เบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์ (Beta-adrenergic agonist)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 มิถุนายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- เบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์อย่างไร?
- เบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์อย่างไร?
- เบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพิ้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- อะดรีเนอร์จิก อะโกนิสต์ (Adrenergic agonist)
- เบต้า 2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ (Beta2 - adrenergic agonists)
- ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator)
บทนำ
ยาเบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์ (Beta-adrenergic agonist หรือ Beta adrenergic receptor agonist) หรือเรียกสั้นๆว่าเบต้า อะโกนิสท์ (Beta agonist) ก็ได้ เป็นกลุ่มยาที่ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการหอบหืดจากโรคหืด ภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ ภาวะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ภาวะหัวใจล้มเหลว อาการแพ้ต่างๆ ภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง รวมถึงใช้บำบัดพิษจากกลุ่มยาเบต้า-บล็อกเกอร์(Beta blocker)อีกด้วย
ยาเบต้า อะโกนิสท์ มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะกระตุ้นตัวรับ(Receptor) ของร่างกายที่เรียกว่า ตัวรับเบต้า1 (Beta 1 receptor หรือ Beta 1 adrenergic receptor), ตัวรับเบต้า2 (Beta 2 receptor หรือ Beta 2 adrenergic receptor), และตัวรับเบต้า3 (Beta 3 receptor หรือ Beta 3 adrenergic receptor) การกระตุ้นตัวรับที่แตกต่างกันดังกล่าว เป็นสาเหตุให้จำแนกยากลุ่มนี้ออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่
ก. เบต้า1 อะโกนิสท์ (Beta1 agonist หรือ Beta 1 adrenergic agonist): ยาในหมวดนี้จะส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนประจุแคลเซียมในระดับเซลล์ ชนิดที่เรียกว่า Opening of calcium channel บริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ จนก่อให้เกิดฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจตามมา เช่น ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มความดันโลหิต ทางคลินิกได้นำยาเบต้า1 อะโกนิสท์มารักษาอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะช็อก ตัวอย่างของกลุ่มยากลุ่มนี้ ได้แก่ Denopamine, Dobutamine, Dopexamine, Epinephrine, Isoprenaline, Prenalterol, Xamoterol
ข. เบต้า2 อะโกนิสท์ (Beta2 agonist หรือ Beta 2 adrenergic agonist): ตัวยาจะส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนประจุแคลเซียมในระดับเซลล์ชนิดที่เรียกว่า Closing of calcium channel ทำให้เกิดฤทธิ์คลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบของ หลอดลม ปอด ระบบทางเดินอาหาร มดลูก หลอดเลือด ช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และทำให้หัวใจหดตัวแรงขึ้น กลุ่มยาเบต้า2 อะโกนิสท์ถูกนำมาบำบัดอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และอาการหอบหืด ตัวอย่างยาเบต้า2 อะโกนิสท์ ได้แก่ Arformoterol, Buphenine, Clenbuterol, Dopexamine, Epinephrine, Fenoterol, Formoterol , Isoetarine , Isoprenaline, Levosalbutamol, Orciprenaline, Pirbuterol, Procaterol, Ritodrine, Salbutamol, Salmeterol, Terbutaline,
ค. เบต้า3 อะโกนิสท์ (Beta3 agonist หรือ Beta 3 adrenergic agonist): เป็นกลุ่มยาที่อยู่ในระหว่างการทำวิจัยทางคลินิก โดยมีวัตถุประสงค์ช่วยเพิ่มการแตกตัวของไขมัน และกำลังทำการศึกษาทดลองใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคอ้วน
ทั้งนี้ รูปแบบของผลิตภัณฑ์ของยาเบต้า อะโกนิสท์มีทั้ง ยาชนิดรับประทาน ยาฉีด ยาใช้เฉพาะที่ ยาพ่นจมูก การจะเลือกใช้ยาตัวใดในกลุ่มนี้เพื่อการรักษากลุ่มอาการโรค จะต้องอาศัยแพทย์เฉพาะโรคทั้งสิ้น ห้ามมิให้ผู้บริโภค/ผู้ป่วยไปซื้อหายานี้ มาใช้เองโดยเด็ดขาด
เบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาในกลุ่มเบต้า อะโกนิสต์ มีมากมาย ทั้งนี้ขึ้นกับโครงสร้างทางเคมีและตำแหน่งของการออกฤทธิ์ที่ตัวรับชนิดเบต้า ตามที่ระบุในหัวข้อ”บทนำ” จึงอาจสรุปสรรพคุณที่นำมาใช้ทางคลินิกของยากลุ่มนี้ เช่น
- ช่วยเพิ่มความดันโลหิตในผู้ป่วยที่มีภาวะช็อก
- ช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจให้กลับมาเป็นปกติ
- บำบัดภาวะหัวใจล้มเหลว
- ทำให้หลอดลมขยายตัว ทำให้การไหลเวียนของอากาศเข้าสู่ปอดเป็นไปอย่างปกติ
- บำบัดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูงเกิน
- ช่วยบำบัดอาการภูมิแพ้ของร่างกาย
- บำบัดอาการผู้ที่ได้รับพิษจากยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker poisoning)
เบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มเบต้า อะโกนิสต์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ในบริเวณตัวรับชนิด Beta1, Beta2, และ/หรือ Beta3 adrenergic receptors ส่งผลให้ร่างกายมีการตอบสนองโดยเป็นไปตามธรรมชาติของแต่ละตัวยาที่มากระตุ้นหรือที่ออกฤทธิ์ที่แต่ละอวัยวะภายในร่างกาย อย่างเช่น หัวใจ หลอดเลือด ปอด หลอดลม กระเพาะอาหาร ลำไส้ ซึ่งการตอบสนองของร่างกายดังกล่าว ทำให้ช่วยบำบัดอาการเจ็บป่วย และเป็นที่มาของสรรพคุณของยากลุ่มนี้
เบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาชนิดรับประทาน ทั้งชนิด เม็ด แคปซูล และน้ำ
- ยาฉีด ทั้งชนิดฉีดเข้าหลอดเลือด เข้ากล้ามเนื้อ และฉีดใต้ผิวหนัง
- ยาพ่นจมูก
- ยาหยอดตา
เบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ขนาดการใช้ยากลุ่มเบต้า อะโกนิสต์กับผู้ป่วยแต่ละราย จะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจ ของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น โดยมีปัจจัยของ ลักษณะโรค อายุ เพศ วัย โรคประจำตัว ของผู้ป่วย รวมถึงยาอื่นๆที่ผู้ป่วยมีใช้อยู่ก่อน นำมาประกอบกัน เพื่อการสั่งจ่ายเบต้า อะโกนิสต์ ของแพทย์ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัยที่สุดกับผู้ป่วยเป็นแต่ละรายบุคคล ดังนั้น ในบทความนี้ จึงขอไม่กล่าวถึงขนาดของการใช้ยาในกลุ่มนี้
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเบต้า อะโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบต้า อะโกนิสต์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยา/ใช้ยาเบต้า อะโกนิสต์ ผู้ป่วยสามารถรับประทานยา/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมรับประทาน/ลืมใช้ยา และให้รับประทานยา/ใช้ยาในขนาดปกติ
โดยทั่วไป การรับประทานยากลุ่มเบต้า อะโกนิสต์ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ตรงเวลา และไม่ควรปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
เบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
การใช้ยาเบต้า อะโกนิสต์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อหัวใจ: เช่น มีอาการเจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก ชีพจรหรือหัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตสูง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ไมเกรน มีอาการชัก วิงเวียน เป็นลม
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล กระสับกระส่าย
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคอ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ น้ำตาลในเลือดสูง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เยื่อจมูกอักเสบ ระคายคอ ไอ
มีข้อควรระวังการใช้เบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยาในกลุ่มเบต้า อะโกนิสต์
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามไปซื้อหายานี้มาใช้เองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- กรณีพบอาการแพ้ยานี้ เช่น มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- หากใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำแล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรกลับมาพบ แพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์ปรับแนวทางการรักษา
- แจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ถึงประวัติ โรคประจำตัว และการมียาชนิดใดที่ใช้อยู่บ้างโดยละเอียด ก่อนที่จะเข้ารับการรักษาทุกครั้ง
- ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มเบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์ด้วย) ยาแผนโบราณ ทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควร ต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยากลุ่มเบต้า อะโกนิสท์ร่วมกับยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์(Beta blocker) จะเกิดการต้านฤทธิ์ซึ่งกันและกัน หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้เบต้า อะโกนิสท์ร่วมกับยาขับปัสสาวะ อาจเสี่ยงต่อภาวะเกลือโพแทสเซียมใน เลือดต่ำตามมา จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้เบต้า อะโกนิสท์ ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้ยาร่วมกัน อาจทำให้ฤทธิ์การรักษาของยารักษาโรคเบาหวานด้อยประสิทธิภาพลง
ควรเก็บรักษาเบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์อย่างไร?
ควรเก็บยาเบต้า อะโกนิสท์ ตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา หรือตามคำแนะนำของแพทย์/เภสัชกร เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น และ ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเบต้า อะโกนิสท์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Aerotamol 100 (เอโรทามอล 100) | Aerocare |
Antomol (แอนโทมอล) | Medicine Products |
Asmasal SDU (แอสมาซอล เอสดียู) | Silom Medical |
Asmasal Syrup (แอสมาซอล ไซรัป) | Silom Medical |
Asmol (แอสมอล) | Suphong Bhaesaj |
Asthalin CFC-Free (แอสทาลิน ซีเอฟซี-ฟรี) | Cipla |
Asthamol (แอสทามอล) | Okasa Pharma |
Asthmolin (แอสโมลิน) | Pharmasant Lab |
Bronchosol (บรอนโชซอล) | Siam Bheasach |
Buto-Asma (บูโท-แอสมา) | Lab Aldo-Union |
Buventol Easyhaler (บูเวนทอล อิสซีเฮเลอร์) | Orion |
Durasal-CR (ดูราซอล-ซีอาร์) | Raptakos |
Naso (นาโซ) | T.Man Pharma |
Sabumol (ซาบูมอล) | GPO |
Salbusian (ซาลบูเซียน) | Asian Pharm |
Salbutac (ซาลบูแทค) | Polipharm |
Salbutamol GPO (ซาลบูทามอล จีพีโอ) | GPO |
Salbutamol Inhalation CFC-Free (ซาลบูทามอล อินฮาลาชั่น ซีเอฟซี-ฟรี) | Jewim |
Salbutamol Medicpharma (ซาลบูทามอล เมดิฟาร์มา) | Medicpharma |
Salbutamol Osoth (ซาลบูทามอล โอสถ) | Osoth Interlab |
Salbutamol Utopian (ซาลบูทามอล ยูโทเปียน) | Utopian |
Saldol (ซาลดอล) | The Forty-Two |
Salmol Atlantic (ซาลมอล แอทแลนติก) | Atlantic Lab |
Salmol Syrup (ซาลมอล ไซรัป) | Biolab |
Sulbuta-N (ซาลบูทา-เอ็น) | L. B. S. |
Venterol (เวนเทอรอล) | Greater Pharma |
Ventolin (เวนโทลิน) | GlaxoSmithKline |
Violin (ไวโอลิน) | T.O. Chemicals |
Zalbu Nebule (ซาลบู เนบลู) | Pharma Innova |
Asthnyl (แอสนิล) | Osoth Interlab |
Broncholine (บรอนโชลีน) | T.O. Chemicals |
Cofbron (คอฟบรอน) | MacroPhar |
P-Canyl (พี-คานิล) | Osoth Interlab |
Terbu Expectorant (เทอร์บู เอกซ์เปคโทแรนท์) | Community Pharm PCL |
Terbutaline Sulfate GPO (เทอร์บูทาลีน ซัลเฟต จีพีโอ) | GPO |
Terbutaline T.O. (เทอร์บูทาลีน ที.โอ.) | T. O. Chemicals |
Tolbin (ทอลบิน) | Unison |
Caterol (แคเธอรอล) | Pharmasant Lab |
Meptin (เมพทิน) | Otsuka |
Aerobidol (แอโรบิดอล) | Aerocare |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Beta-adrenergic_agonist[2017,May27 ]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Beta2-adrenergic_agonist[2017,May27 ]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Beta1-adrenergic_agonist[2017,May27 ]
- http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/beta-2-adrenergic-agonist-oral-route-injection-route/description/drg-20069364[2017,May27 ]
- http://cvpharmacology.com/cardiostimulatory/beta-agonist[2017,May27 ]
Updated 2017,May27