อาการสั่น (Tremor)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร?

สั่น (Tremor) เป็นการไม่ใช่ตัวโรค, คือ อาการทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นบ่อยทั้งในเพศหญิงและเพศชายใกล้เคียงกัน, พบทุกอายุ แต่ มักพบในผู้ใหญ่ตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป พบน้อยมากในเด็ก,  เป็นอาการที่สร้างความกังวลให้กับคนที่มีอาการสั่น (ซึ่งที่พบบ่อยคือ อาการมือสั่น) เพราะมีความวิตกกังวลว่าจะเป็นโรคที่อันตราย เช่น โรคพาร์กินสัน,  โรคอัมพาต, เราลองมาศึกษาว่า อาการสั่นนั้นมีกี่รูปแบบ และมีสาเหตุเกิดจากอะไร ต้องพบแพทย์เมื่อใด ต้องติดตามจากบทความนี้ครับ

อาการสั่นมีกี่รูปแบบ? อะไรบ้าง?

 

อาการสั่นมี 3 รูปแบบหลัก ได้แก่           

ก. อาการสั่นขณะพัก
ข. อาการสั่นขณะทำกิจกรรม
ค. อาการสั่นเมื่อตั้งใจ

อาการสั่นแต่ละรูปแบบมีลักษณะต่างกันอย่างไร?

อาการสั่นแต่ละรูปแบบหลัก ทั่วไปมีลักษณะต่างกัน เช่น

ก. อาการสั่นขณะพัก (Resting tremor): คือ อาการสั่นที่เกิดเมื่อมืออยู่ในท่าพักวางบนหน้า ตักไม่ได้ออกแรง และอาการสั่นนั้นจะดีขึ้นเมื่อยกแขนหรือยกมือขึ้น แต่เมื่อยกค้างไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งก็จะมีอาการสั่นเพิ่มมากขึ้นอีก (Emerging tremor)

ข. อาการสั่นขณะทำกิจกรรม (Action tremor): คือ อาการสั่นที่เกิดขึ้นเมื่อมีการยกแขน ยกมือ หรือขณะทำกิจกรรม หรือเฉพาะท่าทางใดท่าทางหนึ่ง หรือขณะที่มีการเคลื่อนไหว ถ้าพักก็ไม่มีอาการสั่น

ค. อาการสั่นเมื่อตั้งใจ (Intention tremor): คือ อาการสั่นที่เกิดขึ้นขณะที่ตั้งใจหยิบจับสิ่งของ หรือตั้งใจทำกิจกรรมที่มีการใช้ความละเอียด การหยิบจับสิ่งของเช่น การนำนิ้วมือของผู้มีอาการแตะปลายจมูกตนเองและเหยียดแขนจนสุดไปแตะนิ้วมือของแพทย์ (Finger to nose test) ก็จะพบเกิดอาการมือสั่นขึ้น

อาการสั่นแต่ละรูปแบบมีสาเหตุแตกต่างกันหรือไม่?

อาการสั่นแต่ละรูปแบบ ทั่วไปมีสาเหตุดังนี้ เช่น

ก. อาการสั่นขณะพัก: มีสาเหตุจากโรคพาร์กินสัน

ข. อาการสั่นขณะทำกิจกรรม: เป็นอาการสั่นรูปแบบที่พบบ่อยที่สุด มีหลายสาเหตุ เช่นจาก

  • โรคต่อมไทรอย์เป็นพิษ /ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
  • หิวข้าว
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ติดสุราเรื้อรัง
  • ผลข้างเคียงจากยาขยายหลอดลม
  • โรคสั่นอีที/โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ (Essential tremor ย่อว่า ET) เป็นต้น

ค. อาการสั่นเมื่อตั้งใจ: สาเหตุมักเกิดจากผู้ป่วยมีรอยโรคในสมองส่วนที่เรียกว่า สมองน้อย/ซีรีเบลรั่ม (Cerebellum), หรือในสมองส่วนที่มีการเชื่อมโยงกับสมองส่วนซีรีเบลรั่ม (เช่น สมองส่วนหน้า/Frontal lobe และสมองส่วนพอนส์/Pons), หรือจากผลข้างเคียงของยากันชักที่ชื่อ ฟีนัยโทอิน(Phenytoin), หรือจากโรคพิษสุราเรื้อรังระยะที่มีการทำลายสมอง

แพทย์ทราบได้อย่างไรว่าเป็นอาการสั่นรูปแบบไหน?

ทั่วไป แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นอาการสั่นรูปแบบใด โดย

  • สอบถามผู้ป่วยถึงประวัติอาการ  ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ เช่น โรคประจำตัว  การใช้ยาต่างๆ และ
  • สังเกตลักษณะอาการสั่นในขณะที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์, ร่วมกับ
  • การตรวจร่างกาย และการตรวจร่างกายทางระบบประสาท เพื่อหาลักษณะผิดปกติอื่นๆที่อาจพบร่วมด้วยได้ในการสั่นจากรูปแบบต่างๆ  เช่น ผอมลง เบื่ออาหาร  เดินเซ  และ เพื่อหาสาเหตุของอาการสั่น

ผู้มีอาการสั่นควรพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินเมื่อใด?

ผู้มีอาการสั่น/ผู้ป่วย ถ้ามีอาการสั่นที่รุนแรงจนรบกวนกิจกรรมประจำวัน, อาการเป็นรุนแรงมากขึ้น, และ/หรือร่วมกับมีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย เช่น ผอมลง เบื่ออาหาร เดินเซ แขน-ขาอ่อนแรง, หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆทางระบบประสาทร่วมด้วย (เช่น ปวดหัวมาก, การชัก) ก็ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

จำเป็นต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมองหรือไม่?

การสืบค้นเพิ่มเติมทางระบบประสาท เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (ซีทีสแกน) และ/หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า/เอมอาร์ไอสมอง แพทย์จะทำต่อเมื่อสงสัยว่าจะมีรอยโรคในสมอง เช่น ผู้ป่วยมีการสั่นเมื่อตั้งใจทำกิจกรรม (Intention tremor) เพราะมักจะมีรอยโรคที่สมองส่วนซีรีเบลรั่มหรือสมองส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

แต่กรณีสั่นขณะพักที่มักเกิดจากโรคพาร์กินสัน ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจสืบค้นภาพสมองด้วยการตรวจสืบค้นดังกล่าว

ส่วนการสั่นขณะทำกิจกรรมนั้นก็ขึ้นกับสาเหตุที่แพทย์คิดถึงมากที่สุด ถ้าสงสัยอาจจากมีรอยโรคในสมองแพทย์ก็จะตรวจสืบค้นด้วยการตรวจภาพสมองด้วยวิธีการดังกล่าว

การรักษาอาการสั่นทำอย่างไร?

การรักษาอาการสั่น ขึ้นกับสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการสั่นรูปแบบต่างๆ เช่น

  • การสั่นแบบ อีที(การสั่นไม่ทราบสาเหตุ): การรักษาคือการใช้ยาต้านเบต้า (Beta blocker) เช่น ยาโปรปราโนลอล/Propranolol
  • การสั่นจากต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน: (อ่านเพิ่มเติมในเว็บcom บทความเรื่อง ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ  และเรื่อง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน)
  • การสั่นเมื่อตั้งใจทำ: ก็ต้องดูว่ารอยโรคในสมองเกิดจากอะไรเช่น เนื้องอกสมอง/มะเร็งสมองก็ต้องแก้ที่สาเหตุโดยตรง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งสมอง)

ผลการรักษาอาการสั่นดีหรือไม่?

ผลการรักษาอาการสั่น หรือ การพยากรณ์โรคของอาการสั่น ขึ้นกับสาเหตุที่ก่อโรค, ส่วนใหญ่โดยทั่วไปการพยากรณ์โรคดี คือ การรักษาได้ผลดี

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีอาการสั่น?

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการสั่น ทั่วไปประกอบด้วย

  • การดูแลรักษาสาเหตุของอาการสั่นตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลสม่ำเสมอตามแพทย์นัด
  • ถ้ามียาทานที่แพทย์สั่ง ต้องทานให้สม่ำเสมอไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • พยายามหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้มีอาการสั่นมากขึ้น เช่น ความตื่นเต้น ความเครียด การอดนอน ความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • การหยิบจับ ควรของต้องระวังของหล่น
  • ทานอาหาร/เครื่องดื่มต้องระวังหก ของร้อนลวกมือ
  • กรณีสั่นขณะพักในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันนั้น ต้องระวังเรื่องการเดินเพราะจะหกล้มได้ง่าย
  • ดูแลการขับถ่ายไม่ให้ท้องผูก เนื่องจากอาจจะทำให้อาการสั่นเป็นมากขึ้นได้

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ทั่วไป ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • อาการสั่นและ/หรืออาการต่างๆที่เป็นอยู่แล้วแย่ลงทั้งๆที่กินยาและปฏิบัติตามแพทย์พยาบาล แนะนำ
  • มีอาการผิดปกติอื่นๆเกิดขึ้นโดยไม่เคยมีอาการนั้นๆมาก่อน เช่น ปวดหัวมาก การชัก กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • มีผลข้างเคียงต่อเนื่องจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันจากยาที่แพทย์สั่ง เช่น ง่วงนอนมากจนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน, กินยาแล้วใจสั่นมาก, หัวใจเต้นผิดปกติ, และ/หรือท้องเสียมาก

ป้องกันการเกิดอาการสั่นได้ไหม?

อาการสั่นสามารถป้องกันได้เป็นส่วนใหญ่ เช่น

  • การสั่นขณะพักในโรคพาร์กินสัน: ป้องกันโดยการไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ, ไม่ใช้สารเสพติด, การชกมวย, เพราะอาจทำให้เกิดอาการของโรคพาร์กินสันได้บ่อยขึ้น
  • การสั่นขณะทำกิจกรรม: ป้องกันได้โดย ลดความเครียด, พักผ่อนให้เพียงพอ, ไม่ดื่มสุรา
  • กรณีมีรอยโรคในสมอง: ก่อให้เกิดการสั่นแบบตั้งใจ ต้องระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ, ทานยากันชักตามแพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง

สรุป

อาการสั่นไม่น่ากลัวอย่างที่กังวลครับ

บรรณานุกรม

  1. https://www.ninds.nih.gov/health-information/disorders/tremor   [2023,March18]