เลโทรโซล (Letrozole)
- โดย ภญ. หนึ่งฤทัย ใจวงศ์เพ็ญ
- 17 ตุลาคม 2564
- Tweet
- บทนำ:เอสโตรเจนและเลโทรโซลคืออะไร?
- ยาเลโทรโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาเลโทรโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเลโทรโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเลโทรโซลมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเลโทรโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเลโทรโซลอย่างไร?
- ยาเลโทรโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเลโทรโซลอย่างไร?
- ยาเลโทรโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทใดบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
- เอ็กซ์เซเมสเทน (Exemestane)
- ทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด (Pulmonary embolism)
- พีซีโอเอส หรือ พีโอเอส: กลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ (PCOS หรือ POS : Polycystic ovarian syndrome)
- มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
บทนำ:เอสโตรเจนและเลโทรโซลคืออะไร?
เอสโตรเจนและเลโทรโซล คือ
ก. เอสโตรเจน:
เอสโตรเจน (Estrogen) คือ กลุ่มฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งชนิดย่อยของเอสโตรเจนที่มีบทบาทสำคัญในร่างกาย ได้แก่ เอสตร้าไดออล (Estradiol), เอสไตรออล (Estriol), และเอสโตรน/เอสโทรน (Estrone)
ร่างกายผลิตเอสโตรเจนจากการที่เอนไซม์อโรมาเตส(Aromatase/ เอนไซม์สร้างเอสโตรเจน)เปลี่ยนฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen)เป็นเอสโตรเจน (โดยเปลี่ยนแอนโดรสตีนไดโอน/Androstenedione/ฮอร์โมนหนึ่งในกลุ่มแอนโดรเจนไปเป็นเอสโทรน และเปลี่ยนเทสทอสเทอโรน/Testosterone/อีกฮอร์โมนหนึ่งในกลุ่มแอนโดรเจนไปเป็นเอสตร้าไดออล)
นอกจากเอสโตรเจนจะที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการเจริญพันธุ์และการแสดงออกของลักษณะเพศหญิงแล้ว ยังมีบทบาทในการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมอีกด้วย
การลดปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น หรือ การขัดขวางการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่จะไปกระตุ้นเซลล์มะเร็ง จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม
การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ถูกพัฒนาควบคู่ไปกับการรักษาวิธีอื่นๆ เช่น การผ่าตัด รังสีรักษา ยาเคมีบำบัด และการรักษาที่จำเพาะต่อเซลล์เป้าหมาย/ยารักษาตรงเป้า(ยามุ่งเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง/Targeted therapy)
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สามารถรับการรักษาทางด้านยาต้านฮอร์โมนนี้ได้ต้องเป็นผู้ที่ผลตรวจ ชิ้นเนื้อมะเร็งเต้านมพบเซลล์ที่มีตัวรับ(Receptor)ของฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นบวก (ER+, Estrogen receptor positive) ซึ่งตัวรับเอสโตรเจนหรือ ER นี้จะมีส่วนช่วยในการทำนายผลการรักษา/การพยากรณ์โรค และช่วยในการเลือกยากลุ่มที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย กล่าวคือ ถ้า ER+ จะมีการพยากรณ์โรคที่ดีกว่าและโรคจะตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน แต่ถ้าเซลล์มะเร็งไม่มีตัวรับเอสโตรเจน (ER-, Estrogen receptor negative) การพยากรณ์โรคจะเลวกว่าและโรคไม่ตอบสนองต่อยาต้านฮอร์โมน (ใช้ยาต้านฮอร์โมนรักษาไม่ได้ผลดี)
ข. เลโทรโซลคือยาอะไร?
เลโทรโซล (Letrozole) คือ ยาที่ขัดขวางการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วยการยับยั้งเอนไซม์อโรมาเตสแบบเจาะจง (Selective aromatase inhibitor) ทำให้ระดับเอสตร้าไดออล ลดลงและส่งผลให้การเจริญของเซลล์มะเร็งที่พึ่งพาเอสโตรเจนถูกยับยั้ง
ยาเลโทรโซล ขัดขวางการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ทั้งจากที่สร้างจากรังไข่ในช่วงวัยก่อนหมดประจำเดือน(วัยมีประจำเดือน) และจากต่อมหมวกไตในช่วงหลังหมดประจำเดือน (วัยหมดประจำเดือน) แต่เนื่องจากการลดปริมาณเอสโตรเจนในเลือดในสภาวะที่รังไข่ยังทำงานอยู่จะเกิดการส่งสัญญาณให้สมองส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) และต่อมใต้สมอง (Pituitary gland)หลั่งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน (Gonadotropin, ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง) ซึ่งจะกระตุ้นให้รังไข่สร้างแอนโดรเจนและเอนไซม์อโรมาเตสมากขึ้น (การสร้างเอสโตรเจนจึงจะมากขึ้น) จึงเป็นข้อห้ามใช้ยาเลโทรโซลเพื่อรักษามะเร็งเต้านมในผู้ป่วยที่ยังไม่อยู่ในภาวะหมดประจำเดือนคือ ยังมีประ จำเดือน/ยังมีฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่
ยาเลโทรโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเลโทรโซลมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาโรคมะเร็งเต้านมระยะแรกและระยะลุกลามในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่เซลล์มะเร็งมีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นบวก(ER+)
- นอกจากนี้ยังมีการใช้ยานี้นอกเหนือจากข้อบ่งชี้ที่ระบุไว้ในฉลากยา (Unlabeled/ Investigational use) เช่น
- การรักษาโรคมะเร็งเต้านมระยะลุกลามในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่ตัวรับ ฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นบวก (ER+) แต่ผลการทดสอบ“โปรตีนตัวหนึ่งซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยการเปลี่ยนแปลงในระดับยีน/จีน/Gene และสามารถทำให้เกิดมะเร็งได้ในหลายอวัยวะที่เรียกว่า Human epidermal growth factor receptor 2; HER2” ให้ผลเป็นลบ (Her2 -; Her2 negative)
- การรักษามะเร็งเต้านมชนิดแพร่กระจาย (Metastatic breast cancer) ในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่ตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน (ER+) และโปรตีนที่สนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเป็นบวก (HER2 +)
- ใช้เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่ (Infertility/ovulation stimulation) ในหญิงที่มีภาวะไม่ตกไข่เรื้อรังจากการมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovarian syndrome/โรคพีซีโอเอส/ PCOS)
- ใช้ในการรักษามะเร็งรังไข่
ฟลูออโรควิโนโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเลโทรโซลมีกลไกการออกฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์อโรมาเตสแบบเจาะจง (Selective aromatase inhibitor) โดยการแย่งจับกับส่วนประกอบหนึ่งของเอนไซม์อโรมาเตส (Heme group of aromatase) ส่งผลให้การสังเคราะห์ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ระดับ ฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือดที่จะไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมจึงลดลง
ยาเลโทรโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบทางเภสัชภัณฑ์/การจัดจำหน่ายของยาเลโทรโซล:
- ยาเม็ดสำหรับรับประทาน ขนาด 2.5 มิลลิกรัมโดยเป็นยาเม็ดเคลือบ (Film-coat tablet)
เนื่องจากยานี้มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนจึงควรหลีกเลี่ยงการหักยา แบ่ง บด เคี้ยวยา หรือทำให้เม็ดยาแตก หากมีความจำเป็นต้องให้ยาผ่านทางสายให้อาหาร (Enteral tube feeding) สามารถบดยาได้ เนื่องจากยาที่ใช้ลักษณะนี้จะอยู่ในรูปแบบที่ปลดปล่อยตัวยาทันที (Immediate release) แต่ผู้ที่เตรียมยาหรือผู้ป้อนยาให้แก่ผู้ป่วยจะต้องสวมถุงมือรวมทั้งผูกผ้าปิดจมูกและปาก/หน้ากากอนามัย และควรทำการบดเม็ดยาในภาชนะที่ปิดสนิท
ยาเลโทรโซลมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาเลโทรโซลมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยา เช่น
1. การรักษาโรคมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม: โดยอาจใช้เป็นยาตัวแรกในการรักษา หรือใช้เป็นลำดับต่อมาหลังจากรับการรักษาด้วยยาชนิดอื่นแล้วไม่ได้ผลตามที่ต้องการ เช่น
- รับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิกรัมวันละครั้งต่อเนื่องกันจนกว่าจะมีการแพร่กระจายของมะเร็งไปสู่อวัยวะอื่นๆ
2. การรักษาเสริมการรักษาอื่นในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมระยะแรก(Adjuvant treatment): เช่น หลังการผ่าตัด ยาเคมีบำบัด และ/หรือ รังสีรักษา เช่น
- รับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิกรัมวันละครั้งอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี แต่หยุดรับประทานเมื่อเกิดการกลับเป็นซ้ำ
3. การรักษาเสริมต่อเนื่องในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมระยะแรกหลังจากการรักษาด้วยยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen)เป็นเวลา 5 ปี (Extendedadjuvant treatment): เช่น
- รับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิกรัมวันละครั้งอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี แต่หยุดรับประทานเมื่อเกิดการกลับเป็นซ้ำ
4. การรักษาโรคมะเร็งเต้านมระยะลุกลามในหญิงที่ตัวรับสัญญาณฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นบวก (ER+) แต่ผลการทดสอบโปรตีนตัวหนึ่งซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยการเปลี่ยนแปลงในระดับยีน/จีน และสามารถทำให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิดเป็นลบ (HER2 negative, HER2 -): เช่น
- รับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิกรัมวันละครั้งร่วมกับยาPalbociclib (ยารักษาตรงเป้า/ยามุ่งเป้า) จน กว่าจะมีการแพร่กระจายของมะเร็งไปสู่อวัยวะอื่นๆหรือเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากยาที่ใช้
5. การรักษาโรคมะเร็งเต้านมชนิดแพร่กระจาย (Metastatic breast cancer) ในหญิงที่ตัวรับสัญญาณฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นบวก (ER+) และโปรตีนที่สนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเป็นบวก (HER2 +): เช่น
- รับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิกรัมวันละครั้งร่วมกับยาLapatinib (ยารักษาตรงเป้า) จนกว่าจะมีการแพร่กระจายของมะเร็งไปสู่อวัยวะอื่นๆหรือเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากยาที่ใช้
6. เหนี่ยวนำการตกไข่ (Infertility/ovulation stimulation)ในหญิงที่มีภาวะไม่ตกไข่เรื้อรังจากการมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ/โรคพีซีโอเอส:เช่น
- รับประทานครั้งละ 2.5 - 7.5 มิลลิกรัมต่อวันในวันที่ 3 - 7 ของรอบเดือน โดยสามารถรับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 5 รอบเดือน
7. การรักษามะเร็งรังไข่:เช่น
- รับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิกรัมวันละครั้งอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีการแพร่กระจายของมะเร็งฯไปสู่อวัยวะอื่นๆ
8. ขนาดยานี้ในผู้ป่วยตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่การทำงานของตับบกพร่องเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่ควรใช้ยาอย่างระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องอย่างรุนแรง
9. ขนาดยานี้ในผู้ป่วยไตเสื่อม: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่การทำงานของไตเสื่อมเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่ควรใช้ยาอย่างระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตเสื่อมอย่างรุนแรง
*อนึ่ง :
- การใช้ยาเลโทรโซลติดต่อกันนานเกิน 5 ปีไม่เกิดประโยชน์และอาจก่อให้เกิดอันตรายจากผลข้างเคียงของยา นอกจากนี้ควรให้ยาแคลเซียม (เช่น Calcium carbonate) วันละ 1,200 -1,500 มิลลิกรัม อาจให้ร่วมกับวิตามินดี ในผู้ป่วยที่ได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอในระหว่างที่ได้รับการรักษาด้วยยาเลโทรโซล
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ แต่ควรเป็นในช่วงเวลาเดียวกันของทุกวัน เช่น ช่วงเช้า เป็นต้น
*****หมายเหตุ:ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเลโทรโซล ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัตแพ้ยา เลโทรโซลหรือยาอื่นๆ
- ใช้หรือกำลังจะใช้ยาอื่นๆ ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง วิตามิน อาหารเสริม และ/หรือสมุนไพร
- ประวัติการเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัว
- ควรแจ้งแพทย์หากมีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ไม่ควรวางแผนจะมีบุตรระหว่างได้รับยานี้หรือในระยะหนึ่งหลังจากหยุดใช้ยา (ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาถึงระยะเวลาที่เหมาะสม) ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม (ปรึกษาแพทย์ผู้รักษา ทั่วไปแพทย์มักแนะนำการใช้ถุงยางอนามัยชาย)เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ เนื่องจากยานี้เป็นอันตรายกับทารกในครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ควรแจ้งแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยานี้
- หญิงให้นมบุตรควรแจ้งแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยา
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
สำหรับยาเลโทรโซล อาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมยา ดังนั้นการเลือกช่วงเวลาในการรับ ประทานยาไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงมื้ออาหาร สามารถรับประทานยาก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ แต่ควรรับประทานยาในช่วงเวลาเดียวกันของทุกวันเพื่อให้มีระดับยาในเลือดที่คงที่
กรณีลืมรับประทานยาเลโทรโซลให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไปให้รับประทานยามื้อถัดไปเลย ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า จาก นั้นรับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติ
*อนึ่ง: ห้ามหยุดรับประทานยานี้เองโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
ยาเลโทรโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเลโทรโซลมีผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา /ผลข้างเคียง เช่น
ก. ผลข้างเคียงที่พบบ่อย (พบได้มากกว่า10% ของผู้ป่วยทั้งหมดที่ได้รับยานี้): เช่น เหงื่อมาก, ร้อนวูบวาบ, บวมน้ำทั้งตัว, ปวดหัว, เวียนศีรษะ, คลื่นไส้อาเจียน, ใบหน้าแดง, อ่อนเพลีย, คอเลสเตอรอลสูงในเลือด, คลื่นไส้, ท้องผูก, ปวดกระดูก, ปวดหลัง
ข. ผลข้างเคียงที่พบบ่อยปานกลาง (พบได้ประมาณ 2 - 10% ): เช่น เจ็บหน้าอก, ความดันโลหิตสูง, บวมน้ำส่วนปลาย (คือ มื้อ เท้า ขา แขน), ง่วงซึม, นอนไม่หลับ, ซึมเศร้า, วิตกกังวล, ผมร่วง, เจ็บเต้านม, แคลเซียมในเลือดสูง, ภาวะช่องคลอดแห้งและระคายเคือง, ความหนาแน่นมวลกระดูกลดลงหรือกระดูกพรุน
ค. ผลข้างเคียงที่พบไม่บ่อย (พบได้น้อยกว่า 2%): เช่น ยานี้จะกระตุ้นความอยากอาหาร, ผิวแห้ง, มองภาพไม่ชัด, โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต/ Stroke), สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด, ภาวะมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดที่ก่อให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือด
มีข้อควรระวังการใช้ยาเลโทรโซลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเลโทรโซล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในหญิงให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) ควรติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับคอเลสเตอรอลระหว่างการใช้ยาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกพรุน ควรติดตามการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นมวลกระดูก (การตรวจหาความหนาแน่นมวลกระดูก) ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
- ควรติดตาม/การตรวจเลือดดู ภาวะความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count; CBC /ซีบีซี), ระดับแคลเซียมในเลือด, ภาวการณ์ทำงานของตับ, รวมทั้งสังเกตภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด และการตรวจเต้านมเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์ (เช่น การตรวจภาพรังสีเต้านม)ระหว่างการใช้ยานี้
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเลโทรโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด ) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเลโทรโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเลโทรโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- เนื่องจากยาเลโทรโซลมีการเปลี่ยนแปลงตัวยาที่ตับ โดยเอนไซม์ CYP 2A6 (Cytochrome P450, family 2, subfamily A, polypeptide 6) และในขณะเดียวกันก็มีคุณสม บัติในการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงยาชนิดอื่นที่มีการเปลี่ยนแปลงยาที่ตับโดยเอนไซม์ CYP 2A6 เช่นกันเช่น Valproic acid (วาโปรอิก แอซิด) ซึ่งเป็นยาต้านชัก/ ยากันชัก จึงอาจทำให้ระดับยาวาโปรอิก แอซิดในเลือดเพิ่มขึ้น จึงอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาวาโปรอิก แอซิดเพิ่มขึ้น อย่าง ไรก็ตามยาวาโปรอิก แอซิดเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงยาที่ตับโดยเอนไซม์ดัง กล่าว จึงอาจจะไม่ส่งผลต่อระดับยาวาโปรอิก แอซิดในเลือดมากนัก
- การใช้ยาเลโทรโซลร่วมกับยา Methadone (เมทาโดน) ซึ่งเป็นยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) อาจทำให้ระดับยาเมทาโดนในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประ สงค์ของยาเมทาโดน เช่น ง่วงซึม ปวดหัว คลื่นไส้-อาเจียน ท้องผูก มองเห็นภาพไม่ชัด เป็นต้น
- การใช้ยาเลโทรโซลร่วมกับยา Tamoxifen (ทาม็อกซิเฟน) อาจทำให้ระดับยาเลโทรโซลในเลือดลดลงทำให้ลดประสิทธิผลในการรักษาของยาเลโทรโซล จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งเต้านมได้
- การใช้ยาเลโทรโซลร่วมกับยา Tegafur-Uracil (เทกาเฟอร์-ยูราซิล) ซึ่งเป็นยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษามะเร็งบางชนิดโดยเฉพาะมะเร็งระบบทางเดินอาหาร จะทำให้ระดับยาทีกาเฟอร์ที่ไปออกฤทธิ์ได้ลดลง ทำให้ลดประสิทธิผลในการรักษาของยาทีกาเฟอร์จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งนั้นๆได้
ควรเก็บรักษายาเลโทรโซลอย่างไร?
ควรเก็บยาเลโทรโซล: เช่น
- เก็บยาในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดภาชนะให้สนิท
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง (ไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส/Celsius)
- ไม่เก็บยาในบริเวณที่ถูกแสงแดดโดยตรง
- ไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกชื้น เช่น ในห้องน้ำ
- ไม่เก็บยาในรถยนต์
- ควรทิ้งยานี้เมื่อหมดอายุ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง วิธีทิ้งยาหมดอายุ)
ยาเลโทรโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทใดบ้าง?
ยาเลโทรโซล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | รูปแบบและขนาด | บริษัทผู้ผลิต/จำหน่าย |
---|---|---|
Femara (เฟมารา) Loxifen (โลซิเฟน) Dracenax (ดราซิแน็ก) |
ยาเม็ดเคลือบขนาด 2.5 มิลลิกรัม | บริษัทโนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด |
Trozet (โทรเซ็ท) | ยาเม็ดเคลือบขนาด 2.5 มิลลิกรัม | บริษัทเฟรเซนีอุส คาบี (ไทยแลนด์) จำกัด |
Letrozole Tablets USP (ยาเม็ดเล็ทโทรโซล) | ยาเม็ดเคลือบขนาด 2.5 มิลลิกรัม | องค์การเภสัชกรรม |
Etrokline (อีโทรไคล์น) | ยาเม็ดเคลือบขนาด 2.5 มิลลิกรัม | บริษัทแกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด |
Letov (เลทอฟ) | ยาเม็ดเคลือบขนาด 2.5 มิลลิกรัม | บริษัทฟาร์มาแลนด์ (1982) จำกัด |
Letero (เลเทอโร) | ยาเม็ดเคลือบขนาด 2.5 มิลลิกรัม | บริษัทเฮทเทอโร (ไทยแลนด์) จำกัด |
Letrozole Alvogen (เลโทรโซล อัลโวเจน) | ยาเม็ดเคลือบขนาด 2.5 มิลลิกรัม | บริษัทอัลโวเจน (ประเทศไทย) จำกัด |
บรรณานุกรม
- Dipiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR , Wells BG, Posey LM. Pharmacotherap : a pathophysiologic approach. 8th edition.McGraw-Hill ; 2011.
- Charles F. Lacy , Lora L. Armstrong , Morton P. Goldman , et al. Drug Information Handbook International.23thed. Lexi–Comp Inc,Ohio ,USA.
- TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013.
- https://www.uptodate.com/contents/evaluation-and-management-of-aromatase-inhibitor-induced-bone-loss [2021,Oct16]
- https://www.drugs.com/mtm/letrozole.html [2021,Oct16]