เมทาโพรเทเรนอล (Metaproterenol) หรือ ออร์ซิพรีนาลีน (Orciprenaline)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 19 พฤศจิกายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- เมทาโพรเทเรนอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- เมทาโพรเทเรนอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เมทาโพรเทเรนอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เมทาโพรเทเรนอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เมทาโพรเทเรนอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เมทาโพรเทเรนอลอย่างไร?
- เมทาโพรเทเรนอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเมทาโพรเทเรนอลอย่างไร?
- เมทาโพรเทเรนอลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker)
- เบต้า 2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ (Beta2 - adrenergic agonists)
- เบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์ (Beta-adrenergic agonist)
- โรคหืด (Asthma)
- ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator)
- โรคหืด (Asthma)
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคซีโอพีดี (COPD, Chronic obstructive pulmonary disease)
บทนำ: คือยาอะไร?
เมทาโพรเทเรนอล (Metaproterenol) คือ ยาขยายหลอดลมในกลุ่มยาเบต้า 2 แอดริเนอร์จิก-อโกนิสท์ (Beta 2 adrenergic agonist), ตัวยามีฤทธิ์ขยายหลอดลมที่มีสรรพคุณทั้งบำบัดรักษาและป้องกัน รวมถึงยับยั้งการหลั่งสารทีเป็นตัวสื่อ/สารสื่อ(Mediator)ที่กระตุ้นให้ร่างกายเกิดอาการแพ้จากMast cell (มาสต์เซลล์-แมสต์เซลล์) เช่น โรคหืด, โรคซีโอพีดี, โดยมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยาพ่นทางปาก และยารับประทาน
ยาเมทาโพรเทเรนอลชนิดพ่นทางปากจะออกฤทธิ์ภายในระยะเวลาประมาณ 1 นาที, ส่วนยารับประทานจะออกฤทธิ์ภายในประมาณ 15 นาที, และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อการกำจัดยานี้ผ่านไปกับปัสสาวะ
อนึ่ง: ชื่ออื่น
- ของยาเมทาโพรเทเรนอล เช่น ออร์ซิพรีนาลีน (Orciprenaline)
- ของกลุ่มยา เบต้า 2 แอดริเนอร์จิก-อโกนิสท์ (Beta 2 adrenergic agonist) / คือ Adrenergic beta2 receptor agonists
ข้อจำกัดบางประการที่ไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยใช้ยาเมทาโพรเทเรนอลได้ เช่น
- เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาเมทาโพรเทเรนอล
- มีอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- ผู้ป่วยมีการใช้ยาขยายหลอดลมกลุ่มกลุ่ม เบต้า แอดริเนอร์จิก (Beta-adrenergic bronchodilator/เบต้าแอดริเนอร์จิกอะโกนิสท์) สำหรับขยายหลอดลมอยู่ก่อนแล้ว
นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียง/อาการข้างเคียงจากการใช้ยาเมทาโพรเทเรนอลกับผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงผู้ป่วยที่มีประวัติ โรคลมชัก โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน หรือผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกต่อมหมวกไตชนิด ฟีโอโครโมไซโตมา
การใช้ยาเมทาโพรเทเรนอล ร่วมกับยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์(Beta-blocker) อย่างยา Propranolol สามารถทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาเมทาโพรเทเรนอลลดลงได้เช่นกัน
ในทางกลับกัน การใช้ยาเมทาโพรเทเรนอล ร่วมกับยากลุ่มต่างๆ เช่น Symphathomimetic, MAOIs, ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มTCAs, รวมถึงกลุ่ม แคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส-ซีโอเอ็มที-อินฮิบิเตอร์ , และเบต้าแอดริเนอร์จิกอะโกนิสท์, สามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาเมทาโพรเทเรนอลได้มากยิ่งขึ้น
ระหว่างที่มีการใช้ยาเมทาโพรเทเรนอลอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน, ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ และ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
*หากหลังการใช้ยาเมทาโพรเทเรนอล แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือแม้แต่การใช้ยานี้ในแต่ละวัน มีความถี่ของการใช้มากขึ้น, ควรต้องรีบพาผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วเพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
ในทางปฏิบัติ ก่อนการใช้ยามทาโพรเทเรนอล, แพทย์อาจต้องทำการตรวจการทำงานของปอดเพื่อนำมาใช้ประกอบการรักษา
สำหรับผู้สูงอายุและเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) เป็นกลุ่มที่ร่างกายมักมีภาวะไวเกินต่อยาเมทาโพรเทเรนอล หรืออาจแพ้ยานี้ได้ง่ายกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น, จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังหากจะต้องใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มเหล่านี้
ด้านอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยเมื่อมีการใช้ยามทาโพรเทเรนอล เช่น นอนไม่หลับ วิงเวียน กระสับกระส่าย ปวดหัว และคลื่นไส้
*ส่วนผู้ที่รับประทานยามทาโพรเทเรนอล เกินขนาด จะสังเกตได้จากมีอาการเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ หงุดหงิดอย่างรุนแรง ปวดหัวมาก คลื่นไส้และวิงเวียนมาก เป็นต้น, *ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าวหลังการใช้ยานี้ ควรต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
อนึ่ง: ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยามทาโพรเทเรนอลเพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้รักษา หรือจาก เภสัชกรในสถานพยาบาล หรือเภสัชกรประจำร้านขายยาได้โดยทั่วไป
เมทาโพรเทเรนอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเมทาโพรเทเรนอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ป้องกันและบำบัดอาการโรคหืด (Asthma maintenance)
- รักษาอาการหอบหืด/โรคหืดแบบเฉียบพลัน
- ใช้บำบัดและป้องกันอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/โรคซีโอพีดี
เมทาโพรเทเรนอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเมทาโพรเทเรนอลมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับ (Receptor) ในร่างกายที่มีชื่อว่า 'เบต้า2 แอดริเนอร์จิก รีเซพเตอร์ (Beta 2 adrenergic receptor)' ซึ่งมีอยู่ที่ผนังหลอดลม ทำให้กล้ามเนื้อเรียบในบริเวณนั้นเกิดการคลายตัว, ส่งผลทำให้หลอดลมเปิดกว้าง อากาศจึงผ่านได้สะดวกขึ้น, นอกจากนั้น ยังออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่ง 'ตัวสื่อ/สารสื่อ' บางชนิดที่คอยกระตุ้นให้ร่างกายเกิดอาการแพ้จาก Mast cell อีกด้วย จากกลไกเหล่านี้ จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
เมทาโพรเทเรนอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเมทาโพรเทเรนอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10 และ 20 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 10 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- ยาพ่นสเปรย์ทางปาก ขนาด 0.65 มิลลิกรัม/การพ่น 1 ครั้ง
- ยาพ่นทางปากชนิดสารละลาย ขนาดความเข้มข้น 0.4%, 0.6%, และ 5%
เมทาโพรเทเรนอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเมทาโพรเทเรนอล มีขนาดการใช้ยา: เช่น
ก. ยารับประทาน: ยานี้สามารถรับประทานก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 20 มิลลิกรัม, วันละ 3 – 4 ครั้ง
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีลงมา: รับประทานยาครั้งละ 0.4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม, วันละ 3 – 4 ครั้ง, โดยให้ยาทุกๆ 8 – 12 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 2 – 5 ปี: รับประทานยาครั้งละ 1.3 – 2.6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน,โดยแบ่งให้ยาทุกๆ 6 – 8 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 6 – 9 ปี: รับประทานยาครั้งละ 10 มิลลิกรัม, วันละ 3 – 4 ครั้ง
- เด็กอายุมากกว่า 9 ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 20 มิลลิกรัม, วันละ 3 – 4 ครั้ง
ข. ยาพ่นทางปาก:
- ขนาดการพ่นยาทั้งผู้ใหญ่และเด็ก จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป ตามความรุนแรงของอาการ, ซึ่งผู้บริโภคสามารถค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเอกสารกำกับยา/ ฉลากยาที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์ยาพ่น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเมทาโพรเทเรนอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมทาโพรเทเรนอล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยา/พ่นยาเมทาโพรเทเรนอล สามารถรับประทานยา/พ่นยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/พ่นยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานยา/พ่นยาเมทาโพรเทเรนอล ตรงเวลา เพราะการลืมรับประทานยา/พ่นยาบ่อยๆ หลายๆครั้ง สามารถทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาด้อยลงไป
เมทาโพรเทเรนอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเมทาโพรเทเรนอล สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น
- ผลต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ, หลอดเลือดส่วนปลาย (ส่วนแขน ขา) ขยายตัวจนอาจทำให้เกิดอาการบวม, หัวใจเต้นเร็ว, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ: เช่น มีภาวะสั่นของร่างกาย, กล้ามเนื้อเป็นตะคริวอย่างรุนแรง
- ผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะโพแทสเซียมและเกลือฟอสฟอรัสในเลือดต่ำ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีภาวะกระสับกระส่าย วิตกกังวล ปวดหัว นอนไม่หลับ
มีข้อควรระวังการใช้เมทาโพรเทเรนอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเมทาโพรเทเรนอล: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาเมทาโพรเทเรนอล
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ และ/หรือมีอาการหัวใจเต้นเร็วร่วมด้วย
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทาน หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- การรับประทานยานี้พร้อมอาหาร อาจช่วยลดการระคายเคืองของกระเพาะอาหารได้
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคลมชัก ผู้ที่มีเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
- *หลังการใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับการรักษา
- *หากมีอาการแพ้ยานี้ เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้หยุดใช้ยานี้ทันที, แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งใดๆ ที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืด
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมทาโพรเทเรนอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เมทาโพรเทเรนอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเมทาโพรเทเรนอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยาเมทาโพรเทเรนอล ร่วมกับยา Amiodarone, Cisapride, Clozapine, Droperidol, Escitalopram, Methadone, อาจก่อให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ การใช้ยาร่วมกันต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เพื่อให้แพทย์ได้มีการควบคุมการทำงาน ของหัวใจให้เป็นไปอย่างปกติอย่างใกล้ชิด แลหากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้าม และ หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมทาโพรเทเรนอล ร่วมกับยา Carvedilol, Nadolol, ด้วยอาจทำให้เกิดภาวะหลอดลมตีบและแคบลง ส่งผลลดประสิทธิภาพในการรักษาของยาเมทาโพรเทเรนอล
- การใช้ยาเมทาโพรเทเรนอล ร่วมกับยา Pseudoephedrine, Phenylpropanolamine, อาจเพิ่มอาการข้างเคียงต่อหัวใจ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาเมทาโพรเทเรนอล ร่วมกับยาเบาหวาน เช่นยา Metformin อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาเบาหวานด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาเมทาโพรเทเรนอลอย่างไร?
ควรเก็บยาเมทาโพรเทเรนอล: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เมทาโพรเทเรนอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเมทาโพรเทเรนอล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Alupent (อะลูเพนท์) | Boehringer Ingelheim |
Metaprel (เมทาเพรล) | Novartis Pharmaceuticals |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Orciprenaline [2022,Nov19]
- https://www.drugs.com/mtm/metaproterenol.html [2022,Nov19]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/orciprenaline?mtype=generic [2022,Nov19]
- https://www.drugs.com/imprints/bi-74-4169.html [2022,Nov19]
- https://www.webmd.com/drugs/2/drug-55840/metaprel-oral/details [2022,Nov19]
- https://www.rxlist.com/alupent-drug.htm [2022,Nov19]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/metaproterenol-index.html?filter=3&generic_only= [2022,Nov19]