อัลฟูโซซิน (Alfuzosin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 7 ธันวาคม 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- อัลฟูโซซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- อัลฟูโซซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อัลฟูโซซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อัลฟูโซซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อัลฟูโซซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อัลฟูโซซินอย่างไร?
- อัลฟูโซซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอัลฟูโซซินอย่างไร?
- อัลฟูโซซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha-blockers)
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)
- ต่อมลูกหมากโต หรือ บีพีเอช (Benign prostatic hypertrophy or BPH)
บทนำ: คือยาอะไร?
อัลฟูโซซิน (Alfuzosin) คือ ยารักษาอาการต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hyperplasia ย่อว่า บีพีเอช/ BPH) เป็นยาประเภท แอลฟาบล็อกเกอร์ (Alpha blockers)
อาการต่อมลูกหมากโต มักพบในกลุ่มผู้ชายที่เริ่มมีอายุ 50 ปีขึ้นไป ส่งผลให้เกิดการกดทับท่อทางเดินปัสสาวะทำให้ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด ตัวยาอัลฟูโซซินจะออกฤทธิ์ในบริเวณท่อทางเดินปัสสาวะส่วนล่างเป็นเหตุให้กล้ามเนื้อเรียบของต่อมลูกหมากและของกระเพาะปัสสาวะเกิดการคลายตัว ทำให้ปัสสาวะไหลได้สะดวกมากขึ้น
ด้านการกระจายตัวของยาอัลฟูโซซินในร่างกายพบว่า หลังจากรับประทาน ตัวยาจะถูกดูดซึมประมาณ 64% จากระบบทางเดินอาหาร เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือด จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประ มาณ 90% ก่อนที่จะถูกลำเลียงไปเผาผลาญและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3 - 5 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้จำนวนครึ่งหนึ่งออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ
ยาอัลฟูโซซินไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรักษาภาวะความดันโลหิตสูงเหมือนยาตัวอื่นๆในกลุ่ม Alpha blockers และไม่มีข้อบ่งใช้กับเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) การเลือกใช้ยานี้ต้องให้แพทย์เท่านั้นเป็นผู้คัดกรองและสั่งจ่ายยาได้อย่างเหมาะสม ผู้ป่วยจะต้องให้ข้อมูลสุขภาพของตนเองกับแพทย์เพื่อใช้ประกอบกับขั้น ตอนของการรักษา อาทิเช่น
- แพ้ยานี้หรือไม่
- ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตต่ำ โรคตับ โรคไต หรือเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากอยู่หรือไม่
- มีการรับประทานยาลดความดันโลหิตสูงหรือไม่
- เพิ่งได้รับการผ่าตัดต้อกระจกมาหรือไม่
- รับประทานยาอะไรอยู่ก่อนแล้ว
เมื่อมีการสั่งจ่ายยานี้ แพทย์มักจะกำกับวิธีรับประทานที่ถูกต้องเช่น รับประทานพร้อมน้ำดื่มที่สะอาด ห้ามเคี้ยวยาก่อนกลืน อย่าลืมรับประทานยา รวมถึงผลข้างเคียงต่างๆที่ผู้ป่วยอาจได้รับ หรือกรณีมีอาการแพ้ยาเช่น อวัยวะตามร่างกายบวม อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ต้องหยุดใช้ยานี้ แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาอัลฟูโซซินเป็นประเภทยาอันตราย ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง จึงควรใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และห้ามปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเองโดยเด็ดขาด
อัลฟูโซซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาอัลฟูโซซินมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- เพื่อรักษาอาการต่อมลูกหมากโต
อัลฟูโซซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอัลฟูโซซินคือ ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ (Receptor)ของต่อมลูกหมากที่มีชื่อว่า Postsynaptic alpha 1 adrenoreceptor ทำให้กล้ามเนื้อของต่อมลูกหมากคลายตัว ลดการกดทับท่อทางเดินปัสสาวะทำให้การถ่ายปัสสาวะทำได้สะดวกขึ้น และก่อให้เกิดฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
อัลฟูโซซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอัลฟูโซซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด
อัลฟูโซซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอัลฟูโซซินมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่ชาย: รับประทาน 10 มิลลิกรัมวันละครั้งหลังอาหารเย็น ห้ามรับประทานยานี้พร้อมสุรา
*อนึ่ง ต่อมลูกหมากโตเป็นโรคเฉพาะชายสูงอายุ จึงไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้ในเด็ก และในสตรี
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอัลฟูโซซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอัลฟูโซซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอัลฟูโซซินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อัลฟูโซซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอัลฟูโซซินอาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น
ก. อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย: เช่น
- วิงเวียน
- ง่วงนอน
- อ่อนเพลีย
- ปวดหัว
- ปวดท้อง
- คัดจมูก
ข. อาการข้างเคียงที่รุนแรง: เช่น
- มีผื่นคัน
- หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
- ปาก-ใบหน้าบวม ปวดหลัง
- เจ็บหน้าอก
- ปัสสาวะมีสีเข้ม
- เป็นลม
- หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ
- มีไข้
- หนาวสั่น
- เจ็บคอ คออักเสบ
- ปวดข้อ
- มีภาวะดีซ่าน
ค. *กรณีที่พบอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำรงชีวิตประจำวันหรือที่มีอาการรุนแรงควรต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลหรือไปโรงพยาบาลทันทีขึ้นกับความรุนแรงของอาการ ไม่ต้องรอจนถึงวันนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
*อาการที่ได้รับยานี้เกินขนาด: อาจพบอาการความดันโลหิตต่ำโดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนท่าทาง เช่น เมื่อลุกขึ้นยืนจนอาจเป็นลม หากพบอาการนี้ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้อัลฟูโซซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอัลฟูโซซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ โรคตับ โรคไตระยะรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยากลุ่ม แอลฟา บล็อกเกอร์ (Alpha blocker) ชนิดอื่น เช่นยา Doxazosin
- ระหว่างการใช้ยานี้ระวังการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
- ต้องมาพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามและปรับแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
- ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะ ง่วงนอน หากพบอาการเหล่านี้ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะและทำงานกับเครี่องจักรเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอัลฟูโซซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อัลฟูโซซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอัลฟูโซซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาอัลฟูโซซิน ร่วมกับยา Ritonavir, Clarithromycin ด้วยอาจทำให้ปริมาณของยาอัล ฟูโซซินในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนเป็นเหตุให้ความดันโลหิตต่ำและหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- การใช้ยาอัลฟูโซซิน ร่วมกับยา Quinidine อาจเกิดความเสี่ยงของหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือมีภาวะหัวใจทำงานผิดปกติเกิดขึ้นมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาอัลฟูโซซิน ร่วมกับยา Bupropion อาจส่งผลให้มีภาวะความดันโลหิตต่ำ ปวดหัว วิงเวียน เป็นลม การเต้นของหัวใจผิดปกติ หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- ห้ามใช้ยาอัลฟูโซซิน ร่วมกับยากลุ่ม Alpha 1 receptor blockers ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตลดลงจนก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำและส่งผลเสียต่อผู้ป่วย
ควรเก็บรักษาอัลฟูโซซินอย่างไร?
ควรเก็บยาอัลฟูโซซิน: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในรถยนต์หรือในห้องน้ำ
อัลฟูโซซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอัลฟูโซซิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Xatral XL (ซาทอล เอ็กซ์แอล) | sanofi-aventis |
Uroxatral (ยูโรซาทรัล) | sanofi-aventis |
บรรณานุกรม
1 https://www.drugs.com/mtm/alfuzosin.html [2021,Dec4]
2 https://en.wikipedia.org/wiki/Benign_prostatic_hyperplasia [2021,Dec4]
3 https://products.sanofi.us/uroxatral/uroxatral.html#section-3 [2021,Dec4]
4 https://www.mims.com/thailand/drug/info/alfuzosin?mtype=generic [2021,Dec4]
5 https://www.mims.com/thailand/drug/info/Xatral%20XL/?type=full#Contraindications [2021,Dec4]