โคลโดรเนต (Clodronate)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

 โคลโดรเนต (Clodronate) คือ ยากลุ่ม บิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonate) มีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูงจากโรคมะเร็ง (Hypercalcemia of malignancy) และภาวะโรคมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระดูกชนิดที่ทำให้กระดูกเกิดการสลายตัว (Osteolytic bone metastases) รวมถึงยังมีการนำยาโคลโดรเนตมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งไขกระดูกชนิด มัลติเพิลมัยอีโลมา (Multiple myeloma)

กลไกที่ใช้ในการยับยั้งการสลายกระดูกยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่ายาโคลโดรเนตยับ ยั้งการทำงานของเซลล์กระดูกที่ชื่อ ออสติโอคลาส (Osteoclast: เซลล์ที่มีหน้าที่สลายกระดูก) ทำให้ไม่เกิดการสลายตัวของกระดูกจึงส่งผลต่อการลดระดับแคลเซียมในเลือด

อนึ่ง ยานี้มียาชื่อการค้าที่แพร่หลายในต่างประเทศคือ Clasteon และ Loron 520

ยาโคลโดรเนตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

โคลโดรเนต

ยาโคลโดรเนตจัดอยู่ในกลุ่มยาบิสฟอสโฟเนต(Bisphosphonate) มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น  

  • รักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูงอันมีสาเหตุจากมะเร็ง (Hypercalcemia of malignancy)
  • รักษาภาวะโรคมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระดูกชนิดที่ทำให้กระดูกเกิดการสลายตัว(Osteolytic bone metastases)
  • ร่วมรักษาในโรคมะเร็งไขกระดูกชนิด มัลติเพิลมัยอีโลมา (Multiple myeloma)

ยาโคลโดรเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโคลโดรเนตเป็นยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonate) และมีโครงสร้างคล้ายกับสารไพโรฟอสเฟต (Pyrophosphate) ที่ได้จากธรรมชาติซึ่งมีหน้าที่ยับยั้งการสลายกระดูก โดยยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตจะจับตัวได้ดีกับเนื้อเยื่อที่มีแร่ธาตุเป็นส่วนประกอบเช่น กระดูก โดยกลไกสำคัญของยาโคลโดรเนตคือ ยับยั้งการสลายตัวของกระดูก (Osteoclastic bone resorption)

ทั้งนี้กลไกที่ใช้ในการยับยั้งการสลายกระดูกยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าโคลโดรเนต กดการทำงานของเซลล์ออสติโอคลาส (Osteoclast: เซลล์ที่มีหน้าที่สลายกระดูก) ทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดและการขับออกของแคลเซียมและสารไฮดรอกซีโพรลีน (*Hydroxyproline) ในปัสสาวะลดลง

*อนึ่ง Hydroxyproline เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบของโปรตีนชนิดคอลลาเจน (Collagen) และชนิดเจลาติน (Gelatin, โปรตีนที่มีประโยชน์น้อย) การสังเคราะห์ไฮดรอกซีโพรลีนขึ้น กับวิตามินซี ดังนั้นการขาดวิตามีนซีจะทำให้เส้นใยคอลลาเจนอ่อนแอทำให้เกิดแผลได้ง่าย อาจเป็นลักษณะหนึ่งของโรคลักปิดลักเปิด (Scurvy) อีกทั้งยังพบว่าไฮดรอกซีโพรลีนที่เพิ่มขึ้นในปัสสาวะเกี่ยวข้องกับโรคที่มีชื่อว่า Paget’s disease of bone ซึ่งคือโรคที่เกี่ยวข้องกับการพรุนของกระดูกเชิงกราน กระดูกสันหลัง กระดูกต้นขา และกะโหลกศีรษะ)

ยาโคลโดรเนตป้องกันการสูญเสียของกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลังที่มีสาเหตุมาจากการแพร่กระจายสู่กระดูกของโรคมะเร็งเต้านมในสตรีก่อนและหลังวัยหมดประจำเดือน เมื่อใช้รักษาด้วยยาโคลโดรเนตเป็นยาเดี่ยวในขนาดที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสลายกระดูก

อนึ่ง ยาโคลโดรเนตไม่มีผลต่อการสะสมแร่ธาตุตามปกติของกระดูกในคน และเมื่อใช้ยานี้ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและผู้ป่วยมะเร็งไขกระดูกชนิดมัลติเพิลมัยอีโลมา (Multiple myeloma) ความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักในผู้ป่วยจะลดลง

ยาโคลโดรเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาโคลโดรเนตมีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์เป็นนยารับประทาน:

  • ยาเม็ดแคปซูล (Capsules) ขนาด 400 มิลลิกรัม และ
  • ยาเม็ดเคลือบฟิล์ม (Film-coated tablet) ขนาด 800 มิลลิกรัม

ยาโคลโดรเนตมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

 ยาโคลโดรเนตมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยา เช่น

  1. วิธีการรับประทานยา:

1.1  เนื่องจากยานี้ถูกกำจัดออกทางไตเป็นส่วนใหญ่ จึงควรดื่มน้ำให้มากพอในระหว่างผู้ป่วยได้รับยาโคลโดรเนตเพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเป็นพิษต่อไต

1.2  ยาโคลโดรเนตชนิดแคปซูล 400 มิลลิกรัม: ควรรับประทานยาโดยกลืนยาทั้งเม็ด ห้ามบดหรือ ละลายเม็ดยาก่อนรับประทาน

1.3  ยาโคลโดรเนตชนิดเม็ด 800 มิลลิกรัม: สามารถแบ่งครึ่งเม็ดยาได้แต่ต้องกลืนยาพร้อมกันทั้งสองส่วนที่แบ่งออกจากกัน ห้ามบดหรือละลายเม็ดยาก่อนรับประทาน

1.4  วิธีการรับประทานยานี้: ให้รับประทานยานี้พร้อมกับน้ำเปล่าหนึ่งแก้วในตอนเช้าขณะท้องว่าง การใช้ยานี้ในขนาดวันละ 1,600 มิลลิกรัมควรรับประทานยาให้หมดเพียงครั้งเดียว แต่หากใช้ยาในขนาดสูงกว่านี้แนะนำให้ผู้ป่วยแบ่งยารับประทาน 2 ครั้ง โดยให้รับประทานยาในขนาดที่เกินจาก 1,600 มิลลิกรัมแยกต่างหากกล่าวคือ รับประทานยาขนาด 1,600 มิลลิกรัมแรกพร้อมน้ำเปล่าหนึ่งแก้วตอนเช้าขณะท้องว่างเสียก่อน หลังรับประทานยาไปแล้วอย่างน้อยประมาณ 1 ชั่วโมงจึงรับ ประทานอาหารมื้อเช้า หลังจากมื้ออาหารไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมงเชื่อว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาท้องว่างจึงรับประทานยาที่เหลือจากครั้งแรกอีกครั้งหนึ่ง (นับเป็นครั้งที่ 2)

1.5  ห้ามรับประทานยาโคลโดรเนตร่วมกับ นม อาหาร เครื่องดื่ม หรือยาอื่นๆที่มีส่วนประกอบของแคลเซียม หรือยาอื่นๆที่มีส่วนประกอบของไดวาเลนท์ แคทอิออน (Divalent cation, คือสารประ กอบที่มีแร่ธาตุที่มีประจุบวก 2 ตัวเป็นองค์ประกอบ เช่น แคลเซียม, แมกนีเซียม, เหล็ก) ที่มีแร่ธาตุเหล็ก (Ferrous) เป็นส่วนประกอบเพราะการดูดซึมยาโคลโดรเนตจะลดลง และไม่ควรรับประทานยาโคลโดรเนตร่วมกับยาลดกรดชนิดน้ำ (Antacid) เนื่องจากมีส่วนประกอบของไดวาเลนท์ แคทอิออน (Divalent cation) เช่น อลูมิเนียม แมกนีเซียม และแคลเซียม เป็นส่วนประกอบ เพราะจะทำให้ยาโคลโดรเนตจับกับแร่ธาตุต่างๆเหล่านั้นทำให้การดูดซึมยาโคลโดรเนตจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกายลดลง ดังนั้นจึงแนะนำให้รับประทานยาลดกรดชนิดน้ำห่างจากยาโคลโดรเนตอย่างน้อยประมาณ 2 - 4 ชั่วโมงโดยควรรับประทานยาโคลโดรเนตก่อน

  1. ขนาดยาโคลโดรเนตในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ไม่มีรายงานความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยานี้ในผู้ ป่วยเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  2. ขนาดยาโคลโดรเนตในผู้ใหญ่สำหรับการรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูงที่มีสาเหตุมาจากโรคมะเร็ง: ขนาดยาขึ้นกับอาการทางคลินิกและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  3. ขนาดยาโคลโดรเนตในผู้ใหญ่สำหรับการรักษาภาวะที่มีการสลายตัวของกระดูกที่มีสา เหตุมาจากโรคมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระดูก: ขนาดยาขึ้นกับอาการทางคลินิกและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  4. ขนาดยาสำหรับผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง: แพทย์จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีภาวะไตบกพร่องเนื่องจากยาถูกกำจัดออกทางไตเป็นส่วนใหญ่ และแพทย์จะใช้ยานี้อย่างระมัดระวังเช่น อาจหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ติดต่อกันในขนาดยาเกินกว่าวันละ 1,600 มิลลิกรัมต่อวัน
  5. ขนาดยาสำหรับผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ ป่วยที่มีภาวะตับบกพร่อง

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

 เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาโคลโดรเนตผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร  เช่น

  • ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาโคลโดรเนตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรเนื่องจากยังไม่มีราย งานการใช้ยาโคลโดรเนตในหญิงตั้งครรภ์จึงแนะนำหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ นอกจากแพทย์ประเมินแล้วพบว่ามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง อีกทั้งหากอยู่ในช่วงให้นมบุตรแนะนำให้หลีกเลี่ยงการให้นมบุตรเพราะยังไม่ทราบข้อมูลการขับออกทางน้ำนมของยานี้แน่ชัดและยานี้อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงแก่บุตรได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการให้นมบุตรในช่วงการใช้ยานี้อยู่

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

  • ยาโคลโดรเนตมีวิธีรับประทานยาวันละ 1 ครั้งต่อวันกรณีขนาดยาต่อวันไม่เกิน 1,600 มิลลิกรัม                          
  • อาจแบ่งยาโคลโดรเนตรับประทานเป็น 2 ครั้ง หากขนาดยาเกินกว่า 1,600 มิลลิกรัมทั้งนี้ตามแพทย์สั่ง
  • โดยควรรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่าง คือ ก่อนรับประทานอาหารอย่างน้อยประมาณ 1 ชั่วโมง หรือหลังรับประทานอาหารไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง  
  • กรณีลืมรับประทานโคลโดรเนต ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างมื้อคือ เกิน 12 ชั่วโมงจากเวลารับ ประทานยาปกติ) ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมไปรอรับประทานยามื้อถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาวันละ 1 ครั้งเวลา 7.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 7.00 น. ตอนเวลา 12.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 7.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ ทั้งนี้ต้องรับประทานในช่วงท้องว่าง แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไปเช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับ ประทานยามื้อ 7.00 น. ตอนเวลา 21.00 น. ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปคือ 7.00 น. ในขนาดยาปกติตามแพทย์สั่ง ไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม
  • *ผู้ป่วยที่มีการแบ่งยาโคลโดรเนตเพื่อรับประทาน 2 ครั้ง ให้รับประทานยาครั้งที่ 2 ตามเวลาปกติ

ยาโคลโดรเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) ของยาโคลโดรเนต

ก. ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยมากที่สุดคือ

  • อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการท้องเดิน/ท้องเสีย รวมถึงอาการคลื่นไส้ ซึ่งมักมีอาการไม่รุนแรงและเกิดได้บ่อยเมื่อใช้ยานี้ในขนาดสูง

ข. ผลข้างเคียงอื่นๆ: เช่น

  • ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำโดยผู้ป่วยไม่มีอาการแสดง
  • ระดับฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid hormone) ในเลือดสูงร่วมกับระดับแคลเซียมในเลือดต่ำลง  
  • ระดับเอนไซม์ทรานอะมิเนส(Tramsaminase)ของตับสูงเกินกว่า 2 เท่าของปกติโดยไม่มีความผิดปกติทางกายภาพของตับ

ค. ผลข้างเคียงอื่นที่พบได้น้อยแต่ร้ายแรงและอาจเป็นอันตรายถึงเป็นเหตุให้ตายได้: เช่น

  • อาการแพ้ยาอย่างรุนแรงเฉียบพลันที่เรียกว่า แอแนฟิแล็กซิส (Anaphylactic shock/Anaphylaxis)โดยจะมีผื่นคันเกิดขึ้นตามร่างกาย หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย  ใบหน้าบวม ซึ่งถ้ามีอาการดังกล่าวให้รีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลโดรเนตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลโดรเนต เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไตวายซึ่งแพทย์จะปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง
  • มีรายงานพบการตายของเนื้อเยื่อกระดูกขากรรไกร (Osteonecrosis of the jaw) ได้จากการใช้ยานี้ซึ่ง
    • โดยทั่วไปมักเกิดจากการถอนฟันและ/หรือจากการติดเชื้อแบคทีเรียเฉพาะที่เหงือก และฟัน
    • รวมถึงภาวการณ์อักเสบของกระดูก/ กระดูกอักเสบ (Osteomyelitis)
    • ในผู้ป่วยกลุ่มนี้หลายรายได้รับยาเคมีบำบัดและการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ร่วมด้วย
    • *ในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับ ยาเคมีบำบัด การฉายรังสีรักษาบริเวณช่องปาก, ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์,  ปัญหาสุขอนามัยในช่องปาก, แพทย์จะพิจารณาทำทันตกรรมเพื่อป้องกัน (Preventive dentistry) ก่อนให้การรักษาด้วยยากลุ่มบิสฟอสฟาเนต และแพทย์จะหลีกเลี่ยงวิธีการทางทันตกรรมที่รุนแรง (Invasive procedure)ขณะได้รับยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต ดังนั้นจึงอาจมีการปรึกษาทันตแพทย์ก่อนการใช้ยานี้ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคลโดรเนตด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาโคลโดรเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโคลโดรเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาโคลโดรเนต ร่วมกับยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonate)อื่นๆ เช่น อะเลนโดรเนต (Alendronate), ริสซิโดรเนต (Risedronate), ปาล์มมิโดรเนต (Pamidronate), โซลีโดรนิก แอซิด (Zoledronic acid) เนื่องจากจะเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์จากยาในกลุ่มเดียวกันได้
  • มีรายงานว่าอาจเกิดการทำงานของไตผิดปกติได้กรณีการใช้ยาโคลโดรเนตร่วมกับยากลุ่มต้านอักเสบ/ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือเรียกว่ายากลุ่มเอ็นเซด (NSAIDs) เนื่องจากยาทั้งสองชนิดถูกขจัดออกจากร่างกายทางไตและมีผลพิษต่อไต
  • ระมัดระวังการใช้ยาโคลโดรเนตร่วมกับการใช้ยากลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) เช่นยา เจนต้ามัยซิน (Gentamicin), อะมิไกซิน (Amikacin) เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำและมีผลพิษต่อไต
  • ไม่ควรรับประทานยาโคลโดรเนตร่วมกับยาลดกรดชนิดน้ำ (Antacid) ที่มีส่วนประกอบของ อลูมิเนียม แมกนีเซียม และแคลเซียม เพราะยาโคลโดรเนตสามารถจับกับแร่ธาตุต่างๆดังกล่าวที่เป็นส่วนประกอบในยาลดกรดซึ่งส่งผลทำให้การดูดซึมยาโคลโดรเนตเข้าสู่ร่างกายลดลง ดังนั้นจึงแนะนำให้รับประทานรับประทานยาโคลโดรเนตก่อนยาลดกรดชนิดน้ำห่างจากยาโคลโดรเนตอย่าง น้อยประมาณ 2 - 4 ชั่วโมง  

ควรเก็บรักษายาโคลโดรเนตอย่างไร?

แนะนำเก็บยาโคลโดเนต:

  • เก็บยา ณ อุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาให้พ้นจากแสงแดดและแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง
  • หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มาก เช่น เก็บยาในรถที่ตากแดดหรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง (มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน)
  • ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้น เช่น ห้อง น้ำหรือห้องครัว
  • ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาโคลโดรเนตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโคลโดเนต  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Bonefos 400 mg capsule Bayer
Bonefos 800 mg tablets Bayer

 

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
  2. Product Information, Clodronate, Bonefos: Bayer, Thailand.
  3. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica; 2013