เมทิลเออร์โกโนวีน (Methylergonovine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

เมทิลเออร์โกโนวีน (Methylergonovine) หรือในชื่ออื่น เช่น Methyergometrine หรือ Methylergobasin หรือ Methergine  คือ ตัวยาที่นักวิทยาศาสตร์สังเคราะห์ขึ้นโดยมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับยา Ergonovine ประโยชน์ทางคลินิกของยาเมทิลเออร์โกโนวีนที่นำไปใช้ได้แก่ เป็นยาลดการเสียเลือดจากโพรงมดลูกหลังการคลอดบุตรจากช่วยให้มดลูกหดบีบตัว นอกจากนี้ฤทธิ์ของยาเมทิลเออร์โกโนวีนที่ทำให้มดลูกหดตัวยังช่วยขับรกออกจากโพรงมดลูกอีกด้วย บางกรณีก็ถูกนำไป ใช้เป็นยาป้องกันหรือใช้บำบัดอาการปวดศีรษะไมเกรน

ยาเมทิลเออร์โกโนวีนมีข้อห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง รวมถึงผู้ป่วยโรคเอดส์ที่มีการใช้ยาต้านไวรัส Delavirdine และ Efavirenz อยู่ก่อน และมียาอีกหลายตัวที่สามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาเมทิลเออร์โกโนวีน เช่นยา  Itraconazole, Ketoconazole, Voriconazole, Beta-blockers, Clotrimazole, Cobicistat, Fluoxetine, Fluvoxamine, Ketolide antibiotics, Nefazodone, Macrolide antibiotics, Protease inhibitors, Rtranscriptase inhibitors และTriptans

 ทั้งนี้ยังมีสภาวะสุ่มเสี่ยงอีกบางประการที่แพทย์จะต้องนำมาประกอบการพิจารณาก่อนที่จะสั่งจ่ายยาเมทิลเออร์โกโนวีนให้กับผู้ป่วย เช่น

  • เป็นผู้ที่มีประวัติมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)หรือไม่ หรือมีประวัติหลอดเลือดสมองตีบ หรือป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่ก่อนแล้ว
  • เป็นผู้ที่ติดบุหรี่หรือสูบบุหรี่จัด หรือมีน้ำหนักตัวสูง/โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน หรือมีโรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง หรือไม่
  • ผู้ป่วยมีการรับประทานยารักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือรับประทานยาประเภท เออร์กอต (Ergot medicine) อยู่ก่อนแล้วหรือไม่
  • หากเป็นผู้ป่วยที่อายุน้อยหรือเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)แพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีๆไปด้วยยังไม่มีการจัดทำมาตรฐานการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก

อนึ่งอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่อาจพบได้หลังที่ใช้ยาเมทิลเออร์โกโนวีน เช่น ปวดหัว   คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น

รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยาเมทิลเออร์โกโนวีนจะมีทั้งยารับประทานและยาฉีด ระยะเวลาของการออกฤทธิ์สำหรับยารับประทานอยู่ที่ประมาณ 5 - 15 นาทีหลังรับประทาน ในขณะที่ยาฉีดมีระยะเวลาของการออกฤทธิ์อยู่ที่ประมาณ 2 - 5 นาที โดยตัวยาสามารถกระจายเข้าไปในเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกายได้เป็นอย่างดีรวมถึงในน้ำนมของมารดา ตับจะคอยทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่องก่อนที่ตัวยาจะถูกขับออกไปกับอุจจาระและปัสสาวะ ซึ่งเราสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและของเอกชน

เมทิลเออร์โกโนวีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

เมทิลเออร์โกโนวีน

ยาเมทิลเออร์โกโนวีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น     

  • รักษาอาการตกเลือดหลังคลอดบุตร

เมทิลเออร์โกโนวีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเมทิลเออร์โกโนวีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยทำให้กล้ามเนื้อของมดลูกหดตัว นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆหดแคบตัวลงอีกด้วย จากกลไกดังกล่าวจึงทำให้มีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

เมทิลเออร์โกโนวีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมทิลเออร์โกโนวีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาฉีด ขนาด 0.2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 0.2 มิลลิกรัม/เม็ด

เมทิลเออร์โกโนวีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเมทิลเออร์โกโนวีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาสำหรับรักษาอาการตกเลือดหลังคลอด เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าหลอดเลือดดำขนาด 0.2 มิลลิกรัม หากอาการยังไม่ดีขึ้น อาจฉีดซ้ำอีกครั้งโดยเว้นระยะเวลาห่างจากการฉีดยาเข็มแรกประมาณ 2 - 4 ชั่วโมง หรือรับประทานยานี้ครั้งละ 0.2 มิลลิกรัมวันละ 3 - 4 ครั้งเป็นเวลา 1 สัปดาห์หลังจากการคลอดบุตร
  • เด็ก: แพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีๆไปในผู้ป่วยเด็กด้วยยังไม่มีการจัดทำมาตรฐานการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเมทิลเออร์โกโนวีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมทิลเออร์โกโนวีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเมทิลเออร์โกโนวีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาเมทิลเออร์โกโนวีนให้ตรงเวลา

เมทิลเออร์โกโนวีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมทิลเออร์โกโนวีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น  

  • ปวดท้อง
  • ปวดหัว
  • ความดันโลหิตสูง
  • บางกรณีอาจพบมีเลือดปนกับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • สีผิวหนังเปลี่ยนไป
  • เจ็บหน้าอก
  • อึดอัด/หายใจลำบาก
  • กลืนลำบาก
  • ชีพจรเต้นเร็ว
  • วิงเวียน
  • ปวดแขน-กราม-หลัง-ลำคอ ขา-เท้า
  • มีอาการบวม
  • หัวใจเต้นช้า หรือไม่ก็ หัวใจเต้นเร็ว
  • มีผื่นคัน
  • เหงื่อออกมาก

*ทั้งนี้อาการข้างเคียงดังกล่าวที่อาการไม่รุนแรงไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา แต่ร่างกายจะค่อยๆปรับตัวจนเข้าสู่สภาวะปกติได้เอง

มีข้อควรระวังการใช้เมทิลเออร์โกโนวีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมทิลเออร์โกโนวีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง สตรีตั้งครรภ์ เด็ก
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมทิลเออร์โกโนวีนชนิดฉีดเท่าที่ทำได้ ด้วยการใช้ยาชนิดฉีดสามารถกระตุ้นให้มีภาวะความดันโลหิตสูงติดตามมา รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บทางสมองหรือมีอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับสมอง การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำให้กับผู้ป่วยจะต้องใช้ระยะเวลาฉีดยาช้าๆไม่ต่ำกว่า 60 วินาทีขึ้นไปทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดปกติของความดันโลหิตในร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงการให้นมบุตรหากมารดาได้รับยาเมทิลเออร์โกโนวีน แต่เมื่อมีความประสงค์ที่จะให้นมของตนเองกับบุตรจะต้องรอประมาณ 12 ชั่วโมงหลังการใช้ยานี้เป็นอย่างต่ำเพื่อให้ร่างกายกำจัดยาเมทิลเออร์โกโนวีนในเลือดออกไปให้มากที่สุด
  • ระวังการใช้ยาเมทิลเออร์โกโนวีนกับผู้ที่สูบบุหรี่จัด ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง ด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้สูง เมื่อร่างกายได้รับยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยา (ชนิดรับประทาน) นี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพชำรุดและเปลี่ยนแปลงสภาพไปจากเดิม
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมทิลเออร์โกโนวีนด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เมทิลเออร์โกโนวีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมทิลเออร์โกโนวีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเมทิลเออร์โกโนวีน ร่วมกับผู้ที่สูบบุหรี่จัดจะเกิดความเสี่ยงของหลอดเลือดตีบทำให้ลดการไหลเวียนเลือดทั่วร่างกาย ส่งผลต่อสมองและอวัยวะต่างๆมีเลือดไปเลี้ยงน้อยจนอาจเป็นอันตรายกับอวัยวะดังกล่าว จึงถือเป็นข้อห้ามใช้เมทิลเออร์โกโนวีนกับผู้ที่ติดบุหรี่
  • การใช้ยาเมทิลเออร์โกโนวีน ร่วมกับการรับประทานน้ำผลไม้บางประเภท เช่น Grapefruit juice สามารถทำให้ระดับยาเมทิลเออร์โกโนวีนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นเหตุให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงต่างๆของยาฯตามมา เพื่อเป็นการป้องกันภาวะดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกัน
  • ห้ามรับประทานยาเมทิลเออร์โกโนวีน ร่วมกับยา Clarithromycin ด้วยจะทำให้ระดับยาเมทิลเออร์โกโนวีนในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจล้มเหลว หรืออวัยวะของร่างกายเกิดการตายและเสื่อมสภาพลง
  • การใช้ยาเมทิลเออร์โกโนวีน ร่วมกับยา Pentobarbital อาจทำให้ระดับของยาเมทิลเออร์โกโนวีนในร่างกายลดต่ำลงจนส่งผลต่อการรักษา กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์อาจต้องปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษาเมทิลเออร์โกโนวีนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาเมทิลเออร์โกโนวีน:  

  • ยาชนิดรับประทาน ให้เก็บภายในอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • หากเป็นยาฉีด ให้เก็บที่อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส
  • ยาทั้ง 2 ชนิด:
    • ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
    • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
    • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เมทิลเออร์โกโนวีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมทิลเออร์โกโนวีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Expogin (เอ็กซ์โปกิน) L.B.S.
Metrine (เมทรีน) T P Drug

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Methylergometrine   [2022,May28]
  2. https://www.drugs.com/cons/methylergonovine.html   [2022,May28]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/methylergometrine?mtype=generic   [2022,May28]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/methylergonovine-index.html?filter=3&generic_only=   [2022,May28]
  5. https://www.drugs.com/pro/methylergonovine-maleate-tablets.html   [2022,May28]