หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media) หรือ หูชั้นกลางติดเชื้อ (Middle ear infection)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 1 ตุลาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- หูชั้นกลางอักเสบมีกี่ชนิด?
- หูชั้นกลางอักเสบเกิดได้อย่างไร?
- หูชั้นกลางอักเสบมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดหูชั้นกลางอักเสบ?
- หูชั้นกลางอักเสบมีอาการอย่างไร?
- หูชั้นกลางอักเสบก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยหูชั้นกลางอักเสบอย่างไร?
- รักษาหูชั้นกลางอักเสบอย่างไร?
- หูชั้นกลางอักเสบรุนแรงไหม?
- ดูแลตนเอง/ดูแลเด็กหูชั้นกลางอักเสบอย่างไร?เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันหูชั้นกลางอักเสบอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- หู: กายวิภาคหู (Ear anatomy) / สรีรวิทยาของหู (Ear physiology)
- การตรวจทางหูคอจมูก การตรวจทางอีเอ็นที (Clinical examination of Ear Nose Throat or Clinical ENT examination)
- ท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube)
- หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หูน้ำหนวก (Chronic otitis media)
- คอเลสทีอะโทมา (Cholesteatoma)
- แก้วหูทะลุ (Ruptured eardrum)
- ปวดหู (Earache)
- การแพ้ยาแอสไพริน และ กลุ่มอาการราย (Reye’s syndrome)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
หูชั้นกลางอักเสบ(Otitis media ย่อว่า โอเอม/OM) คือ โรคที่เซลล์หูชั้นกลางอักเสบ บวม ติดเชื้ออาจจากแบคทีเรียและ/หรือโรคติดเชื้อไวรัส, และมักร่วมกับมีสารน้ำ/ของเหลวขังสะสมในหูชั้นกลาง, อาจเกิดกับหูข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างโดยขึ้นกับสาเหตุ, อาการหลัก คือ อาการของหูด้านอักเสบ เช่น ปวดหู การได้ยินลดลง หูอื้อ อาจมีไข้ และอาจมีของเหลวไหลออกจากหูด้านนั้น
หูชั้นกลางอักเสบ พบบ่อยทั่วโลก ทุกเพศ ทุกวัย ที่พบบ่อยคือหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ที่มักพบในเด็กเล็กมากกว่าในเด็กโตและในผู้ใหญ่, รายงานจากสหรัฐอเมริกาในแต่ละปี พบโรคนี้ประมาณ 10%ของประชากร โดยประมาณ 50% เป็นเด็กวัยต่ำกว่า 5 ปี, ส่วนหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังพบได้ประมาณ 5% ต่อปีและประมาณ 20% พบในเด็กวัยต่ำกว่า 5 ปีเช่นกัน
อนึ่ง:
- ชื่ออื่นของหูชั้นกลางอักเสบ คือ หูชั้นกลางติดเชื้อ(Middle ear infection)
- *ทั่วไปเมื่อพูดลอยๆว่า ‘หูติดเชื้อ (Ear infection)’ มักหมายถึง หูชั้นกลางอักเสบติดเชื้อ
- หูชั้นกลาง: คือส่วนของหูที่อยู่หลังแก้วหู และเป็นหูส่วนรับเสียงจากหูชั้นนอก แล้วส่งต่อไปยังประสาทหูในหูชั้นใน
หูชั้นกลางอักเสบมีกี่ชนิด?
ทางคลินิก ทั่วไปมักแบ่งหูชั้นกลางอักเสบ/หูชั้นกลางติดเชื้อเป็น 3 ชนิดย่อย ได้แก่
ก. หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน/หูชั้นกลางติดเชื้อเฉียบพลัน(Acute otitis media ย่อว่า เอโอเอม/AOM): คือ อาการอักเสบของหูจะเกิดเฉียบพลัน เช่น มีไข้ทันที อาจเป็นไข้สูงหรือไข้ต่ำ ปวดหู แน่นในหู หูได้ยินลดลง เบื่ออาหาร อาจมีสารน้ำ/ของเหลวหรือหนองไหลออกจากรูหูในกรณีมีอาการรุนแรงที่มักเกิดจากการตีบตันของท่อชื่อ’ท่อยูสเตเชียน’ที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางกับช่องลำคอ โดยท่อนี้มีหน้าที่ระบายอากาศ/ของเหลว/ซากเซลล์ที่ตายให้ไหลออกจากหูชั้นกลาง
ทั่วไปอาการจะดีขึ้นภายใน 3-7 วันด้วยการรักษาตามอาการกรณีอาการไม่รุนแรง เช่น ติดเชื้อจากไวรัส, หรือหลังได้รับยาปฏิชีวนะเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าอาการรุนแรงและ/หรือติดเชื้อแบคทีเรีย, ซึ่งหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันเป็นโรคพบบ่อย และเกิดซ้ำได้เสมอถ้ายังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่
ข. หูชั้นกลางอักเสบร่วมกับมีน้ำในหู(Otitis media with effusion ย่อว่า โอเอมอี/OME): โรคชนิดนี้มักเกิดต่อเนื่องมาจากชนิดอักเสบเฉียบพลัน โดยอาการต่างๆที่เกิดในช่วงการอักเสบเฉียบพลันจะหายแล้ว ยกเว้นสารน้ำ/ของเหลวยังคงอยู่ซึ่งเป็นสาเหตุให้รู้สึกแน่นหู, การได้ยินยังไม่กลับมาปกติ, และอาจเป็นเหตุให้เกิดหูอักเสบเฉียบพลันกลับมาเป็นซ้ำได้อีก, ทั้งนี้สาเหตุหลักของหูชั้นกลางอักเสบชนิดนี้คือ ยังคงมีการตีบตันของท่อยูสเตเชียน ไม่ใช่จากติดเชื้อโดยตรง
ทั่วไป การอักเสบชนิดนี้จะค่อยๆหายได้เองในระยะเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ (อาจนานกว่านี้ได้)จากการยุบบวมของท่อยูสเตเชียน และร่างกายค่อยๆดูดซึมสารน้ำ/ของเหลวให้หมดไป
ค. หูชั้นกลางอักเสบเป็นหนองเรื้อรัง(Chronic suppurative otitis media ย่อว่า ซีเอสโอเอม/CSOM): คือ ชนิดที่หลังเกิดการอักเสบติดเชื้อเฉียบพลันยังคงมีการติดเชื้อในหูชั้นกลางต่อเนื่องจนเกิดหนองสะสม ส่งผลทำให้เกิด’แก้วหูทะลุ,’ หนองจากหูชั้นกลางจึงไหลผ่านออกทางรูหู ซึ่งอาการนี้พบได้นานอย่างน้อย6สัปดาห์ขึ้นไป ที่สำคัญคือเป็นเหตุให้การได้ยินลดลงเรื่อยๆ และถ้าไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาไม่ถูกต้อง อาจเป็นเหตุเกิดหูหนวกถาวรได้ รวมถึงยังมีโอกาสเกิดหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันกลับซ้ำร่วมด้วยได้อีกเป็นระยะๆ
นอกจากการเกิดหูหนวกถาวร โรคชนิดนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดโรคที่เป็นอันตรายที่เกิดจากการสะสมเซลล์ที่ตายแล้วในหูชั้นกลางที่เรียกว่า โรค’คอเลสทีอะโทมา (Cholesteatoma/ แนะนำอ่านรายละเอียดโรคนี้ได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง คอเลสทีอะโทมา)
นอกจากนี้ หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังยังแบ่งเป็นชนิดย่อยได้อีก เรียกว่า ‘หูชั้นกลางอักเสบแบบยึดติด (Adhesive otitis media หรือ Gleu)’ คือ เกิดการยึดติดของแก้วหูกับกระดูกหูต่างๆในหูชั้นกลางที่ทำหน้าที่นำเสียง, อาการสำคัญคือ การได้ยินจะลดลงจนถึงหูดับ/หูหนวก ร่วมกับอาการหูบวมจากการคั่งของสารน้ำในหูชั้นกลางที่ไหลออกไม่ได้
หูชั้นกลางอักเสบเกิดได้อย่างไร?
หูชั้นกลางอักเสบ/หูชั้นกลางติดเชื้อ เกิดจากท่อยูสเตเชียนดังกล่าว เกิดอักเสบบวมจากคออักเสบจากสาเหตุต่างๆ(พบบ่อยคือจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ซึ่งอาจจากเชื้อแบคทีเรีย หรือ โรคติดเชื้อไวรัสก็ได้) ท่อฯจึงตีบแคบหรืออุดตัน, หรือจากปากท่อฯนี้อุดตันจากต่อมอะดีนอยด์(เนื้อเยื่อน้ำเหลือง)ในช่องคอโตจนกดเบียดทับปลายเปิดของท่อฯ
ซึ่งการที่ท่อฯนี้ตีบแคบ/อุดตัน จะส่งผลให้สารน้ำฯและเซลล์หูชั้นกลางที่ตาย ไหลออกจากหูชั้นกลางไม่ได้ตามปกติ จึงสะสมต่อเนื่องในหูชั้นกลางจนกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคอย่างดีโดยเฉพาะแบคทีเรีย จึงเกิดเป็นโรค’หูชั้นกลางอักเสบ/หูชั้นกลางติดเชื้อ’
หูชั้นกลางอักเสบมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
ชั้นกลางอักเสบ/หูชั้นกลางติดเชื้อ มีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ คออักเสบจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ทั้งจากไวรัส และ/หรือ แบคทีเรีย ซึ่งจะส่งผลให้ท่อยูสเตเชียน และ/หรือต่อมอะดีนอยด์อักเสบบวมจนส่งผลให้ท่อฯอุดตันดังกล่าวใน ’หัวข้อ หูชั้นกลางอักเสบเกิดได้อย่างไร’ ซึ่งโรคที่พบเป็นสาเหตุบ่อย ได้แก่ โรคหวัด
โรคอื่นๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้คออักเสบ/ท่อยูสเตเชียนบวมจนอุดตัน ได้แก่
- โรคภูมิแพ้
- โรคหืด
- คนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดหูชั้นกลางอักเสบ/หูชั้นกลางติดเชื้อ?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดหูชั้นกลางอักเสบ/หูชั้นกลางติดเชื้อ เช่น
- เด็กเล็ก (นิยามคำว่าเด็ก): โดยเฉพาะช่วงอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี เพราะ
- มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ จึงติดเชื้อต่างๆได้ง่ายโดยเฉพาะโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด ที่จะส่งผลให้ท่อยูสเตเชียนบวม ตีบตัน อุดตัน
- เป็นวัยที่ต่อมอะดีนอยด์ยังคงอยู่ และมักมีขนาดใหญ่กว่าวัยอื่น ยังไม่ยุบหายไปตามธรรมชาติ
- ท่อยูสเตเชียนในเด็กมีขนาดเล็กกว่าในวัยอื่น และตัวท่อจะอยู่ในแนวค่อนข้างตรงไม่เทลง จึงส่งผลระบายสารน้ำฯจากหูชั้นกลางได้ไม่ดี
- การให้นมขวดบุตรในท่านอนราบ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่การกลืนยังพัฒนาไม่ดีพอ เพราะจะทำให้น้ำนมไหลผ่านลำคอเข้าหลอดอาหารได้ไม่ดี ส่งผลให้เกิดท้นอุดตันท่อยูสเตเชียนได้ง่าย
- เป็นโรคหวัดบ่อย เพราะท่อยูสเตเชี่ยนอุดตันบ่อย
- มีโรคภูมิแพ้ ซึ่งมักมีผลให้เกิดคออักเสบจากภูมิแพ้เรื้อรัง รวมถึงเป็นสาเหตุ ต่อมอะดีนอยด์โตกว่าปกติ
- มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ จึงติดเชื้อต่างๆได้ง่ายที่รวมถึงโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
- มีโรคเรื้อรังโดยเฉพาะโรคเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด โรคซิสติกไฟโบรซิส
- มีรายงานว่า
- คนในครอบครัวที่เป็นโรคนี้ จะพบโรคนี้ได้บ่อยกว่าคนทั่วไป
- อาจสัมพันธ์กับเชื้อชาติ เพราะพบโรคนี้ได้สูงกว่าในคนพื้นเมืองอเมริกัน
- สูบบุหรี่ รวมถึงสูบบุหรี่มือสอง เพราะสารพิษในควันบุหรี่ ส่งผลให้เกิดคออักเสบได้ง่าย และสารพิษในควันบุหรี่ยังมีผลกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย
หูชั้นกลางอักเสบมีอาการอย่างไร?
อาการของหูชั้นกลางอักเสบ/หูชั้นกลางติดเชื้อ ได้แก่
ก. อาการในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถบอกเล่าอาการได้: กรณีหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ผู้ดูแลจะสังเกตพบอาการที่เด็กแสดงออกแทนคำพูด
- อาการที่พบบ่อย: เช่น
- มีไข้ ซึ่งมีได้ทั้งไข้ต่ำๆและไข้สูง: อาการแสดง เช่น ตัวร้อน เหงื่อออก ร้องโยเย เบื่ออาหาร กระหายน้ำ กระสับกระส่าย
- เด็กจะบอกอาการปวดไม่ได้ แต่จะแสดงออกด้วยการ ดึงใบหู ทุบ และ/หรือ ขยี้หูด้านปวด
- ไม่ยอมกิน ไม่ดูดนม กระสับกระส่าย ไม่ยอมนอน โดยเฉพาะช่วงกลางคืน
- ไอ มีน้ำมูก
- ตอบสนองต่อการได้ยินลดลง, ทนเสียงดังได้ดีขึ้น, ไม่มีปฏิกิริยาต่อเสียงดัง
- การทรงตัวไม่ดี เดินเซ
ข. อาการในเด็กโตและในผู้ใหญ่: กรณีหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งจะมีอาการอยู่ประมาณ 3-7 วัน อาการอาจหายได้จากการดูแลตามอาการ หรือจากการได้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งอาการพบบ่อย: เช่น
- อาการทั่วไป: ที่พบบ่อย เช่น
- ปวดหูด้านเกิดโรค ปวดได้2ข้างถ้าหูอักเสบทั้ง2 ข้าง
- มีปัญหาในการนอนราบจากการปวดหู เพราะเมื่อนอน ความดันในหูจะเพิ่มขึ้นส่งผลให้อาการปวดฯมากขึ้น
- แน่นในหู เหมือนน้ำเข้าหู
- มีไข้ อ่อนเพลีย
- มีสารน้ำ/ของเหลวไหลจากหู อาจเป็นหนอง หรือมีน้ำเลือดปน
- หูอื้อ
- การได้ยินลดลง
- ไม่ค่อยพบการมีปัญหาด้านการทรงตัว
- อาการจากสาเหตุ: ซึ่งจะต่างกันในแต่ละผู้ป่วยตามสาเหตุ เช่น
- อาการโรคหวัด: เช่น ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ
- อาการจากโรคไข้หวัดใหญ่: เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดหัว ไอ อ่อนเพลีย
- อาการโรคภูมิแพ้: เช่น ไอ จาม คัดจมูก มีน้ำมูก เจ็บคอ คัน ขึ้นผื่น ตาแดง คันตา
ค. อาการหูชั้นการอักเสบเรื้อรังทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่: เช่น
- ไม่มีไข้
- มีสารน้ำ/ของเหลว หรือหนองไหลจากหูต่อเนื่องนานเป็นเดือน มักตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
- การได้ยินค่อยๆลดลงเรื่อยๆ จนในที่สุดหูหนวก
- มีอาการหูชั้นกลางอักเสบติดเชื้อเฉียบพลันเกิดซ้ำซ้อนได้เป็นระยะๆ
หูชั้นกลางอักเสบก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงที่เกิดจากหูชั้นกลางอักเสบ/หูชั้นกลางติดเชื้อ คือ การอักเสบติดเชื้อของอวัยวะที่อยู่ติด/รอบๆหูชั้นกลาง, แต่พบได้น้อยโดยเฉพาะเมื่อได้รับการรักษาตั้งแต่แรกมีอาการ, แต่ถ้าเกิดผลข้างเคียงขึ้น โรคมักรุนแรงจนเป็นเหตุถึงหูหนวกถาวร
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น
- แก้วหูทะลุถาวร
- กระดูกกกหูอักเสบติดเชื้อ
- หูชั้นกลางอักเสบติดเชื้อเรื้อรังชนิดรุนแรง ที่เรียกว่า โรคคอเลสทีอะโทมา
- หูชั้นในอักเสบติดเชื้อ
- ใบหน้าเบี้ยวจากเส้นประสาทใบหน้าที่อยู่ติดกับหูอักเสบหรือถูกเบียดทับจากก้อนเนื้อคอเลสทีอะโทมา
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และ/หรือ สมองอักเสบ เพราะหูเป็นอวัยวะอยู่ติดกับสมองเชื้อโรคจากหูจึงลุกลามเข้าสมองได้ง่าย
(แนะนำอ่านรายละเอียดโรคต่างๆที่เป็นผลข้างเคียงที่รวมถึง อาการ การรักษา และการพยากรณ์โรคได้จากเว็บ haamor.com)
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’โดยเฉพาะอาการ ปวดหู หูอื้อ ร่วมกับมีไข้ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ ไม่ควรรอจนมีสารน้ำฯไหลออกจากหู
แพทย์วินิจฉัยหูชั้นกลางอักเสบอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยหูชั้นกลางอักเสบ/หูชั้นกลางติดเชื้อได้จาก
- ประวัติอาการของผู้ป่วย ประวัติเคยเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ โรคประจำตัว
- การตรวจร่างกายทั่วไป
- การตรวจทางหูคอจมูก โดยเฉพาะด้วยการส่องดูในรูหูและลักษณะของแก้วหูด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Otoscope ซึ่งการตรวจวิธีนี้เป็นวิธีสำคัญที่ช่วยการวินิจฉัยโรค
- อาจมีการตรวจอื่นๆ เพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ซึ่งเป็นการตรวจจำเพาะทางหูที่ช่วยวินิจฉัยโรค รวมถึงวินิจฉัยความรุนแรงของอาการและผลข้างเคียงจากโรค เช่น
- ตรวจการทำงานของหูชั้นกลาง/แก้วหูที่เรียกว่า Tympanometry
- ตรวจการได้ยินด้วยวิธีที่เรียกว่า Audiometry
- ตรวจภาพหูด้วย เอกซเรย์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน), และ/หรือเอมอาร์ไอ
รักษาหูชั้นกลางอักเสบอย่างไร?
แนวทางการรักษาหูชั้นกลางอักเสบ/หูชั้นกลางติดเชื้อ ได้แก่
ก. การรักษาตามอาการ: แพทย์เลือกใช้ในกรณีมีอาการน้อย โดยอาจเฝ้าสังเกตอาการและนัดตรวจอีกครั้งประมาณ 1-2 วัน หรือให้เพียงยาแก้ปวด ทั่วไปคือยา พาราเซตามอล ไม่แนะนำยาแอสไพรินเพราะอาจแพ้ยานี้ได้โดยเฉพาะในเด็กที่ส่งผลให้เกิดอันตรายที่เรียกว่า’กลุ่มอาการราย’
ข. การให้ยาปฏิชีวนะ: ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างมาก หรือโรคเกิดเป็นซ้ำ หรือมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัว มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคไม่ดี ซึ่งมีทั้งยากิน และยาฉีด ตามความรุนแรงของโรคและดุลพินิจของแพทย์ เช่นยา อะมอกซิซิลลิน, โคอะมอกซิคลาฟ, ยาเซฟาโลสปอริน, เซฟไตรอะโซน
ค. การใส่ท่อระบายสารน้ำ/หนองจากหูชั้นกลาง: โดยใส่ท่อเล็กๆคาผ่านทางแก้วหู ที่เรียกว่า Tympanostomy (ชื่ออื่น คือ Grommet, Ventilation tube, Tympanostomy tube) ซึ่งทั่วไปมักใช้ในกรณี มีสารน้ำเรื้อรังในหูชั้นกลางจนก่ออาการรุนแรง หรือโรคเกิดเป็นซ้ำๆบ่อย ซึ่งมักใส่คาท่อนี้นานเป็นเดือนจนกว่าแพทย์จะควบคุมโรคได้ดี และจนไม่มีการสะสมสารน้ำในหูชั้นกลางอีก
ง. การรักษาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง: ซึ่งจะต่างกันในแต่ละผู้ป่วยตามแต่สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น การควบคุมรักษา โรคภูมิแพ้, โรคหืด, โรคหวัด
จ. การรักษาโรคที่เป็นผลข้างเคียง: ดังกล่าวใน’หัวข้อ ผลข้างเคียงฯ’ (แนะนำอ่านรายละเอียดโรคต่างๆที่เป็นผลข้างเคียงที่รวมถึง อาการ การรักษา และการพยากรณ์โรคได้จากเว็บ haamor.com)
หูชั้นกลางอักเสบรุนแรงไหม?
ชั้นกลางอักเสบ/หูชั้นกลางติดเชื้อ ’ไม่ใช่โรคติดต่อ’ ทั่วไปเป็นโรคไม่รุ่นแรง, มีการพยากรณ์โรคที่ดี, โดยในผู้ป่วยที่อาการน้อย และมีสุขภาพแข็งแรง, โรคมักหายได้เองจากการดูแลตนเองตามอาการภายใน 3-7วัน
* แต่ถ้ามีอาการรุนแรงหรืออาการไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพราะอาจก่ออาการเรื้อรัง หรือมีการติดเชื้อที่รุนแรงที่เป็นสาเหตุกระทบต่อการได้ยิน ซึ่งถ้าได้รับการรักษาล่าช้า อาจมีปัญหาการได้ยินตลอดไป หรือจนถึงขั้นหูหนวก
*ในกรณีที่เกิดผลข้างเคียงดังกล่าวใน’ หัวข้อ ผลข้างเคียงฯ’โรคมักรุนแรง ที่ต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือ ฉุกเฉิน/ทันทีขึ้นกับความรุนแรงของอาการ (แนะนำอ่านรายละเอียดโรคต่างๆที่เป็นผลข้างเคียงที่รวมถึงอาการ การรักษา และการพยากรณ์โรค ได้จากเว็บ haamor.com)
ดูแลตนเอง/ดูแลเด็กหูชั้นกลางอักเสบอย่างไร? เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
การดูแลตนเองหรือการดูแลเด็กที่มีหูชั้นกลางอักเสบ/หูชั้นกลางติดเชื้อ ทั่วไป เช่น
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองถึงแม้อาการจะกลับเป็นปกติ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงลดโอกาสติดเชื้อรุนแรง
- ป้องกัน ดูแล ควบคุมโรค ที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง(ดังกล่าวในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ)ให้ได้ดี
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง/ตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ เช่น สูบบุหรี่ ควันบุหรี่
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- อาการต่างๆแย่ลง เช่น ไข้ไม่ลงใน 1-2 วัน, ไข้สูงขึ้น, สารน้ำจากหูกลายเป็นหนอง หรือมีเลือดปน
- มีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่น หูไม่ได้ยิน เดินเซ คอแข็ง ปวดหัวรุนแรง ใบหน้าเบี้ยว
- มีผลข้างเคียงต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสีย วิงเวียน
- กังวลในอาการ
ป้องกันหูชั้นกลางอักเสบอย่างไร?
ทั่วไป การป้องกันหูชั้นกลางอักเสบ/หูชั้นกลางติดเชื้อ: เช่น
ก. ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก: เช่น
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคเป็นปกติ ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ
- ป้องกัน รักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงฯให้ได้ดี โดยเฉพาะโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด โรคหืด โรคภูมิแพ้
- ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่(สูบบุหรี่มือสอง)
ข. ในเด็ก: เช่น
- เลี้ยงทารกด้วยนมมารดาอย่างน้อยจนอายุ6เดือนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
- ฉีดวัคซีนต่างๆให้เด็กตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข/แพทย์
- มารดาควรอยู่ในท่านั่งเมื่อให้นมทารก
- ไม่ควรให้ทารกนอนราบขณะดูดนมขวด เพราะนมจะท้นเข้าท่อยูสเตเชียนเข้าหูชั้นกลางก่อการติดเชื้อในหูชั้นกลางได้ง่าย
- ไม่ควรให้เด็กดูดจุกนมหลอกหลังอายุ1ปี(แพทย์บางท่านแนะนำหลัง6เดือน)เพราะการดูดตลอดเวลาจะส่งผลให้ท่อยูสเตเชี่ยนทำงานผิดปกติ คือมักจะปิดจึงส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการกักคั่งของสารน้ำฯและเซลล์ที่ตายในหูชั้นกลางส่งผลต่อเนื่องให้หูชั้นกลางอักเสบได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่ต่อเนื่องในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็ก
บรรณานุกรม
- https://emedicine.medscape.com/article/994656-overview#showall [2022,Oct1]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Otitis_media [2022,Oct1]
- https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/8613-ear-infection-otitis-media [2022,Oct1]
- https://www.nhsinform.scot/illnesses-and-conditions/ears-nose-and-throat/middle-ear-infection-otitis-media [2022,Oct1]
- https://medlineplus.gov/ency/article/000638.htm [2022,Oct1]
- https://www.entcolumbia.org/health-library/otitis-media-middle-ear-infection-adults [2022,Oct1]