อะโทซิแบน (Atosiban)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 19 พฤศจิกายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- อะโทซิแบนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- อะโทซิแบนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะโทซิแบนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะโทซิแบนมีขนาดบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมให้ยาควรทำอย่างไร?
- อะโทซิแบนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะโทซิแบนอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะโทซิแบนอย่างไร?
- อะโทซิแบนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- คลอดก่อนกำหนด (Preterm labor)
- ตกเลือดช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์ หรือ เลือดออกทางช่องคลอดช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์ (Bleeding during first half of pregnancy)
- ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด (Premature rupture of membranes)
- ทารกเสียชีวิตในครรภ์ (Intrauterine fetal demise)
- ตกเลือดก่อนคลอด (Antepartum hemorrhage)
- รกเกาะต่ำ ภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta previa)
บทนำ: คือยาอะไร?
อะโทซิแบน (Atosiban) คือ ยาที่นำมาใช้บำบัดและชะลอการคลอดก่อนกำหนด มักใช้กับผู้ป่วยช่วงที่มีอายุครรภ์ระหว่าง 24 - 33 สัปดาห์, ตัวยามีฤทธิ์ต่อต้านฮอร์โมน Oxytocin (ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองเพื่อการหดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก) และฮอร์โมน Vasopressin (ฮอร์โมนรักษาสมดุลของน้ำในร่างกายจากต่อมใต้สมองเช่นกัน), โดย รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นชนิดฉีด
ยาอะโทซิแบนถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Ferring pharmaceuticals ในประเทศสวีเดนเมื่อปี ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528), ตัวยาจะออกฤทธิ์ลดการบีบตัว รวมถึงชะลอเวลา หรือความถี่ของการบีบตัวของมดลูก, ทั่วไปแพทย์จะใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการปวด/เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดและมดลูกมีการหดตัวถี่มาก, ซึ่งการให้ยาอะโทซิแบนจะเป็นการฉีดเข้าหลอดเลือดดำเป็นครั้งคราว หรือหยดเข้าหลอดเลือดดำต่อเนื่องนั้น แพทย์จะพิจารณาเป็นรายบุคคลไป
นอกจากนั้น ประโยชน์ทางคลินิกด้านอื่นของยาอะโทซิแบน จะเป็นการบำบัดภาวะตกเลือดของสตรีตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง (ภาวะตกเลือดช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์)
ทั้งนี้ มีข้อจำกัดบางประการที่แพทย์มักจะนำมาประกอบการพิจารณาก่อนที่จะสั่งจ่ายยาอะโทซิแบนให้กับผู้ป่วยที่ผู้บริโภคควรทราบ เช่น
- แพทย์จะไม่ใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอายุครรภ์ต่ำกว่า 24 สัปดาห์ หรืออายุครรภ์เกิน 33 สัปดาห์ ขึ้นไป
- กรณีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด โดยมีอายุครรภ์มากกว่า 30 สัปดาห์ขึ้นไป ก็อยู่ในขอบข่ายห้ามใช้ยานี้ในการบำบัดรักษา
- หากตรวจพบอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ผิดปกติ ถือเป็นข้อห้ามใช้ยาอะโทซิแบนเช่นกัน
- ทารกเสียชีวิตในครรภ์ก่อนคลอด รวมถึงเกิดการติดเชื้อในมดลูกระหว่างตั้งครรภ์ก็ไม่สามารถใช้ยาอะโทซิแบนในการบำบัดรักษาได้
- กรณีที่ผู้ป่วยเกิดอาการแพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้ ก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ห้ามใช้ยานี้ หรือที่ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันทีถ้าพบว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการแพ้ยานี้
อนึ่ง: การให้ยาอะโทซิแบนกับผู้ป่วย จำเป็นต้องกระทำเฉพาะในสถานพยาบาล โดยมีขั้นตอนและต้องอาศัยเครื่องมือเพื่อช่วยในการทำหัตถการทางการแพทย์อย่างมากมาย
คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้จัดให้ยาอะโทซิแบนอยู่ในหมวดของยาอันตราย, มีข้อห้ามใช้ ข้อควรระวัง รวมถึงผลข้างเคียงต่างๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้, แพทย์ผู้รักษาเท่านั้นจึงจะสามารถใช้ยานี้กับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย
อะโทซิแบนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาอะโทซิแบนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช่: เช่น
- ยับยั้งการบีบตัวของมดลูกในสตรีตั้งครรภ์ที่อยู่ในภาวะปวด/เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
อะโทซิแบนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะโทซิแบน คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน Oxytocin ส่งผลให้มดลูกคลายตัว พร้อมกับลดความถี่การหดตัวของมดลูก, จึงช่วยบรรเทาอาการปวด/เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
อะโทซิแบนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะโทซิแบนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาฉีด ความแรง 7.5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ในขนาดบรรจุ 0.9 และ 5 มิลลิลิตร/ขวด
อะโทซิแบนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาอะโทซิแบนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา: เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 6.75 มิลลิกรัมอย่างช้าๆ โดยใช้เวลาให้ยานานมากกว่า 1 นาที, จากนั้นให้ยาโดยหยดเข้าทางหลอดเลือดดำขนาด 18 มิลลิกรัม/ชั่วโมงเป็นเวลาต่อเนื่อง 3 ชั่วโมง, แล้วเปลี่ยนขนาดการให้ยาเป็น 6 มิลลิกรัม/ชั่วโมงหยดเข้าหลอดเลือดดำเป็นเวลาต่อเนื่องสูงสุดไม่เกิน 45 ชั่วโมง หรือจนกระทั่งมดลูกคลายตัว
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจนของการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาอะโทซิแบน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะโทซิแบนอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมให้ยาควรทำอย่างไร?
การใช้ยาอะโทซิแบนกับผู้ป่วยจะกระทำกันในสถานพยาบาลโดยบุคลากรทางการแพทย์จะเป็นผู้ให้ยานี้กับผู้ป่วยตามตารางเวลาที่แพทย์ระบุไว้ โอกาสการลืมให้ยากับผู้ป่วยจึงมีโอกาสเกิดได้น้อยมากๆ
อะโทซิแบนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอะโทซิแบน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบการทำงานของร่างกาย: เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดอาการ วิงเวียน นอนไม่หลับ ปวดหัว มีไข้
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาการผื่นคันที่อาจเกิดขึ้นได้ หรือเกิดอาการคล้ายแพ้ยา
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
มีข้อควรระวังการใช้อะโทซิแบนอย่างไร?
นอกจากข้อควรระวังที่ระบุไว้ใน ‘บทนำฯ’ ยังมีข้อห้ามใช้และคำเตือนอื่นๆอีกบางประการที่ผู้ป่วยควรทราบเมื่อใช้ยาอะโทซิแบน เช่น
- ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ วัยรุ่นตั้งครรภ์ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ที่อยู่ในภาวะตกเลือดก่อนคลอด
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต สตรีตั้งครรภ์ที่มีสภาพของรกเกาะตัวกับมดลูกในลักษณะผิดปกติ เช่น ภาวะรกเกาะต่ำ
- ระหว่างการให้ยานี้กับผู้ป่วย ต้องควบคุมเฝ้าระวังการบีบรัดตัวของมดลูกว่าเกิดขึ้นอีกหรือไม่ รวมถึงต้องคอยตรวจสอบอัตราการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์อย่างสม่ำเสมอ
- คอยควบคุมสัญญาณชีพต่างๆของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะโทซิแบนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ควรเก็บรักษาอะโทซิแบนอย่างไร?
ควรเก็บยาอะโทซิแบน: เช่น
- เก็บยาตามเงื่อนไขที่ระบุอยู่ในเอกสารกำกับยา/ฉลากยา
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อะโทซิแบนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะโทซิแบน มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Tractocile (แทร็กโทไซ) | Ferring |
อนึ่ง: ยาชื่อการค้าของยานี้ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Antocin และ Atosiban SUN