เลฟลูโนไมด์ (Leflunomide)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

 เลฟลูโนไมด์ (Leflunomide) หรือชื่อการค้าในประเทศไทยคือ  ‘อะลาวา (Arava)’ คือ ยาในกลุ่มยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์(Disease Modifying Anti-Rheumatic Drug ย่อว่า DMARDs) มีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์/โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis, RA) เพื่อลดอาการและอาการแสดงของโรคข้อรูมาตอยด์ โดยลดการทำลายข้อและเนื้อกระดูก เพิ่มความสามารถการทำงานของกระดูก ซึ่งสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้

ยาเลฟลูโนไมด์ สามารถออกฤทธิ์เพื่อลดการอักเสบได้อย่างรวดเร็วกว่ายารักษาโรคข้อรูมาตอยด์ชนิดอื่นๆ และยังมีผลอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากการใช้ยาที่ไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับยาชนิดอื่นๆในกลุ่ม DMARDs เช่น เมทโทเทร็กเซท (Methotrexate), ซัลฟาซาลาซีน (Sulfasalazine), ไซโคลสปอริน (Cyclosporin), อาซาไทโอปีน (Azathiopine) เป็นต้น จึงเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีในการรักษาโรคข้อรูมาตอยด์ และเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาจากผู้ป่วยในแง่อาการไม่พึงประสงค์น้อย

นอกจากนี้ ยานี้ยังมีกลไกยับยั้งการรวมกลุ่มของกลุ่มอนุภาคที่สมบูรณ์ของไวรัส (virion assembly) ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการสร้างไวรัส  ดังนั้นยาเลฟลูโนไมด์ยังถูกนำมาใช้เป็นยาเสริมในการรักษาโรคติดเชื้อซีเอมวี

ยาเลฟลูโนไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาเลฟลูโนไมด์ (Leflunomide) มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis, RA) เพื่อลดอาการและอาการแสดงของโรคข้อรูมาตอยด์ ลดการทำลายข้อและเนื้อกระดูก และเพิ่มความสามารถการทำงานของกระดูก ถือว่าเป็นยาในกลุ่มปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคฯ  
  • นอกจากนี้
    • ยาเลฟลูโนไมด์ ยังถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อซีเอ็มวี (Cytomagalovirus, CMV) ในผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะและไม่ตอบสนองต่อการรักษาการติดเชื้อไวรัสซีเอ็มวีด้วยสูตรยามาตรฐาน และ
    • ยังนำมาใช้ป้องกันการเกิดภาวะต่อต้านอวัยวะที่ปลูกถ่ายในผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ

ยาเลฟลูโนไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเลฟลูโนไมด์ คือ ตัวยาจะเข้ายับยั้งการสังเคราะห์สารที่เกี่ยวข้องกับสารพันธุกรรมที่มีชื่อว่า’ไพริมิดีน (Pyrimidine)’ ซึ่งเป็นกรดนิคลีอิก (Neucleic acid) เพื่อลดการสร้างใหม่ของสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA) ซึ่งส่งผลต่อการลดกระบวนการออกฤทธิ์เพื่อต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory effect) และยับยั้งกระบวนการแบ่งตัว (Anti-periferative effect) ของเซลล์ จึงนำมารักษาโรคข้อรูมาตอยด์ได้

และยาเลฟลูโนไมด์ยังสามารถเข้าขัดขวางการรวมกลุ่มของกลุ่มอนุภาคที่สมบูรณ์ของไวรัส (Virion assembly) จึงสามารถนำมาใช้เป็นยาเสริม (Adjunctive therapy) เพื่อร่วมในการรักษาโรคติดเชื้อซีเอ็มวีได้

ยาเลฟลูโนไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาเลฟลูโนไมด์:   

  • ยาเม็ดเคลือบฟิล์ม (Film-coated tablet) สำหรับรับประทาน ขนาด 20 และ 100 มิลลิกรัมต่อเม็ด

ยาเลฟลูโนไมด์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาเลฟลูโนไมด์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยา เช่น

  1. ขนาดยาเลฟลูโนไมด์สำหรับการรักษาโรคข้อรูมาตอยด์(Rheumatoid arthritis, RA) ในผู้ใหญ่: เริ่มต้นด้วยขนาดยา 100 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้งเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นลดขนาดยาลงเป็น 20 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง (แพทย์จะพิจารณาลดขนาดยาเป็น 10 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้งได้ กรณีผู้ป่วยไม่สามารถทนต่ออาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงจากยา)

*หมายเหตุ: แพทย์อาจพิจารณาเริ่มต้นขนาดยาด้วย 20 มิลลิกรัมต่อวัน กรณีผู้ป่วยมีความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะตับบกพร่อง หรือการเกิดภาวะกดการทำงานของไขกระดูก

  1. ขนาดยาเลฟลูโนไมด์สำหรับการรักษาโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน(Psiriatic arthritis) ในผู้ ใหญ่: เริ่มต้นด้วยขนาดยา 100 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้งเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นแพทย์จะพิจารณาปรับลดขนาดยาลงเป็น 20 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง
  2. ขนาดยาเลฟลูโนไมด์สำหรับการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสซีเอ็มวีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา ด้วยยามาตรฐาน: ขนาดยา 100 - 200 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้งเป็นเวลา 5 - 7 วัน จากนั้นแพทย์จะพิจารณาลดขนาดยาลงเป็น 40 - 60 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง
  3. วิธีการขจัดยาเลฟลูโนไมด์สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาเลฟลูโนไมด์เกินขนาด/สตรีที่ต้องการมีบุตรและได้รับยาเลฟลูโนไมด์โดยอุบัติเหตุ/ผู้ที่ได้รับพิษจากยานี้: รับประทานยาโคเลสไทรามีน(Cholestyramine) ครั้งละ 8 กรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 11 วัน โดยระยะเวลาในการให้ยาอาจขึ้น กับอาการทางคลินิกของผู้ป่วยเช่นกัน
  4. ขนาดยาสำหรับการรักษาเสริมในโรคติดเชื้อไวรัสซีเอ็มวี: ขนาดยาอ้างอิงจากการศึกษาในหลอดทดลอง เริ่มต้นด้วยขนาดยา 100 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้งเป็นเวลา 3 - 5 วัน จากนั้นแพทย์จะพิจารณาลดขนาดยาลงเป็น 20 - 40 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง
  5. ขนาดยาสำหรับผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ ป่วยที่มีภาวะไตบกพร่อง
  6. ขนาดยาสำหรับผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ ป่วยที่มีภาวะตับบกพร่อง แต่แนะนำให้หยุดการใช้ยาเลฟลูโนไมด์หากค่าเอนไซม์การทำงานของตับ (ค่า ALT: Alanine aminotransferase) เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าหรือเท่ากับ 3 เท่าของค่าสูงสุดของผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ

*อนึ่ง:

  • เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยาเลฟลูโนไมด์ในเด็ก ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการใช้ยานี้ในเด็กและในทารก การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

 เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาเลฟลูโนไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเลฟลูโนไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาเลฟลูโนไมด์มีผลพิษต่อทารกในครรภ์ อาจก่อให้ทารกเกิดความพิการขึ้นได้ อีกทั้งหากอยู่ในช่วงให้นมบุตร แนะนำให้หลีกเลี่ยงการให้นมบุตร เพราะยานี้ถูกขับออกทางน้ำนมอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงรุนแรงแก่บุตร รวมถึงสตรีที่ต้องการจะมีบุตรควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาเลฟลูโนไมด์ให้ตรงเวลาทุกวัน โดยอาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมยา จึงสามารถรับประทานยาเลฟลูโนไมด์ได้ทั้งขณะท้องว่างหรือหลังอาหาร ดังนั้นการเลือกช่วงเวลาในการรับประทานยาจึงไม่ต้องคำนึงถึงมื้ออาหาร โดยปกติแล้วยาเลฟลูโนไมด์จะรับประทานวันละ 1 ครั้ง

กรณีวิธีการรับประทานยาเพียงวันละ 1 ครั้ง เพื่อให้ระดับยาในร่างกายคงที่และมีประสิทธิภาพ จึงควรรับประทานยาในเวลาเดียวกันของทุกวัน

กรณีลืมรับประทานยาและมีวิธีการรับประทานยาเพียงวันละ 1 ครั้ง ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (วันถัดไป) ให้รอรับประทานยามื้อถัด ไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาเวลา 8.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 15.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่า 12 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) เช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 22.00 น. ของวันนั้น ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติช่วงเวลาเดิมได้เลย โดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม

ยาเลฟลูโนไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง)ของยาเลฟลูโนไมด์ เช่น

ก. ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย: เช่น

  • อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ เบื่ออาหาร  คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย หรือท้องผูก
  • อาการทางผิวหนังเช่น พบผื่นเป็นจุด หรือตุ่มนูนที่ผิวหนัง ผมร่วง
  • อาการทางระบบประสาท อาจทำให้เกิดอาการปวดหัว, หรืออาการปวดเนื้อตัว

ข. ผลข้างเคียงอื่นที่พบได้น้อยแต่ร้ายแรงและอาจเป็นอันตรายถึงตายได้ : เช่น

  • อาการแพ้ยาอย่างรุนแรงเฉียบพลันที่เรียกว่า แอแนฟิแล็กซิส (Anaphylactic shock, Anaphylaxis)  
  • กลุ่มอาการผื่นแพ้ยารุนแรง เช่น กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens Johnson Syndrome: SJS) หรือ เทนส์ (Toxic Epidermal Necrolysis: TEN)
  • ภาวะกดไขกระดูก (Bone Marrow Suppression) ที่ส่งผลทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ,  ซีด,  และเกล็ดเลือดต่ำ จึงเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อโรค, ภาวะซีดทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และมีเลือดออกผิดปกติได้ง่าย

มีข้อควรระวังการใช้ยาเลฟลูโนไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเลฟลูโนไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • การใช้ยาเลฟลูโนไมด์ในเด็ก ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิภาพในเด็กและทารก
  • การใช้ยาเลฟลูโนไมด์ในผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา ใช้ยาตามขนาดยาของผู้ ใหญ่
  • การใช้ยาเลฟลูโนไมด์ในช่วงกำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากยาเลฟลูโนไมด์มีผลพิษต่อทารกในครรภ์อาจก่อให้ทารกเกิดความพิการขึ้นได้ อีกทั้งหากอยู่ในช่วงให้นมบุตร แนะนำให้หลีกเลี่ยงการให้นมบุตร เพราะยาถูกขับออกทางน้ำนมอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงแก่บุตร จึงควรพิจารณาหยุดให้นมบุตรหากมารดากำลังได้รับยานี้อยู่ หรือหยุดการใช้ยานี้ในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ และหรือกำลังให้นมบุตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของมารดาต่อภาวะที่กำลังเป็นอยู่ โดยควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติความเจ็บป่วยเดิมเกี่ยวกับวัณโรค ควรได้รับการรักษาวัณโรคก่อนเริ่มใช้ยา เลฟลูโนไมด์
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของไตผิดปกติจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดพิษจากยาเลฟลูโนไมด์ได้
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับผิดปกติเนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับอักเสบ
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยาในผู้ป่วยที่มีภาวะกดการทำงานของไขกระดูก(Bone Marrow Suppres sion: ส่งผลทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ, โลหิตจาง /ซีด และเกล็ดเลือดต่ำ จึงเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อโรค, ภาวะซีดทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และเลือดออกผิดปกติได้ง่าย)
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของปอดผิดปกติ เนื่องจากยานี้สามารถทำให้เกิดโรคของเนื้อเยื่อในปอด (Interstitial lung disease เช่น พังผืดในปอด)

***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวม ถึงยาเลฟลูโนไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเลฟลูโนไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเลฟลูโนไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  1. หลีกเลี่ยงการใช้ยาเลฟลูโนไมด์ ร่วมกับยาเมทโทเทร็กเซท(Methotrexate: ยากดภูมิ คุ้มกัน, ยาเคมีบำบัด, ยารักษาโรคข้อและโรคกระดูก) เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดผลพิษต่อตับและต่อภาวะกดการทำงานของไขกระดูก
  2. หลีกเลี่ยงการใช้ยาเลฟลูโนไมด์ ร่วมกับยาวาร์ฟาริน (Warfarin: ยาต้านการแข็งตัวของเลือด) เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติ
  3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาเลฟลูโนไมด์ ร่วมกับวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live vaccines: หมายถึง วัค ซีนเชื้อเป็นที่ถูกผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถทำให้เกิดโรค แต่เชื้อยังมีฤทธิ์เพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯของร่างกายได้ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันฯต่อเชื้อโรคนั้นๆ ตัวอย่างวัคซีนเชื้อเป็นเช่น วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์) , วัคซีนอีสุกอีใส, วัคซีนโปลิโอชนิดกิน,  วัคซีนไวรัสโรต้า,  และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดพ่นจมูก เป็นต้น) ดังนั้น ในช่วงที่กำลังได้รับยาเลฟลูโนไมด์อยู่และจำเป็นต้องได้รับวัคซีนชนิดเชื้อเป็น อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อจากวัคซีนชนิดเชื้อเป็นนั้นๆได้เพราะภูมิคุ้มกันฯของผู้ป่วยจะลดลง เชื้อโรคที่อ่อนฤทธิ์อาจจะก่อโรคได้ในช่วงนี้
  4. หลีกเลี่ยงการใช้ยาเลฟลูโนไมด์ ร่วมกับยาไรแฟมปิซิน (Rifampicin: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยาต้านวัณโรค) เนื่องจากระดับยาเลฟลูโนไมด์อาจจะลดลงเพราะยาไรแฟมปิซินสามารถเพิ่มการทำ งานของเอนไซม์ทำลายยาเลฟลูโนไมด์ได้
  5. หลีกเลี่ยงการใช้ยาเลฟลูโนไมด์ ร่วมกับยาโคเลสไทรามีน(Cholestyramine: ยาลดไขมันในเลือด) จะทำให้ระดับยาเลฟลูโนไมด์ลดลงเนื่องจากยาโคเลสไทรามีนจะลดการดูดซึมยาเลฟลูโนไมด์ โดยรบกวนกระบวนการดูดซึมยาผ่านตับและขับยาออกทางท่อน้ำดีที่สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอีกครั้งหนึ่ง(Enterohepatic recirculation) แนะนำให้หยุดใช้ยาโคเลสไทรามีนขณะที่ผู้ป่วยได้รับยาเลฟลูโนไมด์

ควรเก็บรักษายาเลฟลูโนไมด์อย่างไร?

แนะนำเก็บยาเลฟลูโนไมด์:

  • เก็บยา ณ อุณหภูมิห้อง
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นจากแสงแดดและแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง
  • หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มาก เช่น เก็บยาในรถที่ตากแดด หรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน
  • ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้น เช่น ห้องน้ำหรือห้องครัว  
  • ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาเลฟลูโนไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเลฟลูโนไมด์  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Arava (อะลาวา) tablet 20, 100 mg Sanofi-aventis

 

บรรณานุกรม

  1. Andrew A and Paul E. Leflunomide: a novel DMARD for the treatment of rheumatoid arthritis. Exp Opn Pharmacother 2001.
  2. Chacko B and John GT. Leflunomide for cytomegalovirus: bench to bedside. Transpl Infect Dis 2012;14:111-120
  3. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
  4. Product Information: Arava, Leflunomide, Sanofi-aventis, Thailand.
  5. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013
  6. https://www.mims.com/thailand/drug/info/leflunomide?mtype=generic [2022,June18]
  7. https://www.mims.com/thailand/drug/info/arava?type=full [2022,June18]