มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 9 ธันวาคม 2563
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคมะเร็งรังไข่มีกี่ชนิด?
- โรคมะเร็งรังไข่มีสาเหตุจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- โรคมะเร็งรังไข่มีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ได้อย่างไร?
- โรคมะเร็งรังไข่มีกี่ระยะ?
- รักษาโรคมะเร็งรังไข่ได้อย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งรังไข่อย่างไรบ้าง?
- โรคมะเร็งรังไข่รุนแรงไหม?
- ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งรังไข่ได้อย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคมะเร็งรังไข่อย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- บรรณานุกรม
- มะเร็ง (Cancer)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- การฉายรังสีรักษา เทคนิคการฉายรังสี (External irradiation)
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer patient self-care and Cancer care)
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด (Coping with chemotherapy)
- มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer)
- อัลตราซาวด์ (Ultrasonogram)
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (X-ray Computerized Tomography) / ซีทีสแกน (CT-scan)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
มะเร็งรังไข่(Ovarian cancer) คือโรคที่เซลล์รังไข่เกิดเจริญแบ่งตัวเพิ่มสูงผิดปกติต่อเนื่องที่เรียกว่า “เซลล์มะเร็ง” โดยที่ร่างกายควบคุมการแบ่งตัวนี้ไม่ได้ จึงส่งผลให้เกิดเป็นก้อนเนื้อร้ายที่รุกรานทำลายทั้ง ภายในรังไข่, เนื้อเยื่อข้างเคียงในรังไข่, ออกนอกรังไข่เข้าสู่ ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน (ท้องน้อย) และ/หรือรอบท่อเลือดแดงในช่องท้อง, นอกจากนั้น เซลล์มะเร็งจะลุกลามเข้าเยื่อบุช่องท้อง ส่งผลให้เกิดน้ำมะเร็งในช่องท้อง(ท้องมานจากเซลล์มะเร็ง) และเข้ากระแสกระแสโลหิต/กระแสเลือดในที่สุด กระจายไปอวัยวะอื่นๆทั่วร่างกาย เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก ที่แพร่กระจายบ่อยที่สุดคือ ปอด และตับ
รังไข่ (Ovary) เป็นอวัยวะคู่มีทั้งด้านซ้ายและด้านขวา เป็นอวัยวะอยู่ในช่องท้องน้อย (อุ้งเชิงกราน) และอยู่ในระบบสืบพันธุ์เฉพาะของผู้หญิง มีหน้าที่สร้างไข่เพื่อการผสมพันธุ์และสร้างฮอร์โมนเพศหญิง ปกติรังไข่แต่ละข้างในวัยเจริญพันธุ์ (วัยมีประจำเดือน) มีขนาดประ มาณ 1.5 x 2.5 x 4 เซนติเมตร และมีน้ำหนักข้างละประมาณ 4 - 5 กรัม
รังไข่สามารถเกิดโรคมะเร็งได้ทั้งสองข้าง โดยพบเกิดกับข้างซ้ายและข้างขวาใกล้เคียงกัน ซึ่งพบพร้อมกันทั้งสองข้างได้ประมาณ 25%
โรคมะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer) เป็นมะเร็งพบบ่อยทั่วโลกรวมทั้งในผู้หญิงไทยโดยเป็นลำดับที่6 ของโรคมะเร็งพบบ่อยในสตรีไทย ทั่วไปพบได้ทั้งในเด็กหญิงวัยรุ่นและในสตรีผู้ใหญ่(ขึ้นกับชนิดของเซลล์มะเร็ง) แต่พบสูงขึ้นในช่วงอายุตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป การศึกษาในประเทศที่เจริญแล้วช่วงค.ศ. 2014 พบโรคได้ 9.4 รายต่อประชากรสตรี1 แสนคน ส่วนในประเทศกำลังพัฒนาพบ 5 รายต่อประชากรสตรี1แสนคน
ประเทศไทย ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ช่วง พ.ศ. 2556-2558 รายงานจากทะเบียนมะเร็งแห่งชาติ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขปีพ.ศ.2561 พบโรคนี้ได้ 5.7 รายต่อประชากรสตรีไทย 1 แสนคน
โรคมะเร็งรังไข่มีกี่ชนิด?
มะเร็งรังไข่มีหลายชนิด แต่แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ
ก. กลุ่มเกิดจากเซลล์ตัวอ่อน ที่เรียกว่า เจิมเซลล์(Germ cell) มะเร็งกลุ่มนี้พบน้อย และมักพบในเด็กและในหญิงอายุน้อย เรียกมะเร็งกลุ่มนี้ว่า ’เนื้องอกเจิมเซลล์หรือมะเร็งเจิมเซลล์’ (Germ cell tumor) ซึ่งพบมะเร็งรังไข่กลุ่มนี้ได้ประมาณ 5% ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด ตัวอย่างชนิดมะเร็งในกลุ่มนี้ เช่น Dysgerminoma, Embryonal cell carcinoma, Teratocarcinoma
ข. กลุ่มเกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อบุผิว (Epithelium) อาจเป็นเยื่อบุผิวชนิดเดียวกับของท่อนำไข่ หรือของเยื่อบุมดลูก หรือของเยื่อบุผิวของรังไข ซึ่งเป็นมะเร็งกลุ่มพบบ่อยที่สุด (ประมาณ 90%) และเป็นชนิดเกิดในสตรีผู้ใหญ่ โดยพบได้สูงตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งทั่วไปเมื่อพูดถึง “โรคมะเร็งรังไข่” มักหมายถึง “โรคมะเร็งรังไข่ชนิดเกิดจากเยื่อบุผิว”นี้ เช่น ชนิด Papillary serous cystadenocarcinoma (พบได้บ่อยที่สุด), ที่พบได้รองๆลงไป เช่น Borderline adenocarcinoma, Adenocarcinoma, Mucinous cystadenacarcinoma
อนึ่ง: มะเร็งรังไข่ในกลุ่มเยื่อบุผิวนี้ยังแบ่งได้เป็นอีก 2 แบบ/Type คือ มะเร็งรังไข่แบบ 1 (Ovarian cancer type 1), และมะเร็งรังไข่แบบ 2 (Ovarian cancer type 2)
- ‘มะเร็งรังไข่แบบ 1’ คือ มะเร็งรังไข่ที่มี ‘ความรุนแรงโรคต่ำ’(Low grade tumor) ธรรมชาติของโรคไม่ค่อยลุกลามแพร่กระจาย จึงมักพบโรคนี้ในระยะที่ 1 และเป็นมะเร็งกลุ่มมีการพยากรณ์โรคที่ดี นอกจากนั้น โรคในกลุ่มนี้ยังมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติทางพันธุกรรม/จีน/ยีน เช่น KRAS, PTEN , BRAF แต่มักไม่พบความผิดปกติของจีน TP53 (Tumor protein 53), มะเร็งกลุ่มนี้ที่พบบ่อยคือ มะเร็งในกลุ่ม Borderline adenocarcinoma
- ‘มะเร็งรังไข่แบบ 2’ เป็นมะเร็งกลุ่มมีธรรมชาติของโรครุนแรง (High grade tumor) มักพบโรคในระยะลุกลามออกนอกรังไข่ไปแล้ว เป็นโรคที่มักพบร่วมกับมีจีนผิดปกติชนิด TP53, และ BRCA (Breast cancer) และเป็นโรคกลุ่มมี’การพยากรณ์โรคไม่ดี’ ทั้งนี้ บางท่านเรียกมะเร็งกลุ่มนี้ว่า ‘Ovarian carcinoma’
ค.ชนิดอื่นๆนอกเหนือจากกลุ่ม ก. และ ข. : พบรวมกันประมาณ 5% เช่น Sex cord stromal tumor, Mullerian tumor
*อนึ่ง ในบทความนี้ ‘มะเร็งรังไข่’ จะหมายถึง ‘มะเร็งในกลุ่มเนื้อเยื่อบุผิว’
โรคมะเร็งรังไข่มีสาเหตุจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ที่แน่ชัด แต่พบผู้มีปัจจัยเสี่ยงคือ
- มีความผิดปกติทางพันธุกรรม: เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในคนมีประวัติครอบครัวเป็น มะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะในญาติสายตรง คือ มารดาและหญิงพี่น้องท้องเดียวกัน, มะเร็งเต้านม และ/หรือ มะเร็งลำไส้ใหญ่
- อายุ: มักพบในอายุ 50 ปีขึ้นไปดังกล่าวแล้ว
- เคยเป็น มะเร็งรังไข่ข้างหนึ่งมาแล้ว, มะเร็งเต้านม, และ/หรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน: พบในคนอ้วนสูงกว่าในคนผอม
- การตั้งครรภ์: พบในคนไม่เคยตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์เพียง1 - 2 ครรภ์ สูงกว่าคนจำนวนตั้งครรภ์มากกว่านี้ และพบได้สูงกว่าในคนตั้งครรภ์ครั้งแรกอายุมากกว่า 30 ปี
- ประจำเดือน: พบได้สูงกว่าในคนมีประจำเดือนเร็ว คือในอายุต่ำกว่า 12 ปี, หรือหมดประจำเดือนช้าคือช้ากว่าอายุ 55 ปี
- อาจจากใช้ยากระตุ้นการตกไข่ในการกระตุ้นให้เกิดการตั้งครรภ์: เช่น ในภาวะมีบุตรยาก
- อาจจากใช้ยาฮอร์โมนเพศชดเชยในช่วงวัยหมดประจำเดือน
โรคมะเร็งรังไข่มีอาการอย่างไร?
ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็งรังไข่ในระยะแรกๆ แต่เป็นอาการทั่วไปที่คล้ายกับ โรคกระเพาะอาหาร, โรคระบบทางเดินปัสสาวะ, และ/หรือ โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง เรอบ่อย จากก้อนมะเร็งกดเบียดทับอวัยวะต่างๆใน ระบบทางเดินอาหาร
- ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ จากก้อนมะเร็งกดเบียดทับกระเพาะปัสสาวะ
- ท้องผูก จากก้อนมะเร็งกดเบียดทับ ลำไส้เล็ก และ/หรือ ลำไส้ใหญ่ และ/หรือ ไส้ตรง
ซึ่งจากอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงเหล่านี้ จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ในระยะโรคลุกลาม กล่าว คือ
- เมื่อคลำก้อนเนื้อได้ในท้องน้อย
- ปวดท้องน้อย
- ประจำเดือนผิดปกติ หรือ
- มีน้ำในช่องท้อง (ท้องมาน)
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย เช่น ประวัติอาการ ประวัติโรคประจำตัว ประวัติโรคคนในครอบครัว โดยเฉพาะ มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจภายใน
- ตรวจเลือดดู ค่าสารมะเร็งที่สร้างจากเซลล์มะเร็งรังไข่
- ตรวจภาพช่องท้องด้วย อัลตราซาวด์ และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน)
อนึ่ง: ทั่วไป ในโรคต่างๆที่มีก้อนเนื้อในรังไข่ จะ’ไม่มี’การตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาเหมือนในโรคอื่นๆ เพราะอาจมีผลข้างเคียงจากการตัดชิ้นเนื้อได้สูงเช่น เกิดเลือดออกในช่องท้องหรือมีลำไส้ทะลุจากเข็มเจาะพลาดไปโดนลำไส้ และหากเป็นมะเร็งจะเป็นสาเหตุให้เซลล์มะเร็งอาจลุกลามเข้าสู่เยื่อบุช่องท้อง(ท้องมานจากน้ำมะเร็ง) นอกจากนั้นเมื่อมีก้อนเนื้อในรังไข่ การรักษาหลักคือ การผ่าตัดเสมอ ดังนั้นการวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ที่แน่นอน จึงได้จากแพทย์ตรวจรังไข่ในขณะผ่าตัดและจากตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อหลังผ่าตัดเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
โรคมะเร็งรังไข่มีกี่ระยะ?
โรคมะเร็งรังไข่มี 4 ระยะหลักเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ และในแต่ระยะยังแบ่งย่อยได้อีก เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้เป็นข้อบ่งชี้ทางการรักษาและในการศึกษาวิจัย ทั้งนี้ในบทความนี้ จัดระยะโรคตามแบบ องค์กรระหว่างชาติด้านโรคมะเร็งอวัยวะเพศสตรี(FIGO:The International Federation of Gynecology and Obstetrics)ร่วมกับคณะกรรมการด้านโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา(American Joint Committee on Cancer: AJCC), 8th,ed. ซึ่งระยะโรคได้แก่
- ระยะที่ 1: เซลล์มะเร็งลุกลามอยู่แต่เฉพาะในรังไข่ และแบ่งเป็นระยะย่อย 3ระยะ คือ
- ระยะ 1A: เกิดโรคเพียงรังไข่ด้านเดียว ซ้าย หรือ ขวา
- ระยะ 2B: เกิดโรค2ด้านทั้งซ้ายขวา
- ระยะ 1C: มีเซลล์มะเร็งหลุดลอดออกจากรังไข่ขณะผ่าตัด, และ/หรือ ก้อนมะเร็งแตกก่อนผ่าตัด, และ/หรือ มีเซลล์มะเร็งลุกลามเข้าเยื่อหุ้มก้อนมะเร็ง, และ/หรือ มีเซลล์มะเร็งในน้ำในช่องท้อง
- ระยะที่ 2: มะเร็งลุกลามเข้าเนื้อเยื่ออื่นในอุ้งเชิงกราน(ท้องน้อย) โดยแบ่งเป็น 2ระยะย่อย คือ
- ระยะ 2A: เซลล์มะเร็งลุกลามหรือเกาะอยู่บนผิวของ มดลูก รังไข่ และ/หรือท่อนำไข่
- ระยะ 2B: เซลล์มะเร็งลุกลามสู่เนื้อเยื่ออื่นๆในอุ้งเชิงกรานนอกเหนือจากดังกล่าวในระยะ2A
- ระยะที่ 3: เซลล์มะเร็งลุกลามออกนอกอุ้งเชิงกราน และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
- ระยะ 3A: เซลล์มะเร็งลุกลามออกนอกอุ้งเชิงกราน และ/หรือในอุ้งเชิงกรานแต่ยังไม่เกิดเป็นก้อนเนื้อแต่ตรวจพบเฉพาะจากกล้องจุลทรรศน์, และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
- ระยะ 3B: เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าสู่เยื่อบุช่องท้องส่วนนอกอุ้งเชิงกรานโดย ก้อนเนื้อโตไม่เกิน 2 ซม., และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
- ระยะ 3C: ก้อนมะเร็งลุกลามออกนอกอุ้งเชิงกรานโดยโตเกิน 2ซม. และ/หรือเซลล์มะเร็งลุกลามเข้าเยื่อหุ้มตับและ/หรือม้าม, และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 4: โรคแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดไปยังอวัยวะอื่นๆทั่วร่างกาย ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักเข้าสู่ ปอด ตับ และสมอง โดย
- ระยะ 4A: แพร่เข้าปอดส่งผลให้เกิดภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดซึ่งตรวจพบเซลล์มะเร็งร่วมด้วย
- ระยะ 4B:
- แพร่กระจายสู่เนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย เช่น ปอด สมอง กระดูก
- และแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองนอกช่องท้อง เช่น ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ, ต่อมน้ำเหลืองในช่องอก, ต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า
อนึ่ง: กรณีเซลล์มะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะในเนื้อเยื่อบุผิวของรังไข่ เรียกว่า เป็นมะเร็งระยะยังไม่มีการรุกราน(Preinvasive หรือ Preinvasive cancer) จัดเป็น ‘มะเร็งระยะศูนย์(Stage0)’ ซึ่งแพทย์หลายท่านยังไม่จัดโรคระยะ0 นี้เป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะมะเร็งแท้จริงต้องมีการรุนราน(Invasive) ซึ่งมะเร็งรังไข่ระยะศูนย์พบน้อยมากๆ
รักษาโรคมะเร็งรังไข่ได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาของโรคมะเร็งรังไข่ คือ
- ผ่าตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้างร่วมกับผ่าตัดมดลูกและปีกมดลูก/ท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง เพราะเป็นอวัยวะที่โรคมะเร็งอาจลุกลามได้ และรักษาต่อเนื่องด้วยยาเคมีบำบัดเมื่อเป็นโรคที่เซลล์มะเร็งเป็นชนิดรุนแรงและ/หรือเมื่อมีโรคลุกลามแล้ว
- ส่วนรังสีรักษาจะใช้ในกรณีเมื่อมีโรคแพร่กระจายเพียงเพื่อช่วยบรรเทาอาการ เช่น เมื่อมีโรคแพร่กระจาย เข้ากระดูก และ/หรือเข้าสมอง
- ส่วนยารักษาตรงเป้ายังอยู่ในการศึกษา และราคายายังแพงมากเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงยาได้
มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งรังไข่อย่างไรบ้าง?
ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งรังไข่จะขึ้นกับวิธีรักษาได้แก่
ก. จากการผ่าตัด: เช่น แผลติดเชื้อ และการสูญเสียอวัยวะ และการขาดฮอร์โมนเพศจากการผ่าตัดรังไข่เมื่อผู้ป่วยยังไม่หมดประจำเดือน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคกระดูกพรุนและกระ ดูกหักได้สูงขึ้น
ข. จากยาเคมีบำบัด: เช่นเดียวกับในยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด เช่น คลื่นไส้-อาเจียน, กดไขกระดูกจึงเกิดโรคซีด, ภาวะติดเชื้อจากเม็ดเลือดขาวต่ำ, (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด-รังสีรักษา), และ ภาวะเลือดออกง่ายแต่หยุดยากจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
ค.จากรังสีรักษาจะแตกต่างกันไปขึ้นกับบริเวณที่ได้รับรังสี เช่น ผลต่อผิวหนังบริเวณได้รับรังสี (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา, และเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีบริเวณช่องท้องและ/หรืออุ้งเชิงกราน)
ง. จากยารักษาตรงเป้า เช่น ยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า, ยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย, แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล, และอาจเป็นสาเหตุให้ผนังลำไส้ทะลุได้(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง)
ทั้งนี้ผลข้างเคียงต่างๆจะสูงขึ้นเมื่อ
- ใช้หลายๆวิธีรักษาร่วมกัน
- เมื่อมีโรคเรื้อรังประจำตัวเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูงโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคภูมิต้านตนเอง /โรคออโตอิมมูน
- สูบบุหรี่
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ในผู้สูงอายุ
โรคมะเร็งรังไข่รุนแรงไหม?
การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของมะเร็งรังไข่ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ระยะโรค, ชนิดของเซลล์มะเร็ง, การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกได้หมดหรือไม่, การตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด,
ก. การพยากรณ์โรคมะเร็งรังไข่ชนิดเนื้องอกเจิมเซลล์เป็นโรคมีความรุนแรงค่อนข้างต่ำถึงปานกลาง/การพยากรณ์โรคค่อนข้างดี เพราะโรคมักตอบสนองได้ดีต่อยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา ทั่วไปอัตรารอดที่ห้าปี ได้แก่
- โรคระยะที1: 90-95%
- โรคระยะที่2: 80-90%
- โรคระยะที่3: 75-80%
- โรคระยะที่4: 50-60%
ข. แต่โรคมะเร็งรังไข่ชนิดเกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อบุผิวจัดเป็นโรคค่อนข้างรุนแรง การพยากรณ์โรคอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงไม่ดีขึ้นกับระยะโรค เพราะดังกล่าวแล้วว่า ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ในโรคระยะลุกลาม ดังนั้นการผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งให้หมดจึงมักเป็นไปได้ยาก และเซลล์มะเร็งมักดื้อต่อยาเคมีบำบัดที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งดื้อต่อรังสีรักษา โดยทั่วไปอัตรารอดที่ห้าปี จะขึ้นกับระยะโรค การผ่าตัดก้อนมะเร็งได้หมด และการตอบสนองที่ดีต่อยาเคมีบำบัด เช่น
- ระยะที่ 1 : ประมาณ 75-90%
- ระยะที่ 2 : ประมาณ 65-75%
- ระยะที่ 3: ประมาณ 30 -50%
- ระยะที่ 4: ประมาณ 0 - 20 %
ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งรังไข่ได้อย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ(การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง)ในการตรวจให้พบมะเร็งรังไข่ตั้งแต่ยังไม่มีอาการสำหรับคนทั่วไป ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ การรีบพบสูตินรีแพทย์เสมอเมื่อมีความผิดปกติทางประจำเดือน, ทางปัสสาวะ, และ/หรือทางอุจจาระ, และ/หรือ คลำได้ก้อนเนื้อในช่องท้องน้อย, และ/หรือเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อปัจจัยเสี่ยงฯ’, ทั้งนี้เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆ
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประเทศที่เจริญแล้วกำลังมีการศึกษาอย่างจริงจังเพื่อให้สามารถค้นพบวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถพบโรคได้ตั้งแต่ในระยะยังไม่มีอาการ ซึ่งจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาสูงขึ้นจนสามารถลดอัตราตายจากโรคลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ในทางคลินิก ในผู้ที่แพทย์ประเมินแล้วว่ามีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ เช่น ในหญิงที่ครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งรังไข่โดยเฉพาะที่ตรวจพบโรคได้ในอายุก่อน 50 ปี, แพทย์มักเฝ้าติดตามผู้มีปัจจัยเสี่ยงนั้นๆอย่างใกล้ชิด เช่น ทุก 3 - 6 เดือน โดยในการเฝ้าติดตามนี้ แพทย์จะสอบถาม อาการ, ตรวจร่างกายทั่วไป, ตรวจภายใน, อาจมีการตรวจภาพช่องท้อง/ช่องท้องน้อยด้วยอัลตราซาวด์และ/หรือซีทีสแกน, และอาจร่วมกับตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็งที่สัมพันธ์กับมะเร็งรังไข่ ซึ่งความถี่ในการตรวจอัลตราซาวด์/ซีทีสแกนและตรวจเลือดจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
อนึ่ง ในมะเร็งรังไข่ มีสารมะเร็ง(Tumor marker)ที่เซลล์มะเร็งสร้างขึ้นหลายชนิด ขึ้นกับชนิดของเซลล์มะเร็ง แต่มะเร็งรังไข่ในบางผู้ป่วย ก็ไม่สร้างสารมะเร็ง นอกจากนั้นสารมะเร็งเหล่านี้ยังตรวจพบได้ในมะเร็งอื่นๆหลายชนิด รวมถึงเมื่อมีการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ดังนั้น แพทย์จึงไม่ใช้การตรวจสารมะเร็งเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ เพราะจะนำไปสู่การวินิจฉัยผิดพลาดสูง แต่ใช้การตรวจค่าสารมะเร็งเหล่านี้กรณีเพื่อการติดตามผลการรักษา ซึ่งสารมะเร็ง ที่พบในมะเร็งรังไข่ เช่น CA125, Beta hCG, Alpha fetoprotein(AFP), CEA
ป้องกันโรคมะเร็งรังไข่อย่างไร?
เมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2558(ค.ศ.2015) สมาคมโรคมะเร็งนรีเวชแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Society of Gynecologic Oncology) ได้แนะนำแนวทางการป้องกันโรคมะเร็งรังไข่ในผู้ที่สูตินรีแพทย์ประเมินแล้วว่า “มีความเสี่ยงสูง” ที่จะเกิดมะเร็งรังไข่ (ที่สำคัญที่สุดคือ มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งรังไข่โดยเฉพาะเมื่อพบโรคมะเร็งนี้ฯในอายุต่ำกว่า 50 ปี และในผู้ตรวจพบมีความผิดปกติทางพันธุกรรม)
ทั้งนี้ สมาคมฯได้แนะนำไว้หลายวิธี ซึ่งแพทย์และผู้มีปัจจัยเสี่ยงฯต้องปรึกษากันเพื่อเลือกวิธีที่เหมาะสมกับผู้มีปัจจัยเสี่ยงฯมากที่สุด วิธีต่างๆ เช่น
- กินยาเม็ดคุมกำเนิดโดยกินต่อเนื่องให้ได้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะไม่เกิดผลข้างเคียงจากยาฯต่อผู้มีปัจจัยเสี่ยงฯ
- ผ่าตัดเอาท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างออก จากเชื่อว่าเซลล์มะเร็งเกิดจากท่อนำไข่และมาเจริญเติบโตที่รังไข่
- ผ่าตัดออกทั้งรังไข่และท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง
- เฝ้าระวังโรคเป็นระยะๆ โดยความถี่ในการตรวจเฝ้าระวังขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ด้วยการตรวจภายใน การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องดูการเปลี่ยนแปลงของรังไข่ ร่วมกับ ตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็งที่สัมพันธ์กับมะเร็งรังไข่
- เมื่อมีบุตรครบตามต้องการและมีโรคอื่นในอุ้งเชิงกรานที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเช่น เนื้องอกมดลูก ให้ผ่าตัดท่อนำไข่และ/หรือรังไข่ร่วมไปด้วยเลย
ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งรังไข่เช่นเดียวกับการดูแลตนเองและการดูแลผู้ ป่วยมะเร็งทุกชนิดจึงสามารถปรับใช้ด้วยกันได้ ทั่วไปการดูแลตนเองที่สำคัญคือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาที่แพทย์แนะนำ ให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆแย่ลง
- มีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียเรื้อรัง คลื่นไส้-อาเจียน
- กังวลในอาการ
อนึ่ง แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง
- การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และในเรื่อง
- การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
บรรณานุกรม
- AJCC cancer staging manual,8th ed
- DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
- Hafty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology. Boston: Jones and Bartlett Publishers.
- Imsamran, W. et al. 2018. Cancer in Thailand vol IX, 2013-2015, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
- Kurman, R., and Shih, I. (2011). Hum Pathol. 42,918-931 (PubMed)
- Perez,C., Brady, L., Halperin, E., and Schmidt-Ullrich, R. (2004). Principles and practice of radiation oncology. (4th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
- Walker, J. et al (2015). Cancer. http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/cncr.29321/epdf [2020,Dec5]
- https://emedicine.medscape.com/article/255771-overview#showall [2020,Dec5]
- https://www.cancer.org/cancer/ovarian-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2020,Dec5]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ovarian_cancer [2020,Dec5]