อะทีโนลอล/พรีโนลอล (Atenolol/Prenolol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 กรกฎาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- อะทีโนลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- อะทีโนลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะทีโนลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะทีโนลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อะทีโนลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะทีโนลอลอย่างไร?
- อะทีโนลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะทีโนลอลอย่างไร?
- อะทีโนลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker)
- ไมเกรน (Migraine)
- โรควิตกกังวล: สัญญาณเตือนโรควิตกกังวล (Warning sign of anxiety disorder)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
บทนำ: คือยาอะไร?
อะทีโนลอล หรือ ยาพรีโนลอล (Atenolol หรือ Prenolol) คือ ยารักษาอาการ โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, ภาวะหัวใจล้มเหลว, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, รวมถึงโรคความดันโลหิตสูง, ใช้ป้องกันการปวดหัวจากไมเกรน, อาการวิตกกังวล, และกลุ่มอาการจากการหยุดเหล้าอีกด้วย, ซึ่งสามารถใช้เป็นยาเดี่ยวๆ หรือจะใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น ยากลุ่ม Calcium-channel blockerในการรักษาโรคก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับอาการป่วยและดุลยพินิจของแพทย์เป็นสำคัญ, ซึ่งยานี้จัดเป็นยากลุ่ม เบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blockers)
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาอะทีโนลอลจะเป็นยาชนิดรับประทานและยาฉีด ยาอะทีโนลอลสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร และกระจายเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 40 - 50% ตัวยาในกระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 6 - 16% ตับจะเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้เป็นปริมาณที่น้อยกว่า 10% จากตัวยาในกระแสเลือด ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 6 - 7 ชั่วโมงในการกำจัดยาอะทีโนลอลจำนวน 50% ออกจากกระแสโลหิตและผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
ข้อดีของการใช้ยาอะทีโนลอลนี้คือ รับประทานเพียงวันละ1ครั้ง จึงทำให้สะดวกต่อการใช้ยา แต่ก็ยังมีข้อห้ามใช้และข้อควรระวังอยู่หลายประการที่แพทย์มักจะนำมาพิจารณาประกอบก่อนการสั่งจ่ายยานี้อย่างเช่น
- หากผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นช้าประเภท Sinus bradycardia หรือมีภาวะช็อกจากหัวใจหยุดเต้น แพทย์จะไม่เลือกใช้ยาอะทีโนลอลในการรักษา
- ผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้ยาอะทีโนลอลมาก่อนหรือไม่
- มีโรคประจำตัวหลายประเภทที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมากหากจะต้องใช้ยาอะทีโนลอล ด้วยอาการโรคดังกล่าวอาจเพิ่มระดับความรุนแรงได้มากขึ้นเมื่อมีการใช้ยาอะทีโนลอลนี้ เช่น โรคหืด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตต่ำ โรคซึมเศร้า ภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ โรคตับ โรคไต โรคต่อมไทรอยด์ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยเนื้องอกของต่อมหมวกไตชนิด ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma) และอื่นๆ
- สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรหากมารดาได้รับยาอะทีโนลอลอาจสุ่มเสี่ยงทำให้ทารกมีอาการหัวใจเต้นช้าและเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำติดตามมา
- มีประวัติการใช้ยาหรือปัจจุบันใช้ยาอะไรอยู่บ้าง ด้วยมียาหลายรายการที่ใช้ร่วมกับยาอะทีโนลอลแล้วอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาและทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงติดตามมาได้อย่างมากมาย เช่น กลุ่มยาแก้แพ้, ยา Digoxin, กลุ่ม MAOI, กลุ่ม Calcium channel blocker, กลุ่มยาเบาหวาน รวมถึงกลุ่มยาลดความอ้วน ซึ่งแพทย์ต้องนำมาพิจารณาว่าสมควรใช้ร่วมกันหรือไม่ อาจต้องปรับขนาดรับประทานหรือไม่ใช้ยาอะทีโนลอล เป็นต้น
- ถึงแม้จะมีการสั่งจ่ายยาอะทีโนลอลกับผู้ป่วยแล้วก็ตาม หากผู้ป่วยเกิดอาการแพ้ยาในภาย หลัง หรือพบอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่รบกวนต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ต้องหยุดการใช้ยานี้แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
- ประการสุดท้าย แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้ให้ตรงเวลา ต้องหมั่นคอยตรวจ สอบอาการโรคด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอเช่น การวัดความดันโลหิตเมื่ออยู่ที่บ้าน หลังการใช้ยานี้แล้วพบว่าอาการโรคไม่ดีขึ้นตามระยะเวลาที่เหมาะสม ควรต้องนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรง พยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาอะทีโนลอลอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจัดอยู่ในหมวดของยาอันตราย มีการใช้ยาอะทีโนลอลในสถานพยาบาลโดยทั่วไปทั้งของรัฐบาลและเอกชน รวมถึงมีจำหน่ายตามร้านขายยาโดยทั่วไป อย่างไรก็ตามผู้บริโภคไม่สมควรไปหาซื้อยานี้มารับประทานเอง ควรต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
อะทีโนลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาอะทีโนลอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ : เช่น
- รักษาอาการความดันโลหิตสูง
- ป้องกันและบำบัดรักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- บำบัดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย
- ลดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ลดภาวะวิตกกังวล
- ป้องกันการปวดหัวจากไมเกรน
อะทีโนลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะทีโนลอลคือ ตัวยาจะเข้าไปจับกับตัวรับ (Receptor) ในร่างกายที่เรียกว่า Beta1 receptor ซึ่งพบตามเนื้อเยื่อของหัวใจ ผนังหลอดเลือด และเนื้อเยื่อไต จากนั้นตัวยาจะปิดกั้นการทำงานของตัวรับดังกล่าวส่งผลให้หัวใจลดการบีบตัวลง ทำให้ปริมาณเลือดที่ถูกสูบ ฉีดออกจากหัวใจน้อยลงด้วย อีกทั้งส่งผลยับยั้งการปลดปล่อยสารเรนิน (Renin)จากไตทำให้เพิ่มการขับถ่ายของเกลือโซเดียมออกจากร่างกาย จากกล ไกเหล่านี้จึงส่งผลลดอัตราการเต้นของหัวใจทำให้กลับมาเต้นในจังหวะที่ปกติ ลดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และลดความดันโลหิตสูงได้ตามสรรพคุณ
อนึ่งยานี้ไม่สามารถซึมผ่านสมองได้จึงไม่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่อระบบประสาทส่วนกลางมากนัก และถือเป็นข้อดีอีกประการของยาอะทีโนลอล
อะทีโนลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ในประเทศไทยยาอะทีโนลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 25, 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
อะทีโนลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอะทีโนลอลมีขนาดรับประทานหลากหลาย ขึ้นกับว่าใช้รักษาควบคุมอาการของโรค/ภาวะอะไร ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้กำหนดขนาดและระยะเวลาในการใช้ยานี้ที่แตกต่างกันไป ในบท ความนี้ขอยกตัวอย่างขนาดยานี้ที่ใช้ทั่วไปในบางข้อบ่งใช้ เช่น
- ก. สำหรับความดันโลหิตสูง: เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 50 มิลลิกรัมวันละครั้ง ภายใน 1 - 2 สัปดาห์หลังใช้ยาไปแล้ว หากจำเป็นแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 100 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- ข. สำหรับป้องกันและบำบัดรักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด: เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 50 มิลลิกรัมวันละครั้ง หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 100 มิลลิกรัมวันละครั้ง ซึ่งผู้ป่วยบางกลุ่มแพทย์อาจต้องปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 200 มิลลิกรัม/วัน
- ค. สำหรับอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ: เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 50 มิลลิกรัมวันละครั้ง หากจำเป็นแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นตามลำดับทุกๆ 1 สัปดาห์ ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน
อนึ่ง:
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดการใช้ยานี้กับเด็กยังไม่ได้ระบุการจัดทำทางคลินิก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
- กรณีผู้ป่วยโรคไตแพทย์อาจจะปรับขนาดรับประทานของยานี้โดยพิจารณาเป็นกรณีๆไป
- รับประทานยานี้ก่อนหรือหลังหรือพร้อมอาหารก็ได้ แต่ควรรับประทานยานี้พร้อมกับดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เพียงพอ
- ระยะเวลาของการใช้ยาอะทีโนลอลจะขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยร่วมกับดุลยพินิจของแพทย์ว่าสมควรให้ใข้ยานี้ต่อไปหรือไม่
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาอะทีโนลอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะทีโนลอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอะทีโนลอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาอะทีโนลอลให้ตรงเวลา
อะทีโนลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
โดยทั่วไปยาอะทีโนลอลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ตาพร่า
- มือ-เท้าเย็น
- รู้สึกสับสน
- วิงเวียน
- เป็นลม
- เหงื่อออกมาก
- แน่นหน้าอก/เจ็บหน้าอก
- อ่อนเพลียผิดปกติ
นอกจากนี้ ยังมีอาการข้างเคียงที่อาจพบได้น้อย เช่น มีอาการหนาวสั่น ไอ วิตกกังวล เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นช้าผิดปกติ หยุดหายใจ ปวดขา ปัสสาวะมีสีเลือด ปัสสาวะน้อยลง ความดันโลหิตกลับมาสูง กระหายน้ำ ปวดกระดูก มีไข้ ฝันร้าย และอื่นๆ
*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด: อาจพบอาการวิตกกังวล มีภาวะโคม่า ตัวเย็น ผิวหนังซีด เส้นเลือดดำบริเวณลำคอขยายตัว/โป่งพอง อ่อนเพลียอย่างมาก ปวดหัว หิวอาหาร หายใจผิดปกติ เกิดภาวะลมชัก พูดจาไม่ชัด หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้อะทีโนลอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะทีโนลอล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาอะทีโนลอล
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือผู้ที่มีอาการช็อกจากภาวะหัวใจหยุดเต้น
- การใช้ยากับสตรีวัย 54 ปีขึ้นไปอาจพบอาการเต้านมโต เจ็บ/คัดตึงเต้านม อย่างไรก็ตามเมื่อหยุดการใช้ยานี้อาการเหล่านี้จะค่อยๆดีขึ้นและหายไปเอง
- หากผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดแพทย์จะหยุดการใช้ยาอะทีโนลอล ด้วยตัวยาจะก่อให้เกิดผล กระทบต่อการตอบสนองของหัวใจในขณะทำการผ่าตัด
- หากพบอาการน้ำหนักตัวเพิ่มหลังการใช้ยานี้ อาจเป็นเหตุผลมาจากระบบการเผาผลาญอา หารของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อมีอาการแพ้ยาเช่น เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก เกิดลมพิษขึ้นเต็มตัว มีอาการบวมของมือ-เท้า-ใบหน้า-ลำคอ เมื่อมีอาการดังกล่าวต้องพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
- หมั่นตรวจสอบความดันโลหิตในระหว่างการใช้ยานี้ว่าเป็นปกติหรือไม่ตามแพทย์พยาบาล แนะนำ
- มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะทีโนลอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อะทีโนลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะทีโนลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาอะทีโนลอล ร่วมกับยากลุ่ม Calcium channel blockers อาจนำมาซึ่งภาวะ หัวใจเต้นช้าหรือถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น รวมถึงทำให้ความดันโลหิตในขณะที่มีการคลายตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายเพิ่ม ขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาอะทีโนลอล ร่วมกับยา Aminophylline อาจทำให้ฤทธิ์การรักษาของอะทีโนลอลลด ลงและเพิ่มอาการข้างเคียงจากยา Aminophylline โดยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน นอนไม่หลับ ตัวสั่น กระสับกระส่าย หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาอะทีโนลอล ร่วมกับยา Atazanavir อาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และพบอาการวิงเวียน เป็นลมร่วมด้วย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาอะทีโนลอล ร่วมกับยา Ephedrine อาจทำให้ประสิทธิภาพการขยายหลอดลมของ การใช้ยา Ephedrine ในกรณีฉุกเฉินด้อยลงไปดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้งสองตัวร่วมกัน
ควรเก็บรักษาอะทีโนลอลอย่างไร?
ควรเก็บยาอะทีโนลอล: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
อะทีโนลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะทีโนลอล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Atcard (แอทการ์ด) | Utopian |
Atenol (อะทีนอล) | T. O. Chemicals |
Atenolol Community Pharm (อะทีนอล คอมมูนิตี้ ฟาร์ม) | Community Pharm PCL |
Atenolol Kopran (อะทิโนลอล โคพราน) | Kopran |
Betaday-50 (เบต้าเดย์-50) | Vesco Pharma |
Enolol (อีโนลอล) | Charoon Bhesaj |
Esnolol (เอสโนลอล) | Emcure Pharma |
Eutensin (ยูเทนซิน) | Greater Pharma |
Oraday (ออราเดย์) | Atlantic Lab |
Prenolol (พรีโนลอล) | Berlin Pharm |
Tenocard (ทีโนคาร์ด) | IPCA |
Tenolol (ทีโนลอล) | Siam Bheasach |
Tenormin (ทีนอร์มิน) | AstraZeneca |
Tenrol (เทนรอล) | Unique |
Tetalin (ทีตาลิน) | Pharmasant Lab |
Tolol (โทลอล) | Suphong Bhaesaj |
Velorin (วีโลริน) | Remedica |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Atenolol [2022,July9]
- https://www.drugs.com/atenolol.html [2022,July9]
- https://www.rxlist.com/atenolol-drug.htm [2022,July9]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=atenolol&page=0 [2022,July9]
- http://dmsic.moph.go.th/dmsic/admin/files/userfiles/files/essential_book_56.pdf [2022,July9]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/atenol [2022,July9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Beta-1_adrenergic_receptor [2022,July9]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/atenolol-index.html?filter=3&generic_only [2022,July9]