ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 7 เมษายน 2555
- Tweet
- บทนำ
- ยาซูโดอีเฟดรีนมีข้อบ่งใช้ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาซูโดอีเฟดรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาซูโดอีเฟดรีนมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาซูโดอีเฟดรีนมีขนาดการใช้อย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาซูโดอีเฟดรีนมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
- ยาซูโดอีเฟดรีนมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
- ยาซูโดอีเฟดรีนมีข้อควรระวังในการใช้ยาอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาซูโดอีเฟดรีนอย่างไร?
- ยาซูโดอีเฟดรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยา(Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหวัด(Common cold)
- โรคทางเดินหายใจ โรคระบบทางเดินหายใจ(Respiratory tract disorder)
- โรคภูมิแพ้(Allergy)
- เชื้อไวรัส (Viral infection)
- ไซนัสอักเสบ(Sinusitis)
- เอฟีดรีน (Ephedrine)
บทนำ
ยาซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) เป็นยาที่ปรุงแต่งในเภสัชตำรับ มีทั้งชนิดที่เป็นยาเดี่ยวหรือเป็นยาผสมกับยาอื่นเช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้ไอ ยาพาราเซตตามอล และยาแก้ปวด
ด้วยซูโดอีเฟดรีนสามารถใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้าได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จำกัดให้ยานี้มีใช้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น และสถานพยาบาลนั้นๆจะต้องส่งรายงานการซื้อและจำนวนที่จ่ายยาให้กับคนไข้ให้กับกระทรวงสาธารณสุขทุกปี ดังนั้นตามร้านขายยาแผนปัจจุบันจะพบว่าไม่มียาสูตรตำรับที่มีซูโดอีเฟดรีนวางจำหน่ายในร้านยาอีกต่อไป
ยาซูโดอีเฟดรีนมีข้อบ่งใช้ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาซูโดอีเฟดรีนใช้รักษาอาการหวัดที่มีน้ำมูกมาก
ยาซูโดอีเฟดรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยานี้จะทำให้หลอดเลือดฝอยหดตัว ทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณหลอดเลือดภายในโพรงจมูกได้น้อย จึงทำให้ลดปริมาณสารคัดหลั่งที่จะเพิ่มปริมาณของน้ำมูก ทำให้โพรงจมูกแห้ง นอกจากนี้ยังทำให้หลอดลมคลายตัวจึงหายใจได้สะดวกขึ้น
ยาซูโดอีเฟดรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซูโดอีเฟดรีนมีรูปแบบจำหน่ายดังนี้
ยาเดี่ยวชนิดเม็ด ขนาด 30, 60 มิลลิกรัม
ยาเดี่ยวชนิดน้ำเชื่อม ขนาด 30 มิลลิกรัม/ช้อนชา
ยาผสมชนิดเม็ด ขนาด 30, 60 มิลลิกรัม
ยาผสมชนิดน้ำเชื่อม ขนาด 30 มิลลิกรัม/ช้อนชา
ยาซูโดอีเฟดรีนมีขนาดการใช้อย่างไร?
ขนาดและปริมาณการใช้ยาซูโดอีเฟดรีนขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ประกอบกับยานี้มีผลอันไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) มากมาย จึงไม่ควรซื้อยากินเอง ขนาดของยาที่รับประทานในผู้ใหญ่และเด็กมีขนาดที่ต่างกัน ดังนั้นจึงควรได้รับคำแนะนำการใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น สำหรับผู้ใหญ่ขนาดสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 60 มิลลิกรัม/ครั้งและไม่เกิน4ครั้ง/วัน
เมื่อมีการสั่งใช้ยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาซูโดอีเฟดรีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดโดยมีอาการเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติด ขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาซูโดอีเฟดรีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายตัวสามารถผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาซูโดอีเฟดรีนสามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาใกล้กับมื้อถัดไปให้รับประทานขนาดปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า ซึ่งยานี้สามารถรับ ประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
ยาซูโดอีเฟดรีนมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
ยาตัวนี้มีผลไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงหลายอย่างคือ สามารถกระตุ้นให้มีอาการเจ็บหน้า อก อาจเกิดผลย้อนกลับทำให้มีน้ำมูกมากขึ้นเมื่อหยุดยา เกิดอาการตัวสั่น มือสั่น นอนไม่หลับ สับสน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน สามารถพบเลือดออกในกะโหลกศีรษะได้ หัวใจเต้นผิดจัง หวะ ถุงลมโป่งพอง และความดันโลหิตสูง
อนึ่ง ยานี้จัดเป็นยาที่สามารถกระตุ้นสมองให้ตื่น ทำให้ไม่ง่วงนอน มีอาการฟุ้งพล่าน (Manic episode) ควบคุมสติไม่ได้ ซึ่งมีผู้นำยานี้มาเป็นส่วนผสมของยากระตุ้นในนักกีฬาตื่น เป็นยาขยัน และเป็นยาบ้า ซึ่งจัดเป็นยาเสพติดและก่อปัญหาทางสังคมเนื่องจากผลข้างเคียงของยาดังกล่าวแล้ว
ยาซูโดอีเฟดรีนมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
การใช้ยาซูโดอีฟีดรีนร่วมกับยาลดความดันโลหิตบางกลุ่มจะทำให้ผลการลดความดันโล หิตด้อยประสิทธิภาพลง กลุ่มยาลดความดันโลหิตดังกล่าวเช่น แอลพรีโนลอล (Alprenolol)
การใช้ยาซูโดอีฟีดรีนร่วมกับยารักษาโรคลมชักบางตัวจะทำให้เพิ่มความเป็นพิษของยาซูโดอีฟีดรีน กลุ่มยารักษาโรคลมชักดังกล่าวเช่น อะเซตาโซลาไมด์ (Acetazolamide)
ยาซูโดอีเฟดรีนมีข้อควรระวังในการใช้ยาอย่างไร?
ข้อควรระวังเมื่อใช้ยาซูโดอีเฟดรีนเช่น
- ระวังการใช้ยาในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้ภาวะความดันโลหิตสูงรุนแรงมากยิ่งขึ้น
- ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยด้วยโรคเนื้องอกของต่อมหมวกไตชนิด Phaeochromocytoma เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจบีบตัวเร็วและส่งเสริมการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง
- ระมัดระวังการใช้ยากับผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาซูโดอีเฟดรีน
- ระมัดระวังการใช้ยากับผู้ป่วยที่มีอาการของโรคตับ โรคไต
- ระมัดระวังการใช้ยากับผู้ที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร
- ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาซูโดอีเฟดรีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ควรเก็บรักษายาซูโดอีเฟดรีนอย่างไร?
การเก็บรักษายาซูโดอีเฟดรีนได้แก่
- ยาเม็ด สามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิห้อง แต่ควรเก็บให้พ้นแสงแดดและความชื้น
- ยาน้ำ หลังเปิดขวดใช้แล้วสามารถใช้ต่อได้ไม่เกิน 3 เดือน (เมื่อยาไม่มีการเปลี่ยนสีหรือ กลิ่นหรือผิดปกติอื่นๆ)
*อนึ่ง ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถ ยนต์
ยาซูโดอีเฟดรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่อทางการค้าและบริษัทที่ผลิตยาซูโดอีเฟดรีนในประเทศไทยเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
A-fed(เอ-เฟด) | Patar Lab |
A-Mol Plus (เอ-มอล พลัส) | Siam Bheasach |
Actifed (แอคติเฟด) | Glaxo SmithKline |
Actil (แอคติล) | Masa Lab |
Adulfed (เอดัลเฟด) | T P Drug |
Antussia (แอนทุสเซีย) | Asian Pharm |
Benadryl Decongestant (เบนาดริล ดีคอนเจสแตนท์) | Johnson & Johnson |
Bluco (บลูโค) | B L Hua |
Bromiphed(โบรมิเฟด) | BJ Benjaosoth |
Bromsuno (บรอมซูโน) | Milano |
Brontus (บรอนทุส) | Chinta |
Clarinase (คลาริเนส) | MSD |
Clarinase 24 Hour (คลาริเนส 24 อาวร์) | MSD |
Cofed (โคเฟด) | M & H Manufacturing |
Coldifed (โคลดิเฟด) | The United Drug (1996) |
Colidin (โคลิดิน) | T Man Pharma |
Decolgen (ดีโคลเจน) | Great Eastern |
Hiscifed (ฮีสซิเฟด) | Greater Pharma |
Irvira(เออร์วิรา) | Thai Nakorn Patana |
Iyafin (ไอยาฟิน) | Thai Nakorn Patana |
Mofazt (โมฟาส) | Mega Lifesciences |
Nasolin (นาโซลิน) | Thai Nakorn Patana |
Nasorest (นาโซเรส) | Community Pharm PCL |
Nutacold (นูตาโคล) | Osotspa |
Pharfed (ฟาร์เฟด) | Pharmaland |
Polyfed (โฟลีเฟด) | Biolab |
Prophedin (โพรฟีดิน) | Siam Bheasach |
Pseudoephedrine Asian Pharm (ซูโดอีฟีดรีน เอเซียน ฟาร์ม) | Asian Pharm |
Pseudoephedrine BJ Benjaosoth (ซูโดอีฟีดรีน บีเจ เบญจโอสถ) | BJ Benjaosoth |
Pseudoephedrine Medicine Products (ซูโดอีฟีดรีน เมดดิซิน โพรดักซ์) | Medicine Products |
Pseudoephedrine Milano (ซูโดอีฟีดรีน มิลาโน) | Milano |
Robitussin PS (โรบิทุสซิน พีเอส) | Pfizer Consumer Healthcare |
Telfast D (เทลฟาส ดี) | Sanofi-Aventis |
Tiffy (ทิฟฟี่) | Thai Nakorn Patana |
Tiffy Fu (ทิฟฟี่ ฟู) | Thai Nakorn Patana |
Trifed (ไตรเฟด) | Nakornpatana |
Triprodrine (ไตรโพรดรีน) | Asian Pharm |
Tylenol Cold (ไทลินอล โคล) | Janssen-Cilag |
Zyrtec-D (เซอร์เทค-ดี) | GlaxoSmithKline |
บรรณานุกรม
1. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/pseudoephedrine [2015,April18]
2. http://en.wikipedia.org/wiki/Pseudoephedrine [2015,April18]
Updated 2015, April 18