ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหาร (Gastric acid suppression medications)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหาร

ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหารคือยาอะไร?

ยากดการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร (Gastric acid suppression medications) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ ลดอัตราการหลั่งของน้ำย่อยอาหาร, ลดปริมาณของน้ำย่อยฯ และลด กรดไฮโดรคลอริก(กรดเกลือด, Hydrochloric acid)ในกระเพาะอาหาร ยากลุ่มนี้จึงถูกนำมาใช้รักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก(โรคแผลเปบติค) หลอดอาหารอักเสบ รวมทั้งโรคหรือภาวะอื่นๆ ที่มีการสร้างกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป เช่น กลุ่มอาการโซลลิงเกอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison syndrome)

ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหารมีกี่กลุ่ม?

ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหาร แบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้

  • ยายับยั้งการขับโปรตอน (Proton pump inhibitors, PPIs): เช่นยา โอเมพราโซล (Omeprazole), แพนโทพราโซล (Pantoprazole), อีโซเมพราโซล (Esomeprazole), แลนโซพราโซล (Lansoprazole), เด็กซ์แลนโซพราโซล (Dexlansoprazole), ราบีพราโซล (Rabeprazole)
  • ยาต้านตัวรับฮิสทามีนชนิดที่ 2/ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์ (H2-receptor antagonists, H2RA): เช่นยา รานิทิดีน (Ranitidine), ไซเมทิดีน (Cimetidine), ฟาโมทิดีน (Famotidine), ไนซาทิดีน (Nizatidine)

ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหารมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหารมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
  • ยาน้ำใส (Solution)
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
  • ยาผงชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile powder)
  • ยาน้ำใสชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile solution)

อนึ่ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหารอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหาร เช่น

  • ใช้ป้องกันหรือรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กชนิดไม่ร้ายแรง
  • ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กที่มีสาเหตุจากเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร(Helicobacter pylori, H. pylori/ โรคติดเชื้อเอชไพโลไร)
  • ใช้บรรเทาอาการแสบร้อนกลางอกจากหลอดอาหารอักเสบจากโรคกรดไหลย้อน
  • ใช้รักษาอาการจุกเสียด แน่นท้อง หลังรับประทานอาหารเนื่องจากอาหารไม่ย่อย และมีกรดเกิน
  • ใช้รักษาภาวะที่มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากกว่าปกติ เช่น กลุ่มอาการโซลลิงเกอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison syndrome)
  • ใช้ลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร เพื่อป้องกันการสำลักกรดระหว่างผ่าตัด
  • ใช้ป้องกันหรือรักษาแผลในทางเดินอาหารในผู้ที่ได้รับยาต้านการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ (NSAIDs)
  • ใช้ป้องกันการเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหารจากภาวะเครียดในผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤตหรือมีการเจ็บป่วยที่รุนแรง(Stress ulcer)

มีข้อห้ามใช้ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหารอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหาร เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ที่ แพ้ยา แพ้สารเคมีนั้นๆในยาฯ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง(Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ

มีข้อควรระวังการใช้ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหารอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหาร เช่น

  • ยาลด/กดการสร้างกรดของกระเพาะอาหารอาจบดบังอาการของโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร ดังนั้นควรวินิจฉัยแยกโรคก่อนใช้ยา และระวังการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ที่มีอาการของโรคเปลี่ยนแปลงไป เช่น กลืนลำบาก น้ำหนักตัวลด อาเจียนเรื้อรัง หรือมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • วิตามิน เกลือแร่/ แร่ธาตุ และยาบางชนิด จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีในสภาวะกรด เช่น วิตามินบี12, ธาตุเหล็ก, ยาต้านเชื้อรา ชนิด Itraconazole และ Ketoconazole, ดังนั้นอาจส่งผลให้การดูดซึมเข้าสู่ร่างกายลดลงเมื่อรับประทานร่วมกับยาลดการสร้างกรด
  • ควรระวังการใช้ยากลุ่ม H2-receptor antagonists ในผู้ป่วย โรคตับ, โรคไต, โรคพอร์ฟิเรีย, มะเร็งกระเพาะอาหาร, มีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายผิดปกติ
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Cimetidine และ Omeprazole ในผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เพราะเป็นยาที่เกิดอันตรกิริยากับยาอื่นหลายชนิด เช่นยา Metformin, Theophylline, Phenytoin, Diazepam, Warfarin ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับยาเหล่านี้ในเลือดเปลี่ยนแปลงไป

การใช้ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหารในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหารในหญิงตั้งครรภ์/มีครรภ์และให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ควรเลือกใช้ยารักษาโรคกระเพาะอาหารกลุ่มยาลดกรด (Antacids) และ Sucralfate ก่อนยาลดการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร เพราะมีความปลอดภัยในกลุ่มผู้ป่วยหญิงมีครรภ์มากกว่า
  • ยากลุ่ม H2-receptor antagonists/ H2 antagonist สามารถใช้ในหญิงมีครรภ์ได้ โดยเลือกใช้ตัวยา Ranitidine เป็นตัวแรก เพราะมีข้อมูลการใช้ค่อนข้างมาก
  • ยากลุ่ม Proton pump inhibitors เป็นยาที่ควรระวังการใช้ในหญิงมีครรภ์ อาจเลือกใช้ยา Omeprazole เมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่อาจได้รับมีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์

การใช้ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหารในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหารในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม Proton pump inhibitors ในระยะยาวหากไม่มีข้อบ่งใช้ เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาชนิดรุนแรง เช่น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด กระดูกหัก, การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร/โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร, ปอดอักเสบ, ท้องเสีย, ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ, ภาวะขาดวิตามีนบี 12, โรคไตเรื้อรัง, และความจำเสื่อม
  • ยากลุ่ม H2-receptor antagonists สามารถใช้ได้ในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ แต่อาจพบอาการไม่พึงประสงค์ทางระบบประสาทได้มากกว่าวัยอื่น เช่น ซึมเศร้า, สับสน, มึนงง, ปวดศีรษะ/ปวดหัว

การใช้ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหารในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหารในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ยากลุ่ม Proton pump inhibitors ที่ใช้ในผู้ป่วยเด็กได้ เช่นยา Omeprazole (ใช้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป) , Lansoprazole (ใช้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป), โดยแพทย์จะปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
  • ยากลุ่ม H2-receptor antagonists เป็นยาที่ใช้ในผู้ป่วยเด็กได้ แต่เนื่องจากยากลุ่มนี้ยังไม่มียาที่อยู่ในรูปแบบยาน้ำจำหน่ายในประเทศไทย จึงอาจทำให้ปรับขนาดยาได้ยาก

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหารเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหาร เช่น

  • ยากลุ่ม Proton pump inhibitors ทำให้เกิดอาการ ปวดศีรษะ ท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องอืด ปากคอแห้ง
  • ยากลุ่ม H2-receptor antagonists ทำให้เกิดอาการ ปวดศีรษะ มึนงง สับสน ง่วงนอน นอนไม่หลับ อาการสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก คลื่นไส้ -อาเจียน การทำงานของตับผิดปกติ ระบบโลหิตผิดปกติ เต้านมโตในเพศชาย/ผู้ชายมีนม เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยา ) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ เล่ม 1 ยาระบบทางเดินอาหาร. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/archive/4181 [2019,Oct19]
  2. ภิเษก ยิ้มแย้ม. ยาที่ใช้บ่อยในโรคระบบทางเดินอาหาร. วารสารกุมารเวชศาสตร์ (มกราคม – มีนาคม 2556): 13-18.
  3. Maes, M. L., and others. Adverse effects of proton-pump inhibitor use in older adults: a review of the evidence. Therapeutic Advances in Drug Safety 9 (2017): 273-297.
  4. Schaefer C., Peters P., Miller R.K. Drug During Pregnancy and Lactation: Treatment Options and Risk Assessment. 3. (Elsevier, 2015), p. 94.