เออร์กอต (Ergot)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 23 กรกฎาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- เออร์กอตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- เออร์กอตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เออร์กอตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เออร์กอตมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เออร์กอตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เออร์กอตอย่างไร?
- เออร์กอตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเออร์กอตอย่างไร?
- เออร์กอตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไมเกรน (Migraine)
- การคลอด การคลอดบุตร (Childbirth)
- ตกเลือดหลังคลอด (Postpartum hemorrhage)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- หัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest)
บทนำ: คือยาอะไร?
กลุ่มสารสกัดจาก ‘เออร์กอต(Ergot)’ ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางคลินิก/เป็นยา เช่น ยับยั้งการตกเลือดหลังคลอดบุตรโดยช่วยทำให้มดลูกบีบตัวและมีแรงเบ่งในการคลอด, ใช้รักษาโรคไมเกรน, ยับยั้งภาวะประจำเดือนมามากจนผิดปกติ
เออร์กอต อาจแปลความได้มากกว่า 1 ความหมาย เช่น หมายถึงโรคของธัญพืชที่เกิดจากเชื้อรากลุ่ม Claviceps, หรือสารที่ได้จากเชื้อราซึ่งสามารถนำไปรักษาโรคได้, นักวิทยาศาสตร์ เรียกสารเหล่านี้ว่า เออร์กอต อัลคาลอยด์ (Ergot alkaloids)
สมัยก่อนการได้รับสารประเภทเออร์กอต อัลคาลอยด์ขณะบริโภคขนมปังซึ่งทำจากข้าวไรย์ (Rye) ที่มีการติดเชื้อรานี้จะก่อให้เกิดอาการที่เรียกว่า “เออร์กอติซึม (Ergotism, อาการที่เกิดจากพิษของ Ergot alkaloid เช่น คลื่นไส้อาเจียน คันตามตัว ปวดหัว ท้องเสีย อาการชัก และเกิดเนื้อเยื่อต่างๆขาดเลือดจากหลอดเลือดหดตัวจนเกิดหลอดเลือดตีบ เช่น สมอง นิ้วมือนิ้วเท้า แขน ขา)” ซึ่งก่อให้เกิดภาวะเนื้อตายของแขน-ขา เกิดการรบกวนการทำงานของสมองและเป็นเหตุให้ตายได้
จากหลักฐานการศึกษาวิจัย อาจแบ่งอนุพันธุ์ของสารอัลคาลอยด์จากเออร์กอตได้ดังนี้ เช่น
- Ergotamine และ Ergotaminine: ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1920 (พ.ศ. 2463) นำมาใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน โดยมีรูปแบบเป็นยาชนิดรับประทาน
- Ergometrine (Ergonovine) และ Ergometrinine: ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1935 (พ.ศ. 2478) นำมาช่วยเร่งคลอดและยับยั้งภาวะตกเลือดออกหลังคลอด
- Ergosine และ Ergosinine: ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2480) มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว
- Ergocristine และ Ergocristinine: ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2480) ถูกใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยา LSD โดยนำมาบำบัดอาการทางจิตประสาท ลดอาการปวด และบำบัดผู้ที่ติดสุรา
- Ergocrytine และ Ergocrytinine: นำมาใช้ผลิตยาแผนปัจจุบันที่มีชื่อสามัญว่า Bromocrip tine (ยารักษาได้หลายโรค เช่น พาร์กินสัน, ปัญหาประจำเดือนผิดปกติ)
- Ergocornine และ Ergocorninine: อยู่ในช่วงการศึกษาเช่น การยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
เงื่อนไขการเลือกใช้สารเออร์กอตอัลคาลอยด์เพื่อนำมาใช้รักษาทางคลินิก ต้องสัมพันธ์กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อาการโรค, อายุของผู้ป่วย, สุขภา, นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงขนาดและระยะ เวลาในการใช้ยาจากสารอัลคาลอยด์ของเออร์กอต, เหล่านี้ล้วนแล้วมีความสำคัญทั้งสิ้น เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่จะสามารถบริหารยากลุ่มนี้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมที่สุด
เออร์กอตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเออร์กอตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการปวดหัวจากไมเกรน
- ป้องกันและรักษาอาการตกเลือดหลังคลอด
- บำบัดอาการประจำเดือนมามากกว่าปกติ
เออร์กอตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
อนุพันธุ์/สารกลุ่มอัลคาลอยด์ของเออร์กอต/ยาเออร์กอตสามารถออกฤทธิ์ ดังนี้
ก. ต่อหลอดเลือด: โดยทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือด ลดภาวการณ์สูญเสียเลือด เช่น อาการเสียเลือดจากการคลอดบุตร, หากเกิดในสมองจะทำให้บรรเทาอาการปวดอันเนื่องจากการขยายตัวของหลอดเลือดเช่นในโรคไมเกรน
ข. ต่อมดลูก: ช่วยเพิ่มแรงบีบตัวของมดลูกจึงสามารถนำมาใช้ในหัตถการทำคลอด จากกลไกทั้งหมดดังกล่าวข้างต้นจึงทำให้ก่อฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
เออร์กอตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเออร์กอตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน
- และยาฉีด
เออร์กอตมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ทั้งยารับประทานและยาฉีดของยาเออร์กอตจะถูกนำมาใช้ทางคลินิกได้อย่างถูกต้องนั้น ขนาดการบริหารยาของผู้ป่วยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเออร์กอต ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเออร์กอตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเออร์กอต สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
เออร์กอตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
สารอัลคาลอยด์จากเออร์กอต/ยาเออร์กอตสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดกล้ามเนื้อ
- อ่อนเพลีย
- หูดับ
- ผื่นคัน
- หัวใจเต้นช้า หรือไม่ก็ หัวใจเต้นเร็ว
***อนึ่ง การได้รับสารอัลคาลอยด์ของเออร์กอตเป็นปริมาณมากอาจทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อหรือของอวัยวะของร่างกาย เช่น สมอง นิ้วมือ นิ้วเท้า ด้วยการไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆมีน้อยลงจากการหดตัวของหลอดเลือด นอกจากนี้ยังอาจพบอาการ ตาพร่า สับสน ขาดสติ มีอาการลมชัก และอาจถึงตายได้ในที่สุด
มีข้อควรระวังการใช้เออร์กอตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเออร์กอต เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหลอดเลือดตีบตัน, ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง, ผู้ป่วยโรคตับ, โรคไต
- ห้ามใช้ยานี้กับกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะติดเชื้อ
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
- ห้ามแบ่งยาให้คนอื่นรับประทาน
- ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มเออร์กอตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เออร์กอตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเออร์กอตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้สารสกัดของเออร์กอต/ยาเออร์กอต ร่วมกับยากลุ่ม MAOI อาจทำให้เกิด กลุ่มอาการเซโรโทนิน หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามใช้ยา Ergonovine ร่วมกับยาบางกลุ่ม ด้วยยาเหล่านั้นจะทำให้ฤทธิ์ของยา Ergonovine เพิ่มสูงขึ้นจนอาจเกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) เช่น หลอดเลือดตีบ และเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงจนถึงขั้นภาวะหัวใจล้มเหลวซึ่งเป็นอันตรายมาก ยากลุ่มดังกล่าว เช่น ยาต้านเอชไอวี (เช่นยา Amprenavir, Indinavir, Ritonavir), ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย/ ยาปฏิชีวนะ (เช่นยา Erythromycin), ยาต้านเชื้อรา (เช่นยา Fluconazole, Ketoconazole, Itraconazole)
- การใช้ยา Ergotamine ร่วมกับ ยาปฏิชีวนะบางตัวสามารถทำให้ระดับยาของ Ergotamine ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง หรือหากอาการรุนแรงมากอาจเกิดภาวะเนื้อตายเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงไม่พอ จนกระทั่งหัวใจหยุดเต้น หากพบอาการผิดปกติต่างๆหลังใช้ยาเหล่านี้ร่วมกันเช่น ตัวชา ตัวเย็น คลื่นไส้อาเจียน นิ้วมือซีด เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปวดหัวรุนแรง ฯลฯ ให้หยุดการใช้ยาเหล่านั้นและรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน ยาปฏิชีวนะดังกล่าว เช่นยา Clarithromycin และ Erythromycin
ควรเก็บรักษาเออร์กอตอย่างไร?
ควรเก็บรักษาเออร์กอต เช่น
- ยาเออร์กอตชนิดรับประทาน: ให้เก็บภายในอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- หากเป็นยาฉีด: ให้เก็บที่อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส
- ยาเออร์กอตทุกรูปแบบ/ชนิด:
- ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำ หรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เออร์กอตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเออร์กอต มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Gynaemine (กายเนมีน) | Sriprasit Pharma |
Expogin (เอ็กซ์โปกิน) | L.B.S. |
Metrine (เมทรีน) | T P Drug |
Avamigran (เอวาไมเกรน) | A. Menarini |
Cafergot (คาเฟอร์กอท) | Amdipharm |
Degran (ดีแกรน) | Ranbaxy |
Ergosia (เออร์โกเซีย) | Asian Pharm |
Gynaemine (กายเนมีน) | Sriprasit Pharma |
Hofergot (โฮเฟอร์กอท) | Pharmahof |
Migana (ไมกานา) | T. Man Pharma |
Neuramizone (นูรามิโซน) | Sriprasit Pharma |
Poligot-CF (โพลิกอต-ซีเอฟ) | Polipharm |
Polygot (โพลีกอต) | Pharmasant Lab |
Tofago (โทฟาโก) | T.O. Chemicals |
บรรณานุกรม
- http://www.davidmoore.org.uk/Sec04_03.htm [2022,July23]
- https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-431/ergot [2022,July23]
- https://www.emedicinehealth.com/migraine_and_cluster_headache_medications/article_em.htm [2022,July23]
- https://www.drugs.com/cons/headache-medicine-ergot-derivative-containing-oral-parenteral-rectal.html [2022,July23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ergot [2022,July23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ergocristine [2022,July23]
- https://www.erowid.org/archive/rhodium/chemistry/lsd-buzz.html [2022,July23]
- https://academic.oup.com/jnci/article-abstract/48/6/1727/923296?redirectedFrom=fulltext [2022,July23]
- https://www.medscape.com/viewarticle/728507_3 [2022,July23]