อะซีบูโทลอล (Acebutolol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 กรกฎาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- อะซีบูโทลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- อะซีบูโทลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะซีบูโทลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะซีบูโทลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อะซีบูโทลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะซีบูโทลอลอย่างไร?
- อะซีบูโทลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะซีบูโทลอลอย่างไร?
- อะซีบูโทลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart disease หรือ Cardiovascular disease)
บทนำ: คือยาอะไร?
อะซีบูโทลอล (Acebutolol) คือ ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง และ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยเป็นยาในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blocker), รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทานและยาฉีด
เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือด ตับจะคอยทำลายและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยาที่ผ่านตับและถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีแล้วร่างกายจะต้องใช้เวลาประมาณ 8 - 13 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกได้ 50% โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
การใช้ยาอะซีบูโทลอลจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ด้วยมีข้อห้ามใช้, ข้อควรระวัง, อายุผู้ป่วย, โรคประจำตัว, ฯลฯ มาเป็นองค์ประกอบเพื่อพิจารณาการใช้ยาที่ปลอดภัยและเหมาะสม
อะซีบูโทลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาอะซีบูโทลอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- รักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Ventricular arrhythmia)
อะซีบูโทลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะซีบูโทลอลคือ ตัวยาจะเข้าไปยับยั้งกระบวนการทางเคมีที่บริเวณหัวใจ โดยยาจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อว่า Beta-adrenoreceptor (ตัวรับที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจและหลอดเลือด) จึงส่งผลลดอัตราการเต้น ลดการบีบตัว รวมถึงลดปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจ จากกลไกเหล่านี้จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
อะซีบูโทลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะซีบูโทลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 200 และ 400 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 100, 200 และ 400 มิลลิกรัม/เม็ด
อะซีบูโทลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอะซีบูโทลอลมีขนาดรับประทาน เช่น
- ก. สำหรับรักษาความดันโลหิตสูง: เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 400 มิลลิกรัมวันละครั้ง หรือรับประทาน 200 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 800 - 1200 มิลลิกรัม/วัน ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองของผู้ป่วย โดยการใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- ข.สำหรับรักษาอาการหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ: เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 400 มิลลิกรัมวันละครั้ง หรือรับประทาน 200 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานตามการตอบสนองของคนไข้ โดยเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 600 – 1,200 มิลลิกรัม โดยการใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
อนึ่ง:
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การศึกษาด้านความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในเด็กยังไม่แน่ชัด ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- กรณีจะหยุดใช้ยานี้จำเป็นต้องๆค่อยๆปรับลดขนาด ห้ามหยุดใช้ยาทันที่เพราะอาจก่อให้เกิดอาการจากการถอนยาได้ โดยแพทย์จะเป็นผู้แจ้งให้ปรับขนาดรับประทานลดลง ซึ่งมักใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จนหยุดใช้ยา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอะซีบูโทลอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะซีบูโทลอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอะซีบูโทลอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อะซีบูโทลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอะซีบูโทลอลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- เจ็บหน้าอก
- ตัวบวม
- วิตกกังวล
- ซึมเศร้า
- วิงเวียน
- อ่อนแรง
- ปวดหัว
- ฝันร้าย
- นอนไม่หลับ
- มีผื่นคัน
- ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย
- ท้องอืด
- อาหารไม่ย่อย
- คลื่นไส้อาเจียน
- ไอ
- เยื่อจมูกอักเสบ
- ตาพร่า
*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดสามารถพบอาการ ดังนี้เช่น หัวใจเต้นช้าลงหรืออาจถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น ความดันโลหิตต่ำ ภาวะหัวใจล้มเหลวขั้นรุนแรง มีอาการชัก เกิดอาการหายใจลำบาก มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งหากพบอาการดังกล่าวหลังการใช้ยานี้ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งการปฐมพยาบาลแพทย์สามารถใช้วิธีล้างท้องหรือกระตุ้นให้อาเจียน, ใช้ยา Atropine ในการแก้ไขเรื่องหัวใจเต้นช้า และอาจใช้ยา Epinephrine หรือยา Norepinephrine หรือยา Dopamine ช่วยกระตุ้นให้ความดันโลหิตกลับมาเป็นปกติ หากผู้ป่วยมีอาการโรคหืด/หายใจลำบาก แพทย์อาจใช้ยา Aminophylline ฉีดให้คนไข้ร่วมด้วย
มีข้อควรระวังการใช้อะซีบูโทลอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะซีบูโทลอล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้ามาก ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคหืด
- หลีกเลี่ยงและระวังการใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยาอะซีบูโทลอลสามารถซึมผ่านรกและน้ำนมของมารดา และยานี้ส่งผลต่อการเจริญเติบโต อีกทั้งลดความดันและอัตราการเต้นของหัวใจของทารกได้
- การใช้ยานี้กับเด็กยังมิได้มีการศึกษาและจัดทำข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจน ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะซีบูโทลอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อะซีบูโทลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะซีบูโทลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาอะซีบูโทลอล ร่วมกับยารักษาโรคหืด เช่นยา Theophylline จะทำให้ฤทธิ์ในการรักษาของยาอะซีบูโทลอลด้อยประสิทธิภาพลงไป หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยาอะซีบูโทลอล ร่วมกับยา Diltiazem อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงของยาอะซีบูโทลอลมีความรุนแรงมากขึ้น สามารถพบอาการแน่นหน้าอก/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ปวดหัว เป็นลม ชีพจรเต้นช้าลงและผิดจังหวะ การใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานอย่างเหมาะสมเป็นกรณีไป
- ห้ามรับประทานยาอะซีบูโทลอล ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำ มีอาการปวดหัว วิงเวียน และเป็นลม
- การใช้ยาอะซีบูโทลอล ร่วมกับยาแก้ปวด เช่นยา Ibuprofen สามารถทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้ การจะใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาอะซีบูโทลอลอย่างไร?
ควรเก็บรักษาออฟลอกซาซิน เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
อะซีบูโทลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะซีบูโทลอล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
ACB (เอซีบี) | Pacific Pharm |
Apo-Acebutolol (อาโป-อะซีบูโทลอล) | Apotex |
Acebutolol Hydrochloride Capsule (อะซีบูโทลอล ไฮโดรคลอไรด์ แคปซูล) |
Mylan Pharmaceuticals Inc |
Sectral (เซกทรัล) | Sanofi-Aventis |