ยูเวียอักเสบ การอักเสบของยูเวีย (Uveitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

คำว่า ยูเวีย (Uvea) เป็นภาษาละติน พจนานุกรมศัพท์แพทยศาสตร์ฉบับราชบัณฑิตย สถาน พ.ศ. 2547 แปลว่า ผนังลูกตาชั้นกลาง แต่ในบทความนี้ขอเรียกทับศัพท์ว่า ยูเวีย หมาย ถึง องุ่น (เพราะเนื้อเยื่อนี้มีลักษณะและสีคล้ายเนื้อองุ่นดำ) เป็นเปลือกลูกตาชั้นกลางซึ่งเนื้อเยื่อมีเซลล์ที่มีสารสี/สารให้สี (Pigment) ร่วมกับมีหลอดเลือดและเลือดไหลผ่านจำนวนมากที่ทำหน้าที่ให้อาหารเลี้ยงลูกตาส่วนอื่นๆ

ยูเวีย แบ่งได้เป็น 3 ส่วน ส่วนหน้าสุดคือ ม่านตา (Iris) ส่วนหลังสุดคือ เนื้อเยื่อคอรอยด์(Choroid) และส่วนตรงกลางคือเนื้อเยื่อ Ciliary body เนื่องจากยูเวียเป็นส่วนที่เลือดไหลผ่านมาก ความผิดปกติจากการติดเชื้อเซลล์มะเร็งจากบริเวณอื่นของร่างกาย ตลอดจนสารให้ภูมิคุ้ม กัน (Immune complex) อาจมาตามกระแสเลือดและก่อให้เกิดปฏิกิริยาหรือการอักเสบเกิดขึ้น กับยูเวียได้

การอักเสบของยูเวียเรียกรวมๆว่า Uveitis ซึ่งหมายถึงการอักเสบของยูเวียและอาจอัก เสบร่วมกับเนื้อเยื่อใกล้เคียง รวมถึงกับจอตาที่อยู่ชิดติดกับ Choroid

  • เมื่อเป็นการอักเสบที่ม่านตาเรียกว่า ม่านตาอักเสบ(Iritis)
  • หรือเมื่อเป็นการอักเสบที่ Ciliary body เรียกว่า Cyclitis
  • แต่หากพบการอักเสบทั้งม่านตาและ Ciliary เรียกกันว่า Anterior uveitis (การอักเสบของยูเวียส่วนหน้า)
  • แต่เมื่อเป็นการอักเสบที่คอรอยด์ (Choroid) ที่เป็นเนื้อเยื่อส่วนหลัง ซึ่งมักจะมีจอตาที่อยู่ชิดกับคอรอยด์มีการอักเสบร่วมด้วย เรียกว่า การอักเสบของยูเวียส่วนหลัง (Chorio retinitis หรือ choroiditis)
  • แต่เมื่อเป็นการอักเสบของยูเวียส่วนกลางที่เรียกว่า Pars plana เรียกว่า Intermediate uveitis หรือคำเดิมเรียกว่า Par planitis

การอักเสบของยูเวียเป็นโรคของผู้ใหญ่ พบได้บ่อยขึ้นในช่วงอายุ 20 - 50 ปี ผู้ชายและผู้ หญิงมีโอกาสเกิดได้เท่ากัน โดยมีรายงานในสหรัฐอเมริกาพบโรคได้ประมาณ 25-52 รายต่อประชากร 1 แสนคน

อนึ่ง แบ่งการอักเสบของยูเวียได้หลายรูปแบบ ได้แก่

ก. แบ่งการอักเสบของยูเวียตามกายวิภาค: โดยแบ่งได้เป็น

1. การอักเสบยูเวียส่วนหน้า (Anterior uveitis)

2. การอักเสบยูเวียส่วนกลาง (Intermediate uveitis)

3. การอักเสบของยูเวียส่วนหลัง (Posterior uveitis) ซึ่งอาจมีการอักเสบของจอตาร่วมด้วย

4. การอักเสบของเนื้อเยื่อทุกชั้นของยูเวีย เรียกว่า Panuveitis

ข. แบ่งการอักเสบของยูเวียตามการดำเนินโรค: แบ่งได้เป็น

1. แบบเฉียบพลัน (Acute) คือ เกิดการอักเสบอย่างรวดเร็วและกินเวลาไม่เกิน 3 เดือน

2. แบบเรื้อรัง (Chronic) คือ เป็นการอักเสบแบบต่อเนื่องเกิน 3 เดือน หรือเป็นๆหาย ๆนานเกิน 3 เดือน กล่าวคือไม่สามารถหยุดยาได้นานกว่า 3 เดือน

ค. แบ่งการอักเสบของยูเวียตามสาเหตุการเกิดโรค: แบ่งได้เป็น

1. เกิดหลังอุบัติเหตุบริเวณลูกตา ที่รวมถึงการอักเสบที่เกิดหลังผ่าตัด

2. เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย ได้แก่ ซิฟิลิส วัณโรค หรือเชื้อไวรัส เช่น โรคหัดเยอรมัน เชื้อ CMV/Cytomegalo virus (โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไว รัส) แม้แต่ติดเชื้อราก็พบได้ เช่น เชื้อ Candida และตลอดจนการติดเชื้อปรสิต (Parasite) ก็พบได้ เช่น ตืดหมู เป็นต้น

3. เกิดจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ เช่น โรคออโตอิมมูน (Autoim mune)

4. ไม่รู้สาเหตุ แพทย์หาสาเหตุไม่พบ (Idiopathic)

ยูเวียอักเสบมีอาการอย่างไร?

ยูเวียอักเสบ

อาการจากยูเวียอักเสบได้แก่

ก. การอักเสบของยูเวียส่วนหน้า: อาการที่พบได้คือ

1. ปวดตา ตามัว ตาสู้แสงไม่ได้ ตาแดงในส่วนรอบๆตาดำ น้ำตาไหล

2. เมื่อตรวจภายในลูกตา จะพบมีเซลล์แสดงถึงการอักเสบในช่องด้านหน้าลูกตา(Anterior chamber) ถ้ามีการอักเสบมาก อาจเห็นเป็นหนอง (Hypopyon)ได้ และอาจมีเซลล์อักเสบติดที่กระจกตาด้านหลัง (Keratitic precipitate) อาจพบตุ่มอักเสบบริเวณม่านตาที่เรียก Iris nodule รูม่านตามีขนาดเล็ก อาจมีม่านตาดึงมาอยู่ติดกับแก้วตา (Posterior synechiae) หรือดึงมาติดกับกระจกตาบริเวณขอบๆตาดำ (Peripheral anterior synechiae)

ข. การอักเสบส่วนหลัง: อาการที่พบ คือ

1. ตามัว เห็นอะไรลอยไปมา ตาอาจแดงเล็กน้อยหรือปกติ ปวดตา ไม่ค่อยมีอาการสู้แสงไม่ได้

2. ตรวจพบเซลล์ แสดงถึงการอักเสบใน vitreous น้ำวุ้นตาขุ่น

3. อาจพบมีเลือดออกที่จอตาหรือมีน้ำ/ของเหลวรั่วออกใต้จอตา ทำให้จอตาหลุดลอกร่วมด้วย บางรายพบจอตาส่วนกลางบวม (Cystoid macular edema) ซึ่งเป็นสาเหตุของตามัวมาก และอาจมีการบวมของขั้ว/จานประสาทตา

โรคไม่ติดเชื้อที่มักพบร่วมกับยูเวียอักเสบมีโรคอะไรบ้าง?

การอักเสบของยูเวียที่มักเกิดร่วมกับโรคทางกาย (การอักเสบของยูเวียส่วนหน้ามักพบร่วมกับโรคทางกายได้หลายโรค) ที่พบบ่อย เช่น

1. โรค Ankylosing spondylitis / ข้อสันหลังอักเสบยึดติด(โรคกระดูกอักเสบชนิดหนึ่ง): เป็นโรคที่พบในชายมากกว่าหญิง ตรวจเลือดจะพบสารทางภูมิคุ้มกัน HLA–B27 (HLA = human leucocyte antigen) ได้ถึง 90% ของผู้ป่วย โดยมีอาการปวดหลังบริเวณเอวส่วนล่างไปถึงก้นกบ อาการมากตอนตื่นนอนเช้าและอาการดีขึ้นเมื่อเริ่มเคลื่อนไหว บางรายอาจมีอาการที่เอ็นร้อยหวาย (Achilles tendon) ถ่ายภาพเอกซเรย์กระดูกสันหลัง จะเห็นลักษณะผิดปกติที่เรียก Bamboo spine (กระดูกสันหลังลักษณะคล้ายปล้องไม้ไผ่) อาการทางตาเป็นการอักเสบของยูเวียส่วนหน้า นอกจากอาการทางข้อและทางตา ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการของโรคทางหัวใจและโรคหลอดเลือด อาจมีเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้ หรือแม้แต่ความผิดปกติทางปอดและไตก็อาจพบได้

2. Reiter’s syndrome: มีอาการหลัก 3 อย่าง ได้แก่ ข้ออักเสบ, ม่านตาอักเสบหรือเยื่อบุตาอักเสบ, และท่อปัสสาวะอักเสบ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักตรวจเลือดพบสาร HLA-B27 เช่น กัน ภาวะม่านตาอักเสบที่พบในโรคนี้มักจะไม่ค่อยรุนแรง

3. โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis): นอกจากมีผื่นสะเก็ดเงินชัดเจน อาจมีอาการทางข้อและม่านตาอักเสบได้ อาการทางตามักจะไม่ค่อยรุนแรง โรคนี้การตรวจเลือดพบสาร HLA-B27 เช่นกัน

4. ลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease): โดยมีอาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง มีท้องเดินสลับท้องผูก บางรายมีลักษณะลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis) อาการอักเสบของยูเวียมักจะสัมพันธ์กับอาการทางลำไส้ อาจพบการอัก เสบของยูเวียส่วนหลังได้ และการตรวจเลือดพบสาร HLA-B27 เช่นกัน

5. โรคข้ออักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุในเด็ก (Juvenile idiopathic arthritis - JIA) และ Juvenile rheumatoid arthritis (JRR): มีบางรายตรวจเลือดพบสาร HLA-B27 ด้วย มีทั้งที่ปวดบางข้อและปวดหลายข้อ มักมีอาการทางตาหลังปวดข้อหลายปี แต่บางรายอาจเกิดก่อนอาการทางข้อก็ได้ เด็กภาวะ JIA หรือ JRA จึงควรรับการตรวจตาดูภาวะการอัก เสบของยูเวียด้วย

6. Sarcoidosis: เป็นภาวะที่เกิดการอักเสบในร่างกายหลายระบบ อาการเริ่มต้นคือ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด พบความผิดปกติที่ปอด (Interstitial lung disease) มีตุ่มที่ผิวหนัง อาจมีอาการทางหัวใจ ความผิดปกติของระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร ไต โรคเลือด ปวดข้อ และโรคทางตา มักพบม่านตาอักเสบ ตาแห้ง สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบชัดเจน บางการศึกษา เชื่อว่าน่าจะเป็นจากภูมิคุ้มกันตัวเองผิดปกติ บางการศึกษาเชื่อว่ามีการติดเชื้อในร่างกาย และมีพันธุกรรมผิดปกติที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

7. โรคเบเซ็ท(Behcet’s disease) : เชื่อว่าเป็นโรคหนึ่งในกลุ่มโรคออโตอิมมูน มีลักษณะ 3 ประการ ได้แก่

  • มีแผลที่ปาก/แผลร้อนใน (Aphthous)แผลที่อวัยวะเพศ
  • มีตุ่มที่ผิวหนัง
  • และโรคทางตา คือมียูเวียอักเสบส่วนหน้าหรือส่วนหลัง รวมทั้งการอักเสบของจอตาและขั้วประสาทตาได้

ทั้งนี้ อาการอื่นที่อาจพบได้ เช่น

  • ปวดศีรษะ
  • ข้ออักเสบ
  • ปวดท้อง
  • ระบบขับถ่ายผิดปกติ

โรคติดเชื้ออะไรที่มักพบเป็นสาเหตุยูเวียอักเสบ?

ยูเวียอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ มักพบในการอักเสบของยูเวียส่วนหลัง และเชื้อที่เป็นสาเหตุและโรคที่พบร่วมด้วยที่พบบ่อย ได้แก่

1. วัณโรค: อาจทำให้เกิดการอักเสบในลูกตาจากเชื้อโดยตรง หรือจากปฏิกิริยาภูมิ คุ้มกันของร่างกายต่อเชื้อวัณโรคที่เกิดบริเวณอื่นในร่างกายก็ได้ เป็นได้ทั้งการอักเสบของยูเวียส่วนหน้าและส่วนหลัง บางรายมีอาการทางตาหลังจากเป็นวัณโรคที่ปอด หรือบางรายเกิดอา การทางตาหลังจากวัณโรคที่ปอดหายดีแล้ว การเอกซเรย์ภาพปอดอย่างเดียวจึงวินิจฉัยวัณโรคไม่ได้ จำเป็นต้องตรวจอย่างอื่น เช่น ทำ Tuberculin test, การตรวจเชื้อเสมหะ, การตรวจย้อมเชื้อจากเสมหะ และอาจต้องตรวจทางพันธุกรรมจากสารน้ำในลูกตาด้วยเทคนิคที่เรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction)

2. ซิฟิลิส: อาการทางตาจะมีอาการคล้ายจากการติดเชื้อวัณโรค การวินิจฉัยส่วนใหญ่ได้จากการตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานโรคนี้

3. Toxoplasma: เป็นเชื้อปรสิตในแมว คนเราอาจติดเชื้อจากกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อนี้จากอุจจาระสัตว์หรือในน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือผ่านทางรกจากมารดาสู่บุตร (Congenital toxoplasma) การอักเสบภายในตา ซึ่งจะเป็นมากที่จอตาและที่น้ำวุ้นตา

4. ติดเชื้อไวรัส : เช่น เริม (Herpes), หัดเยอรมัน , เชื้ออีวีบี (โรคติดเชื้อ อีบีวี)

5. ติดเชื้อรา: เช่น Candida , Histoplasmosis, Aspergillous, Coccidioidomycosis

6. เชื้อปรสิต: เช่น Toxocara, Cysticercosis/ตืดหมู, โรคเจียอาร์ไดอาซิส/ Giardia lambia เป็นต้น

โรคทางภูมิคุ้มกันอะไรบ้างที่เป็นสาเหตุยูเวียอักเสบ?

การอักเสบของยูเวีย ที่การศึกษาเชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันหรือที่ไม่ทราบสาเหตุ เช่น

1. Vogt - Koyanagi - Harada (VKH): การศึกษาเชื่อว่าเป็นโรคจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ เป็นเหตุให้เกิดโรคในร่างกายหลายระบบ เช่น มีไข้ คอแข็งคล้ายไข้สมองอักเสบ (บางรายอาจมีอาการเหล่านี้น้อยมาก) การสูญเสียการได้ยิน มีอาการทางตาคือมีการอักเสบของยู เวียได้ทั้งส่วนหน้าและส่วนหลัง

2. Synpathetic ophthalmia: เป็นภาวะที่มีการอักเสบของยูเวียได้ทุกชั้นในตา 2 ข้าง ในกรณีที่ตาได้รับอุบัติเหตุข้างหนึ่ง โดยอุบัติเหตุนั้นรุนแรงจนมีเนื้อเยื่อชั้นยูเวียทะลุออก มาข้างนอกลูกตา เป็นเหตุที่ในสมัยก่อน หากผู้ป่วยได้รับอุบัติเหตุตาข้างหนึ่งรุนแรงมากจนไม่มีสายตาเหลืออยู่ หมอมักแนะนำให้เอาตาข้างได้รับอุบัติเหตุออกเพื่อป้องกันตาดี กล่าวกันว่าเป็น เพราะเนื้อเยื่อของยูเวียเข้าไปในกระแสเลือด ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในตาดีที่ออกมาในรูปการอัก เสบของยูเวียทั้ง 2 ตา การตัดวงจรนี้ออกยิ่งเร็ว การเสี่ยงต่อภาวะนี้ยิ่งน้อยลง ในปัจจุบันภาวะนี้พบน้อยลงด้วยกระบวนการรักษาที่ดีขึ้น เก็บเนื้อเยื่อยูเวียที่ออกมาข้างนอก เย็บซ่อมแผลได้ดีขึ้นภายใต้กล้องจุลทรรศน์ รวมทั้งมีการใช้ยากดภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติที่เป็นยาที่ดีกว่าในอดีต

3. ยังมีภาวะการอักเสบของยูเวียส่วนหลังร่วมกับจอตาที่ไม่ทราบสาเหตุ เช่น โรค Serpigenous choroiditis, Birdshot retinochoroiditis เป็นต้น

4. Lens induced uveitis: ในผู้ป่วยโรคต้อกระจกบางรายที่ละเลยไม่รับการผ่าตัด จนต้อสุก จนมีโปรตีนในแก้วตารั่วออกมาข้างนอกแก้วตา ก่อให้เกิดภาวะยูเวียอักเสบได้ ซึ่งจำ เป็นต้องแก้ไขรักษาโดยผ่าตัดเอาต้อกระจกออก

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

โดยทั่วไป ภาวะอักเสบของยูเวียมักจะเรื้อรัง มีตาพร่ามัว ตาแดง เมื่อมีอาการเหล่านี้ ควรต้องพบแพทย์/จักษุแพทย์ทันที เพราะภาวะยูเวียอักเสบนี้อาจทำให้ตามัวลงและทำให้ตาบอดได้ หากไม่แก้ไขรักษาอย่างทันท่วงที

แพทย์วินิจฉัยยูเวียอักเสบอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นยุเวียอักเสบและหาสาเหตุของการอักเสบ ได้จาก

  • ประวัติอาการ ประ วัติทางการแพทย์ต่างๆ (เช่น โรคประจำตัว อุบัติเหตุ)
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจตา
  • และการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ เช่น
    • ตรวจเลือดหาสารภูมิคุ้มกัน/สารภูมิต้านทาน และ/หรือ สารก่อภูมิต้านทานต่างๆตามโรคที่แพทย์สงสัยว่าเป็นสาเหตุ เช่น ซิฟิลิส
    • ตรวจเลือดดูค่าสาร HLA
    • ตรวจเลือดเพื่อการวินิจฉัยโรคซิฟิลิส
    • เอกซเรย์ภาพปอด
    • เอกซเรย์ภาพกระดูกสันหลังส่วนที่มีอาการปวดหลัง
    • การตรวจสารทางพันธุกรรมด้วยเทคนิคที่เรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction)
    • และอื่นๆตามดุลพินิจของแพทย์และอาการของผู้ป่วย เพื่อตรวจหาโรคต่างๆที่อาจพบร่วมกับการอักเสบของยูเวีย

รักษายูเวียอักเสบอย่างไร?

การรักษายูเวียอักเสบ ประกอบด้วย

  • การรักษาโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุหรือที่เกิดร่วมกับการอักเสบของยูเวีย ดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อเรื่อง โรคต่างๆที่พบร่วมกับยูเวียอักเสบฯ’ เช่น
    • การรักษาโรคซิฟิลิส
    • การรักษาวัณโรค
    • การรักษาตืดหมู
    • และร่วมกับการรักษาภาวะยูเวียอักเสบ
  • โดยการรักษาการอักเสบของยูเวียประกอบด้วย
    • การใช้ยาในกลุ่ม Corticosteroid (ยาสเตียรอยด์) ทั้งในรูปแบบ ยาหยอดตา ยารับประทาน ตลอดจนยาฉีด
    • ใช้ยา Cyto toxic agent (ยาในกลุ่มยาเคมีบำบัด) เช่นยา Methotrexate, Cyclophosphamide, Chlorambucil

ยูเวียอักเสบก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากยูเวียอักเสบ เช่น

1. ต้อกระจก: การอักเสบของยูเวียส่วนหน้า ซึ่งจะนำมาซึ่งต้อกระจกชนิด Posterior subcapsular

2. ต้อหิน: เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เซลล์ในช่องด้านหน้าของลูกตาไปอุดช่อง ทางที่เรียกว่า Trabecular meshwork จึงขัดขวางการไหลเวียนของสารน้ำในลูกตา และการอัก เสบเรื้อรังของยูเวียทำให้เกิดพังผืด (Synechias) ในบางรายอาจร่วมกับการอักเสบของ Trabe cular meshwork (Trabeculitis)

3. มีการหลุดลอกของ Choroid: ทำให้ความดันตาลดลง (Hypotony) ส่งผลให้การมองเห็นภาพผิดปกติ

4. อาจมีพังพืดในช่องด้านหน้าลูกตา: เช่น Iiris pupillary หรือ Cyclitic mem brane ส่งผลให้การมองเห็นภาพผิดปกติ

5. อาจเกิดภาวะจอตาบวม (Retina edema): จอตาหลุดลอก หรือ ภาวะ optic neuri tis ส่งผลให้ตามัวอาจถึงตาบอดได้

6. ผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากยาที่รักษา: เช่น เม็ดเลือดขาวต่ำ ส่งผลให้ติดเชื้อได้ง่ายทั้งในลูกตาและในร่างกายส่วนต่างๆ รวมไปถึงการเกิดต้อหิน

ยูเวียอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ยูเวียอักเสบมีความรุนแรงของโรค/การพยากรณ์โรคต่างๆกัน บางคนเป็นน้อยและหาสา เหตุพบ โรคมักจะหายขาดหลังการรักษา แต่บางคนหาสาเหตุไม่ได้ หรือเป็นร่วมกับโรคทางกาย ที่เรื้อรัง มักจะต้องรักษาต่อเนื่องและมีแนวโน้มสูญเสียสายตาไปเรื่อยๆ การหมั้นตรวจรักษาและพบแพทย์/จักษุแพทย์สม่ำเสมอ จะช่วยชะลอไม่ให้มีการสูญเสียสายตาได้

ดูแลตนเองอย่างไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นยูเวียอักเสบคือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ ทั้งแพทย์ พยาบาลที่ดูแลโรคต่างๆ และจักษุแพทย์ พยาบาลที่ดูแลอาการทางตา
  • กินยาต่างๆที่แพทย์ทุกท่านสั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • ควบคุม รักษาโรคที่เป็นสาเหตุอย่างจริงจัง
  • พบแพทย์ทุกๆท่านตามนัดเสมอ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ เมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง รวมถึงอาการจากโรคต่าง ๆ และ/หรืออาการทางตา
    • มีอาการใหม่เกิดขึ้น
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ระคายเคืองตามากจากการหยอดยาหยอดตาทุกๆครั้ง
    • และ/หรือเมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันยูเวียอักเสบอย่างไร?

การป้องกันยูเวียอักเสบที่ป้องกันได้คือ เรื่องของการติดเชื้อ ส่วนสาเหตุอื่นยังไม่มีวิธีป้องกัน

โดยการป้องกันการติดเชื้อจะเช่นเดียวกับการติดเชื้อจากทุกๆโรค ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • กิน อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตามควรกับสุขภาพ ทุกวัน

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/798323-overview#showall [2019,March23]