เอฟีดรีน (Ephedrine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

  เอฟีดรีน (Ephedrine) ตามบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยจัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2  นำมาใช้ในสถานพยาบาลด้วยวัตถุประสงค์ 2 ข้อคือ        

  • เพื่อรักษาความดันโลหิตต่ำ โดยใช้เป็นลักษณะของยาฉีดและยารับประทาน
  • ลดอาการคั่งของน้ำมูก โดยใช้ในลักษณะยาหยอดจมูก

ยาเอฟีดรีน ถูกสังเคราะห์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1885 (พ.ศ. 2428) โดยนักเคมีชาวญี่ปุ่น โดยยานี้มีคุณสมบัติเป็นสารประเภท Sympathomimetic amine จึงสามารถออกฤทธิ์กระตุ้นให้สาร Noradrenaline หลั่งออกมามากและมีการทำงานดียิ่งขึ้นโดยมีการออกฤทธิ์ในบริเวณปลายประสาท ยาเอฟีดรีนยังถูกนำไปใช้รักษา  อาการโรคหืด, ช่วยขยายหลอดลม,  โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง, สามารถใช้เป็นยาลดน้ำหนักได้อีกด้วย,  โดยแพทย์จะให้รับประทานเพียงระยะสั้นๆ บางประเทศนำยานี้ไปผสมกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโดยมีวัตถุประสงค์ทำให้ผู้รับประทานมีหุ่นและรูปทรงดีขึ้น

ด้วยยานี้ เป็นสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นสมอง หากใช้ผิดวิธีก็สามารถก่อให้เกิดผลเสียกับตัวผู้ป่วยได้ เช่น มีผลต่อการทำงานของหัวใจ ลดการบีบตัวของลำไส้เล็ก กระตุ้นศูนย์ควบคุมการหายใจ รวมถึงขยายรูม่านตา เหล่านี้ล้วนแต่มีผลต่อร่างกายทั้งสิ้น เราจึงมักพบเห็นการใช้ยาแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น และการใช้ยาจะต้องมีคำสั่งจากแพทย์มาประกอบกับการจ่ายยาให้ผู้ป่วยอีกด้วย

เอฟีดรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

เอฟีดรีน

ยาเอฟีดรีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • ใช้รักษาความดันโลหิตต่ำ
  • ใช้บำบัดรักษาอาการโรคหืดชนิดเฉียบพลัน
  • ใช้รักษาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • รักษาอาการ Adams-stokes syndrome (ภาวะเป็นลมจากการเต้นผิดปกติของหัวใจ)

เอฟีดรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

 กลไกการออกฤทธ์ของยาเอฟีดรีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นสมอง เพิ่มปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจ, ประกอบกับทำให้หลอดเลือดหดตัว, มีผลต่อทางเดินหายใจโดยทำให้หลอดลมขยายตัว, มีผลต่อทางเดินอาหารโดยจะลดการเคลื่อนไหวและการบีบตัวของลำไส้เล็ก, กระเพาะอาหารคลายตัวในขณะที่หูรูดของกระเพาะอาหารหดตัว, นอกจากนี้ยังทำให้รูม่านตาเปิดกว้าง จะเห็นได้ว่ายานี้สามารถออกฤทธิ์ต่อระบบการทำงานของร่างกายได้มากมาย และเป็นเหตุให้เกิดสรรพคุณการรักษาดังกล่าว

เอฟีดรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเอฟีดรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ด, ยาแคปซูล, ยาน้ำ, ที่เป็นชนิดรับประทานโดยมีตัวยาอื่นผสมร่วมด้วย เช่น Phenobarbitone/Phenobarbital, Theophylline, Ammoium chloride (ยาขับเสมหะ)
  • ยาฉีด ขนาด 30 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 15 และ 48 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาหยอดจมูก ขนาดความเข้มข้น 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

เอฟีดรีนมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?

ยาเอฟีดรีนมีขนาดรับประทาน/การบริหารยา/การใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น เริ่มต้นรับประทานที่ 25 - 50 มิลลิกรัมทุกๆ 3 - 4 ชั่วโมง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 150 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน

*กรณียาฉีด: ให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดใต้ผิวหนัง: ขนาด 25 - 50 มิลลิกรัมทุกๆ 3 - 4 ชั่วโมง

  • เด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป: เช่น รับประทาน 2 - 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่ง รับประทานเป็น 4 - 6 ครั้ง/วัน

*กรณียาฉีด: ให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ/ใต้ผิวหนัง 2 - 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งการฉีดเป็น 4 - 6 ครั้ง/วัน

  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ยังไม่มีข้อมูลขนาดยาในเด็กช่วงอายุนี้ ดังนั้นการใช้ยาในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

         *อนึ่ง สำหรับยานี้ชนิดรับประทานสามารถรับประทานยาก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเอฟีดรีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอฟีดรีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเอฟีดรีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

เอฟีดรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยาเอฟีดรีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)   เช่น

  • วิตกกังวล
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • ตัวสั่น
  • ปากคอแห้ง
  • ความดันโลหิตสูง
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • หงุดหงิด
  • นอนไม่หลับ
  • กรณีที่เป็นยาหยอดจมูก อาจก่อให้เกิด
    • อาการระคายเคืองบริเวณที่หยอดยา
    • หากใช้ไปนานๆสามารถทำให้เกิดอาการคัดจมูกกลับคืนมา (Rebound nasal congestion),  เยื่อจมูกอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้เอฟีดรีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอฟีดรีน ดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน)
  • ห้ามใช้ยากับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, ผู้ป่วยที่มีภาวะฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์สูง, ผู้ป่วยเบาหวาน, ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง, ผู้ป่วยโรคไต, ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต, ผู้ป่วยโรคต้อหิน (Angle-closure glaucoma)
  • ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ
  •  

         ***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอฟีดรีนด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เอฟีดรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเอฟีดรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น  เช่น    

  • การใช้ยาเอฟีดรีน ร่วมกับยา Theophylline อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยา Theophyl line ได้มากขึ้น การจะใช้ยาร่วมกันจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • การใช้ยาเอฟีดรีน ร่วมกับ ยาลดความดัน เช่นยา Bethanidine และ Guanethidine อาจทำให้ฤทธิ์ของยาลดความดันฯด้อยประสิทธิภาพลงไปจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเอฟีดรีน ร่วมกับยา Bupropion อาจทำให้เกิดภาวะชักกับผู้ป่วยโดยเฉพาะการใช้ยาในขนาดสูงหรือใช้ยากับผู้สูงอายุ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอฟีดรีน ร่วมกับ ยาต้านเศร้า เช่นยา Imipramine ด้วยจะก่อให้เกิดความผิดปกติของความดันโลหิต หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์ผู้รักษาจะปรับขนาดการใช้เป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาเอฟีดรีนอย่างไร?

 ควรเก็บยาเอฟีดรีน: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เอฟีดรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเอฟีดรีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Alergin (อะเลอจิน) Cipla Limited
Asthimo (แอสทิโม) Jagsonpal Pharmaceuticals Ltd
Binkof (บินคอฟ) Bini Laboratories Pvt. Ltd
Ephedrine Nasal Drops (เอฟีดรีน นาซอลดร็อป) Thornton and Ross Ltd.
Efipres (อีฟิเพรส) Neon Laboratories Ltd
Ephedrine (อีฟีดรีน) Unicure(India) Pvt.Ltd.
Ephedrine Hydrochloride (อีฟีดรีน ไฮโดรคลอไรด์) Cyper Pharma
Sulfidrin (ซัลไฟดริน) Samarth Pharma Pvt.Ltd.
Tedral SA (เทดรัล เอสเอ) Pfizer Limited

 

บรรณานุกรม

1 https://en.wikipedia.org/wiki/Ephedrine   [2021,Dec25]

2 https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Ephedrine%20GPO/   [2021,Dec25]

3 https://www.mims.com/thailand/drug/info/ephedrine?mtype=generic   [2021,Dec25]

4 https://www.drugs.com/ephedrine.html   [2021,Dec25]

5 https://www.drugs.com/cdi/ephedrine-injection.html   [2021,Dec25]

6 https://www.medindia.net/drug-price/ephedrine-combination.htm   [2021,Dec25]

7 https://www.medindia.net/drug-price/ephedrine.htm   [2021,Dec25]

8 https://patient.info/medicine/ephedrine-for-nasal-congestion   [2021,Dec25]

9 https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.4865.pdf   [2021,Dec25]