อะเลนโดรเนท (Alendronate)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 16 กรกฎาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาอะเลนโดรเนทมีสรรพคุณรักษาโรคอะไร?
- ยาอะเลนโดรเนทออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาอะเลนโดรเนทมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาอะเลนโดรเนทมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาอะเลนโดรเนทมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
- ยาอะเลนโดรเนทมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
- มีข้อควรระวังในการใช้ยาอะเลนโดรเนทอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาอะเลนโดรเนทอย่างไร?
- ยาอะเลนโดรเนทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคกระดูก (Bone disease)
- มะเร็ง (Cancer)
- กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates)
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
- โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
- กระดูกหัก (Bone fracture)
- พาเจท (Paget disease)
- ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหาร (Gastric acid suppression medications)
บทนำ: คือยาอะไร?
อะเลนโดรเนท (Alendronate) คือ ยาใช้รักษาและป้องกันโรคกระดูกพรุนใน สตรีวัยหมดประจำเดือน, และรักษาโรคกระดูกพรุนในผู้ป่วยชาย, หรือในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ยา เสตียรอยด์เป็นระยะเวลานานซึ่งมีผลข้างเคียงคือทำให้กระดูกมีมวลกระดูกน้อยลงหรือกระดูกพรุน
ยาอะเลนโดรเนท จัดเป็นยาอันตรายตามกฎหมายของไทย อย่างไรก็ดีการใช้ยานี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และใช้ยานี้ตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ยาอะเลนโดรเนทมีสรรพคุณรักษาโรคอะไร?
ยาอะเลนโดรเนทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ก. ป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือน และรักษาโรคกระดูกพรุนในผู้ป่วยชาย
- ข. รักษาโรคกระดูกพรุนสาเหตุจากการใช้ยาในกลุ่มเสตียรอยด์
- ค. รักษาโรคพาเจทกระดูก(Paget's disease of bone) ซึ่งเป็นโรคที่ร่างกายผู้ป่วยสร้างกระดูกที่มีความเปราะบางแตกหักง่าย
ยาอะเลนโดรเนทออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอะเลนโดรเนทออกฤทธิ์หรือทำหน้าที่ในการยับยั้งการทำงานของเซลล์ออสทิโอคลาส (Osteoclast) ของกระดูก ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีหน้าที่ในการสลายเซลล์กระดูก ส่งผลทำให้การสลาย เซลล์กระดูกลดลง และยังทำให้ร่างกายสามารถคงระดับหรือเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่กระ ดูกได้มากขึ้น
นอกจากนี้ยาอะเลนโดรเนทซึ่งอยู่ในกลุ่มยาบิสฟอสโฟเนต(Bisphosphonate) ยังมีส่วน ช่วยในการควบคุมการสร้างเซลล์ออสทิโอคลาสและยังกระตุ้นให้เกิดการสลายของเซลล์ออสทิโคลาสในร่างกายอีกด้วย
ยาอะเลนโดรเนทมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะเลนโดรเนทมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์/รูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ด ขนาดความแรง 10 และ 70 มิลลิกรัมต่อเม็ด
ยาอะเลนโดรเนทมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดยาโดยทั่วไปของยาอะเลนโดรเนท: เช่น
- รับประทานวันละ 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือรับประทานครั้งละ 70 มิลลิกรัมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรรับประทานยาอะเลนโดรเนทขณะท้องว่างด้วยน้ำเปล่าอย่างน้อย 1 - 2 แก้ว และเว้นระยะหลังจากทานยาไปอีกอย่างน้อย 30 นาทีก่อนรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่อง ดื่มอื่นที่มิใช่น้ำเปล่า
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาอะเลนโดรเนทควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
- ประวัติการใช้ยาทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง/ใช้เอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (อ่านเพิ่มเติมในบทความนี้ ‘หัว ข้อ ยาอะเลนโดรเนทมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?’)
- แจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ หากคุณไม่สามารถอยู่ในท่านั่งตรงหรือยืนตรงได้ หรือมีประวัติการเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำมาก่อน รวมไปถึงโรคหรือแผลในระบบทาง เดินอาหารโดยเฉพาะช่วงบริเวณหลอดอาหาร มีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนอาหาร อาการแสบร้อนกลางอก เป็นหรือเคยมีโรคซีด มีหรือเคยมีประวัติระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ เป็นมะเร็ง หรือมีประวัติการติดเชื้อต่างๆ โรคช่องปาก (หมายรวมถึงปาก เหงือก และฟัน) หรือมีโรคไต
- แจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ หากคุณอยู่ระหว่างการใช้รังสีรักษาหรือยาเคมีบำบัด
- แจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบ หากคุณกำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงการให้นมบุตร
- แจ้งให้ทันตแพทย์ทราบ หากต้องเข้ารับการผ่าตัดทางทันตกรรมว่ากำลังใช้ยานี้อยู่ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอะเลนโดรเนทชนิดรับประทานทุกวัน ให้ข้ามมื้อยานั้นไปเลยและให้ทานอีกครั้งในวันถัดไปตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
แต่หากเป็นการบริหารยา/รับประทานยาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เมื่อลืมมื้อยามื้อหนึ่งไปให้ข้ามมื้อยานั้นไป และให้ทานในวันรุ่งขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า และให้กลับมารับ ประทานยาในวันเดิมของสัปดาห์ตามปกติในรอบสัปดาห์ถัดไป
ยาอะเลนโดรเนทมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
ยาอะเลนโดรเนทอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง)บางประการ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก มีลม/แก๊สในกระเพาะอาหาร ปวดหัว มึนงง ปวดข้อ ปวดมือ และขา หากอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้นหรือมีแนวโน้มว่าจะแย่ลงให้รีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/รีบไปโรงพยาบาลก่อนนัด
*หากรับประทานยาอะเลนโดรเนทแล้วเกิดอาการแพ้ยา เช่น ผื่นคัน อาการบวมของริมฝีปาก เปลือกตา/หนังตา ใบหน้า หรือหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก หรือมีอาการข้างเคียงที่มีความรุนแรง เช่น มีอาการแสบร้อนกลางอกอย่างรุนแรง มีปัญหาในการกลืนหรือมีอาการเจ็บแสบเวลากลืน (กลืนลำบาก) อาเจียนเป็นเลือดหรือมีสีคล้ายกาแฟ อุจจาระเป็นเลือดหรือมีสีดำเข้มและเหนียว มีไข้ ผิวหนังลอก ปวดบริเวณตา มีอาการปวดกราม ปวดที่บริเวณมือและข้อมือ ฟันหลุด ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่าการที่แพทย์สั่งใช้ยานี้เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือมากกว่าการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้อาจพบเกิดอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงชนิดรุนแรงได้ ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผล ข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น และรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/รีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินหากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
ยาอะเลนโดรเนทมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
ยาอะเลนโดรเนทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นบางชนิด แพทย์จึงคอยเฝ้าระวังผลข้าง เคียงหรือปรับขนาดยาที่ใช้ร่วมกับยากลุ่มบิสฟอสโฟเนตให้เหมาะสม เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดใน การรักษาผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการใช้ยาต่างๆโดยเฉพาะหากกำลังใช้ยาในกลุ่มเหล่านี้ เช่น
- ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressives)
- ยาแอสไพริน (Aspirin)
- ยาในกลุ่มต้านอักเสบ/ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์(Nonsteroidal anti-inflamma tory drugs: (เอ็นเสด: NSAIDs) เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen)
- กลุ่มยาเคมีบำบัดเพื่อรักษามะเร็ง
- ยาเสตียรอยด์ เช่น ยาเด็กซาเมธาโซน (Dexamethasone), ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone)
- ยาที่อาจส่งผลให้การดูดซึมยาอะเลนโดรเนทลดลงหากรับประทานร่วมกัน เช่น ยาลดกรด /แอนตาซิด/Antacid, ยาลดการหลั่งกรด/ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหาร
- เช่น ยาโอเมพราโซล (Omeprazole), แคลเซียม, ธาตุเหล็ก, ธาตุแมกนิเซียม, วิตามิน ซึ่งอาจลดการดูดซึมยาอะเลนโดนเนท
ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรหากต้องใช้ยา สารเคมี หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีส่วนประกอบของสารดังกล่าวอยู่ก่อนการใช้ยาอะเลนโดรเนท โดยควรสอบถามวิธีการรับประ ทานอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป
มีข้อควรระวังในการใช้ยาอะเลนโดรเนทอย่างไร?
มีข้อควรระวังในการใช้ยาอะเลนโดรเนท เช่น
- ไม่ควรใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้
- ควรใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวังในสตรีตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือที่กำลังให้นมบุตร
- ยาอะเลนโดรเนทเป็นยาที่มีการดูดซึมต่ำจึงต้องรับประทานในขณะท้องว่างเป็นสิ่งแรกหลังจากตื่นนอน และเป็นยาที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อหลอดอาหารและต่อกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจถึงวิธีการรับประทานยาอะเลนโดรเนทที่ถูกต้องดังต่อไปนี้
- ทานขณะที่ท้องว่างในช่วงเช้าโดยควรทานยานี้ก่อนทานอาหารมื้อเช้า
- ทานยานี้ร่วมกับดื่มน้ำเปล่าตาม 1 - 2 แก้ว ไม่ทานยานี้กับเครื่องดื่มอื่นๆที่มิใช่น้ำเปล่าเช่น ชา กาแฟ นม น้ำแร่ น้ำผลไม้
- ไม่แบ่งหรือหักเม็ดยานี้ และไม่อมเม็ดยาในช่องปาก
- หลังรับประทานยานี้ไปแล้ว ผู้ป่วยไม่ควรรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มอื่นที่มิใช่น้ำเปล่า ยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และต้องนั่งหรือยืนในท่าตรงเป็น เวลาอย่างน้อย 30 นาทีหลังรับประทานยานี้
- หากใช้ยานี้และพบว่ามีอาการปวดบริเวณกราม ปวดบนใบหน้า ซึ่งเป็นภาวะที่มีความรุนแรงโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทางทันตกรรมขณะใช้ยานี้ ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรง พยาบาล ดังนั้นหากผู้ป่วยมีปัญหาในช่องปากควรได้รับการดูแลจากทันตแพทย์ก่อนการเริ่มใช้ยานี้
- ยาอะเลนโดรเนทอาจส่งผลให้เกิดอาการ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดกระดูกที่รุนแรง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ในขณะที่ผู้ป่วยใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ/รีบไปโรง พยาบาล/ไปก่อนนัดหากมีอาการปวดอย่างรุนแรงตามบริเวณดังกล่าวเพื่อให้แพทย์ตรวจพิจารณา อีกครั้ง
- ควรใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีประวัติ โรคไต ภาวะแคลเซียม หรือวิตามินดีในเลือดต่ำ โรคแผลในหลอดอาหารและในทางเดินอาหาร
- ผู้ป่วยอาจได้รับการสั่งจ่ายแคลเซียมและวิตามินดีมารับประทานด้วยเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอขณะใช้ยานี้
- ไม่แบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ไม่ใช้ยาหมดอายุ
- ไม่เก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะเลนโดรเนท) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ควรเก็บรักษายาอะเลนโดรเนทอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาอะเลนโดรเนท: เช่น
- เก็บยาในภาชนะดั้งเดิมของผู้ผลิต ปิดฝาภาชนะให้แน่น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- หลีกเลี่ยงการเก็บยานี้ในบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น บริเวณใกล้ห้องน้ำ หรือในตู้เย็น
- ไม่ควรนำสารดูดความชื้นที่ผู้ผลิตใส่ไว้ในภาชนะของผลิตภัณฑ์ออกจากภาชนะหากผู้ผลิตได้บรรจุไว้
- เก็บภาชนะบรรจุยานี้ในอุณหภูมิห้อง
ยาอะเลนโดรเนทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะเลนโดรเนท มียาชื่อการค้าอื่นๆ และบริษัทผู้ผลิตที่มีการจัดจำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
ฟอสะแมกซ์ (Fosamax) | บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด |
บอนแม็กซ์ (Boxmax) | บริษัท เบอร์ลินฟาร์มาซูติคอลอินดัสตรี้ จำกัด |
แมกเลน-70 (Maxlen-70) | บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) |
ราลีโนสต์ (Ralenost) | บริษัท ไดอิจิ ซังเคียว (ประเทศไทย) จำกัด |
เอ-โดรเนต 70 (A-DRONATE 70) | บริษัท แอปคาร์ ฟาร์มาแลป (ประเทศไทย) จำกัด |
อัลเดรน 70 (Aldren-70) | บริษัท แคสป้า ฟาร์มาซูติคอล (ประเทศไทย) จำกัด |
อะเลนโดรเนท แซนดอซ (Alendronate Sandoz) | บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด |
บรรณานุกรม
- American Pharmacists Association. Alendronate, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;2014.
- Harold N Rosen, MD. Pharmacology of bisphosphonates. UpToDate.com. June 2015.
- https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/4115 [2022,July16]
- http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=6&rctype=1C&rcno=6200010&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no= [2022,July16]
- https://www.fda.moph.go.th/sites/oss/Shared%20Documents/PIL%2091%20-%20126/117-Alendronate.pdf [2022,July16]