แคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia)

บทความที่เกี่ยวข้อง
แคลเซียมในเลือดสูง

แคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia) หมายถึง ภาวะที่มีเกลือแร่แคลเซียม (Calcium) ในเลือดสูงกว่าค่าปกติของห้องปฏิบัติการนั้นๆโดยทั่วไปคือสูงกว่า 10.5 mg/dL (Milligram/ decilitre) ทั้งนี้ค่าปกติของแคลเซียมในเลือดคือ คือ 8 - 10.5 mg/dL

*อนึ่ง ค่าการตรวจเลือดของแต่ละห้องปฏิบัติจะแตกต่างกันได้แต่ไม่มากนัก

ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงเป็นภาวะพบได้บ่อย โดยมีรายงานพบได้ประมาณ 1 - 39 รายต่อประชากร 1,000 คน พบได้ในทุกเพศและทุกวัยแต่จะพบได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุ

สาเหตุ

สาเหตุของภาวะแคลเซียมในเลือดสูงมีได้หลากหลายที่พบบ่อยเช่น

  • โรคมะเร็งโดยเฉพาะระยะลุกลามแพร่กระจายเข้าสู่กระดูก
  • โรคของต่อมพาราไทรอยด์เช่น เนื้องอก
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดเช่น ยา Lithium
  • ภาวะขาดน้ำ
  • กินอาหารหรืออาหารเสริมที่มีแคลเซียมสูง*ต่อเนื่อง
  • เสริมวิตามิน ดี มากเกินไปเพราะการทำงานของวิตามินดีจะสัมพันธ์กับแคลเซียม
  • โรคไตโดยเฉพาะโรคไตเรื้อรังหรือภาวะไตวาย
  • *อาหารโดยทั่วไปจะมีแคลเซียมต่ำ แต่อาหารที่มีแคลเซียมสูงได้แก่ นมและอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์ของนม (เช่น โยเกิร์ต เนย) ผักใบเขียวเข้ม ปลาซาร์ดีน ปลาซาลมอนสีชมพู และอาหารต่างๆที่เสริมอาหารด้วยแคลเซียม

อาการ

อาการที่พบได้บ่อยจากมีแคลเซียมในเลือดสูงได้แก่

  • มักไม่มีอาการถ้าแคลเซียมในเลือดสูงไม่เกิน 12 mg/dL มักมีอาการเมื่อระดับแคลเซียมในเลือดสูงกว่า 12 mg/dL และจะมีอาการรุนแรงเมื่อระดับสูงกว่า 15 mg/dL
  • อาการทางสมองเช่น เหนื่อย อ่อนล้า อ่อนเพลีย สับสน โคม่า
  • อาการทางไตเช่น ปัสสาวะปริมาณมาก ภาวะขาดน้ำ เกิดนิ่วในไต ไตวาย
  • อาการทางระบบทางเดินอาหารเช่น ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน แผลในกระเพาะอาหาร ตับอ่อนอักเสบ
  • อาการทางหัวใจเช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นลม

การวินิจฉัย

แพทย์วินิจฉัยภาวะแคลเซียมในเลือดสูงได้จากประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติการใช้ยาต่างๆ การตรวจร่างกาย และที่สำคัญคือ การตรวจเลือดดูค่าแคลเซียม

การรักษา

แนวทางการรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูงคือ การรักษาให้ระดับแคลเซียมในเลือดลดต่ำลงเพื่อให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปกติ ที่สำคัญคือการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำและการให้ยาต่างๆที่จะช่วยขับแคลเซียมออกจากร่าง กายเช่น ยาขับปัสสาวะ ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ Calcitonin และยาที่ช่วยไม่ให้กระดูกปล่อยแคล เซียมออกมามากขึ้น (เช่น ยา Bisphosphonates) และถ้าระดับแคลเซียมในเลือดสูงมากอาจต้องรักษาด้วยการล้างไตร่วมด้วย

นอกจากนั้นคือการรักษาสาเหตุที่จะแตกต่างกันในแต่ละสาเหตุเช่น การผ่าตัดรักษาโรคของต่อมพาราไทรอยด์เมื่อสาเหตุเกิดจากโรคของต่อมนี้ หรือการรักษาโรคมะเร็งเมื่อสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็ง เป็นต้น

การพยากรณ์โรค

การพยากรณ์โรคของภาวะแคลเซียมในเลือดสูงจะขึ้นกับสาเหตุเป็นหลัก ถ้าสาเหตุเกิดจากยาหรือจากโรคของต่อมพาราไทรอยด์การพยากรณ์โรคจะดี แต่ถ้าเกิดจากโรคไตหรือโรค มะเร็งการพยากรณ์โรคจะเลวโดยเฉพาะเมื่อสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็ง

บรรณานุกรม

  1. https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000365.html [2015,Oct24]
  2. http://emedicine.medscape.com/article/240681-overview#showall [2015,Oct24]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Hypercalcaemia [2015,Oct24]