เพศสัมพันธ์ในผู้ป่วยมะเร็ง (Sex and cancer)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยรังสีรักษา ผู้ป่วยเคมีบำบัด มีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่?

ผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกคน ทุกเพศ โดยเฉพาะในช่วงการรักษาจะพบเกิดปัญหาทางเพศ สัมพันธ์ได้เสมอ

เมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็งจะเป็นปัญหาทางด้านอารมณ์จิตใจ ซึ่งรวมทั้งขั้นตอนในการตรวจ และการวางแผนการรักษาด้วย ที่จะส่งผลกระทบถึงความรู้สึกทางเพศโดยเฉพาะในผู้ป่วยเพศหญิง ซึ่งแพทย์จะต้องแนะนำการคุมกำเนิดตั้งแต่สงสัยการเป็นมะเร็ง เพราะการตั้งครรภ์จะเป็นอุปสรรคต่อการตรวจวินิจฉัยโรคที่มักต้องใช้เอกซเรย์ และต่อการรักษาโรคมะเร็งเสมอทั้ง การผ่าตัด รังสีรักษา และยาเคมีบำบัด โดยเฉพาะรังสีรักษาและยาเคมีบำบัดซึ่งจะส่งผลกระทบถึงทารกในครรภ์โดยตรงในโอกาสเกิดความพิการที่รุนแรงไปจนถึงโอกาสของการแท้งบุตร

 

ผู้ป่วยที่ต้องใช้รังสีรักษาในการรักษาโรค:

เพศสัมพันธ์ในผู้ป่วยมะเร็ง

 ก. ในผู้ป่วยชาย: ถ้าผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ แพทย์ไม่ห้าม แต่ควรต้องคุมกำเนิดเสมอเพราะรังสีฯอาจส่งผลให้อสุจิ (สเปริม/Sperm) เกิดบาดเจ็บเสียหายในระดับสารพันธุกรรมซึ่งอาจส่งผลถึงความพิการหรือโรคต่างๆของทารกในครรภ์ได้  

และในผู้ป่วยมะเร็งของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อย เช่น โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ที่การมีเพศสัมพันธ์อาจส่งผลกระทบต่อการบาดเจ็บของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานและ/หรืออวัยวะเพศโดยตรง จึงเพิ่มโอกาสการติดเชื้อซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการรักษาได้

ข.ในผู้ป่วยหญิง: ถ้าสุขภาพดี แพทย์ไม่ห้ามการมีเพศสัมพันธ์เช่นกัน แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคุมกำเนิดอย่างเข้มข้นเพราะการตั้งครรภ์จะส่งผลกระทบถึงการรักษาที่อาจส่งผลให้ต้องยกเลิกการรักษาเมื่อเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น เพราะผลข้างเคียงจากรังสีฯอาจก่อความพิการและการ ตายของทารกในครรภ์ได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นมะเร็งของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ  โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งรังไข่ หรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แพทย์มักแนะนำงดการมีเพศสัมพันธ์เพราะอวัยวะเหล่านี้จะบาดเจ็บจากรังสีฯ การมีเพศสัมพันธ์จึงเพิ่มโอกาสติดเชื้อและอาจเกิดภาวะเลือดออกจากอวัยวะเหล่านี้ได้ง่าย

 

ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาเคมีบำบัดในการรักษาโรค:

ในผู้ป่วยชายและในผู้ป่วยหญิง คำแนะนำจะเช่นเดียวกับกรณีได้รับรังสีรักษา แต่ที่แตก ต่างคือ ไม่ว่าผู้ป่วยจะเป็นหญิงหรือชาย ในการมีเพศสัมพันธ์ฝ่ายชายจำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยชายเสมอ ไม่ใช่เพื่อการคุมกำเนิดเพียงอย่างเดียวแต่เพื่อป้องกันอวัยวะเพศของคนที่ไม่เป็นมะเร็งสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากการมีเพศสัมพันธ์ที่อาจปนเปื้อนยาเคมีบำบัด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บ/อักเสบของเซลล์ของอวัยวะเพศของคู่นอนได้

 

ควรต้องป้องกันการตั้งครรภ์หรือไม่?

ผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหญิงและชายที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ควรพบสูตินรีแพทย์/แพทย์หน่วยวางแผนครอบครัว (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง  การวางแผนครอบครัว) เพื่อปรึกษาแพทย์ในเรื่องของ

  • เพศสัมพันธ์
  • การคุมกำเนิดที่รวมถึงวิธีการคุมกำเนิด เพราะในผู้ป่วยหญิงบางโรคมะเร็งไม่สามารถใช้ยาฮอร์โมนในการคุมกำเนิดได้ เพราะฮอร์โมนจะกระตุ้นให้โรคมะเร็งลุกลามหรือกำเริบ เช่น โรคมะเร็งเต้านม
  • และถ้ายังต้องการมีบุตรควรได้ปรึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะเก็บอสุจิหรือไข่ไว้ก่อนการรักษา (Fertility preservation) เพราะการรักษาโรคมะเร็งทั้งรังสีรักษาและยาเคมีบำบัดอาจส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากหรือเป็นหมัน เพราะอาจลดปริมาณการสร้างอสุจิในผู้ป่วยชายหรือลดการตกไข่และมีผลต่อฮอร์โมนเพศในผู้ป่วยหญิงได้

 นอกจากนั้น ในช่วงการรักษา ผู้ป่วยหรือคู่สมรสมีโอกาสตั้งครรภ์ได้เสมอ แต่แพทย์มักแนะ นำการคุมกำเนิดทั้งในผู้ป่วยหญิงและในผู้ป่วยชายโดยเฉพาะในผู้ป่วยหญิงด้วยเหตุผลดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อแรก

 

ควรดูแลตนเองในเรื่องเพศสัมพันธ์อย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองในเรื่องเพศสัมพันธ์เมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง ที่สำคัญคือผู้ป่วยต้องพูดคุยปรึกษากันระหว่างคู่สมรสและพร้อมกันปรึกษาแพทย์ด้านการวางแผนครอบครัวเมื่อยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ดังได้กล่าวแล้ว

  • ในผู้ป่วยหญิง: ปัญหาทางเพศสัมพันธ์มักเกิดจาก
  • อาการระคายเคืองอวัยวะเพศ, เจ็บเมื่อร่วมเพศ จากช่องคลอดแห้งกว่าปกติซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการรักษาที่ส่งผลกระทบถึงการสร้างและการทำงานของฮอร์โมนเพศ,
  • อาจมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ได้ง่ายจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา: การดูแลตน เอง)
  • มักมีร่างกายอ่อนเพลีย มีความเครียด ความกลัว ความกังวลทั้งต่อรูปลักษณ์ของตนเอง, ต่อการตั้งครรภ์, การติดเชื้อ, และการเกิดโรคมะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำอีก ส่งผลให้ลดหรือไม่มีความต้องการหรือ/และไม่มีความรู้สึกทางเพศ
  • ในผู้ป่วยชาย: อาจเกิด
  • ภาวะอวัยวะเพศไม่แข็งตัว (นกเขาไม่ขัน)
  • อาจไม่สามารถหลั่งน้ำเชื้อ/น้ำอสุจิได้
  • และอาจลด/หมดความรู้สึกทางเพศด้วยเหตุผลคล้ายคลึงกับในผู้ป่วยหญิง

 ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นและสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่คู่สมรสจะต้องพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน และถ้ายังประสงค์จะมีเพศสัมพันธ์ การปรึกษาแพทย์ด้านการวางแผนครอบครัวจะช่วยแนะนำวิธีในการดูแลให้ได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การวางแผนครอบ ครัว) ดังนั้นการปรึกษาแพทย์ด้านนี้ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยดูแลผู้ป่วยและคู่สมรส แต่ทั้งนี้ ทั้งผู้ ป่วยและคู่สมรสต้องร่วมมือกันด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกันด้วย

 

บรรณานุกรม

  1. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins
  2. https://www.cancer.org/treatment/treatments-and-side-effects/treatment-types/chemotherapy.html   [2022,April9]
  3. https://www.cancer.org/treatment/treatments-and-side-effects/physical-side-effects.html   [2022,April9]
  4. https://www.oncolink.org/support/sexuality-fertility/sexuality/women-s-guide-to-sexuality-during-after-cancer-treatment [2022,April9]
  5. https://www.oncolink.org/support/sexuality-fertility/sexuality/men-s-guide-to-sexuality-during-after-cancer-treatment [2022,April9]
  6. https://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/coping/physically/sex/effects [2022,April9]