ยาหยอดจมูก (Nasal Drops)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 30 มกราคม 2559
- Tweet
สารบัญ
- ยาหยอดจมูกมีคุณสมบัติอะไร?
- แบ่งยาหยอดจมูกมีประเภทใดบ้าง?
- ยาหยอดจมูกอยู่ในรูปแบบใดบ้าง?
- ยาหยอดจมูกมีข้อบ่งใช้อย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้ยาหยอดจมูกอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาหยอดจมูกอย่างไร?
- การใช้ยาหยอดจมูกในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาหยอดจมูกในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาหยอดจมูกในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- ยาหยอดจมูกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- วิธีใช้ยาหยอดจมูก
- สรุป
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาพ่นจมูก (Nasal Sprays)
- โรคหูคอจมูก โรคทางหูคอจมูก โรคระบบหูคอจมูก (ENT disease)
- การตรวจทางหูคอจมูก การตรวจทางอีเอ็นที (Clinical examination of Ear Nose Throat or Clinical ENT examination)
- เอมเอโอไอ (Monoamine oxidase inhibitor: MAOI)
- ไซนัสอักเสบ โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ (Sinusitis)
ยาหยอดจมูกมีคุณสมบัติอะไร?
ยาหยอดจมูก หรือยาหยดจมูก (Nasal drop) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีตัวยาเป็นส่วนประกอบที่อาจละลายหรือแขวนลอยอยู่ในสารละลายหรือในกระสายยา และใช้ยาโดยการหยอดยาเข้าไปในช่องจมูกด้วยหลอดหยดเพื่อให้ได้จำนวนหยดรวมทั้งขนาดยาที่แน่นอน โดยเป็นการใช้บรรเทาอาการคัดจมูกเป็นหลัก
แบ่งยาหยอดจมูกมีประเภทใดบ้าง?
ปัจจุบันยาหยอดจมูกจะเป็นตัวยามีสรรพคุณหดหลอดเลือด (Intranasal decongestants) เช่น ยาเอฟีดรีน (Ephedrine), ออกซี่เมตาโซลีน (Oxymetazoline) และไซโลเมตาโซลีน (Xylometazoline)
ยาหยอดจมูกอยู่ในรูปแบบใดบ้าง?
ยาหยอดจมูกอยู่ในรูปแบบยาน้ำที่ใช้หยอด/หยดในช่องจมูก
ยาหยอดจมูกมีข้อบ่งใช้อย่างไร?
ข้อบ่งใช้/สรรพคุณของยาหยอดจมูกคือ ใช้บรรเทาอาการคัดจมูกและหายใจไม่สะดวกในโรคหวัด ในภาวะโพรงจมูกอักเสบ และในภาวะท่อยูสเตเชี่ยน (Eustatian tube) อักเสบ
มีข้อห้ามใช้ยาหยอดจมูกอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้ยาหยอดจมูกเช่น
1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยาหยอดจมูกชนิดนั้นๆ
2. ใช้ยาหยอดจมูกตามวิธีใช้ที่ระบุไว้ในฉลากยา/เอกสารกำกับยาอย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยาขนาดที่มากหรือน้อยกว่าที่ระบุ และไม่ควรหยุดการใช้ยานี้เอง
3. ห้ามใช้ยาหดหลอดเลือด (Intranasal decongestants)/ยาหยอดจมูกร่วมกับยาอื่นในกลุ่มเดียวกันทั้งชนิดรับประทานและชนิดยาพ่นจมูกเช่น ยาฟีนิลโพรพาโนลามีน (Phenylpro panolamine), ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine), ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine), อีเฟดรีน (Ephedrine) และห้ามใช้ร่วมกับยาเมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate)
4. ห้ามใช้ยาหยอดจมูก/Intranasal decongestants ในกรณีต่อไปนี้ได้แก่
- ผู้ป่วยที่มีประวัติอัมพาตเช่น อัมพาตที่เกิดจากเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก (Stroke) หรือมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก
- ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดที่ทำให้เยื่อหุ้มสมองเปิดออก
- ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรงหรือยังคุมอาการได้ไม่ดี
- ผู้ป่วยที่มีภาวะบกพร่องของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ/โรคหลอดเลือดหัวใจขั้นรุนแรง
- ผู้ป่วยที่มีประวัติของอาการชัก (Seizures)
- ผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบของผิวหนังหรือของเยื่อบุโพรงจมูกที่มีลักษณะแห้งและเป็น สะเก็ด (Rhinitis sicca)
5. ห้ามกลืนยาหยอดจมูก/Intranasal decongestants เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่ พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากการใช้ยานี้ได้
6. ห้ามใช้ยาหยอดจมูก/Intranasal decongestants ติดต่อกันนานเกิน 3 - 5 วันเพราะ อาจทำให้ Rebound congestion/Rhinitis medicamentosa/คือทำให้เกิดภาวะเยื่อจมูกบวมและเกิดเยื่อจมูกอักเสบกลับมาใหม่
มีข้อควรระวังการใช้ยาหยอดจมูกอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาหยอดจมูกเช่น
1. ไม่ควรใช้ยาหยอดจมูกในปริมาณที่มากเกินไปหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้ยาออกฤทธิ์กับทั้งทุกระบบอวัยวะของร่างกายส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากการใช้ยานี้ได้
2. กรณีที่ผู้ป่วยต้องใช้ยานี้สม่ำเสมอ ถ้าลืมหยอดยาให้หยอดยาทันทีที่นึกได้และหยอดครั้งต่อไปตามปกติ แต่ถ้านึกขึ้นได้ในระยะเวลาใกล้เคียงกับเวลาที่จะหยอดครั้งต่อไปให้หยอดยาของครั้งต่อไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยานี้เป็น 2 เท่า
3. ระวังการใช้ยาหยอดจมูก/Intranasal decongestants ร่วมกับยาต้านซึมเศร้ากลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีน ออกซิเดส (Monoamine oxidase inhibitors/MAOI) เพราะอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้
4. ระวังการใช้ยาหยอดจมูก/Intranasal decongestants ในผู้ป่วยที่มีภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคต้อหินมุมปิด โรคหัวใจ โรคจิต โรคต่อมลูกหมากโต โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือโรคไซนัสอักเสบ ร่วมด้วย
5. ถ้ายาหยอดจมูกเปลี่ยนสีหรือมีตะกอนให้ทิ้งยาไป (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วิธีทิ้งยาหมดอายุ)
6. ไม่ควรใช้ยาหยอดจมูกร่วมกับผู้อื่น
การใช้ยาหยอดจมูกในหญิงมีครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยาหยอดจมูก/Intranasal decongestants ที่ชัดเจนในหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงให้นมบุตร แต่เนื่องจากยามีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัวจึงไม่ควรใช้ยานี้ขณะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร แต่ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
การใช้ยาหยอดจมูกในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
ยาหยอดจมูกสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในผู้สูงอายุโดยไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา แต่ควรเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการใช้ยาหยอดจมูก/Intranasal decongestants ในผู้สูงอายุที่มีภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคต้อหินมุมปิด โรคหัวใจ โรคจิต โรคต่อมลูกหมากโต โรคลมชัก เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง
การใช้ยาหยอดจมูกในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาหยอดจมูกในเด็กควรเป็นดังนี้เช่น
1. การใช้ยาหยอดจมูกในเด็กควรมีผู้ใหญ่คอยดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้แน่ใจว่าขนาดและวิธีการใช้ยานี้ถูกต้องตามที่แพทย์สั่ง
2. มีรายงานอาการต่อไปนี้ในเด็กที่ใช้ยาหยอดจมูก/Intranasal decongestants เช่น อาการชัก ประสาทหลอน กระสับกระส่าย มีความผิดปกติทางพฤติกรรม และนอนไม่หลับ ดังนั้นหากพบอาการดังกล่าวในผู้ป่วยเด็ก ควรหยุดยานี้แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
ยาหยอดจมูกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาหยอดจมูก/Intranasal decongestants มีอาการ/ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ดังนี้
ก. ผลที่เกิดเฉพาะที่ในจมูก: เช่น แสบร้อนจมูกและลำคอ จมูกแห้ง จาม
ข. ผลต่อร่างกายทุกระบบอวัยวะ: เช่น ปวดศีรษะ หัวใจเต้นผิดปกติ เหงื่อออกมาก ต้อหิน ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด วิตกกังวล นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน
วิธีใช้ยาหยอดจมูก
วิธีใช้ยาหยอดจมูกได้แก่
1. หากมีน้ำมูกควรกำจัดน้ำมูกออกจากจมูกให้หมดโดยการสั่งน้ำมูกหรือการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือล้างจมูก (Normal saline)
2. ล้างมือให้สะอาดก่อนใช้ยานี้
3. เปิดฝาครอบขวดยาออก
4. นั่งตัวตรง เงยศีรษะขึ้นเล็กน้อย หรืออาจให้นอนหงายห้อยศีรษะลงต่ำ
5. หยอดยาในรูจมูกตามจำนวนที่แพทย์กำหนด ระวังไม่ให้ปลายหลอดยาสัมผัสกับโพรงจมูก
6. นั่ง/นอนในท่าเดิมต่อไปประมาณ 5 นาทีเพื่อป้องกันยาไหลย้อนออกมาจากรูจมูก
7. หยอดยาในรูจมูกอีกข้างด้วยวิธีการเดียวกัน (ถ้าต้องหยอดยาในรูจมูกทั้งสองข้าง)
8. ปิดฝาขวดยา เก็บยาให้เรียบร้อยตามแพทย/เภสัชกร/พยาบาลแนะนำหรือตามเอกสารกำกับยา
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาหยอดจมูก) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น. จมูก (nose). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: pharm.kku.ac.th/thaiv/pharmpractice/eent/lesson/nose/nose-doc.pdf [2016,Jan30]
- ปารยะ อาศนะเสน. เป็นโรคแพ้อากาศ....ใช้ยาอะไรดี. คลินิก. 29 (เมษายน 2556) : 257-260
- คณะทำงานพัฒนามาตรฐานทักษาะทางวิชาชีพด้านการเตรียมยาและคณะทำงานพัฒนามาตรฐานทักษาะทางวิชาชีพทางเภสัชกรรมด้านการจ่ายยา. คู่มือทักษาตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สภาเภสัชกรรม.
- Lacy C.F., et al. Drug information handbook with international trade names index. 19th ed. Ohio : Lexi-comp, 2011.