อะมิโนซาลิไซเลท (Aminosalicylate: Aminosalicylic acid)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

อะมิโนซาลิไซเลท (Aminosalicylate)คือ กลุ่มยาที่ใช้รักษาและป้องกันการอักเสบในระบบทางเดินอาหาร เช่น การเกิดแผลในลำไส้ใหญ่ (ลำไส้ใหญ่อักเสบ) อาจจะจำแนกยาบางตัวที่ใช้บ่อยของยาอะมิโนซาลิไซเลทได้ดังนี้ เช่น Balsalazide, Mesalazine/Mesalamine,  Olsalazine และ Sulfasalazine,  ทั้งนี้ ตัวยาที่ออกฤทธิ์จะอยู่ในรูปกรดอะมิโนซาลิไซลิค (Aminosalicylic acid, โดยเฉพาะ 5-Aminosalicylic acid derivatives)

 รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาอะมิโนซาลิไซเลท มีสูตรตำรับที่เป็นยาเม็ดสำหรับรับประทาน, เป็นยาน้ำ, และเป็นยาเหน็บทวาร ซึ่งการเลือกว่าจะใช้ยาตัวใดในการรักษาผู้ป่วยขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษาเป็นผู้คัดกรอง ประกอบกับประวัติการแพ้ยา, โรคประจำตัว, น้ำหนักตัว, อายุ, และผลข้างเคียงของยาแต่ละตัวที่มีไม่เท่ากัน ซึ่งการใช้ยาในกลุ่มนี้เป็นเวลานานต่อเนื่องเกิน 1 ปี ผู้ป่วยควรต้องรับการตรวจเลือดเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงการทำงานของอวัยวะระบบต่างๆในร่างกายประมาณทุก 6 เดือน

ทั้งนี้ยาบางตัวในกลุ่มยาอะมิโนซาลิไซเลท ได้ถูกบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยเช่น

  • Mesalazine: โดยระบุการใช้เป็นยาเหน็บทวารเพื่อรักษาแผลในลำไส้ใหญ่, หากเป็นยารับประทานจะใช้เป็นทางเลือกแทนยา Salfasalazine ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาซัลฟา (Sulfa drug) หรือแพทย์ต้องการลดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาซัลฟา
  • Sulfasalazine: ใช้สำหรับรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง/โรคไอบีดี (Inflammatory bowel disease: IBD)

 อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคไม่ควรไปซื้อหายาอะมิโนซาลิไซเลทมารับประทานหรือใช้ด้วยตนเอง ด้วยยาในกลุ่มอะมิโนซาลิไซเลทเป็นหมวดยาอันตราย ซึ่งต้องใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

อะมิโนซาลิไซเลทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

         ยาอะมิโนซาลิไซเลทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษากลุ่มโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของระบบทางเดินอาหารที่เรียกว่า โรค ลำไส้อักเสบเรื้อรัง(Inflammatory bowel disease ย่อว่าโรคไอบีดี/IBD)

อะมิโนซาลิไซเลทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

 กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะมิโนซาลิไซเลทยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะมีกลไกที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งสารเคมีของร่างกายเช่น ตัวยานี้ไปยับยั้งการสังเคราะห์สารจำพวกโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ที่เป็นสารเคมีที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ หรือเปลี่ยนแปลงการหลั่งสารไซโตไคน์ (Cytokines, สารก่อการอักเสบกลุ่มหนึ่ง)ที่ผนังลำไส้ จากผลดังกล่าวทำให้การอักเสบภายในลำไส้ทุเลาและดีขึ้นเป็นลำดับ

อะมิโนซาลิไซเลทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

         กรดอะมิโนซาลิไซเลทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน เช่นยา Balsalazide
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานแบบปลดปล่อยตัวยาทีละน้อย (Extended release tablet) เช่นยา Mesalazine
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน เช่นยา Mesalazine, Sulfasalazine
  • ยาผงละลายน้ำชนิดรับประทาน เช่นยา Mesalazine
  • ยาเหน็บทวาร เช่นยา Mesalazine

อะมิโนซาลิไซเลทมีขนาดรับประทานอย่างไร?

         ยาอะมิโนซาลิไซเลทมีตัวยาและรูปแบบยาหลายชนิด การเลือกใช้ตัวยา รูปแบบยา และขนาดยา จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ในที่นี้ขอยกตัวอย่างตัวยาชนิดรับประทานที่ใช้บ่อย 2 ชนิด ซึ่งมีขนาดรับประทานโดยทั่วไปดังนี้ เช่น

ก. Sulfasalazine: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 1 - 2 กรัมวันละ 4 ครั้ง ซึ่งขนาดคงการรักษารับประทาน 2 กรัม/วันโดยแบ่งรับประทานวันละ 3 - 4 ครั้งเช่นกัน
  • เด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป: รับประทาน 40 - 60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานวันละ 4 ครั้ง ซึ่งขนาดคงการรักษารับประทาน 20 - 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานวันละ 3 - 4 ครั้ง

*อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้พร้อมหรือหลังอาหาร และดื่มน้ำตามมากๆ

ข. Mesalazine: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 4 กรัม/วันโดยแบ่งรับประทานวันละ 3 - 4 ครั้ง และขนาดคงการรักษา รับประทาน 2 กรัม/วันโดยแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง
  • เด็กอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป: รับประทาน 20 - 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง

*อนึ่ง: รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือหลังอาหารก็ได้

                 อนึ่ง:

  • เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)อายุต่ำกว่า 2 ปี: ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนถึงการใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ดังนั้นการใช้ยาทั้ง 2 ตัวในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

         เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอะมิโนซาลิไซเลท  ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์  พยาบาลและ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะมิโนซาลิไซเลทอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

 หากลืมรับประทานยาอะมิโนซาลิไซเลทสามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานในครั้งถัดไป ให้รับประทานยาตามปกติ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการรับ ประทานเป็น 2 เท่า

อะมิโนซาลิไซเลทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยาในกลุ่มอะมิโนซาลิไซเลทสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)  เช่น

  • ท้องเสีย
  • ท้องอืด
  • ปวดหัว
  • คลื่นไส้
  • อาจมีโรคซีด เกิดขึ้นได้
  • อาจมี ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • บางรายสามารถพบอาการแพ้ยาโดยเกิดภาวะผื่นคันตามผิวหนัง
  • ผิวลอก ตัวเหลือง
  • กลืนลำบาก
  • ยาบางตัวในกลุ่มนี้ เช่นยา  Sulfazalazine สามารถลดปริมาณตัวอสุจิในเพศชายได้ แต่ปริมาณอสุจิจะกลับมาเป็นปกติหลังหยุดใช้ยานี้ไปแล้ว 2 - 3 เดือน
  • *เคยมีรายงานว่ายา Sulfazalazine สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้มากกว่ายาตัวอื่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน

มีข้อควรระวังการใช้อะมิโนซาลิไซเลทอย่างไร?

         มีข้อควรระวังการใช้ยาอะมิโนซาลิไซเลท เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยากับผู้ป่วย โรคไต โรคตับ  
  • ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ระวังการใช้ยากับผู้ที่แพ้ยากลุ่ม Aspirin
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

 

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมกรดอะมิโนซาลิไซเลทด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อะมิโนซาลิไซเลทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

         ยาอะมิโนซาลิไซเลทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา Mesalazine ร่วมกับ ยาโรคหัวใจ เช่นยา Digoxin สามารถทำให้ร่างกายดูดซึมยาโรคหัวใจลดน้อยลง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Sulfasalazine ร่วมกับยาวัณโรค เช่นยา  Rifampicin หรือ Ethambutol จะทำให้ความเข้มข้นของยา Sulfasalazine ในกระแสเลือดลดลงและส่งผลต่อฤทธิ์ในการรักษา หากต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยา Olsalzine ร่วมกับยาต้านไวรัส เช่นยา Tenofovir อาจเกิดความเสี่ยงเป็นพิษกับไต หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป

ควรเก็บรักษาอะมิโนซาลิไซเลทอย่างไร?

 ควรเก็บยาอะมิโนซาลิไซเลท:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อะมิโนซาลิไซเลทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

         ยาอะมิโนซาลิไซเลท มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Mesacol (เมซาคอล) Sun Pharma
Pentasa (เพนทาซา) Ferring
Salofalk (ซาโลฟล็อค) Falk
Salazine (ซาลาซีน) Sriprasit Pharma
Salazopyrin EN (ซาลาโซไพริน อีเอ็น) Pfizer
Saridine-E (ซาลิดีน-อี)   Atlantic Lab

 

บรรณานุกรม

  1. https://patient.info/digestive-health/inflammatory-bowel-disease/aminosalicylates  [2022,Jan15]
  2. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=sulfasalazine  [2022,Jan15]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/balsalazide/patientmedicine/balsalazide%2B-%2Boral  [2022,Jan15]
  4. https://www.mims.com/india/drug/info/balsalazide?type=full&mtype=generic  [2022,Jan15]
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/info/mesalazine?mtype=generic  [2022,Jan15]
  6. https://www.drugs.com/mtm/mesalamine.html  [2022,Jan15]
  7. https://www.mims.com/India/drug/info/COLOREX/COLOREX  [2022,Jan15]