ออกคาร์บาซีปีน (Oxcarbazepine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

 ออกคาร์บาซีปีน (Oxcarbazepine) คือ ยารักษาโรคลมชัก และช่วยปรับระดับอารมณ์ความรู้สึก เช่น ความวิตกกังวลให้ดีขึ้น ยานี้เป็นอนุพันธุ์ของยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) ถูกสังเคราะห์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) และนำไปใช้กับประเทศแถบทวีปยุโรปหลายประเทศ โดยมีรูปแบบเป็นยาชนิดรับประทาน

ยาออกคาร์บาซีปีน สามารถดูดซึมจากทางเดินอาหารมากกว่า 95% เมื่อเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะถูกลำเลียงไปยังตับเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมี ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1 -5 ชั่วโมงเพื่อกำจัดปริมาณยา 50% ออกจากกระแสเลือด

 ยาออกคาร์บาซีปีนมิได้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย จึงอาจพบเห็นการใช้ยานี้ในบางสถานพยาบาลเท่านั้น อย่างไรก็ตามออกคาร์บาซีปีนจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยาที่ปลอดภัยเหมาะสมกับผู้ป่วยจึงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว

ออกคาร์บาซีปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ออกคาร์บาซีปีน

ยาออกคาร์บาซีปีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาอาการของโรคลมชัก

ออกคาร์บาซีปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาออกคาร์บาซีปีนมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะปิดกั้นศักย์ไฟฟ้าที่เกิดจากการแลก เปลี่ยนประจุของเกลือโซเดียมในบริเวณเซลล์ประสาท อีกทั้งยับยั้งการส่งผ่านกระแสประสาทที่ผิดปกติต่อเซลล์กล้ามเนื้อ เป็นผลให้อาการของโรคลมชักทุเลาลงและผู้ป่วยกลับมามีอาการเป็นปกติ

ออกคาร์บาซีปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาออกคาร์บาซีปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:  

  • ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน ขนาด 60 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 150, 300 และ 600 มิลลิกรัม/เม็ด

ออกคาร์บาซีปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาออกคาร์บาซีปีนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น เริ่มต้นรับประทาน 600 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งการรับประทานเป็น 2 ครั้ง หากจำ เป็นแพทย์จะปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นได้อีก 600 มิลลิกรัม/วัน (รวมแล้วไม่เกิน 1,200 มิล ลิกรัม/วัน) หลังจากใช้ยาตั้งแต่ 1 สัปดาห์ขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ ขนาดรับประทานเพื่อคงระดับการรักษาอยู่ที่ 600 – 1,200 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กที่อายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป: เช่น รับประทาน 8 - 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง หลังจากใช้ยาตั้งแต่ 1 สัปดาห์ขึ้นไป หากจำเป็นแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มอีก 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษาอยู่ที่ 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงขนาดยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

 *อนึ่ง สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาออกคาร์บาซีปีน ผู้ป่วยควรแจ้ง  แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น      

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาออกคาร์บาซีปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาออกคาร์บาซีปีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ออกคาร์บาซีปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยาออกคาร์บาซีปีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • เกิดอาการวิงเวียน
  • ง่วงนอน
  • ปวดหัว
  • ความคิดสับสน
  • นอนไม่หลับ
  • ตัวสั่น
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • ท้องอืด
  • ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก
  • พูดจาได้ไม่ชัด
  • กระเพาะอาหารอักเสบ
  • น้ำหนักตัวเพิ่ม
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดหลัง
  • การทรงตัวทำได้ไม่ดี
  • กล้ามเนื้อไม่มีแรง/กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • หนังตากระตุก
  • การมองภาพไม่ชัดเจน
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ขาบวม
  • มีผื่นคันตามผิวหนัง
  • เกิดสิว
  • ตรวจเลือดพบมีภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
  • เกิดไซนัสอักเสบ

*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่รับประทานยานี้เกินขนาดจะเกิดอาการเป็นลักษณะกดประสาทส่วนกลาง (อาการ เช่น ซึมลงมาก หายใจเบา ความดันโลหิตต่ำ โคม่า) เมื่อผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวให้รีบนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน  ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาตามอาการของผู้ป่วย

มีข้อควรระวังการใช้ออกคาร์บาซีปีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาออกคาร์บาซีปีน เช่น  

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการหยุดยานี้เองอย่างกะทันหัน
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
  • ระวังการใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์รวมถึงในผู้สูงอายุ
  • ระหว่างการใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่เกี่ยวกับเครื่อง จักรเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้จากผลข้างเคียงของยาที่ทำให้ง่วงนอน สับสน การเห็นภาพไม่ชัดเจน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาออกคาร์บาซีปีนด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ออกคาร์บาซีปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาออกคาร์บาซีปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาออกคาร์บาซีปีน ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดอาจทำให้ระดับยาคุมกำเนิดในร่างกายลดลงจนก่อให้เกิดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ หรือเกิดภาวะเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติติดตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการรับประทานยาออกคาร์บาซีปีนให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป และจะแนะนำการคุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัยชายร่วมด้วย
  • ห้ามใช้ยาออกคาร์บาซีปีน ร่วมกับยา Methylene blue ด้วยอาจเกิดความเสี่ยงของการเกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน
  • การใช้ยาออกคาร์บาซีปีน ร่วมกับยา Clopidogrel อาจทำให้ฤทธิ์การป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลว ของยา Clopidogrel ด้อยประสิทธิภาพลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประ ทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาออกคาร์บาซีปีน ร่วมกับยา Codeine อาจเกิดผลข้างเคียงของยาทั้ง 2 ชนิดเพิ่ม มากขึ้นเช่น วิงเวียน ง่วงนอน การครองสติ - สมาธิทำได้ยากขึ้น การตัดสินใจช้าลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาออกคาร์บาซีปีนอย่างไร?

 ควรเก็บยาออกคาร์บาซีปีน: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ออกคาร์บาซีปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคาร์บาซีปีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ป้องกันกลุ่มอาการเซโรโทนินอย่างไร?

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
TRILEPTAL (ไตรเลปทาล) Novartis

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Oxcarbazepine  [2022,July2]
  2. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=6&rctype=1C&rcno=5000046&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no=   [2022,July2]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Trileptal/?type=brief  [2022,July2]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/oxcarbazepine?mtype=generic  [2022,July2]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/oxcarbazepine-index.html?filter=3&generic_only=   [2022,July2]