โดบูทามีน (Dobutamine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 8 ตุลาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- โดบูทามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- โดบูทามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โดบูทามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โดบูทามีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- โดบูทามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โดบูทามีนอย่างไร?
- โดบูทามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโดบูทามีนอย่างไร?
- โดบูทามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart disease หรือ Cardiovascular disease)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- ซิมพาโทมิเมติค (Sympathomimetic drug)
- ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
บทนำ: คือยาอะไร?
โดบูทามีน (Dobutamine หรือ Dobutamine hydrochloride) คือ ยารักษาภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน, มีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยาฉีด, และจัดเป็นยาในกลุ่มซิมพาโทมิเมติค (Sympathomimetic drug)ที่สามารถออกฤทธิ์ต่อตัวรับ(Receptor)ที่ทำงานเกี่ยวกับการบีบตัวของหัวใจ ชื่อ ‘เบต้า-1 (Beta-1 receptor, หรือ Beta-1 adrenoreceptor หรือ Beta-1 adrenoceptor หรือ Beta1 adrenergic receptor)’ จึงส่งผลกระตุ้นการทำงานของหัวใจให้กลับมาเป็นปกติ
ยาโดบูทามีน จะออกฤทธิ์ระยะสั้นเพื่อช่วยกระตุ้นให้หัวใจมีแรงบีบตัว และยังสามารถใช้ยานี้เพื่อตรวจทดสอบสมรรถภาพการทำงานของหัวใจได้ด้วย (Cardiac stress test)
ยาโดบูทามีน ถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) โดยหลังจากฉีดยานี้เข้าหลอดเลือดของผู้ป่วย ตัวยาจะใช้เวลาประมาณ 2 นาทีก็จะเริ่มออกฤทธิ์, และมีระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ไม่เกิน 10 นาที, ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะขับยานี้ทิ้งออกจากร่างกาย โดยผ่านไปทางปัสสาวะและอุจจาระ
ตัวยาโดบูทามีน มีข้อจำกัดและข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ ชนิด Idiophathic hypertrophic subaortic stenosis และผู้ป่วยเนื้องอกของต่อมหมวกไตชนิด ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
ผู้ป่วยที่ได้รับยาโดบูทามีน อาจมีอาการความดันโลหิตสูง และมีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น, และในสูตรตำรับของยาโดบูทามีนจะมีส่วนประกอบของสาร Sodium metabisulfite ซึ่ง*อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการแพ้ยา และทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบอย่างรุนแรงเกิดขึ้นได้ ดังนั้นระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยานี้จะต้องคอยตรวจสอบอาการและควบคุมสัญญาณชีพต่างๆของผู้ป่วยให้เป็นปกติอยู่ตลอดเวลา
การใช้ยาโดบูทามีน อาจจะไม่ได้ผลในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ (โรคลิ้นหัวใจ) หรือมีหลอดเลือดบริเวณหัวใจตีบ (โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ)
*สำหรับผู้ที่ได้รับยาโดบูทามีนเกินขนาด อาจสังเกตจากผู้ป่วยจะมีอาการสั่น คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล ปวดหัว ชีพจรเต้นผิดปกติ หายใจขัด/หายใจลำบาก เจ็บหน้าอกด้วยมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น, โดยหากพบอาการเหล่านี้แพทย์จะหยุดการใช้ยานี้ทันที, ซึ่งการบำบัดรักษากรณียานี้เกินขนาดจะด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจ, หากพบอาการหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะอย่างรุนแรง, แพทย์อาจต้องสั่งจ่ายยา Propranolol หรือยา Lidocaine ให้กับผู้ป่วย
ยาโดบูทามีน สามารถใช้ได้ทั้งกับผู้ใหญ่และกับเด็กตั้งแต่เป็นเด็กทารกขึ้นไป การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว
ประเทศไทย โดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้บรรจุให้ยาโดบูทามีน ไฮโดรคลอไรด์ (Dobutamine hydrochloride) อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ การใช้ยานี้ต้องกระทำแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น เช่น ในห้องผ่าตัดหรือห้องฉุกเฉิน, และสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนโดยทั่วไป
โดบูทามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาโดบูทามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน (Acute heart failure)
- ใช้ตรวจทดสอบสมรรถภาพการทำงานของหัวใจ (Cardiac stress test)
โดบูทามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโดบูทามีน มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ในบริเวณตัวรับของกล้ามเนื้อหัวใจที่มีชื่อเรียกว่า เบต้า 1 รีเซปเตอร์ (Beta 1 receptor) ส่งผลให้หัวใจมีแรงบีบตัวและกระตุ้นการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายให้กลับมาเป็นปกติ
โดบูทามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโดบูทามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาฉีด ขนาด 250 มิลลิกรัม/20 มิลลิลิตร (250,000 ไมโครกรัม/20 มิลลิลิตร)
- ยาฉีด ขนาด 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร (50,000 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร)
- ยาฉีด ขนาด 12.5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร (12,500 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร)
โดบูทามีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาโดบูทามีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาสำหรับภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน: เช่น
- ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป: เช่น ให้ยาโดยหยดเข้าหลอดเลือดดำขนาด 2.5 - 15 ไมโครกรัม /น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที, อาจเพิ่มขนาดการให้ยาครั้งละ 2.5 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที, และต้องมีการควบคุมสัญญาณชีพต่างๆควบคู่กันไป เช่น ความดันโลหิต รวมถึงการตรวจสอบปริมาณปัสสาวะ, กรณีที่มีอาการรุนแรง การให้ยานี้อาจต้องใช้ยามากถึง 40 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที
- เด็กทารก - อายุ 18 ปี: เริ่มต้นหยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 5 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที, การปรับขนาดการใช้ยาต้องดูการตอบสนองของร่างกายเด็กและต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
*อนึ่ง:
- ก่อนฉีดยาโดบูทามีน สามารถเจือจางตัวยาด้วยสารละลาย Glucose 5% หรือสารละลาย Sodium chloride 0.9% โดยทำตามขั้นตอนของเอกสารกำกับยา/ฉลากยา
- ระหว่างการให้ยานี้จะต้องควบคุมสัญญาณชีพ เช่น ความดันโลหิต ฯลฯ, การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี, ปริมาณเลือดที่ถูกสูบฉีดออกจากหัวใจ, รวมถึงแรงดันเลือดภายในปอด
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโดบูทามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/ หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโดบูทามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
โดบูทามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโดบูทามีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง หรือความดันโลหิตต่ำ อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะผื่นคัน
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลกลูโคสในเลือดต่ำ, โพแทสเซียมในเลือดต่ำ, ปริมาณกลีเซอรอล (Glycerol, สารประเภทน้ำตาล) และกรดไขมันในเลือดเพิ่มขึ้น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น อาการประสาทสัมผัสเพี้ยน ปวดหัว อาการสั่น วิตกกังวล
มีข้อควรระวังการใช้โดบูทามีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโดบูทามีน: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคหัวใจชนิด Idiopathic hypertrophic subaortic stenosis และผู้ป่วยโรคเนื้องอกต่อมหมวกไตชนิด ฟีโอโครโมไซโตมา
- ห้ามใช้ยาที่เสื่อมสภาพไปจากเดิม
- การใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ที่เพิ่งมีอาการหัวใจวาย/หัวใจล้มหลวมาใหม่ๆ ผู้ที่มีภาวะช็อกด้วยอาการความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคต้อหิน
- *หากสังเกตพบอาการผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาดอย่าง เช่น มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก ปวดหัวต่อเนื่อง หายใจขัด/หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก วิตกกังวล หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำ *ให้หยุดการให้ยานี้ทันทีและต้องรีบแจ้งแพทย์ทันทีเพื่อทำการรักษา
- ตรวจสอบว่า ผู้ป่วยมีการใช้ยาอะไรอยู่ก่อน ด้วยยาหลายรายการอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาโดบูทามีนได้
- หลังการรักษาด้วยยานี้ ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโดบูทามีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด สมุนไพรต่างๆ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โดบูทามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโดบูทามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- ห้ามใช้ยาโดบูทามีน ร่วมกับยา Amitriptyline ด้วยการใช้ยาร่วมกัน อาจส่งผลต่อ ความดันโลหิตของผู้ป่วย กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาอย่างเหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาโดบูทามีน ร่วมกับยา Phenylpropranolamine สามารถทำให้ความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจของผู้ใช้ยาเพิ่มสูงขึ้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดบูทามีน ร่วมกับยา Linezolid ด้วยอาจทำให้ความดันโลหิตของผู้ป่วย เพิ่มมากขึ้น หากต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาโดบูทามีนอย่างไร?
สามารถเก็บยาโดบูทามีน: เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
อนึ่ง: กรณีตัวยานี้สัมผัสแสง/แสงแดด อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนเป็นสีชมพู ซึ่งไม่ควรใช้ ควรทิ้งยาไป
โดบูทามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโดบูทามีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Dobutamine HCl in 5% Dextrose Baxter (โดบูทามีน เฮชซีไอ อิน 5% เด็กซ์โทรส แบ็กซ์เตอร์) | Baxter Healthcare |
Dobutamine Synthon (โดบูทามีน ซินทอน) | Synthon BV |
Dobutamine Hospira (โดบูทามีน ฮอสพิรา) | Hospira |
Dobutel (โดบูเทล) | Novell Pharma |
Cardiject (คาร์ดิเจค) | Sun Pharma |
Dobuject (โดบูเจค) | Bayer Schering Pharma Oy |
Dobutrex (โดบูเทร็กซ์) | Eli Lilly |
DBL Dobutamine (ดีบีแอล โดบูทามีน) | Hospira |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Dobutamine [2022,Oct8]
- http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=2&rctype=1C&rcno=6300010&lpvncd=10&lcntpcd=%E0%B8%99%E0%B8%A21&lcnno=2600236&licensee_no=236/2526 [2022,Oct8]
- http://pertento.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_DRUG/SEARCH_DRUG/pop-up_drug.aspx?Newcode_U=U1DR1C1022640003911C [2022,Oct8]
- https://www.drugs.com/pro/dobutamine.html [2022,Oct8]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/dobutamine/?type=brief&mtype=generic [2022,Oct8]
- https://www.drugs.com/sfx/dobutamine-side-effects.html [2022,Oct8]