ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator)

บทความที่เกี่ยวข้อง

สารบัญ

ยาขยายหลอดลมทางเภสัชหมายถึงยาที่มีคุณสมบัติอะไร?

ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator) เป็นยาที่มีฤทธิ์ป้องกันและรักษาอาการหดเกร็งของ หลอดลม (Bronchospasm)

ยาขยายหลอดลม

ทางเภสัชแบ่งยาขยายหลอดลมเป็นประเภทใดบ้าง?

ทางเภสัชแบ่งยาขยายหลอดลมเป็นประเภทต่างๆดังนี้

  1. Beta 2-agonist (เบต้าทู อะโกนิส) หรือ Beta 2 adrenergic agonist (เบต้าทู แอดรีเนอร์จิก อะโกนิส) เป็นยาที่ไปกระตุ้นตัวรับ(Receptor) ที่ชื่อ Beta adrenergic receptor ที่กล้ามเนื้อเรียบของผนังหลอดลมทำให้กล้ามเนื้อเรียบบริเวณนี้คลายตัว หลอดลมจึงขยายตัว ซึ่งแบ่งยากลุ่มนี้ตามระยะเวลาในการออกฤทธิ์ได้เป็น 2 ประเภท/ชนิดได้แก่
  • ชนิดออกฤทธิ์สั้น (Short-acting beta 2-agonist): ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์เร็วภายในระยะเวลาประมาณ 5 นาทีและมีระยะเวลาออกฤทธิ์ขยายหลอดลมได้นานประมาณ 4 - 6 ชั่วโมงเช่น ยา Salbutamol (ซาลบูทามอล), Terbutaline (เทอร์บิวทาลีน)
  • ชนิดออกฤทธิ์ยาว/นาน (Long-acting beta 2-agonist): ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ช้า ภายในระยะเวลาประมาณ 20 นาทีและมีระยะเวลาออกฤทธิ์ขยายหลอดลมได้นานอย่างน้อย 12 ชั่วโมงเช่น ยา Salmeterol (ซัลมีเทอรอล), Formoteral (ฟอร์โมเทอรอล)
  1. Methyl xanthines (เมธิลแซนทีน): เป็นสารที่พบในธรรมชาติเช่น ชา, กาแฟ และช็อกโกแลต สารนี้ที่นำมาใช้เป็นยาขยายหลอดลมเช่น Aminophylline (อะมิโนฟิลลีน) และ Theophylline (ทีโอฟิลลีน) ออกฤทธิ์โดยยับยั้งเอนไซม์ฟอสโฟไดเอสเทอเรส (Phos phodiesterase) ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสาร cAMP (Cyclic adenosine monophos phate) จึงส่งผลให้ระดับ cAMP เพิ่มขึ้น ซึ่ง cAMP นี้เป็นตัวส่งสัญญาณที่สื่อให้กล้ามเนื้อเรียบที่หลอดลมคลายตัว
  2. Anticholinergics (ยาต้านโคลิเนอร์จิก) หรือ Antimuscarinic: เป็นยาที่ไปยับยั้งการออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาทอะซิติลโคลีน (Acetylcholine) ที่มีตัวรับบริเวณกล้ามเนื้อเรียบของผนังหลอดลม ส่งผลให้หลอดลมขยาย ยากลุ่มนี้แบ่งตามระยะเวลาในการออกฤทธิ์ได้เป็น 2 ประเภท/ชนิดได้แก่
  • ชนิดออกฤทธิ์สั้น (Short-acting antimuscarinic agent): เช่น Ipratropium (ไอพราโทรเพียม)
  • ชนิดออกฤทธิ์ยาว/นาน (Long-acting antimuscarinic agent): เช่น Tiotropium (ไทโอโทรเพียม)

ยาขยายหลอดลมมีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?

ยาขยายหลอดลมมีรูปแบบจำหน่ายดังนี้ เช่น

  1. ยาฉีด เช่นยา Aminophylline, Salbutamol และ Terbutaline
  2. ยาเม็ดรับประทาน เช่นยา Salbutamol และ Terbutaline
  3. ยาสูดพ่น เช่นยา Salmeterol และ Formoteral นอกจากนี้ยังมียาสูดพ่นในรูปของยาผสมระหว่าง Inhaled Corticosteroids (ICS) ซึ่งเป็นยาสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่นกับยา Beta 2-agonist ชนิดออกฤทธิ์ยาว/นาน เช่นยา Salmeterol ผสมกับ Fluticasone และ Formoteral ผสมกับ Budesonide

มีข้อบ่งใช้ยาขยายหลอดลมอย่างไร?

ยาขยายหลอดลมมีข้อบ่งใช้ดังนี้ เช่น

1. เป็นยาควบคุมอาการ (Controller) และเป็นยาบรรเทาอาการ (Reliever) ในผู้ป่วยโรคหืด (Asthma)

  • ยาควบคุมอาการ จะมีฤทธิ์แก้อักเสบ ลดการบวมของผนังหลอดลม เมื่อใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะควบคุมอาการของโรครวมทั้งลดการกำเริบ (Asthma exacerbation) ได้
  • ยาบรรเทาอาการ จะเป็นยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์เร็ว โดยไม่ลดการอักเสบที่เกิดในผนังหลอดลม ยากลุ่มนี้จะใช้รักษาอาการโรคหืดที่กำเริบเฉียบพลัน

2. ใช้ยาชนิดออกฤทธิ์ยาวช่วยคุมอาการผู้ป่วยที่มีอาการจับหืดเวลากลางคืน (Nocturnal asthma) หรือมีอาการหอบหืดขณะที่ออกกำลังกาย (Exercise-induced asthma)

3. ใช้เป็นยาบรรเทาอาการ ลดความถี่และความรุนแรงของการกำเริบของอาการ รวม ทั้งเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/COPD/โรคซีโอพีดี (Chronic Obstructive Pulmonary Disease)

มีข้อห้ามใช้ยาขยายหลอดลมอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาขยายหลอดลมดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆและ
  • ระวังการใช้ยาในกลุ่ม Beta 2-agonist ในผู้ป่วยโรคหัวใจที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia), หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Tachycardia)

มีข้อควรระวังการใช้ยาขยายหลอดลมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาขยายหลอดลมดังนี้ เช่น

  • ไม่ควรใช้ยาในกลุ่ม Beta 2-agonist ชนิดออกฤทธิ์สั้นเป็นยาเดี่ยวๆเพื่อบรรเทาอาการต่อเนื่องนานเกินไป เพราะร่างกายอาจตอบสนองต่อการใช้ยาได้ลดน้อยลง (Tolerance) แต่ควรใช้ ยาสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่นควบคู่กันไปเพื่อควบคุมอาการด้วย
  • ระวังการใช้ยาในกลุ่ม Beta 2 -agonist ในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/ โรคซีโอพีดี  เพราะผู้ป่วยโรคนี้มักมีโรคหัวใจร่วมด้วย การใช้ยานี้อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia)ได้แม้จะใช้ยาในขนาดปกติก็ตาม
  • ห้ามบดหรือเคี้ยวยาเม็ด Theophylline ชนิดออกฤทธิ์เนิ่น/นาน (Sustained-release theophylline) แต่สามารถแบ่งใช้เม็ดยาได้
  • Theophylline เป็นยาที่มี *ดัชนีการรักษาแคบ มีประวัติการสูบบุหรี่และการใช้ยาอื่นๆ เพราะอาจส่งผลให้ระดับเอนไซม์ตับซึ่งทำหน้าที่ขจัดยาออกจากร่างกายเปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้ควบคุมระดับการใช้ยานี้ในแต่ละบุคคลได้ค่อนข้างยาก

         *อนึ่ง “ดัชนีการรักษา (Therapeutic index)” คือ ช่วงของการรักษาที่บ่งบอกถึงความปลอด     ภัยของยา โดยถ้าดัชนีการรักษาแคบหมายความว่า ยากลุ่มนี้มีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ผล ข้างเคียง) จากการใช้ยาสูงและอันตราย กล่าวคือ ขนาดของยาที่ใช้เพื่อให้ได้ผลในการรักษากับ    ขนาดยาที่ก่อให้เกิดพิษนั้นใกล้เคียงกันมาก

*****ข้อสำคัญ:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาขยายหลอดลมด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิด  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

การใช้ยาในหญิงมีครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

ในหญิงตั้งครรภ์มีการใช้ยาขยายหลอดลมชนิดสูดพ่นมากกว่ายาฉีดหรือยาเม็ดรับประ ทาน แพทย์มักเลือกใช้ยา Beta 2-agonist ชนิดออกฤทธิ์สั้น เช่นยา Salbutamol หรือ Terbuta line เป็นตัวเลือกแรก เพราะมีการศึกษาและมีการใช้ยาเหล่านี้มานานแล้ว พบว่ามีความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์พอควร ส่วนการใช้ยา Theophylline จะต้องปรับระดับยาให้เหมาะสม และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในทารกแรกคลอดที่มารดาได้ยา Theophylline ในระดับที่สูงผิด ปกติเช่น หัวใจเต้นเร็ว  คลื่นไส้ มีอาการสั่น (Jitteriness) หงุดหงิด ขี้รำคาญ/กระสับกระส่าย (Irritability) เป็นต้น

การใช้ยาในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาขยายหลอดลมในผู้สูงอายุจะเลือกใช้ยาสูดพ่น Beta 2-agonist หลีกเลี่ยงการใช้ยาเม็ดรับประทานเพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) ที่อาจเกิดจากยาเช่น หัวใจเต้นผิดปกติเพราะเป็นอาการที่พบมากในผู้ป่วยสูงอายุอยู่แล้ว นอกจากนี้ผู้ป่วยสูงอายุมักใช้ยารักษาโรคเรื้อรังหลายชนิด จึงอาจเพิ่มผลข้างเคียงที่เกิดจากยาเหล่านั้นเช่น ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia, อาการเช่น กล้ามเนื้อไม่มีแรง หัวใจเต้นผิดปกติ)

การใช้ยา Theophylline ในผู้ป่วยสูงอายุอาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยามากกว่าวัยอื่น เพราะอวัยวะในร่างกายเช่น ตับหรือหัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ รวมทั้งการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน ก็อาจทำให้ระดับยา Theophylline ในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ

การใช้ยาในเด็กควรเป็นอย่างไร?

ผู้ป่วยเด็กควรใช้ยาขยายหลอดลมในการรักษาให้น้อยที่สุด สิ่งที่สำคัญคือการให้ความรู้แก่ตัวผู้ป่วยเองและแก่ครอบครัว สอนวิธีการใช้ยาพ่นที่ถูกต้องร่วมกับการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น กระเปาะพักยา (Spacer) หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้อาการกำเริบ ตามแพทย์พยาบาลแนะนำ และติดตามผลการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

ยาขยายหลอดลมมีผลข้างเคียงอย่างไร?

 ยาขยายหลอดลมมีผลข้างเคียง/ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ดังนี้เช่น

  1. ยา Beta 2- agonist: มีผลข้างเคียง เช่น ทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ   มือสั่น กระวนกระวาย ปวดหัว นอนไม่หลับ และถ้าใช้ยามากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) ได้ ซึ่งการใช้ยาสูดพ่นจะพบผลข้างเคียงเหล่านี้น้อยกว่ายากิน
  2. ยา Methyl xanthines: มีผลข้างเคียงเช่น ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ (Gastro intestinal distress) เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง และอาการอื่นๆเช่น มือสั่น นอนไม่หลับ ความดันโลหิตต่ำ โดยถ้าได้รับยาขนาดสูงมากๆอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตเพราะผู้ป่วยอาจชัก หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  3. ยา Anticholinergics: มีผลข้างเคียง เช่น ปากคอแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะคั่ง/ไม่ถ่ายปัสสาวะ มึนศีรษะ นอนไม่หลับ ใจสั่น  หัวใจเต้นเร็ว  ตาพร่า  

บรรณานุกรม

  1. http://thaipediatrics.org/attchfile/cpg_11-05-23.pdf [2021,Dec18]
  2. http://eac2.easyasthma.com/site_data/dbregistry_eac/1/NHSO_1_COPD_Guideline.pdf [2021,Dec18]
  3. http://www.lpnh.go.th/newlp/wp-content/uploads/2013/10/Asthma-Guideline_2560.pdf [2021,Dec18]     
  4. Cazzola, et al. Pharmacology and Therapeutics of Bronchodilators. Pharmacological Reviews 3 (2012) : 451-504
  5. Lacy C.F., et al. Drug information handbook with international trade names index. 19th Ohio : Lexi-comp, 2011.