ออกทรีโอไทด์ (Octreotide)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ออกทรีโอไทด์ (Octreotide) คือ ยาที่นำมารักษาภาวะฮอร์โมนบางตัวของร่างกายมากเกินปกติจนเป็นเหตุให้เกิดโรค/อาการผิดปกติ, โดยเป็นยาสังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมน ‘โซมาโตสแตติน’(Somatostatin: ฮอร์โมนสร้างจาก สมอง และ อวัยวะในระบบทางเดินอาหารเพื่อควบคุมการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ)ในร่างกายเรา แต่มีฤทธิ์ที่แรงกว่า, ซึ่งภาวะที่มีฮอร์โมนบางตัวในร่างกายมากเกินปกติจนเป็นเหตุให้เกิดโรค อาทิเช่น

  • โรคอะโครเมกาลี(Acromagaly) และไจแอนทิซึม (Giantism): อันมีเหตุจากเนื้องอกต่อมใต้สมอง  ส่งผลให้มีการหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต(Growth hormone) ออกมามากเกินไปจนทำให้ผู้ป่วยมีลักษณะของรูปร่างที่ใหญ่โตเกินมนุษย์ปกติ
  • อาการเลือดออกจากภาวะหลอดเลือดดำในหลอดอาหารโป่งพอง(Bleeding esophageal varices) ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยด้วยโรคตับแข็ง ซึ่งยาออกทรีโอไทด์จะช่วยทำให้ความดันในหลอดเลือดดำที่โป่งพองลดลง

ทั้งนี้ การใช้ยาออกทรีโอไทด์อย่างผิดขนาดหรือผิดวิธีก็สามารถส่งผลต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้อย่างมากมาย เพราะยานี้มีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนของมนุษย์ และอาจสรุปบทบาทการเกิดฤทธิ์ต่อร่างกายของยาออกทรีโอไทด์ได้ดังนี้ เช่น

  • ยับยั้งการหลั่งของฮอร์โมนหลายตัวในร่างกาย เช่น         
    • ฮอร์โมนเกี่ยวข้องกับการย่อยและการดูดซึมสารอาหาร เช่น Gastrin, Cholecystokinin, Secretin
    • ฮอร์โมนเกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เช่น Glucagon, Insulin  
    • ฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต เช่น Growth hormone                                                 
    • ฮอร์โมนควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ เช่น Thyroid stimulating hormone/TSH
  • ลดการหลั่งของเหลวหรือสารคัดหลั่งต่างๆจากลำไส้เล็กและจากตับอ่อน
  • ลดการบีบตัวของกระเพาะอาหาร-ลำไส้ และลดการหดตัวของถุงน้ำดี
  • ยับยั้งการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนต่างๆที่ขับออกมาจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า เช่น ฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต (Growth hormone)
  • ทำให้หลอดเลือดหดตัว
  • ลดความดันในหลอดเลือดดำขอดที่มีภาวะเลือดออกร่วมด้วย

อนึ่ง:ด้วยยาออกทรีโอไทด์มีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาฉีด สามารถฉีดเข้าทางผิวหนัง ทาง  หลอดเลือด หรือทางกล้ามเนื้อก็ได้ การบริหารยา/ใช้ยาจึงต้องกระทำแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

โดยหลังจากร่างกายได้รับยาออกทรีโอไทด์ ปริมาณยา 40 - 65% จะเข้าจับกับพลาสมาโปร ตีนในกระแสเลือด และเกิดการเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1.7 - 1.9 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ออกไปจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ยาออกทรีโอไทด์ ยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่ออวัยวะของร่างกาย เช่น ต่อระบบการทำงานของหัวใจ, ต่อระบบต่อมไร้ท่อ, ต่อระบบทางเดินอาหาร, ต่อระบบประสาท, และต่อผิวหนัง,  รวมถึงมีข้อห้ามใช้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)อีกด้วย

ประโยชน์ของยาออกทรีโอไทด์ ยังมีการนำไปใช้ทางคลินิกอีกมากมายที่ยังมิได้กล่าวถึง ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งใช้ยาของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ออกทรีโอไทด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ออกทรีโอไทด์-01

ยาออกทรีโอไทด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ ซึ่งสามารถรักษาอาการโรคต่างๆ เช่น

  • เนื้องอกของอวัยวะต่างๆชนิดที่สร้างฮอร์โมนได้ที่ เรียกว่า เนื้องอกชนิดคาร์ซินอยด์ (Carcinoid Tumor)
  • เนื้องอกลำไส้ชนิดที่สร้างฮอร์โมนได้ที่เรียกว่า Vasoactive Intestinal Peptide Tumor
  • เนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดที่สร้างฮอร์โมนได้ ชนิดที่เรียกว่า อะโครเมกาลี (Acromegaly) และชนิด Pituitary Adenoma
  • เนื้องอกของกระเพาะอาหารชนิดที่สร้างฮอร์โมนได้ ที่เรียกว่า Gastrinoma
  • เนื้องอกตับอ่อนชนิดที่สร้างฮอร์โมนได้ ที่เรียกว่า Insulinoma และชนิด Glucago noma
  • รูทะลุที่เกิดในตับอ่อน (Pancreatic Fistula)
  • ท้องเสียเรื้อรัง
  • โรคเบาหวานชนิด 1

ออกทรีโอไทด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาออกทรีโอไทด์เป็นยาเลียนแบบฮอร์โมน ‘โซมาโตสแตติน (Somatostatin)’ แต่มีฤทธิ์ที่แรงกว่า และมีกลไกการออกฤทธิ์เพื่อทำหน้าที่ต่างๆ เช่น

  • ยับยั้งการทำงานฮอร์โมนต่างๆของร่างกายเช่น Growth hormone/ฮอร์โมนเพื่อการเจริญ เติบโต, Glucagon และ Insulin ฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  • ออกฤทธิ์กดการตอบสนองของร่างกายต่อฮอร์โมน LH (Luteinizing hormone, ฮอร์โมนเกี่ยวกับการตกไข่)
  • ลดการไหลเวียนเลือดไปตามอวัยวะต่างๆ
  • ยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนต่างๆจากอวัยวะระบบทางเดินอาหารเพื่อการย่อยและการดูดซึมสาร อาหาร เช่น Serotonin, Gastrin, Vasoactive intestinal peptide, Secretin, Motilin,  และ Pancreatic polypeptide

จากการออกฤทธิ์ที่มีมากมายดังกล่าวของยาออกทรีโอไทด์จึงส่งผลให้เกิดกลไกการรักษาโรคตามสรรพคุณ

ออกทรีโอไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาออกทรีโอไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น      

  • ยาฉีด ขนาด 0.1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร (100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร)
  • ยาฉีด ขนาด 0.2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร (200 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร)
  • ยาฉีด ขนาด 50 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาฉีดชนิดผง (ใช้ละลายในสารละลายก่อนการฉีดยา) ขนาดบรรจุ 20, 30 มิลลิกรัม/ขวด

ออกทรีโอไทด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาออกทรีโอไทด์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา ขึ้นกับชนิดความรุนแรงของโรคและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดการใช้ยาในบางโรค เช่น

ก. Acromegaly: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาใต้ผิวหนังขนาด 50 ไมโครกรัมวันละ 3 ครั้ง ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 100 - 300 ไมโครกรัม/วัน

ข. Gastrinoma: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาใต้ผิวหนังขนาด 100 - 200 ไมโครกรัมวันละ 3 ครั้ง ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 100 - 300 ไมโครกรัม/วัน ขนาดสูงสุดไม่เกิน 1,500 ไมโครกรัม/วัน

ค. Insulinoma: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาใต้ผิวหนังขนาด 100 - 200 ไมโครกรัมวันละ 3 ครั้ง ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 100 - 300 ไมโครกรัม/วัน

ง. Glucagonoma: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาใต้ผิวหนังขนาด 100 - 200 ไมโครกรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 300 - 1,500 ไมโครกรัม/วัน

*อนึ่ง ในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ทางคลินิกยังไม่มีการใช้ยานี้ในเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่า นั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาออกทรีโอไทด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น  

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาออกทรีโอไทด์อาจส่งผลให้อา การของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมให้ยาควรทำอย่างไร?

บุคคลากรทางการแพทย์จะมีตารางเวลาการให้ยาออกทรีโอไทด์กับผู้ป่วยโดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ และกระทำในสถานพยาบาล การลืมให้ยาออกทรีโอไทด์กับผู้ป่วยจึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก

ออกทรีโอไทด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาออกทรีโอไทด์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น

  • ต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้ รู้สึกไม่สบายท้อง ปวดท้อง  ท้องอืด  ดีซ่าน  ตับอักเสบ
  • ต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เกิดการยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนต่างๆในร่างกาย เช่น Insulin, Glucagon, Gastrin, Growth hormone และส่งผลให้มีอาการระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้
  • ต่อระบบประสาท: มีอาการวิงเวียน ปวดหัว วิตกกังวล เบื่ออาหาร ซึมเศร้า ง่วงนอน
  • ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เกิดภาวะหัวใจเต้นช้าหรือหัวใจหยุดเต้น ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง และเกิดอาการเจ็บหน้าอก
  • ต่อผิวหนัง: เกิดอาการผื่นคัน ผมร่วง
  • ต่อกล้ามเนื้อ: มีอาการปวดกล้ามเนื้อ และเป็นตะคริว
  • ต่อระบบเลือด: เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

*อนึ่งอาการของผู้ที่แพ้ยาออกทรีโอไทด์: อาจพบอาการ เจ็บหน้าอก ท้องเสียมาก วิงเวียน หน้าแดง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปวดท้องมาก น้ำหนักลด  ตัวเหลืองตาเหลือง เป็นต้น หากพบอาการเหล่านี้ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันทีฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ออกทรีโอไทด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาออกทรีโอไทด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ด้วยตัวยามีโครงสร้างเหมือนฮอร์โมนในร่างกายและส่งผลต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆได้อย่างมากมาย
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้ใช้ยานี้ควรต้องเฝ้าระวังและควบคุมให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติเสมอ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุด้วยจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • หลังการใช้ยานี้ไปตามระยะเวลาที่เหมาะสมหากปรากฏว่าอาการป่วยยังไม่ดีขึ้น ให้ผู้ป่วยกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนวิธีการรักษา
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อเกิดอาการแพ้ยากับผู้ป่วยและรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • การรักษาด้วยยานี้ในหลายอาการโรคต้องใช้ความต่อเนื่องดังนั้นในการรับยานี้ผู้ป่วยควรมา รับการให้ยาตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาออกทรีโอไทด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ออกทรีโอไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาออกทรีโอไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาออกทรีโอไทด์ร่วมกับยา Insulin, Metformin อาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและน้ำตาลในเลือดต่ำในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะเฝ้าระวังระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติเสมอ
  • การใช้ยาออกทรีโอไทด์ร่วมกับยา Atenolol, Amiodarone, Carvedilol, Digoxin, Diltiazem,  Lidocaine อาจทำให้หัวใจเต้นช้าลง ปวดหัว  วิงเวียน เป็นลม จนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาออกทรีโอไทด์ร่วมกับยา Bexaroten  อาจทำให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาออกทรีโอไทด์อย่างไร?

ควรเก็บยาออกทรีโอไทด์: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ออกทรีโอไทด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาออกทรีโอไทด์  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Octreotide Injection Hospira (ออกทรีโอไทด์ อินเจคชั่น ฮอสพิรา) Hospira
Octride (ออกไทรด์) Sun Pharma
Sandostatin (แซนโดสแตติน) Novartis
Sandostatin LAR (แซนโดสแตติน แอลเออาร์) Novartis

*อนึ่ง ยาออกทรีโอไทด์ในต่างประเทศมียาชื่อการค้า เช่น Sandostatin

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Octreotide   [2022,Aug27]
  2. https://www.drugs.com/pro/octreotide.html   [2022,Aug27]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Octride/?type=brief  [2022,Aug27]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/sandostatin-sandostatin%20lar/?type=BRIEF [2022,Aug27]