อ่อนแรง อาการอ่อนแรง (Motor Weakness)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อาการอ่อนแรง (Motor weakness) หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า อัมพาตนั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้นกับตนเองและคนที่รัก แต่บางครั้งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น เราจึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับอาการอ่อนแรงว่าคืออะไร เมื่อไหร่เราจึงต้องไปพบแพทย์เพื่อให้การรักษาที่ถูก ต้องต่อไป บทความนี้จะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับการดูแลตนเองเบื้องต้นเกี่ยวกับอาการอ่อนแรง

อาการอ่อนแรงคืออะไร?

อ่อนแรง

อาการอ่อนแรง คือ อาการผิดปกติทางระบบประสาทอย่างหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ร่างกายไม่สามารถบังคับให้กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวหรือทำงานได้ตามปกติ เช่น

  • อ่อนแรงของแขน แขนก็จะไม่สามารถยกขึ้นหรือขยับได้ตามปกติ
  • อ่อนแรงของขา ขาก็ไม่สามารถลุก นั่ง ยืน หรือเดินได้ตามปกติ
  • รวมทั้งการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อเปิดปิดตา ก็ส่งผลให้หลับตา ลืมตาไม่ปกติ

อาการอ่อนแรงเกิดขึ้นจากอะไร?

อาการอ่อนแรง เกิดขึ้นจากระบบประสาทสั่งการ/ระบบสั่งการ (Motor system) มีความผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งระบบสั่งการนี้ ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ

  • ระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system:CNS) ซึ่ง ประกอบด้วย สมองและไขสันหลัง (Brain and spinal cord) และ
  • ระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral nervous system:PNS) ซึ่งประกอบด้วยเซลล์ประ สาทในไขสันหลัง (Anterior horn cell) รากประสาท (Nerve root) เส้นประสาท (Nerve) กล้ามเนื้อ (Muscle) และรอยต่อระหว่างเส้นประสาทกับกล้ามเนื้อ (Neuromuscular junction :NMJ)

การที่มีพยาธิสภาพ หรือรอยโรคบริเวณส่วนหนึ่งส่วนใดของระบบประสาทสั่งการ ทั้งในส่วนระบบประสาทส่วนกลาง และ/หรือ ระบบประสาทส่วนปลาย จะส่งผลให้มีอาการอ่อนแรงเกิดขึ้น โดยอาการอ่อนแรงที่มีรอยโรคในแต่ละส่วนของระบบสั่งการ จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจากลักษณะที่แตกต่างกันนี้เอง ทำให้แพทย์สามารถบอกได้ว่าอาการอ่อนแรงในผู้ ป่วยแต่ละคนนั้น มีรอยโรคอยู่ที่ส่วนไหนของระบบสั่งการ

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของอาการอ่อนแรงมีอะไรบ้าง?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่พบได้บ่อยของอาการอ่อนแรง ประกอบด้วย

  • ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง Muscular dystrophy ที่พบในผู้ที่มีประ วัติครอบครัว หรือคนในชุมชนเดียวกันมีประวัติเป็นโรคนี้ หรือการแต่งงานในหมู่ญาติ เพราะคนกลุ่มเหล่านี้มีโอกาสถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมได้สูง
  • อุบัติเหตุต่อสมอง ไขสันหลังหรือเส้นประสาท (Trauma Injury) พบบ่อยในกลุ่มวัยรุ่น ขี่มอ เตอร์ไซด์ ไม่สวมหมวกกันน็อก และดื่มสุรา
  • โรคหลอดเลือดสมอง เช่น หลอดเลือดสมองตีบ ตัน หรือแตก (อัมพาต/ Stroke) ซึ่งพบบ่อยใน ผู้สูง อายุ ผู้มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย และผู้ที่สูบบุหรี่
  • โรคการอักเสบของกล้ามเนื้อหรือเส้นประสาท (Inflammation) พบบ่อยในผู้ป่วยที่มีโรคระ บบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ/โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune disorder ) เช่น โรคลูปัส-โรค เอสแอลอี
  • โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine) หรือความผิดปกติทางเมตาโบลิก/กลุ่มอาการเมตาโบลิก (Metabolic disorder) เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ, ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน พบบ่อยในผู้มีประวัติครอบครัวเป็นโรคในระบบนี้
  • โรคเนื้องอกต่างๆ (Tumor) ในระบบประสาท เช่น เนื้องอกสมอง เนื้องอกไขสันหลัง
  • โรคมะเร็งจากอวัยวะอื่นๆแล้วแพร่กระจายสู่ สมอง และ/หรือไขสันหลัง ซึ่งเป็นภาวะพบบ่อย เช่น โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งเต้านม
  • โรคติดเชื้อ (Infection) ในระบบประสาท เช่น ฝีในสมอง พบเกิดบ่อยในผู้ป่วยโรคหัวใจพิ การแต่กำเนิด แลผู้ป่วยโรคหูน้ำหนวก

เมื่อมีอาการอ่อนแรง เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?

ผู้ป่วยเมื่อมีอาการอ่อนแรงควรต้องไปพบแพทย์ในกรณีต่อไปนี้

  • อาการอ่อนแรงนั้นเป็นขึ้นมาทันที หรือเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
  • อาการอ่อนแรงร่วมกับอาการไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน ตาพร่ามัว
  • อาการอ่อนแรงที่เป็นรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
  • อาการอ่อนแรงร่วมกับอาการปวดกล้ามเนื้อ
  • อาการอ่อนแรงร่วมกับ ปัสสาวะ อุจจาระ ลำบาก
  • อาการอ่อนแรงร่วมกับอาการเหนื่อย หายใจลำบาก
  • ถ้ามีความไม่มั่นใจหรือสังเกตอาการอ่อนแรงของตนเองแล้ว รู้สึกว่าอาการไม่ดีขึ้นเลย ก็ควรพบแพทย์ด้วยเช่นกัน

แพทย์วินิจฉัยอาการอ่อนแรงว่าผิดปกติที่ระบบประสาทสั่งการส่วนไหนได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยว่า อาการอ่อนแรงน่าจะเกิดที่ระบบประสาทสั่งการส่วนไหนได้จาก การพิจารณาลักษณะทางคลินิก (อาการผู้ป่วย และความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ) และ/หรืออา การผิดปกติของผู้ป่วยที่มีลักษณะเข้าได้กับลักษณะเฉพาะของระบบประสาทสั่งการแต่ะตำ แหน่ง ดังนี้

  • ความผิดปกติของสมอง ลักษณะสำคัญคือ
    • มีอาการอ่อนแรงของแขน ขา ด้านใดด้านหนึ่งด้านเดียวกัน (เช่น ด้านซ้ายทั้งแขน ขา) ร่วมกับปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
    • อาจมีอาการปวดศีรษะ และ อาเจียน ร่วมด้วยถ้ามีความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูงขึ้น
    • แพทย์จะตรวจพบ รีเฟล็กซ์ไวเกินปกติ (Hyperreflexia) ตรวจโดยใช้ค้อนยางเคาะที่เอ็นหัวเข่า (Knee jerk) เอ็นร้อยหวาย (Achilles tendon) และเอ็น Biceps Triceps ที่ข้อศอก ร่วมกับตรวจพบ Babinski’s sign ให้ผลบวก (ตรวจโดยใช้วัสดุปลายทู่ขีดบริเวณฝ่าเท้าด้านข้าง นิ้วหัวแม่เท้าจะกระดกขึ้น และนิ้ว เท้าอื่นๆจะหดตัวชี้ลงด้านล่าง/Dorsiflexion)
    • กรณีมีรอยโรคขนาดใหญ่ 2 ข้างของสมอง ก็จะอ่อนแรงแขนขา 2 ข้างซ้ายขวา ร่วมกับความรู้สึกตัวลดลง
  • ความผิดปกติของไขสันหลัง ลักษณะสำคัญคือ มีอาการอ่อนแรงของขา 2 ข้าง ร่วม กับอาการชา ปัสสาวะ อุจจาระลำบาก ซึ่งเกิดในกรณีมีรอยโรคบริเวณไขสันหลังระดับอกลงมา แต่ถ้ามีรอยโรคบริเวณไขสันหลังส่วนคอจะมีอาการอ่อนแรงของแขนและขา 2 ข้าง และไม่สา มารถหายใจได้เอง
  • ความผิดปกติของรากประสาท ลักษณะสำคัญคือ มีอาการชาและ/หรือปวดร้าวไปตามตำแหน่งของรากประสาท มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อมัดนั้นๆที่ถูกเลี้ยงด้วยรากประสาทนั้น ๆ และตรวจพบรีเฟล็กซ์ลดลง
  • ความผิดปกติของเส้นประสาท ลักษณะสำคัญคือ มีอาการชาปลายมือปลายเท้าหรือตำแหน่งเส้นประสาทเลี้ยง ร่วมกับมีอาการอ่อนแรงของกล้ามส่วนที่เส้นประสาทเลี้ยง และตรวจพบรีเฟล็กซ์ลดลง
  • ความผิดปกติของกล้ามเนื้อ ลักษณะสำคัญคือ มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อส่วนต้นแขน ต้นขา ลุก นั่ง ยืน ลำบาก เดินขึ้น-ลงบันไดลำบาก หยิบของบนชั้นลำบาก และตรวจพบรี เฟล็กซ์ปกติ และไม่มีอาการชา
  • ความผิดปกติของรอยต่อบริเวณเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ (Neuromuscular junction:NMJ) ลักษณะสำคัญคือ มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนขา กล้ามเนื้อหลับตา ลืมตา กลอกตา กล้ามเนื้อการพูด และกล้ามเนื้อการกลืนอาหาร ซึ่งอาการเป็นมากช่วงบ่ายของวัน (Fluctuation) และมีอาการอ่อนแรงมากขึ้นภายหลังทำกิจกรรม (Fatigue) ร่วมกับมีอาการหนังตาตก ลืมตาลำบาก แต่ไม่มีอาการชาหรือปวด และตรวจพบรีเฟล็กซ์ปกติ

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุของอาการอ่อนแรงได้อย่างไร?

การวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการอ่อนแรงนั้น ลำดับแรกแพทย์จะวินิจฉัยก่อนว่าอาการอ่อนแรงของผู้ป่วยนั้นมีความผิดปกติที่ส่วนไหนของระบบสั่งการ โดยพิจารณาจากลักษณะสำ คัญทางคลินิกดังที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อข้างต้น ต่อจากนั้นจะพิจารณาสาเหตุก่อโรคโดยมีหลัก การดังนี้

  • ความรวดเร็วของการเกิดอาการ (Onset) กรณีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทันทีทันใด สาเหตุหลักมักจากโรคหลอดเลือดสมอง เช่น หลอดเลือดสมองอุดตัน ตีบ หรือ แตก
  • มีไข้ร่วมด้วย สาเหตุน่าจะเกิดจากโรคติดเชื้อ เช่น ฝีในสมอง
  • ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน เป็นลักษณะของความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูง สาเหตุน่าจะเกิดจากเนื้องอกสมอง หรือมีก้อนฝีในสมอง หรือโพรงน้ำในสมองโต
  • ประวัติครอบครัว มีคนในครอบครัวมีอาการเดียวกัน สาเหตุน่าจะเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • ประวัติอุบัติเหตุที่สัมพันธ์กับอาการที่เกิดขึ้น สาเหตุก็น่าจะเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น มีอา การอ่อนแรงของขา 2 ข้างร่วมกับอาการชาหลังจากประสบอุบัติเหตุตกจากที่สูง เจ็บบริเวณกระ ดูกสันหลัง อาการอ่อนแรงก็น่าเกิดจากกระดูกสันหลังหักและมีการกดทับของไขสันหลัง
  • เคยมีอาการแบบนี้มาก่อน สาเหตุน่าจะเกิดจากโรคที่มีอาการเป็นๆ หายๆ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเหตุโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (โรคอัมพาตเหตุโพแทสเซียมต่ำ) หรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง/โรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple sclerosis)
  • มีโรคประจำตัว สาเหตุก็น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับโรคหรือยาที่ใช้ เช่น โรคหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ/ภาวะหัวใจเสียจังหวะ / หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) เกิดอาการแขนขาอ่อนแรงด้านซ้าย สาเหตุก็น่าจะเกิดจากลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดสมอง
  • ลักษณะเฉพาะของโรค เช่น ลักษณะสำคัญของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอ็มจี จะมีอาการกล้ามเนื้อแขน ขา อ่อนแรง หนังตาตก มากขึ้นหลังจากทำกิจกรรมมากขึ้น หรือในช่วงบ่าย ๆของวัน

แพทย์จะพิจารณาส่งตรวจเพิ่มเติมเมื่อใด? และส่งตรวจอะไร?

การที่แพทย์จะส่งตรวจเพิ่มเติมใดๆนั้น (เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอภาพสมอง หรือ ตรวจเลือด) จะขึ้นอยู่กับว่าแพทย์ได้ให้การวินิจฉัยเบื้องต้นว่าอะไร เช่น

  • รอยโรคหรือความผิดปกติอยู่บริเวณตำแหน่งใดของระบบสั่งการ
  • สาเหตุเกิดจากอะไร?

อนึ่ง การส่งตรวจเพิ่มเติม ประกอบด้วย

  • การส่งตรวจภาพอวัยวะทางรังสีวิทยา เช่น เอกซเรย์ (Plain film) เอกซเรย์คอมพิว เตอร์ (CT-Scan) และแม่เหล็กไฟฟ้า เอมอาร์ไอ (MRI)
  • การตรวจการนำกระแสไฟฟ้าของเส้นประสาทกล้ามเนื้อ รากประสาทและรอยต่อของเส้นประสาทกับกล้ามเนื้อ (Electrodiagnosis)
  • การตรวจเลือด เช่น ตรวจหน้าที่/การทำงานของ ตับ ไต ไทรอยด์ เกลือแร่ และอื่นๆ
  • การตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy) จากรอยโรค เพื่อให้ทราบผลการวินิจฉัยที่แน่นอน (การตรวจทางพยาธิวิทยา)

ข้อบ่งชี้ของการส่งตรวจเพิ่มเติมแต่ละกรณีเป็นอย่างไร?

การส่งตรวจทางรังสี มีข้อบ่งชี้ ดังนี้

1. อาจมีความผิดปกติของกระดูกสันหลัง กระดูกต้นคอ กระดูกหน้าอก-เอว กระดูกแขน-ขา มือ กรณีสงสัยมีรอยโรคที่กระดูก เช่น กระดูกหักหรือมีการติดเชื้อ หรือส่งเอกซเรย์กะโหลกศีรษะ กรณีถ้าสงสัยความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูง หรือ เอกซเรย์ไซนัสเพื่อตรวจโพรงไซ นัสเมื่อสงสัยไซนัสอักเสบ

2. เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT-scan) ภาพสมอง และ/หรือ กระดูกสันหลัง กรณีสงสัยรอยโรคบริเวณสมอง และ/หรือ กระดูกสันหลัง

3. แม่เหล็กไฟฟ้าเอมอาร์ไอ (MRI) ภาพสมอง ไขสันหลัง รากประสาท และ/หรือ โพรงไซนัส กรณีที่ต้องตรวจหารอยโรคขนาดเล็กหรือบริเวณสมองส่วนกลีบขมับ (Temporal lobe) หรือ ไขสันหลัง

4. การตรวจเลือด กรณีแพทย์สงสัยความผิดปกติของร่างกายส่วนอื่นๆที่ส่งผลต่อระบบประสาทและสมอง เช่น การทำงานของตับ ไต ไทรอยด์ เกลือแร่ และ ความผิดปกติด้านภูมิคุ้ม กันต้านทานโรค เป็นต้น

5. การตัดชิ้นเนื้อ เช่น กรณีโรคมะเร็ง กล้ามเนื้ออักเสบ หรือ เส้นประสาทอักเสบ เพื่อต้องการผลการวินิจฉัยที่แน่นอน

อนึ่ง: บางครั้งแพทย์อาจส่งตรวจทางรังสีวิทยาโดยเร่งด่วน เช่น

1. อุบัติเหตุ

2. ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงอย่างรวดเร็ว หรือ รุนแรง

3. ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงทรุดลงอย่างรวดเร็ว

*หมายเหตุ:

  • สิ่งที่ผู้ป่วยและญาติกับแพทย์ มีความเข้าใจไม่ตรงกัน คือแพทย์พิจารณาว่าไม่เร่งด่วน แต่ทางญาติและผู้ป่วยคิดว่าเร่งด่วน ซึ่งแพทย์ต้องอธิบายถึงเหตุผลว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็นในการส่งตรวจแบบเร่งด่วน
  • ระหว่างรอนัดการตรวจต่างๆ (เช่น รอวันนัดตรวจเอมอาร์ไอ) กรณีผู้ป่วยมีอาการทรุดลงอย่างชัดเจน ควรต้องมาพบแพทย์ผู้ให้การรักษา/มาโรงพยาบาลก่อนนัด

แพทย์รักษาอาการอ่อนแรงอย่างไร?

หลักการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนแรงนั้น ประกอบด้วย

  • การรักษาสาเหตุ เช่น การให้ยาต้านจุลชีพ/ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) กรณีเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การให้ยาสเตียรอยด์กรณีเกิดจากการอักเสบ (Inflammation) หรือเมื่อมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ/โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune disease) การให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านเกล็ดเลือด กรณีเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือด เป็นต้น
  • การรักษาด้วยการผ่าตัด กรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุก่อให้เกิดการกดทับเส้นประสาทหรือเนื้อสมอง หรือ มีก้อนเนื้องอกในสมองหรือในไขสันหลัง เป็นต้น
  • การทำกายภาพบำบัด เนื่องจากโรคทางระบบประสาทนั้นเมื่อมีอาการอ่อนแรง การเคลื่อนไหวของร่างกายทำไม่ได้ปกติ ส่งผลให้มีการฝ่อของกล้ามเนื้อ (Disuse atrophy) และส่งผลให้มีข้อต่างๆติดจากการที่ไม่มีการขยับของข้อต่อ จากสองเหตุผลหลักจึงจำ เป็นต้องมีการทำกายภาพบำบัดเพื่อเป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้อ และป้องกันข้อยึดติด
  • การรักษาด้วยการแก้ไขสาเหตุร่วมที่พบด้วย เช่น การควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลหรือเกลือแร่ ที่ผิดปกติ
  • การรักษาเพื่อป้องกันการเกิดอาการอ่อนแรงเป็นซ้ำ เพราะบางกรณีนั้นจะมีการเป็นซ้ำได้สูงถ้าไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง

การพยากรณ์โรคของอาการอ่อนแรงเป็นอย่างไร?

  • สาเหตุ:
    • บางสาเหตุ อาการอ่อนแรงจะกลับเป็นปกติได้ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่แรกมีอาการ เช่น ในโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
    • แต่บางสาเหตุโอกาสฟื้นตัวก็ยาก เช่น จากอุบัติเหตุรุนแรงที่สมอง เป็นต้น
    • แนะนำ อ่านรายละเอียดในบทความของแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ตัวอย่างโรคต่างๆในหัวข้อ สาเหตุ เป็นต้น
  • นอกจากนี้ อาการอ่อนแรงมักฟื้นตัวได้ยากขึ้นใน
    • ผู้ป่วยที่มีสาเหตุแต่กำเนิด/พันธุกรรม
    • ในผู้สูงอายุ
    • และในผู้ป่วยที่โรคประจำตัวร่วมด้วย

เมื่อมีอาการอ่อนแรงควรดูแลตนเองอย่างไร? เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการอ่อนแรงที่ถูกต้องนั้น จะส่งผลให้การรักษาได้ผลดี ซึ่งการดู แลตนเองประกอบด้วย

  • การทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ
  • พบแพทย์และทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง
  • แก้ไขปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคนั้นๆ
  • ต้องหมั่นสังเกตตนเองว่ามีผลแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากโรคที่เป็นอยู่ หรือจากยาที่ทานหรือไม่
  • บันทึกข้อสงสัยต่างๆที่มีในระหว่างที่รอการพบแพทย์ครั้งถัดไป เพราะเมื่อมาติดตามการรักษาจะได้สอบถามได้อย่างรวดเร็ว ครบถ้วน
  • เมื่อมีอาการที่ผิดปกติไปจากเดิม หรือมีอาการมากขึ้น เช่น ปวดศีรษะมากขึ้น อ่อนแรงมากขึ้น อาเจียน มีไข้ หรือสงสัยการแพ้ยา (เช่น ผื่นคัน แผลในช่องปาก และ/หรือที่อวัยวะเพศ) ให้รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด

ป้องกันอาการอ่อนแรงได้อย่างไร?

การป้องกันไม่ให้เกิดอาการอ่อนแรงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ดีกว่าเกิดอาการแล้วค่อยมารักษา เพราะการเกิดอาการแล้วก็ยากที่จะรักษาให้หายได้เป็นปกติ การป้องกันที่สำคัญ ก็คือการแก้ไขปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอาการอ่อนแรง เช่น

  • การไม่ดื่มแอลกอฮอล์
  • ไม่สูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ดูแลตนเองไม่ให้อ้วน
  • ถ้ามีโรคประจำตัวก็ต้องรักษาให้ดี ไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากโรคที่เป็น เช่น โรคเบาหวานขึ้นตา โรคไตเรื้อรังเหตุจากเบาหวาน เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • กรณีที่มีประวัติครอบครัวเจ็บป่วยด้วยโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เราก็ยิ่งต้องดูแตนเองให้แข็งแรง และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆที่อาจส่งผลให้เกิดอาการอ่อนแรงได้

สรุป

ผมมั่นใจว่า ผู้อ่านเมื่อมีความรู้เบื้องต้นในเรื่อง การอ่อนแรง จะสามารถเข้าใจมากขึ้นเมื่อแพทย์ได้อธิบายถึงสาเหตุของอาการอ่อนแรงและรอการส่งตรวจ เพื่อการวินิจฉัยโรคที่แน่นอน อย่างไรก็ตามผมอยากให้ท่านติดตามบทความต่อไป ผมจะนำเสนอเกี่ยวกับการตรวจร่างกายทางระบบประสาทเบื้องต้น เพื่อที่ท่านจะได้นำมาใช้ประโยชน์มากขึ้นในการดูแลตนเองหรือกับคนรอบข้างที่มีปัญหาอ่อนแรงครับ