เนื้องอกเจิมเซลล์ มะเร็งเจิมเซลล์ (Germ cell tumor)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

เนื้องอกเจิมเซลล์ (Germ cell tumor) คือ เนื้องอกชนิดเกิดจากเซลล์ตัวอ่อนขณะเป็นทารกในครรภ์ที่เรียกว่า“เจิมเซลล์ (Germ cell)”  โดยเจิมเซลล์เป็นเซลล์ตัวอ่อนที่เมื่อร่างกายเติบโตขึ้น จะเปลี่ยนไปเป็นเซลล์สร้างไข่(Egg)ในเพศหญิง, หรือเซลล์สร้างสเปิร์ม/อสุจิ (Sperm cell) ในเพศชาย, ทั้งนี้เนื้องอกเจิมเซลล์มีธรรมชาติของโรคเป็นได้ทั้งเนื้องอกทั่วไปที่ 'ไม่ใช่มะเร็ง' และเป็น 'เนื้องอกมะเร็ง'

ในครรภ์ปกติ เจิมเซลล์จะมีอยู่ทั่วไปในร่างกายทารก แต่มักจะอยู่ตรงส่วนกลางตลอดความยาวของลำตัวตั้งแต่ สมอง ลำคอ ในช่องอก ตลอดจนรอบๆกระดูกสันหลังจนถึงตำแหน่งของกระดูกกระเบนเหน็บที่ต่อกับกระดูกก้นกบ(Sacrococygeal region), ซึ่งเมื่อตัวอ่อนในครรภ์เจริญเติบโตเป็นทารก เจิมเซลล์เหล่านี้จะหายไปเหลืออยู่เพียงที่รังไข่(ในเพศหญิง) หรือที่อัณฑะ (ในเพศชาย)  

แต่บางคน เจิมเซลล์เหล่านี้ไม่ได้หายไปทั้งหมด บางส่วนยังคงเหลือค้างอยู่ และเจิมเซลล์ที่หลงเหลืออยู่เหล่านี้อาจเจริญเติบโตผิดปกติกลายเป็นเนื้องอกที่เรียกว่า “เนื้องอกเจิมเซลล์ (Germ cell tumor ย่อว่า จีซีที/GCT)”

เนื้องอกเจิมเซลล์ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามตำแหน่งที่เกิดโรคคือ เมื่อเกิดในรังไข่หรือในอัณฑะเรียกว่า “Gonadal germ cell tumor หรือย่อว่า จีจีซีที/GGCT,”  ส่วนเมื่อเกิดนอกรังไข่/อัณฑะเรียกว่า “EXtragonadal germ cell tumor เรียกย่อว่า อีจีซีที/EGCT)”

เนื้องอกเจิมเซลล์ เป็นเนื้องอกที่มีได้ทั้งเนื้องอกทั่วไปที่’ไม่ใช่มะเร็ง เรียกว่า Non- malignant germ cell tumor’ และเนื้องอกที่’เป็นมะเร็ง’เรียกว่า Malignant germ cell tumor’ โดยเนื้องอกทั้ง 2 ชนิดแยกกันได้จากลักษณะเซลล์ทางพยาธิวิทยา (จากการตรวจเนื้อเยื่อด้วยเทคนิคเฉพาะด้วยกล้องจุลทรรศน์) ร่วมกับลักษณะทางคลินิกหรือธรรมชาติของโรค

เนื้องอกเจิมเซลล์ เป็นเนื้องอกที่เกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย เช่น รังไข่ อัณฑะ สมอง (ส่วนที่เป็นต่อมไพเนียล) ที่ลำคอ ในช่องอก ในช่องท้องส่วนอยู่หลังเยื่อบุช่องท้อง (Retroperitoneum)   และตำแหน่งที่พบโรคบ่อยที่สุดในเด็กเล็ก(นิยามคำว่าเด็ก)คือที่บริเวณรอยต่อระหว่างกระดูกกระเบนเหน็บกับกระดูกก้นกบ

เนื้องอกเจิมเซลล์พบทั่วโลกในทุกอายุตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบบ่อยในเด็ก, วัยรุ่น, และผู้ใหญ่วัยต้นๆ, เพศหญิงและเพศชายพบโรคได้ใกล้เคียงกัน

ไม่มีสถิติที่ชัดเจนของการเกิดเนื้องอกเจิมเซลล์ในภาพรวมเพราะเป็นโรคพบน้อย และยังแบ่งเป็นหลากหลายชนิดย่อย  การศึกษาจึงมักแยกกระจายเป็นในแต่ละชนิดย่อย แต่ในภาพรวมพบได้ประมาณ 2 - 4% ของเนื้องอก/มะเร็งในเด็กทั้งหมด และพบเนื้องอกเจิมเซลล์กลุ่มที่เกิดนอกรังไข่/อัณฑะ (EGGCT) ได้ประมาณ 0.5 รายต่อประชากร 1 แสนคนโดยพบได้เป็นสัดส่วนประมาณ 5 - 10% ของเนื้องอกเจิมเซลล์ทั้งหมด, ส่วนเนื้องอกเจิมเซลล์ที่เกิดในรังไข่หรือในอัณฑะ สถิติการเกิดโรคจะรายงานรวมอยู่ในโรคมะเร็งรังไข่และโรคมะเร็งอัณฑะ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งรังไข่ และบทความเรื่อง มะเร็งอัณฑะ)

เนื้องอกเจิมเซลล์มีกี่ชนิด?

เนื้องอกเจิมเซลล์แบ่งเป็น 2 กลุ่มตามตำแหน่งที่เกิดโรคดังได้กล่าวแล้ว คือ มะเร็งเจิมเซลล์ที่เกิดที่รังไข่/อัณฑะเรียกว่า Gonadal germ cell tumor (GGCT) และกลุ่มที่เกิดนอกรังไข่/อัณฑะ เรียกว่า Extragonadal germ cell tumor (EGCT)

เนื้องอกเจิมเซลล์ในทั้ง 2 กลุ่มแบ่งตามชนิดเซลล์เนื้องอกได้เป็น 2 ชนิดหลักคือ ชนิด ‘เซมิโนมา(Seminoma)’ และชนิด ‘ไม่ใช่เซมิโนมาหรือนันเซมิโนมา (Non seminoma)’

  • เนื้องอก Seminoma: มีชื่ออื่นได้อีกคือ Germinoma (มักใช้เรียกเมื่อโรคเกิดในสมอง) และ Dysgerminoma (มักใช้เรียกเมื่อโรคเกิดในรังไข่)
  • เนื้องอกเจิมเซลล์ Non seminoma: แบ่งได้เป็นหลากหลายชนิดที่พบบ่อยคือ Embryonal cell carcinoma, Yolk sac tumor (Endodermal sinus tumor), Teratoma, Teratocarcinoma, และ Choriocarcinoma ซึ่งทุกชนิดอาจเกิดร่วมกันได้ซึ่งเรียกว่า ‘Mixed non seminoma germ cell tumor’

เนื้องอกเจิมเซลล์เกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

สาเหตุเกิดเนื้องอกเจิมเซลล์ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาเชื่อว่าเกิดจากมีความผิด ปกติทางจีน/ยีน (Gene) เพราะพบจีนที่ผิดปกติได้หลายชนิดในผู้ป่วยโรคนี้ และนอกจากนี้ยังไม่พบปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจนในการเกิดโรคนี้เช่นกัน

เนื้องอกเจิมเซลล์มีอาการอย่างไร?

เนื้องอกเจิมเซลล์ทั้ง 2 กลุ่ม ทุกชนิด มีอาการเหมือนกัน แยกกันไม่ได้จากอาการ, แยกกันได้จากลักษณะเซลล์จากการตรวจทางพยาธิวิทยา และจากการตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็งที่เซลล์เนื้องอก/มะเร็งแต่ละชนิดสร้างขึ้นที่แตกต่างกัน

นอกจากนั้น คือ ไม่มีอาการเฉพาะของเนื้องอกเจิมเซลล์ แต่จะเป็นอาการที่เหมือนเนื้องอก /มะเร็งทุกชนิด คือ อาการจากมีก้อนเนื้อที่โตจนกดเบียดทับเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง และอาการจากสารมะเร็งที่เซลล์เนื้องอก/เซลล์มะเร็งสร้างขึ้นมา

และเนื่องจากเป็นเนื้องอกที่สามารถเกิดได้ในหลากหลายตำแหน่งของร่างกาย อาการโรคจึงยังขึ้นกับแต่ละตำแหน่งที่เกิดโรคด้วย ซึ่งทั่วไปมัก’ไม่พบอาการผิดปกติเมื่อก้อนเนื้อยังมีขนาดเล็ก’

อาการที่อาจพบได้เมื่อก้อนเนื้อโตขึ้น: เช่น

  • คลำพบก้อนเนื้อผิดปกติที่มักโตเร็ว อาจมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ เช่น ก้อนที่อัณฑะ, ก้อนในท้องน้อย
  • อาการเป็นหนุ่มสาวไวกว่าอายุ (ภาวะเจริญก่อนวัย) เมื่อโรคเกิดที่ต่อมไพเนียลในสมองที่เป็นต่อมควบคุมภาวะความเป็นหนุ่มสาว
  • ปวดหัวเรื้อรัง, เดินเซ, ตาพร่า, เห็นภาพซ้อน, เมื่อโรคเกิดในสมองส่วนอื่นๆ
  • ประจำเดือนผิดปกติเมื่อโรคเกิดในรังไข่
  • ไอเรื้อรัง, แน่นหน้าอก/เจ็บหน้าอก, เมื่อโรคเกิดในช่องอก
  • ปวดหลังเรื้อรังเมื่อโรคเกิดในช่องท้อง   

แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกเจิมเซลล์ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคเนื้องอกเจิมเซลล์ได้จาก

  • ประวัติอาการต่างๆของผู้ป่วย
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจภาพอวัยวะที่มีก้อนเนื้อด้วย อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ
  • แต่การวินิจฉัยที่แน่นอน จะได้จาก
  • ตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็งของเนื้องอกเจิมเซลล์  เช่น Alpha-fetoprotein/AFP, Beta human chorionic gonadotropin/ β-hCG
  • และ/หรือ ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
  • และ/หรือ จากผ่าตัดก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

เนื้องอกเจิมเซลล์มีกี่ระยะ?

ระยะของเนื้องอกเจิมเซลล์ที่เกิดกับรังไข่หรืออัณฑะแบ่งเป็นระยะโรคตามระบบของ AJCC (American Joint Committee on Cancer) เช่นเดียวกับการแบ่งระยะของมะเร็งรังไข่และมะเร็งอัณฑะ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งรังไข่ และบทความเรื่อง มะเร็งอัณฑะ)

ส่วนเนื้องอกเจิมเซลล์ชนิดเกิดนอกรังไข่/นอกอัณฑะเป็นชนิดพบน้อยมาก ดังนั้นจึงยังไม่มีการจัดแบ่งระยะโรคที่เป็นที่ยอมรับทั่วไป แต่มักแบ่งตามลักษณะทางคลินิกที่ใช้บอกถึงการพยากรณ์โรค จากการพยากรณ์โรคที่ดีไปสู่การพยากรณ์ที่แย่กว่าตามลำดับ เช่น

  • ระยะที่ผ่าตัดได้
  • ระยะที่ผ่าตัดไม่ได้
  • ระยะที่โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และ
  • ระยะที่โรคแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ที่พบบ่อยที่สุด คือ เข้าสู่ปอดทั้ง 2 ข้าง และเรียกโรคระยะนี้ว่า ระยะ 4

รักษาเนื้องอกเจิมเซลล์อย่างไร?

การรักษาหลักของเนื้องอกเจิมเซลล์ คือ การผ่าตัด ซึ่งถ้าการตรวจทางพยาธิวิทยาของก้อน เนื้อหลังผ่าตัดพบว่า ตัดก้อนเนื้อออกได้หมด ไม่เหลือเซลล์มะเร็งที่มองเห็นได้จากกล้องจุลทรรศน์ และเป็นเซลล์ที่มีการพยากรณ์โรคดีมาก เช่น ชนิดเซมิโนมา หรือชนิด Teratoma การรักษา คือ ผ่าตัดเพียงอย่างเดียวร่วมกับการพบแพทย์เป็นระยะๆตามแพทย์นัดเพื่อเฝ้าติดตามการย้อนกลับเป็นซ้ำของโรคซึ่งพบน้อยมาก   

แต่ถ้าเซลล์มะเร็งเป็นชนิดมีความรุนแรงโรคสูง ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาต่อเนื่องหลังผ่าตัดด้วยยาเคมีบำบัด(มักเป็นวิธีที่แพทย์เลือก) และ/หรือ รังสีรักษา และ/หรือใช้ทั้ง 2 วิธีขึ้นร่วมกัน ทั้งนี้  ขึ้นกับระยะโรค, การตอบสนองของโรคต่อยาเคมีบำบัด, และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

อนึ่ง: เนื้องอกเจิมเซลล์เป็นเนื้องอกที่ตอบสนองดีมากต่อทั้งยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา แต่เนื่องจากเป็นเนื้องอกที่มักพบในเด็กที่รังสีรักษาอาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งชนิดอื่นๆได้เมื่อผู้ป่วยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอีก 10 ปีข้างหน้าขึ้นไป, แพทย์จึงมักใช้รังสีรักษาเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ คือ ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไปและจะพิจารณาการรักษาเป็นรายๆไปขึ้นกับผลจากการผ่าตัด, ระยะโรค, และการตอบสนองของโรคต่อยาเคมีบำบัด

ในส่วนยารักษาตรงเป้า (ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง) ยังอยู่ในการศึกษา

เนื้องอกเจิมเซลล์รุนแรงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของเนื้องอกเจิมเซลล์ขึ้นกับปัจจัยสำคัญ คือ

ก. ชนิดของเซลล์เนื้องอก/เซลล์มะเร็ง: โดย

  • ชนิดเซมิโนมามีความรุนแรงต่ำสุด อัตรารอดที่ห้าปีสูงถึงประมาณ 80 - 100% ขึ้นกับระยะโรค
  • เนื้องอกชนิด Choriocarcinoma มีความรุนแรงโรคสูงสุด แต่เป็นโรคพบน้อยมาก อัตรา  รอดที่ห้าปีจึงไม่มีสถิติที่แน่นอน แต่ถ้ามีโรคแพร่กระจายแล้วมักไม่มีอัตรารอดที่ห้าปี
  • ส่วนเซลล์ชนิดอื่นๆการพยากรณ์โรคอยู่ในระดับปานกลาง โดยในโรคระยะต้นๆอัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 75 - 80%

 ข. ระยะของโรค: โดยทั่วไป

  • โรคในระยะต้นๆมีอัตรารอดที่ห้าปีสูงประมาณ 75 - 100%
  • ส่วนโรคระยะแพร่กระจายอัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 0 - 75% ขึ้นกับชนิดเซลล์มะเร็งและการผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้หมดหรือไม่รวมถึงการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด

ค. ตำแหน่งที่เกิดโรค: โรคที่เกิดที่อัณฑะหรือรังไข่ การพยากรณ์โรคจะดีกว่าโรคที่เกิดในตำแหน่งอื่นๆ เช่น ในช่องอกหรือในช่องท้อง

ง. อวัยวะที่โรคแพร่กระจาย: โดยถ้าโรคแพร่กระจายเฉพาะปอด การพยากรณ์โรคดีกว่าการแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่นๆที่ไม่ใช่ปอด เช่น ตับ กระดูก สมอง

จ. การผ่าตัด: ถ้าผ่าตัดโรคออกได้หมด  อัตรารอดที่ห้าปีสูง, แต่ถ้าผ่าตัดไม่ได้ อัตรารอดที่ห้าปีจะต่ำ, ดังนั้นโรคที่เกิดในตำแหน่งมีโอกาสผ่าตัดโรคออกได้หมดจึงมีการพยากรณ์โรคดีกว่า มีอัตรารอดที่ห้าปีดีกว่า  เช่น โรคเกิดที่ อัณฑะ, รังไข่

ฉ. ปริมาณสารมะเร็งในเลือดของเนื้องอกเจิมเซลล์: ถ้าปริมาณมาก การพยากรณ์โรคไม่ดีเนื่องจากแสดงถึงการมีปริมาณเซลล์เนื้องอก/เซลล์มะเร็งฯสะสมมากในร่างกายสูง รวมถึงมักเป็นเซลล์มะเร็งชนิดมีความรุนแรงโรคสูง

มีวิธีตรวจคัดกรองเนื้องอกเจิมเซลล์ไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองเนื้องอกเจิมเซลล์ตั้งแต่เริ่มเป็นโรคขณะยังไม่ก่อให้เกิดอาการ

ป้องกันเนื้องอกเจิมเซลล์อย่างไร?

เนื่องจากเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยง ขณะนี้จึงยังไม่มีวิธีป้องกันเนื้องอกเจิมเซลล์ ดังนั้นถ้าคลำพบก้อนเนื้อผิดปกติเกิดขึ้นไม่ว่าที่ส่วนใดของร่างกาย ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยเนื้องอกเจิมเซลล์อย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นเนื้องอก/โรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึงเนื้องอกเจิมเซลล์จะเช่นเดียวกัน ปรับใช้ด้วยกันได้  แนะนำอ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • และ เรื่อง การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

เนื่องจากผู้ป่วยโรคเนื้องอกเจิมเซลล์ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยอยู่ในวัยเด็กและวัยรุ่นซึ่งผู้ปกครองสามารถปรับใช้วิธีดูแลฯได้จากบทความการดูแลตนเองฯที่ได้กล่าวถึง

นอกจากนั้น ในกลุ่มผู้ป่วยที่ยังเป็นเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็ก การดูแลต้องอาศัยบิดามารดา ญาติพี่น้องเป็นอย่างมาก ซึ่งต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาลที่ให้การรักษาดูแลเด็กป่วย และต้องนำเด็กพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตรงตามนัดเสมอ

ผู้ดูแลเด็กป่วย ควรต้องมีสมุดจดบันทึกอาการเด็กป่วยและข้อสงสัยเพื่อการสอบถามแพทย์ พยาบาลได้ครบถ้วนถูกต้อง รวมทั้งควรจดบันทึกคำแนะนำของแพทย์/พยาบาลด้วยเพื่อการดูแลเด็กป่วยได้ถูกต้องเช่นกัน

ผู้ดูแลเด็กป่วย ควรต้องเพิ่มการสังเกตอาการต่างๆของเด็กเพราะเด็กป่วยเล็กเกินกว่าจะบอกเล่าได้ ซึ่งเมื่อพบเด็กป่วยมีอาการผิดปกติไปจากเดิมหรือมีอาการต่างๆเลวลง ควรต้องรีบนำเด็กป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ

บรรณานุกรม

  1. AJCC Cancer Staging Manual, 8th Ed.
  2. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  3. Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers
  4. Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia.
  5. https://www.cancer.gov/types/extragonadal-germ-cell/patient/extragonadal-treatment-pdq#section/all [2022,Oct8]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/278174-overview#showall [2022,Oct8]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Germ_cell_tumor  [2022,Oct8]