้อจะลุกลามรวดเร็วได้ในทุกเนื้อเยื่อ/อวัยวะ ก่อให้เกิดอาการรุนแรงสูงสุด   

*อนึ่ง:  

  • การติดต่ออาจผ่านทางน้ำนมมารดาได้
  • *เนื่องจากพบเชื้อไวรัสนี้ในน้ำอสุจิ จึงเป็นไปได้ที่โรคนี้จะติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการสวมถุงยางอนามัยชาย
  • สัตว์ที่เป็นโฮสต์ไวรัสนี้ นอกจาก คน และลิง มีรายงาน พบในกวางอัฟริกันขนาดเล็ก และหนูอ้อยใหญ่อัฟริกัน

ช่วงเวลาที่โรคมาร์บวร์กสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้:

โรคมาร์บวร์กจะติดต่อสู่ผู้อื่นได้ในช่วงตั้งแต่เริ่มมีอาการไปจนถึงเมื่อตรวจไม่พบไวรสนี้ในเลือด, สารน้ำ/สารคัดหลั่งของร่างกาย ทั้งนี้ ‘เชื้อฯจะไม่ติดต่อในระยะฝักตัว (ระยะตั้งแต่เชื้อเข้าสู่ร่างกายจนเกิดอาการ)’

*อย่างไรก็ตาม มีรายงานยืนยันการตรวจพบเชื้อไวรัสฯนี้ที่สามารถก่อโรคได้ใน ‘น้ำอสุจิ/Semen’ นานอย่างน้อย 7 สัปดาห์หลังหายจากอาการโรค, ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคกลับเป็นซ้ำในระยะเวลารวดเร็วหลังจากหายจากโรคจากเชื้อไวรัสฯนี้ที่ยังมีชีวิตที่ยังค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งเป็นที่มาให้องค์การอนามัยโรคแนะนำผู้ป่วยเพศชายที่หายจากโรคนี้แล้วทั่วไปคือ

  • ควรตรวจหาเชื้อไวรัสนี้ในน้ำอสุจิที่ 3 เดือนหลังหายจากโรค และไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ หรือ ควรต้องสวมถุงยางอนามัยชายทุกครั้งของการมีเพศสัมพันธ์นานอย่างน้อย 12 เดือนหลังหายจากโรค, หรือหลังผลตรวจเชื้อไวรัสฯในน้ำอสุจิติดต่อกัน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 3 เดือน ให้ผลเป็นลบ (ตรวจไม่พบเชื้อฯ) โดยเริ่มตรวจครั้งแรกที่ 3 เดือนหลังไม่มีอาการแล้ว

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคมาร์บวร์ก?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคมาร์บวร์ก ได้แก่

  • ผู้เดินทางท่องเที่ยว หรือทำงาน หรืออยู่อาศัย ในถิ่นอยู่อาศัยของสัตว์รังโรคนี้ (เชื้อประจำถิ่น)
  • บุคคลากรห้องปฏิบัติการที่ศึกษาเรื่องไวรัสฯชนิดนี้
  • บุคคลากรห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล
  • บุคคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะที่ดูแลผู้ป่วยโรคมาร์บวร์ก
  • ผู้ใกล้ชิด หรือ คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคมาร์บวร์ก
  • ผู้สัมผัสสารคัดหลั่งที่รวมถึงเลือด น้ำเหลือง น้ำอสุจิ ของผู้ป่วยโรคมาร์บวร์ก

โรคมาร์บวร์กมีอาการอย่างไร?

โรคมาร์บวร์ก เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลัน ระยะฝักตัว (ระยะจากเชื้อฯเข้าสู่ร่างกายจนถึงเริ่มมีอาการ) จะอยู่ในช่วง 2-21 วันหลังได้รับเชื้อ  แต่ส่วนใหญ่แสดงอาการวันที่ 5-10 หลังได้รับเชื้อ ทั้งนี้ระยะฝักตัว 'ยิ่งสั้นแสดงว่าโรคยิ่งรุนแรง' ซึ่งจะขึ้นกับว่าติดโรคด้วยวิธีใด และได้รับรับเชื้อมากน้อยเพียงใด

เนื่องจาก เชื้อไวรัสมาร์บวร์ก/มาเบิร์ก จะทำลายได้ทุกระบบอวัยวะ เช่น ระบบน้ำเหลือง ม้าม ไต ปอด  หัวใจ ตับ หลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร สมอง จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการทำงาน/อาการของทุกอวัยวะที่รวมถึงไขกระดูก เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำรุนแรง และภาวะดีไอซี/DIC, ส่งผลให้เลือดไม่สามารถแข็งตัวได้จึงเกิดภาวะเลือดออกรุนแรงในทุกเนื้อเยื่อ/อวัยวะ จนเกิดภาวะช็อกรุนแรง, ส่งผลให้การทำงานของอวัยวะต่างๆล้มเหลว จนเป็นสาเหตุการตายในที่สุด

อาการจากโรคมาร์บวร์ก/มาเบิร์ก  ไม่ใช่อาการเฉพาะโรค แต่เป็นอาการจากการติดเชื้อรุนแรงที่ทำให้เกิดไข้สูงเฉียบพลันที่พบได้ในโรคอื่นๆด้วย เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้ไทฟอยด์ ไข้จับสั่น ไข้เลือดออกทั่วไป หรือโรคอีโบลา   

โดยอาการที่พบทั่วไปในโรคมาร์บวร์กแบ่งเป็น 3 ระยะ/Phase :

ก. ระยะแรก: ระยะอาการทั่วไป (Generalization Phase): อาการระยะนี้จะพบเกิดในช่วง 1-4 วันนับจากมีอาการ ซึ่งทุกอาการเกิดเฉียบพลัน และอาจคงอยู่ตลอดระยะเวลาของการดำเนินโรค, ทั่วไปได้แก่  

  • ไข้สูงมาก เกิดทันที ประมาณ 40 องศาเซลเซียส ร่วมกับ หนาวสั่น
  • ปวดหัวมาก
  • ปวดเนื้อตัว ปวดกล้ามเนื้อ  ปวดข้อ
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดท้อง กระจายตำแหน่งทั่วไป ไม่มีอาการปวดเฉพาะจุด
  • ท้องเสีย อุจจาระมักเป็นน้ำ
  • คออักเสบ/ เจ็บคอ
  • ขึ้นผื่นได้ทั่วตัว
  • ตาแดงจากเยื่อตาอักเสบ
  • อ่อนเพลียมาก เบื่ออาหาร กินได้น้อย
  • ผอมลงมาก ตาโหล ร่างกายทรุดโทรมมาก

ข. ระยะ 2: ระยะเริ่มมีการอักเสบของอวัยวะต่างๆ (Early organ phase): อาการจะเกิดในช่วงวันที่ 5-13 นับจากเริ่มมีอาการ เป็นช่วงอาการจะแย่ลงจากเกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำมากจึงส่งผลเลือดมีออกตามอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย, อาการต่างๆ เช่น

  • อ่อนเพลียมาก ร่างกายหมดแรง/หมดสภาพ
  • หอบเหนื่อย
  • บวมน้ำทั่วตัว
  • ตาแดง
  • ขึ้นผื่นทั่วตัว
  • มีอาการทางสมองจาก สมองอักเสบ/ ไข้สมองอักเสบ เช่น สับสน จำอะไรไม่ได้ ก้าวร้าว ชัก
  • อาการเลือดไหลได้จากทุกอวัยวะ (มักเริ่มเกิดช่วงปลายสัปดาห์หลังเริ่มมีอาการ) เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด เสลด/น้ำลายเป็นเลือด ห้อเลือดตามผิวหนัง เลือดไหลจาแผลเจาะเลือด หรือจุดที่ให้สารน้ำ หรือจากการฉีดยา  เลือดออกจากช่องปาก/ช่องคอ
    • ในเพศชายจะมีอัณฑะอักเสบ

ค. ระยะท้าย: ระยะรุนแรงที่สุด เกิดต่อเนื่องจากระยะ 2 ผู้ป่วยอาจถึงตายจาก อวัยวะต่างๆล้มเหลวและเลือดไหลรุนแรงในทุกอวัยวะจนเกิดภาวะช็อก, หรือในผู้ป่วยที่แข็งแรงที่ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคจนสามารถกำจัดไวรัสฯนี้ได้, อวัยวะต่างๆจะเริ่มฟื้นตัว (Late organ phase หรือ Convalescence phase): ระยะนี้เริ่มต้นจากวันที่13-21นับจากวันแรกของการมีอาการเป็นต้นไป โดย

  • ผู้ป่วยที่จะหาย: อาการต่างๆจะค่อยๆดีขึ้น
  • ในผู้ที่จะเสียชีวิต: อาการต่างๆจะแย่ลง ไข้สูงขึ้น ชัก อาการทางสมองมากขึ้น หอบเหนื่อย บวม มากขึ้น เลือดออกมากขึ้น เกิดภาวะช็อก โคม่า และตายในที่สุด (ทั่วไปการตายมักเกิดในวันที่ 8-16 นับจากเริ่มมีอาการ, ในรายอาการรุนแรงมาก/เลือดออกรุนแรงจนเกิดภาวะช็อก อาจเสียชีวิตได้ตั้งแต่ในวันที่ 8-9 นับจากเริ่มมีอาการโรค)
  • อาการอัณฑะอักเสบ: อาจเกิดข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้, มักเกิดในระยะท้ายของโรค คือ ประมาณวันที่ 15 นับจากเริ่มมีอาการ

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน 'หัวข้อ อาการฯ' โดยเฉพาะเมื่อเดินทาง หรืออยู่อาศัยในถิ่นของโรคมาร์บวร์ก ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน พร้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ถึงถิ่นอยู่อาศัยและประวัติเดินทาง/ท่องเที่ยว

แพทย์วินิจฉัยโรคมาร์บวร์กได้อย่างไร?

การวินิจฉัยโรคมาร์บวร์ก/มาเบิร์ก  นอกจากในเบื้องต้นจะประเมินจากประวัติสัมผัสโรคถิ่นที่อยู่อาศัย/เดินทาง/ทำงาน/ท่องเที่ยว, อาการผู้ป่วย, และการตรวจร่างกายแล้ว การวินิจฉัยที่แน่นอนต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงในการตรวจยืนยัน เพราะอาการทางคลินิกของโรคจะคล้ายกับโรคอีโบลา ไทฟอยด์ และไข้จับสั่น ซึ่งวิธีตรวจยืนยัน คือ

  • ตรวจเลือด หรือตรวจสารคัดหลั่งเพื่อดูสารก่อภูมิต้านทาน หรือดูสารพันธุกรรมจากไวรัสนี้ เช่น การตรวจด้วยเทคนิคชั้นสูงที่เรียกว่า
    • ELISA (Enzyme linked immunosorbent assay   
    • RT-PCR ( Reverse transcriptase polymerase chain reaction)
    • หรือการตรวจหาเชื้อไวรัสนี้โดยตรงจากการเพาะเชื้อ(Virus isolation by cell culture)

*ซึ่งการตรวจยืนยันเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูง และสามารถให้การตรวจได้เพียงบาง  สถาบันทางการแพทย์ขนาดใหญ่ๆเท่านั้น

รักษาโรคมาร์บวร์กอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคมาร์บวร์ก/มาเบิร์ก จะเป็นการรักษาในโรงพยาบาลในหอผู้ป่วยเฉพาะโรคที่ต้องมีมาตรการในการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อในระดับสูงสุด ซึ่งการรักษา คือ การรักษาประคับประคองตามอาการ ร่วมกับการเฝ้าระวังการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง หรือมียาต้านไวรัสสำหรับโรคนี้

ก. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น

  • ให้น้ำและเกลือแร่/สารน้ำทางหลอดเลือดดำเพื่อรักษาภาวะขาดน้ำ และเพื่อให้ร่างกายอยู่ในสมดุลของน้ำและเกลือแร่
  • ร่วมกับ ให้เลือด เพื่อชดเชยเลือดที่เสียไป
  • ร่วมกับ รักษาแก้ไขภาวะไม่แข็งตัวของเลือด
  • อื่นๆ ตามอาการ: เช่น
    • ให้ออกซิเจน   
    • ให้ยา และ/หรือใช้อุปกรณ์ช่วยควบคุมการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด,  คงความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ, รวมถึงการทำงานของไต  เพื่อไม่ให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และ/หรือภาวะไตวาย   

ทั้งนี้ การรักษาประคับประคองตามอาการ ก็เพื่อไม่ให้เกิดภาวะล้มเหลวของอวัยวะสำคัญ เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ ตับ ไต และสมอง เพื่อค่อยๆประคับประคองให้ร่างกายค่อยๆสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ได้เอง จนสามารถกำจัดไวรัสนี้ได้ในที่สุด

ข. การเฝ้าระวังการติดเชื้อ: คือ การดูแลด้วยมาตรการคงการปลอดเชื้อระดับสูงสุดทั้งกับตัวผู้ป่วยเอง ไม่ให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน รวมไปถึงการดูแล ผู้ดูแลผู้ป่วย ไม่ให้ติดเชื้อจากผู้ป่วย

ทั้งนี้การรักษาโรคมาร์บวร์ก จำเป็นต้องใช้ระยะเวลานานหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน ขึ้นกับ ความรุนแรงของอาการ, อายุ, โรคประจำตัว, และสุขภาพเดิมของผู้ป่วยก่อนเริ่มการเจ็บป่วยครั้งนี้

โรคมาร์บวร์กมีการพยากรณ์โรคและผลข้างเคียงอย่างไร?

ดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ บทนำฯ’ และ ‘หัวข้อ อาการฯ’ โรคมาร์บวร์ก เป็นโรคติดต่อและเป็นโรคติดเชื้อที่รุนแรงอันตรายมาก  มีการพยากรณ์โรคที่แย่   อัตราตายประมาณ 20-90%  

การพยากรณ์โรคขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญ คือ ความรุนแรงของอาการ, สุขภาพร่างกายผู้ป่วยก่อนติดโรค, และประสิทธิภาพทางการแพทย์ในการให้การรักษาประคับประคองฯ

เมื่อรักษาหายจากโรคแล้ว ผู้ป่วยยังอาจมีปัญหาจากผลข้างเคียงระยะยาวของโรค ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิติผู้ป่วย   ซึ่งร่างกายจะค่อยๆฟื้นตัวช้าๆ  ต้องใช้ระยะเวลานานมักเป็นปี  ขึ้นกับความเสียหายของอวัยวะต่างๆที่เกิดขึ้นช่วงมีอาการ  รวมถึง อายุ และสภาพสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยด้วย    

ผลข้างเคียงจากโรคนี้ที่อาจพบได้ เช่น ผมร่วง, อัณฑะอักเสบ (ส่งผลถึง ภาวะมีบุตรยากจนถึงเป็นหมัน), ตับอักเสบเรื้อรัง, ไขสันหลังอักเสบ, และยูเวียอักเสบ (เนื้อเยื่อตาชนิดสำคัญอักเสบ ส่งผลมีปัญหาในการมองเห็น)

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมาร์บวร์ก/มาเบิร์ก จะเป็นการรักษาในโรงพยาบาลในหอผู้ป่วยเฉพาะโรคติดต่ออันตราย ซึ่งเมื่อหายและแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว การดูแลตนเองที่บ้านที่สำคัญที่สุด คือ   

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำอย่างเคร่งครัด
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • เมื่อมีอาการผิดปกติ หรืออาการที่ผิดไปจากก่อนออกจากโรงพยาบาล หรืออาการเหล่านั้นแย่ลง ควรต้องรีบด่วนกลับมาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด

ป้องกันโรคมาร์บวร์กอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน หรือยาตัวใดที่ใช้ป้องกันโรคมาร์บวร์กทั้งในคน และในลิง (แต่ในลิงมีวัคซีนแล้วโดยผู้วิจัย รายงานว่าได้ผลดี แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก และองค์การต่างๆทั่วโลกที่เกี่ยวข้อง)    

ดังนั้น ทั่วไปการป้องกันโรคนี้ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัย สรุป ได้แก่

  • ให้การศึกษากับประชาชนที่อยู่อาศัยในถิ่นที่มีเชื้อไวรัสนี้เป็นเชื้อประจำถิ่น ร่วมทั้งรัฐของประเทศนั้นๆ ต้องมีมาตรการในการดูแลเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ต้องทำงานในสถานที่ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น ถ้ำ และเหมืองร้างที่มีค้างคาวอาศัย รวมทั้งมาตรการในการแนะนำนักท่องเที่ยว
  • เมื่อจะไปท่องเที่ยว หรือทำงานในถิ่นที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ควรศึกษาหาข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ขอคำแนะนำในการดูแลตนเองในระหว่างอยู่ในแหล่งนั้นๆ  และ
    • เมื่อกลับออกมาแล้ว ก็ต้องสังเกตอาการตนเอง ถ้ามีไข้ภายใน 1 เดือน หลังจากออกจากแหล่งนั้นๆ ต้องรีบไปโรงพยาบาล และแจ้งคณะแพทย์ถึงปัจจัยเสี่ยง/การเดินทางของตน  
    • แต่ถ้าเป็นไปได้ ควรงดการเดินทางไปยังถิ่นที่ไวรัสนี้เป็นโรคประจำถิ่น ยกเว้นมีมาตรการในการป้องกันการติดเชื้อที่มีมาตรฐานเพียงพอ
  • เมื่อเป็นญาติ หรือผู้ดูแลผู้ป่วย: ต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล  ในด้านมาตรการป้องกันการติดโรค ที่รวมถึงการจัดการศพกรณีผู้ป่วยเสียชีวิต
  • เมื่อเป็นผู้ป่วย: ก็ต้องปฏิบัติตนเคร่งครัดถึงแม้จะอยู่ในหอแยกผู้ป่วย เพื่อช่วยกันป้องกันการระบาดของโรคสู่บุคคลอื่นที่รวมถึงทีมบุคคลากรทางการแพทย์ และครอบครัวที่ดูแลผู้ป่วย
  • แพทย์ พยาบาล และทีมงาน: ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการสูงสุดในการป้องกันการติดเชื้อ เช่น ในเรื่องการแต่งกาย การปลอดเชื้อของเครื่องมือทางการแพทย์, รวมถึงโรงพยาบาลก็ต้องมีมาตรการสูงสุดในการดูแลขยะทางการแพทย์
  • ในผู้ป่วยเพศชายที่หายจากโรคแล้ว: ต้องป้องกันการแพร่เชื้อดังได้กล่าวใน ‘หัวข้อโรคมาร์บวร์กติดต่อได้อย่างไร, หัวข้อย่อย ‘ช่วงเวลาที่โรคมาร์บวร์กสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้’

บรรณานุกรม

  1. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/marburg-virus-disease [2023,March4]   
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Marburg_virus_disease [2023,March4]   
  3. https://www.ecdc.europa.eu/en/infectious-disease-topics/z-disease-list/ebola-virus-disease/facts/factsheet-about-marburg-virus [2023,March4]   
  4. https://www.canada.ca/en/public-health/services/laboratory-biosafety-biosecurity/pathogen-safety-data-sheets-risk-assessment/marburg-virus.html [2023,March4]   
  5. https://ddc.moph.go.th/law.php?law=1  [2023,March4]