โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ (Dermatomyositis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อาการอ่อนแรงมีสาเหตุหลัก คือ จากโรคหลอดเลือดสมอง และจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของ เกลือแร่ในเลือด, ผลข้างเคียงของยาลดไขมัน, โรคต่อมไร้ท่อ, กล้ามเนื้ออักเสบจากการติดเชื้อและที่ไม่ติดเชื้อ ที่ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งของกล้ามเนื้ออัก เสบที่ควรทราบคือ โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ (Dermatomyositis) ซึ่งโรคนี้มีอาการอย่างไร รักษาหายหรือไม่ ท่านจะได้ทราบจากบทความนี้

โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบคืออะไร?

โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ

โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ คือ โรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือด (หลอดเลือดอักเสบ) ในผิวหนังและในกล้ามเนื้อ จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติของผิวหนังและของกล้ามเนื้อตามมา

โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบเกิดได้อย่างไร?

โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบนี้ เกิดขึ้นจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (Autoimmune disorder) ที่กลไกการเกิดที่แน่ชัดยังไม่ทราบ แต่จากการศึกษาสันนิษฐานว่า เกิดจากการติดเชื้อบางชนิด หรือมีสิ่งกระตุ้น/ตัวกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันฯ ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันฯนี้ไปทำร้ายต่อผิวหนังและต่อกล้ามเนื้อ จนก่อให้เกิดอาการผิดปกติขึ้น

โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการผิดปกติที่พบบ่อยในโรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ คือ

  • อาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณ ต้นแขน ต้นขา ไหล่ สะโพก
  • อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวด โดยไม่มีอาการชา
  • อาการกลืนอาหารลำบาก สำลักอาหาร
  • อาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไข้ต่ำๆ ทานอาหารได้น้อยลง น้ำหนักลดลง
  • อาการทางผิวหนัง คือ มีผื่นสีม่วงคล้ำตามผิวหนังทั่วไป พบบ่อย บริเวณใบหน้า รอบเบ้าตา บริเวณนิ้วมือ ข้อศอก เข่า หน้าอก และแผ่นหลัง

ควรไปพบแพทย์เมื่อใด?

ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เสมอ เมื่อมีอาการปวด และ/หรืออ่อนแรงที่เป็นขึ้นมาใหม่แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และอาการไม่ดีขึ้น และ/หรืออาการเพิ่มมากขึ้น

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ?

โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ พบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบบ่อย 2 ช่วงอายุ คือ ช่วงวัยรุ่น และผู้สูงอายุ ผู้ป่วยบางรายพบร่วมกับโรคมะเร็งได้หลายชนิด โดยเฉพาะโรคมะ เร็งของอวัยวะภายใน เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนั้นคือ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

แพทย์วินิจฉัยโรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ จากอาการผิดปกติข้างต้นที่กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ ร่วมกับการตรวจร่างกาย พบกล้ามเนื้ออ่อนแรง และผื่นผิวหนังผิดปกติ ซึ่งแพทย์จะตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดดูระดับเอนไซม์ของกล้ามเนื้อ จะพบว่ามีระดับสูงขึ้นมาก ร่วมกับการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (อี เอ็ม จี) พบความผิดปกติที่เข้าได้กับกล้ามเนื้ออัก เสบ แพทย์ก็จะตัดชิ้นเนื้อของกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อยืนยันการวินิจฉัยที่แน่นอน นอกจากนี้ยังอาจตรวจเลือดเพื่อหาโรคร่วมหรือสาเหตุอื่นๆ เช่น ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค และการตรวจสืบค้นว่ามีโรคมะเร็งร่วมด้วยหรือไม่

โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบรักษาอย่างไร?

โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ รักษาด้วยการให้ยาสเตียรอยด์ บางกรณีอาจจำเป็น ต้องให้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคร่วมด้วย และถ้าพบว่ามีโรคมะเร็งร่วมด้วย ก็จะให้การรักษาโรคมะเร็งนั้นๆร่วมไปด้วย

นอกจากนั้นคือ การทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ไม่เกิดภาวะกล้าม เนื้อลีบ

โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ คือ

  • กรณีไม่มีโรคมะเร็งร่วมด้วย จะตอบสนองต่อการรักษาดี มีโอกาสหายสูงมาก มีเพียงส่วนน้อยที่รักษาไม่หาย ที่ทำให้มีโอกาสเป็นอัมพาต แขนขาอ่อนแรงได้
  • แต่ถ้าพบร่วมกับโรคมะเร็ง การพยากรณ์โรคก็ขึ้นอยู่กับชนิด และระยะโรคมะเร็งที่พบร่วมด้วย ว่าเป็นชนิดที่รักษาหายหรือไม่

โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบมีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่?

ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่พบได้จากโรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ เช่น สำลักอา หาร ซึ่งจะส่งผลให้ปอดติดเชื้อ (ปอดอักเสบ/ปอดบวม) ได้ง่าย, กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ/หัวใจเสียจังหวะ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา เช่น จากผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์ที่ส่งผลให้เกิด โรคเบาหวาน โรคกระดูกบาง และภาวะติดเชื้อได้ง่าย ทั้งจากยาสเตียรอยด์และยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค

การดูแลตนเองที่บ้านทำอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ ประกอบด้วย

  • ทานยารักษาที่แพทย์สั่งให้สม่ำเสมอ และพบแพทย์ตามนัด
  • ระวังเรื่องการติดเชื้อ ระหว่างทานยาสเตียรอยด์และยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ควรทานอาหารสุกๆ หลังปรุงเสร็จทันที ไม่ควรทานของหมักดองหรืออาหารค้างคืน เพราะอาจติดเชื้อได้ง่าย หลีกเลี่ยงการอยู่ในชุมชนแออัด เพราะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายเช่นกัน
  • ทำกายภาพบำบัดตามแพทย์ นักกายภาพบำบัด พยาบาล แนะนำตลอดไป เริ่มทำเมื่ออาการปวดกล้ามเนื้อลดลง เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และป้องกันกล้ามเนื้อลีบ

เมื่อใดที่ต้องพบแพทย์ก่อนนัด?

กรณีทานยาแล้วมีผลแทรกซ้อน เช่น ปัสสาวะบ่อย ผอมลง (จากเป็นเบาหวาน), บวมมากขึ้น มีไข้ เจ็บคอ มีผื่นขาวในปาก (ติดเชื้อรา) เพราะอาจเกิดจากการติดเชื้อ เนื่องจากเม็ดเลือดขาวในเลือดลดต่ำลงมาก, มีอาการปวดกล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้น, เมื่ออาการต่างๆเลวลง, เมื่อมีอาการใหม่ที่ผิดไปจากเดิม, และ/หรือ เมื่อกังวลในอาการ ก็ต้องมาพบแพทย์ก่อนนัด

โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบป้องกันได้หรือไม่?

โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ ไม่สามารถป้องกันได้เต็มร้อย เพราะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ก็ควรดูแลตนเองให้มีสุขภาพแข็งแรง โดยออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนเพียงพอ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสเกิดติดเชื้อต่างๆ ที่จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคนี้ลงได้

สรุป

จะเห็นได้ว่าระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ผิดปกติ ส่งผลต่อสุขภาพได้มาก มีโรคมาก มายที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันฯผิดปกติ การดูแลตนเองให้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เครียด พักผ่อนเพียงพอ รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันฯร่างกายเป็นปกติ